วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

"เนรัญชลา" ผลไม้แปรรูปของดีอำเภอบางคล้า

ผมคิดว่าแปดริ้วเรา เป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีผลผลิตทางการเกษตรมาก ทั้งพืช ผัก ผลไม้ และฟาร์มปศุสัตว์ เวลาที่ผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้ล้นตลาด เกินความต้องการแล้ว กระบวนการหนึ่งที่ช่วยได้มากเลย ก็คือเรื่องของการแปรรูป... ถ้าไม่มีการถนอมอาหารด้วยการแปรรูปแล้ว คิดว่าเกษตรกรคงจะเสียมากทีเดียว การแปรรูปอาหารนอกจากจะช่วยเกษตรกรเรื่องผลผลิตล้นตลาดแล้ว ยังช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย ซึ่งในวันนี้ ผมจะพาท่านไปรู้จักกับกลุ่มแปรรูปผลไม้กลุ่มหนึ่งที่อำเภอบางคล้า เป็นกลุ่มที่ช่วยรับซื้อผลผลิตที่ล้นตลาดนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ภายใต้ยี่ห้อ สวนเนรัญชลา และปัจจุบันได้รับการคัดสรรให้เป็น OTOP ระดับ ๕ ดาว ของแปดริ้วครับ...

ประวัติการก่อตั้งกลุ่ม... กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ในชื่อ กลุ่มแปรรูปผลไม้อำเภอบางคล้า ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า มี คุณเกี๋ยงคำ แจ้งสุคนธ์ เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกจำนวน ๑๖ คน ที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๔/๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์ความรู้ในการแปรรูปผลไม้ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากคนดั้งเดิมในท้องถิ่น และสมาชิกภายในกลุ่มร่วมกันต่อยอดภูมิปัญญาดังกล่าว ด้วยการแปรรูปผลไม้ที่มีอยู่มากในชุมชน เช่น มะม่วง มะขาม มะดัน มะกอก สัปปะรด และคิดริเริ่มสร้างสรรค์นำการตลาดสมัยใหม่มาพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิต มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ได้คุณภาพมาตรฐาน และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าโดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่ดี ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนภายในชุมชน

เป็นแหล่งรับซื้อผลไม้... กลุ่มเป็นแหล่งรับซื้อผลไม้ในท้องถิ่นเมื่อผลผลิตของเกษตรกรล้นตลาด เช่น มะม่วง สับปะรด และผลไม้ตามฤดูกาล โดยให้ราคาสูงเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งรับซื้อทั่วไป โดยนำมาทำการแปรรูป ช่วยลดปัญหาการขาดทุนของเกษตรกรในชุมชน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเกษตรกรที่มีความสนใจในเรื่องการทำปุ๋ยหมักชีวภาพนำเปลือกของผลไม้ต่างๆ ไปใช้ในการผลิตปุ๋ย หรือเลี้ยงสัตว์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

ผลิตผลไม้แปรรูปหลายชนิด... กลุ่มนี้แปรรูปผลไม้หลายชนิดมาก เช่น มะม่วงกวน สัปปะรดกวน ผลไม้แช่อิ่ม ทั้งมะม่วง มะขาม มะดัน มะกอก กระท้อน เป็นต้น จนมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป พร้อมทั้งได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย กลุ่มได้ส่งสินค้าไปขายในตลาดใกล้เคียงและร้านขายของฝากภายในจังหวัดและต่างจังหวัด ทำให้เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก ตั้งแต่ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาทต่อคนต่อเดือน

ได้มาตรฐานและไม่กระทบสิ่งแวดล้อม... ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มพัฒนามาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนในชุมชน เป็นการต่อยอดวิธีการถนอมอาหารแปรรูปผลไม้ที่มีอยู่ภายในท้องถิ่น สร้างสรรค์จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ในบรรจุภัณฑ์ที่ดี ถูกตา ต้องใจ โดยใช้ตรา “สวนเนรัญชลา” เป็นยี่ห้อสินค้าทำการตลาด ซึ่งได้มาจากชื่อสวนผลไม้ของคุณเกี๋ยงคำประธานกลุ่ม...สำหรับกระบวนการผลิต... กลุ่มจะทำการผลิตโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ปัจจุบันกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เครื่องหมาย “เชลล์ชวนชิม” และได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ.๒๕๕๓

สร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์... จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้อยู่ที่ รสชาติความอร่อย และความสะอาด ถูกหลักอนามัย เช่น สัปปะรดกวน เนื้อของสับปะรดจะมีความหอม เหนียว แห้ง มีเส้นใยทางอาหารสูง รสชาติอร่อยเป็นที่ยอมรับของลูกค้า และมีการสร้างกล่องกระดาษห่อหุ้มตัวกล่องชั้นในอีกชั้นหนึ่ง เพื่อสร้างความแข็งแรงในการขนส่ง เพิ่มรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ให้หน้าจับต้อง ดึงดูดความสนใจของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งในผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ภายใต้ตรา สวนเนรัญชลา ก็เน้นจุดเด่นในลักษณะนี้เช่นกัน

สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน... กลุ่มแปรรูปผลไม้อำเภอบางคล้าได้ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า ๘ ปี มีการสร้างงานให้กับสมาชิกภายในชุมชน จัดเป็นแหล่งศึกษา ดูงาน ให้ความรู้ในด้านการถนอมอาหารแปรรูปผลไม้ต่างๆ มีผู้ที่สนใจแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาเรื่องการแปรรูป หรือขอข้อมูลต่าง ๆ ไปประกอบการทำรายงาน ซึ่งทางกลุ่มมีความยินดีเป็นอย่างมากในการมีส่วนร่วมให้ความรู้กับชุมชน นอกจากนี้ยังมีการแบ่งปันผลกำไรคืนสู่ชุมชนทุกปี โดยประธานกลุ่มจะเป็นผู้นำเงินไปซื้อของบริจาค เป็นอาหารและขนมให้กับโรงเรียนในท้องถิ่นเสมอ

แหล่งจำหน่าย... ผู้ที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม สามารถซื้อได้ที่บ้านสวนเนรัญชลา ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า ,ร้านเนรัญชลา ถนนฤทธิ์ประศาสน์ ตำบลบางคล้า ,ร้านจำหน่ายของฝากในจังหวัดฉะเชิงเทรา เช่น ร้านตั้งเซ่งจั๊ว, ร้านริน, ร้านถาวร ,ร้านขายของฝากบนทางด่วนมอเตอร์เวย์ จังหวัดชลบุรี (ทั้งสองฝั่ง) ,โครงการสินค้า OTOP สู่โรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง ,โครงการคาราวานการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัด (จังหวัดเคลื่อนที่) ทุกเดือน ,งานแสดงสินค้า OTOP ที่เมืองทองธานีและงานทั่วไปในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ,ห้างสรรพสินค้า อาทิ ห้างเดอะมอลล์ ห้างแฟชั่นไอแลนด์ และตลาดน้ำบางคล้า วันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์...

หมดพื้นที่เขียนแล้วครับ ต้องยุติเพียงเท่านี้ ...สนใจขอข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ประธานกลุ่ม : คุณเกี๋ยงคำ แจ้งสุคนธ์ บ้านเลขที่ ๔/๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒๔๑๑๐ โทร.๐๓๘-๘๒๕๓๐๘ หรือคุณวาสิณี แจ้งสุคนธ์ โทร.๐๘๗-๘๒๗๒๘๕๕ หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร ๐๓๘-๕๑๑๒๓๙

วัดโสธรวรารามวรวิหาร



วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวแปดริ้วและคนต่างบ้านต่างเมืองมาแต่ อดีตกาล ตั้งอยู่บนถนนสายมรุพงษ์ ห่างจากตลาดกลางเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้แต่เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ตามประวัตินั้น แต่แรกมีชื่อว่า “วัดหงส์” เพราะมี “เสาหงส์” อยู่ในวัด เป็นเสาสูงมียอดเป็นตัวหงส์อยู่บนปลายเสา ต่อมาหงส์บนยอดเสาหักตกลงมาเหลือแต่เสา และมีผู้เอาธงขึ้นไปแขวนแทน จึงได้ชื่อว่า “วัดเสาธง” ครั้นเมื่อเสาธงหักเป็นสองท่อน จึงเรียกชื่อใหม่ว่า “วัดเสาธงทอน” ส่วนชื่อ “วัดโสธร” อันมีความหมายว่า “บริสุทธิ์” และ “ศักดิ์สิทธิ์” นั้น เรียกตามพระนามของพระพุทธโสธรหรือหลวงพ่อโสธรซึ่งได้มาประดิษฐานในวัดนี้ ในภายหลังวัดโสธรได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดช ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีนามว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2501


พระพุทธโสธรหรือหลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง สันนิษฐานว่าได้มาประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ประมาณปี พ.ศ.2313 อันเป็นสมัยต้นกรุงธนบุรี ตามประวัติเล่าว่า แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างศอกเศษ แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักขโมยไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิม ไว้ จนมีลักษณะดังที่เห็นปัจจุบัน

ประวัติจังหวัดฉะเชิงเทรา


จังหวัดฉะเชิงเทราหรือที่นิยมเรียกกันว่า "แปดริ้ว" เคยเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอำนาจการปกครองของขอมมาก่อน ในสมัยอิทธิพลของอาณาจักรลพบุรี (ขอม) เมืองฉะเชิงเทราตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เป็นไปได้ว่าชาวเมืองสมัยโบราณอาจจะเรียกชื่อแม่น้ำบางปะกงว่า คลองลึกหรือคลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็นแต่ด้วยอิทธิพลเขมรจึงได้เรียกชื่อแม่น้ำ เป็นภาษาเขมรว่า "สตึงเตรง หรือ ฉทรึงเทรา" ซึ่งแปลว่า คลองลึก นั่นเอง ครั้นเรียกกันไปนาน ๆ เสียงเลยเพี้ยนกลายเป็น "ฉะเชิงเทรา" แต่ก็มีความเห็นอื่นที่แตกต่างออกไปว่าชื่อ "ฉะเชิงเทรา" น่าจะเพี้ยนมาจาก "แสงเชรา" หรือ "แซงเซา" หรือ "แสงเซา" อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช เสด็จไปตีได้ตามที่พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้มากกว่า

ความเป็นมาของคำว่าแปดริ้ว


ความเป็นมาของชื่อ "แปดริ้ว" มีเล่าขานกันมาหลายกระแส บ้างก็ว่าที่ได้ชื่อว่าเมืองแปดริ้ว ก็เพราะขนาดอันใหญ่โตของปลาช่อนที่ชุกชุมเมื่อนำมาแล่ จะต้องแล่ถึงแปดริ้ว หรือไม่ก็ว่ามาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง "พระรถเมรี" เล่าว่ายักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว ทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาด

สำหรับข้อสันนิษฐานการตั้งเมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวา ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) แต่สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏชัดเจนในสมัยพระนเรศวรมหาราชที่ใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นที่รวบรวมไพร่พล เมื่อ พ.ศ.2136 ด้วยชัยภูมิของเมืองที่เหมาะแก่การทำสงครามกองโจร ทำให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้ป้องกันศัตรู ปกป้องเมืองหลวง 

จวบจนสู่การปกครองระบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 และในปี พ.ศ.2476 มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค คำว่าเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ครองเมือง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นปีที่มีการตั้งภาคครั้งสุดท้ายของไทย ฉะเชิงเทราได้รับเลือกเป็นสถานที่ภาคมีเขตความรับผิดชอบ 8 จังหวัด ซึ่งนับเป็นบทบาทที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การปกครองของจังหวัดฉะเชิงเทรา

สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ จังหวัดฉะเชิงเทรา


สภาพภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัด ประกอบด้วย ที่ราบเชิงเขามีลักษณะเป็นที่ราบลูกฟูก และที่ราบลุ่มแม่น้ำจากด้านตะวันออกสุดไปจรดด้านตะวันตก ดังนั้น พื้นที่เกษตรกรรมจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นที่ราบลูกฟูก เหมาะแก่การทำไร่และปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ตั้งอยู่เฉพาะในเขตอำเภอพนมสารคามและอำเภอแปลงยาว ส่วนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัด บริเวณอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง พื้นที่ส่วนนี้อยู่ในเขตชลประทานเหมาะแก่การทำนาข้าว ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์

สภาพภูมิอากาศ
จังหวัดฉะเชิงเทรามีลักษณะร้อนชื้นเขตศูนย์สูตร โดยมีลมมรสุมพัดปกคลุมเกือบตลอดปีแบ่งออกตามฤดูกาลได้ 3 ฤดู ดังนี้

ฤดูร้อน... เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม โดยมีลมตะวันออกและลมใต้พัดปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอ้าวและอากาศร้อนจัดเป็นบางวันบางครั้งอาจมีพายุฤดูร้อน ลักษณะเป็นฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงอุณหภูมิอากาศสูงสุดเฉลี่ย 35-38 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ย 200-300 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การปลูกพืชไร่

ฤดูฝน... เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม โดยมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ประกอบกับมีร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปและตกหนักบางพื้นที่ อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง โดยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,000 – 1,200 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การทำงานและปลูกผลไม้

ฤดูหนาว... เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงพัดผ่าน ทำให้ท้องฟ้าโปร่งใสอากาศเย็นมีหมอกในตอนเช้า และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิอากาศต่ำสุดเฉลี่ย 18-21 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ย 50-100 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอกและไม้ประดับ

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มะม่วงติดบาร์โค้ด


การลงทะเบียนผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในปีนี้ สรุปผล มีจำนวน 292 ราย 759 ผลิตภัณฑ์ มากกว่าเมื่อครั้งปี 2551 ที่มีจำนวน 267 ราย 591 ผลิตภัณฑ์ ส่วนการคัดสรรสุดยอด OTOP ไทย ของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวน 96 ราย 96 ผลิตภัณฑ์ ผลการคัดสรรจะแจ้งให้ทราบในเดือนกันยายนนี้ ในการลงทะเบียนคราวนี้ มีผลิตภัณฑ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ มะม่วงติดบาร์โค้ด ของสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด นอกจากจะเป็นผู้ส่งออกมะม่วงรายใหญ่แล้ว เขายังมีนวัตกรรมที่น่าทึ่งอีกด้วย ต่อไปนี้ คุณศักดิ์ดา ขันติพะโล ประธานคณะผู้บริหารสหกรณ์ฯ จะเล่าให้เราฟังครับ...


รวมตัวเข้มแข็ง ดำเนินการมั่นคง…
ชมรมชาวสวนจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน ต่อมาปี 2541 ได้มีการรวมตัวกันอย่างจริงจัง และเริ่มผลิตมะม่วงส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ในปี 2549 ชมรมฯ ได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา มุ่งเน้นการผลิตมะม่วงให้มีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ปัจจุบันมีสมาชิก 176 คน พื้นที่ปลูกมะม่วงของสมาชิก กว่า 10,000 ไร่ แยกเป็น สายพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และสีทอง 7,000 ไร่ เขียวเสวย 2,000 ไร่ อื่น ๆ 1,000 ไร่ ผลผลิตที่ผลิตได้ปีละ ประมาณ 7,000 ตัน สหกรณ์ฯ มีการสร้างสำนักงานเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตมะม่วง ที่จะจัดส่งให้กับบริษัทผู้ส่งออกต่างๆ และเป็นแหล่งบริการข้อมูล มีการซื้อขายกับบริษัทต่างๆ มากกว่า 15 บริษัท ที่จัดส่งมะม่วงไปยังประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี ยุโรป และอเมริกา ส่วนในประเทศมีการจำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะมอลล์ ภายใต้ชื่อการค้าว่า “ทองแปดริ้ว” และจำหน่ายทั่วไป ภายใต้ชื่อมะม่วง QM และตะวัน


คุณภาพมาตรฐานเพื่อการส่งออก…
สหกรณ์ฯ มีการพัฒนาสมาชิกเกษตรกร ด้วยการให้ความรู้ การพัฒนาผลผลิต พัฒนาองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล และพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ผลผลิตและการบริหารจัดการที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก เกษตรกรต้องปฏิบัติดูแลสวนถูกต้องตามหลักวิชาการระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (EUREP GAP) ห่อผลด้วยวัสดุที่เหมาะสมในช่วงระยะ 2 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต น้ำหนักของผลจะต้องได้ตามมาตรฐานที่กำหนดร่วมกัน ลักษณะของผิวต้องไม่มีรอยแผลที่เกิดจากโรคและแมลง คราบยาง รอยช้ำจากการกระแทก ลักษณะของผลมะม่วงต้องตรงตามพันธุ์ การเก็บมะม่วงที่ความแก่ 85-90 % ตามดัชนีการเก็บเกี่ยวมะม่วง ห่อหุ้มผลมะม่วงด้วยตาข่ายโฟมก่อนบรรจุลงภาชนะ


วิธีรับประทานมะม่วงให้ได้ รสชาดหวาน…
มะม่วงน้ำดอกไม้ที่ไม่สุกจะมีรสเปรี้ยว ถ้าสุกแล้วจะมีรสหวาน มีปัญหาว่า จะรับประทานได้ในวันที่เท่าไร วิธีแก้ปัญหานี้ สหกรณ์ได้คิดสติกเกอร์เพื่อเทียบสีผิวมะม่วงขึ้น โดยติดไว้ที่ผลมะม่วงทุกผล ถ้าต้องการรับประทานทันที ให้เลือกผลที่นิ่มมือและสีผิวเป็นแบบสีเหลืองส้ม ถ้าต้องการเป็นของฝาก ให้เลือกผิวสีเหลืองนวล วิธีนี้จะทำให้ผู้บริโภคทราบได้ทันทีว่า จะทานเมื่อไร จึงจะได้รสชาดหวาน

ตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ทุกผล…
สหกรณ์ฯ มุ่งเน้นผลิตมะม่วงให้มีคุณภาพปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และตระหนักถึงสุขอนามัยของผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง จึงพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงเกษตรกรผู้ผลิต ว่ามะม่วงผลนี้มีประวัติ ความเป็นมาอย่างไร ใครคือผู้ผลิต แหล่งผลิตอยู่ที่ไหน วิธีการผลิต การใส่ปุ๋ยและสารเคมี เป็นอย่างไร ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิตได้ จากสติกเกอร์ที่มีหมายเลขรหัสสมาชิกที่ติดบนผลมะม่วงโดยนำรหัสนี้พิมพ์ตรวจสอบบนเว็บไซต์
www.coopthai.com/mangoccs ซึ่งสหกรณ์ฯ พัฒนาให้มีข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น เป็นระบบข้อมูลสาธารณะ ตรวจสอบได้ทั่วโลก
กิจกรรมเสริมให้กับสมาชิก...
ปัจจุบัน สหกรณ์ฯ มีบริการจำหน่ายปุ๋ย และสารเคมีให้แก่สมาชิก ซึ่งราคาถูกกว่าท้องตลาด เนื่องจากสหกรณ์ฯ สั่งซื้อมาครั้งละมากๆ นอกจากนี้สมาชิกยังได้รับเงินเฉลี่ยคืนจากสหกรณ์อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนอนาคต สหกรณ์ฯ กำลังให้ความสนใจศึกษาผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งอาจจะดำเนินการร่วมกันไปกับมะม่วงก็ได้

ต้องการเยี่ยมชมกิจการ หรือติดต่อซื้อผลผลิต หรือขอรายละเอียดเพิ่มเติม
ติดต่อที่ สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด
97/5 ม.1 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 24120
โทร. 081-930-5052 , 085-437-2029 แฟ็กซ์ 038-502198
หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239

ผมไปเยี่ยมบริษัท กลุ่ม องค์กรมาหลายแห่ง ประทับใจที่นี่มาก มีความเข้มแข็ง มีนวัตกรรมที่น่าสนใจ ข้อมูลและการนำเสนอของเขาดีและหลากหลาย ทั้งวีดิทัศน์ PowerPoint แผ่นพับ เอกสาร บอร์ดประชาสัมพันธ์ต่างๆ ผมว่านี่เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจ สำหรับชาวแปดริ้วครับ...

วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บุกโรงงาน “วรพร” ผู้ผลิตมะม่วงดองรายใหญ่ที่สุดในประเทศ

จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นแหล่งผลิตมะม่วงชื่อดังของประเทศ มีการผลิตเพื่อบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกขายต่างประเทศ มะม่วงส่วนหนึ่งถูกนำมาแปรรูปเป็นมะม่วงดอง มะม่วงกวน วันนี้ ผมจะพาท่านไปพบกับบริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด ผู้ผลิตมะม่วงดอง มะม่วงกวนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ คุณชัยรัตน์ โสธรนพบุตร เจ้าของกิจการ จะเล่าให้เราฟังครับ
.
เติบโตจากธุรกิจหลังบ้าน...
กิจการของ “วรพร” เริ่มต้นจากธุรกิจหลังบ้าน
พ่อแม่เป็นคนทำมาก่อน ธุรกิจหลักของครอบครัวคือขายเสื้อผ้า รองลงมาคือดองผลไม้ขาย เป็นการดองตามฤดูกาล สถานที่ผลิตและจำหน่ายเริ่มที่อำเภอแปลงยาวซึ่งเป็นบ้านเกิด แล้วส่งขายต่อไปยังอำเภออื่นๆ กลายเป็นธุรกิจระดับจังหวัด ตอนแรกผมไม่ได้อยู่ในธุรกิจนี้ พ่อแม่บอกว่าเหนื่อย ผมจึงไปรับราชการเป็นครู หลังจากรับราชการได้สิบกว่าปี ได้ลาออกมาเลี้ยงกุ้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันกลับมาสนใจธุรกิจที่ครอบครัวเคยทำมา
.

เปลี่ยนการตลาดเพื่อขายห้าง...
เริ่มแรกก็ทำเป็นธุรกิจหลังบ้านเหมือนกัน แต่การตลาดเปลี่ยนไป คือตั้งใจทำขายให้นักท่องเที่ยว ไม่ใช่ขายเฉพาะในท้องถิ่น ต้องใส่น้ำตาล มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ต้องทำแบรนด์ มียี่ห้อ ซึ่งประสบความสำเร็จ ขายดี การขายมะม่วงดองเมื่อ 20 กว่าปีก่อน มีแต่ในระดับล่าง ร้านขายของชำ รถเข็น ไม่มีขายในห้าง ถึงมีก็ต้องจิ้มพริกเกลือ ผมเป็นรายแรกที่ทำมะม่วงดองที่ไม่ต้องจิ้มพริกเกลือ ร้านที่ส่งขายแรก ๆ เป็นร้านแหล่งท่องเที่ยว เช่น คิงส์สโตร์ ตั้งเซ่งจั้ว ร้านริน ร้านเหล่านี้ มองว่ามะม่วงดองของผมแพง ลูกละ 10 บาท แต่รถเข็นลูกละ 5 บาท ไม่น่าขายได้ แต่ปรากฏว่าผมเตรียมมะม่วงไว้ขาย 1 ปี ขายจริง 3-4 เดือนหมดแล้ว ทำให้เราเติบโตเรื่อยมา จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เราคือผู้ผลิตมะม่วงดองรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ส่วนการส่งออก เราขายต่างประเทศถึง 40 % ของปริมาณการผลิต ประเทศที่ส่งไปขายมากที่สุด คือ จีน ซึ่งตลาดเติบโตเร็วมากจนเราผลิตไม่ทัน
.
ก้าวข้ามความเป็นสินค้าท้องถิ่น...
แนวคิดก่อนออกมาทำธุรกิจ ผมคิดว่าต้องทำรายได้ไม่น้อยกว่าเงินเดือนที่เคยได้ ต้องตั้งเป็นเป้าหมายแรก แล้วมุมานะ พยายามทำให้ได้ ผมทำได้ไม่ถึงปี ก็บรรลุเป้าหมายนี้ คือมีรายได้มากกว่าเงินเดือน ที่ประสบความสำเร็จเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ประมาณปี 2529 ช่วงนั้นใครทำธุรกิจอะไรก็ประสบความสำเร็จ ขายอะไรก็ขายได้ เพราะคนมีสตางค์ และเป็นความโชคดี ที่เราได้รับการรับสนับสนุนจาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เขียนบทความลง น.ส.พ.มติชน ทำให้เราได้แบรนด์เชลล์ชวนชิม และตอนนั้นเจ้าหน้าที่ของเชลล์ชวนชิม กำลังเปิดร้านขายของในปั๊มน้ำมัน สินค้าที่ได้แบรนด์เชลล์ชวนชิมจึงได้รับการสนับสนุนด้วย ที่ประทับใจมากมีอยู่วันหนึ่ง ไปส่งของให้เขา กลับมาบ้านไม่ถึงชั่วโมง เขาโทรมาว่าให้ไปส่งใหม่ ที่ส่งมาขายหมดแล้ว ชั่วโมงเดียวหมดผมประทับใจมาก ตรงนั้นทำให้เราได้ชื่อเสียง เป็นการก้าวข้ามความเป็นสินค้าท้องถิ่นไปสู่สินค้าระดับประเทศ
.
การตัดสินใจครั้งสำคัญ...
ตอนนั้นต้องตัดสินใจว่า จะเป็นสินค้าท้องถิ่นหรือเป็นสินค้าอินเตอร์ ท้องถิ่นหรืออินเตอร์มันขึ้นอยู่กับการตั้งราคา ราคาของสินค้าท้องถิ่น คือ ถ้าซื้อที่ฉะเชิงเทราจะถูก ซื้อที่อื่นจะแพง ราคาของสินค้าอินเตอร์ คือ ไม่ว่าคุณจะซื้อที่ไหน ราคาเท่ากัน ส่วนวรพรตั้งเป้าหมายจะเติบใหญ่ ขายทั่วประเทศ เราต้องการเป็นสินค้าอินเตอร์ เมื่อตั้งเป้าอย่างนี้ เราก็มีสินค้ากระจายทั่วประเทศ การขายไกลๆ ต้องแบกรับค่าขนส่ง ทำให้เราได้กำไรต่อชิ้นน้อยลง แต่ปริมาณการขายจะมากขึ้น จุดหักเหอีกจุดหนึ่ง คือ ได้ไปเปิดตลาดที่จีน ประเทศนี้ไม่มีมะม่วงดอง แต่ชอบกินของเปรี้ยวๆ เค็มๆ เหมือนบ้านเรา ผมใช้เวลาบุกจีนมากกว่า 10 ปี ไม่ง่ายอย่างที่คิด เสียค่าใช้จ่ายไปมาก เกือบท้อใจ แต่สุดท้ายก็ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากลับมา ปัจจุบันถือว่าเราเข้มแข็งระดับหนึ่งในประเทศจีน แต่อย่างไรก็ตามเรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ
.
ปลูกเพื่อการผลิต เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า...
การปลูกมะม่วงหรือสินค้าเกษตรอื่น เพื่อนำมาผลิตเป็นอุตสาหกรรม
เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเราต้องใช้ต้นทุนที่ถูกที่สุดเพื่อเอาไปแข่งขัน เราต้องเอาผลไม้ที่เหลือกินเหลือใช้ ไม่มีราคาแล้ว เอามาทำ ถ้าเราปลูกเอง แปลว่าเรามีต้นทุนการผลิต ปัจจุบันเราซื้อต่ำกว่าต้นทุนที่มีการผลิต ดังนั้น อย่าปลูกเพื่อนำมาแปรรูป มันไม่คุ้มค่า หน้าที่ของผมเวลานี้คือส่งเสริมให้ชาวสวนได้กำไรเยอะๆ เพราะถ้าไม่มีเขา เราอยู่ไม่ได้ และส่วนที่เหลือในตลาด เช่น ขายไม่ออกเพราะผิวลาย ดกเกินไป ผมเป็นหน่วยสุดท้ายที่รองรับ นี่คือหน้าที่ของโรงงานแปรรูปผลไม้
.สินค้าดี ต้องมีมาตรฐาน...กระแสโลกมีความห่วงใยในเรื่องสุขภาพกันมาก การขายสินค้าในประเทศต่างๆ จะต้องมีมาตรฐานรองรับ เราเองก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ปัจจุบันนี้เราได้รับมาตรฐาน GMP และ HACCP แล้ว เป็น OTOP แปดริ้วรายแรกที่ได้รับมาตรฐาน HACCP( : Hazard Analysis Critical Control Point เป็นมาตรฐานระบบความปลอดภัยอาหารระดับนานาชาติ)
.
ฝากถึง OTOP คุณต้องตัดสินใจว่าคุณเป็นใคร...
ผู้ที่เป็น OTOP ต้องพิจารณาตัวเองว่า อยากจะยืนอยู่ในตำแหน่งใดในตลาด ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องทำอย่างวรพร คุณต้องดูศักยภาพของตัวเอง บรรจุภัณฑ์ไม่ได้สะท้อนความสำเร็จ ถ้าทำดีแต่ขายในท้องถิ่นจะทำให้คุณเปลืองต้นทุน แต่ถ้าขายต่างจังหวัดไกลออกไป ต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์และแนวคิดเช่นเรื่องราคาอย่างที่ว่า ถ้าเลือกเป็นสินค้าท้องถิ่น แปลว่าเขาต้องมาที่นี่เท่านั้น ไม่มีที่อื่น ถ้าเป็นสินค้าอินเตอร์ เขาซื้อที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาซื้อที่นี่ และซื้อในราคาที่เท่ากัน คุณต้องรู้ว่าคุณจะยืนอยู่ตรงไหน ไม่เช่นนั้นไม่มีทางประสบความสำเร็จ ผมขอฝากไว้ คุณต้องรู้จักตัวเองให้มากที่สุด

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด
20/5 หมู่ 6 ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
โทร. 038-813444
หรือ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร 038-511239...

ผลิตภัณฑ์ “วรพร” มีวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าชื่อดังทั่วประเทศ เป็นผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่เป็นชาวแปดริ้วแท้ๆ

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

“พรมีคุณ” กุนเชียงซอสหอมของดีเมืองแปดริ้ว


“พรมีคุณ” เป็นแบรนด์ของผู้ประกอบการ OTOP ชื่อดังรายหนึ่งในแปดริ้ว คือ บริษัท อาหารดีมีคุณ จำกัด คุณสมศักดิ์ คุณลัดดาพร สื่อสวัสดิ์วณิชย์ เป็นเจ้าของ ที่ตั้ง 492/3 ถ.ศุภกิจ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ผลิตกุนเชียงซอสหอมหลากรส หมูแผ่นกรอบ หมูหยองฝอยกรอบ หมูสวรรค์แดดเดียว เมื่อตอนเด็กผมเคยร้องแหย่เพื่อน “หมูแผ่น หมูหยอง หมูกระป๋องจะลงสนาม” เยาะเย้ย ถากถาง ดูถูก ว่ากันเต็มที่ ไม่ดี เป็นหมู แพ้แน่ แต่รายนี้ไม่ใช่ ผมว่าเขาน่าจะเป็นผู้ผลิตกุนเชียง ที่ดีที่สุดของแปดริ้วในเวลานี้ ต่อจากนี้ คุณลัดดาพร เป็นคนเล่า และผมเป็นคนเขียนครับ

เดินทางพันลี้ต้องมีก้าวแรก...
ก่อนนี้เราค้าส่งอาหารสัตว์ รำ ปลายข้าว ข้าวโพด ส่งขายให้เล้าหมู ที่บ้านเลี้ยงหมูเป็นหมื่นตัว เลี้ยงแบบกงสี คุณสมศักดิ์ไปเรียนด้านการทำอาหารที่เกษตรศาสตร์ คิดว่าน่าจะทำเรื่องการแปรรูปอะไรสักอย่าง ที่ไม่เหมือนกงสี เลยคิดทำกุนเชียง ทำแล้วส่งแล้ว สู้ตลาดล่างที่โคราชไม่ได้ ราคาเราสูง เพราะเราใช้หมูดี ขายโลละสี่สิบ ในขณะที่หมูแดงโลละสี่สิบเข้าไปแล้ว

อยากรวยต้องเปลี่ยน...
เปลี่ยนตลาดใหม่ หันมาทำแคปหมู ห่อละ 10 บาท ขายดีที่สุด ขายละวัน 4-5 หมื่น ต่อมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนให้ทำกุนเชียง ไม่ให้เหมือนชาวบ้านจะทำอย่างไร พวกถั่วงามันฟีเวอร์แล้ว ครั้งแรกจึงทำกุนเชียงกระเทียม งา สาหร่าย ออกบูธที่โรงแรมริเวอร์ซิตี้ ขายดีมาก หลังจากนั้นก็ออกบูธมาตลอด พอขายดี ก็ส่งร้านขายฝาก เพิ่มไลน์ทีละไลน์ ค่อยเพิ่มทีละอย่าง สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย พาไปออกร้านที่ต่างประเทศ ได้ลูกค้ามาจนถึงทุกวันนี้

มีชื่อเป็นคุณ...
ครั้งแรกใช้ชื่อ “พรแปดริ้ว” พรคำเดียวติดปากลูกค้า จำง่าย เปลี่ยนเป็น “พรมีคุณ” เพราะเปิดเว็บไซต์ มันตรงกับภาษาอังกฤษ porn ไม่ค่อยดี สับสน จึงเอา “มีคุณ” ใส่ด้วย เหมือนเป็นการรีแบรนด์ หมายถึง ลูกค้า แต่ยี่ห้อพรแปดริ้วก็ยังมีอยู่ จะขายในประเทศอย่างเดียว ส่วนพรมีคุณจะขายแฟรนไชน์ ขายต่างประเทศ และตลาดบน

ตัวการสำคัญ...
“เรื่องการตลาด” ส่วนใหญ่ออกบูธ เดินตลาดเอง ที่หลักๆ คือ งานไทยเฟกของสมาคมหอการค้าที่เมืองทอง ขายให้คู่ค้าเป็นหลัก ได้ประชาสัมพันธ์ ทุกห้างรู้จักเรา “เรื่องการผลิต” เราทำดีเหมือนเดิม ราคาสูง แตกต่างกับตลาดโคราช ลูกค้าชอบ บอกเจ้าอื่นกินไม่ได้ เราก็ภูมิใจ ชื่นใจ เราต้องทำอย่างดีและสะอาด ผลิตภัณฑ์ใหม่กุนเชียงหญ้าหวาน
สำหรับคนสูงอายุไม่ใส่น้ำตาล ทุกผลิตภัณฑ์เราส่งวิจัยก่อนที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ ผลิตคิดสูตรเอง ได้ “เครือข่าย” ช่วยเรามาก หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา เป็นสมาชิกเขา เราอยากได้อะไร เขาจะสนับสนุนเรา เขาได้ผลงาน พวกเราก็ได้ประโยชน์

นามบัตรมีค่าอย่าทิ้ง...
ลงทะเบียน OTOP เพราะอยากให้ฉะเชิงเทรามีชื่อเสียง กุนเชียงไม่มีใครทำ เราได้ชื่อเสียงมาตั้งเยอะ อยากให้สินค้าฉะเชิงเทรามีตัวนี้บ้าง การสมัครสมาชิกทุกเครือข่ายเราจะได้ประโยชน์ ได้ความรู้ด้านการตลาด การผลิต
ได้ขายที่เมืองทองซึ่งขายดีมาก ใครมีนามบัตรร้านพร มาซื้อหลังงานลด 10 % ถ้าสั่งกระเช้าสิบชุดลดให้ 20 %

หาซื้อที่ไหนดี...
จะขายของที ต้องย้อนดูสถิติปีที่แล้ว สมุดไม่เคยทิ้ง เดือนอะไร ที่ไหนขายดี ต้องเลี้ยงลูกน้องร่วมร้อยชีวิต ตอนนี้ขายประจำที่เสรีเซ็นเตอร์ ท็อปซุปเปอร์มาเก็ต บิ๊กซีส่งเดือนละหลายตันเป็นแบรนด์ของเขา ที่โรงงานขายทุกวัน อยู่ก่อนถึงตลาด 100 ปี บ้านใหม่ ประมาณ 100 เมตร อนาคตปีนี้ จะเพิ่มโรงงานที่บ้านโพธิ์ พื้นที่ 5 ไร่ ใกล้โตโยต้า เปิดเป็นร้านของฝาก

ฝากถึงชาวแปดริ้ว...
ช่วยสนับสนุนด้วย มาเที่ยวตลาด 100 ปี แวะที่ร้านพรได้ มีปัญหาอะไร ต่อว่ามาก็จะปรับปรุง จะจดไว้ว่าเดือนนี้ลูกค้าต่อว่ากี่ครั้ง ปัญหาอะไร มาจากไหน ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดี เบอร์โทรติดต่อ 0-3881-7862 ,0-3851-7249, 08-1865-4977, 08-6767-8808 หรือสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา 0-3851-1239

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

ธงทองโอสถ...ค้นคว้า พัฒนา ยาพื้นไทย...

บางครั้งการทำอะไรสักอย่าง ก็อยู่ที่ต้องการสนองความต้องการของตนเอง หลังจากค้นพบว่าตนเองต้องการอะไร ก็พยายามทำในสิ่งที่ตนเองต้องการให้ดีที่สุด ฉบับที่แล้วผู้ประกอบการเป็นเภสัชกร ฉบับนี้ก็เช่นกัน เภสัชกรธงชัย สีมาเอกรัตน์ เจ้าของห้างธงทองโอสถ จำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยหลายชนิด และเป็น OTOP ระดับ 5 ดาว ของแปดริ้ว จะมาเล่าเรื่องราวของห้างธงทองโอสถให้ฟัง ในวันนี้
.
ชอบการผลิต...
ผมเคยรับราชการเป็นเภสัชกรอยู่ รพ.บางน้ำเปรี้ยว ช่วงนั้นไม่ค่อยมีใครคิดผลิตยา มองว่ามันเพิ่มงานและไม่จำเป็นผมเป็นคนบุกเบิกการผลิตยาในชุมชน
เช่น ยาโรคกระเพาะ ยาน้ำเคลือบกระเพาะ แสดงว่าผมชอบการผลิตมาตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อใช้ทุนหมด ผมออกไปอยู่บริษัทขายยาเอกชน และเปิดร้านขายยา “เภสัชกรธงชัย” อยู่ตรงข้ามธนาคารออมสิน สาขาฉะเชิงเทรา เปิดไม่นาน รู้สึกว่าอยากผลิตมากกว่า จึงเริ่มผลิตจากยาใช้ภายนอก คือ พิมเสนน้ำ จากประสบการณ์ขายยา สินค้าของผมจึงมีจุดขายแตกต่างจากคนอื่น พิมเสนน้ำในตลาด มีกลิ่นเดียว แต่ของผมมีหลายกลิ่นและหลายสี เมื่อก่อนพิมเสนน้ำทำกันมาก แต่เดี๋ยวนี้มีแต่ของผมกับตราโป๊ยเซียนเท่านั้นที่ขายมาก
.
กลยุทธ์มาจากร้านขายยา...
ผลิตที่ร้านขายยาเรื่อยมา มีพิมเสนน้ำ ยาหม่อง ยาสมุนไพรแคปซูล เครื่องมือมากขึ้น จึงหาที่ผลิตใหม่ข้างนอก
จนมาถึงยาน้ำเชื่อมแก้ไอมะขามป้อม ตัดสินใจอยู่ว่าจะทำมะขามป้อมหรือมะแว้งดี มองที่ตลาด ทำมะแว้งจะสู้เขาได้ไหม ส่วนมะขามป้อมมีคู่แข่งรายเดียว ผมมองว่าเขามีจุดอ่อนเรื่องการขาย แต่มีจุดแข็งที่นำเสนอได้ดี เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เราก็ตามน้ำไปได้ สินค้าของเราขายได้ทุกตัว คือ เราได้ประสบการณ์มาจากร้านขายยา ว่ามีการเคลื่อนไหวของตลาดยังไง แล้วก็เอามาปรับกลยุทธ์ในการขายของเรา อย่างขมิ้น ผมขายที่โรงพยาบาลในภาคตะวันออก ผมเคยทำงานโรงพยาบาลมา รู้ว่าต้องมีงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับซื้อยาสมุนไพร
.
ผู้สร้างนวัตกรรม...
ผมเลือกผลิตยาสมุนไพร เพราะทำได้เลย
ถ้าเป็นยาแผนปัจจุบัน ต้องไปอยู่โรงงานใหญ่ๆ ธุรกิจหลักของผม ยังเป็นร้านยา ผมดูแลธุรกิจได้ พร้อมๆ กับการผลิตตามที่ผมชอบ ผมพึ่งรู้ตัวว่าเป็นคนชอบการผลิต ยังมีสินค้าอีกมากที่เตรียมผลิต จ่อคิวคอยว่าจะออกเมื่อไหร่ ซึ่งต้องดูตามกระแสความนิยมด้วย การขึ้นทะเบียนยา ขึ้นยากมาก แต่ถ้าไม่ได้ตัวหนึ่ง เราก็ยื่นตัวใหม่เข้าไป การผลิตยาสมุนไพร เอื้ออำนวยให้เราสร้างนวัตกรรมทางยาได้มาก เพราะมีความยืดหยุ่นในเรื่องสูตรการผลิตมากกว่าการผลิตยาแผนปัจจุบัน ขอเพียงปลอดภัยต่อผู้บริโภคและใช้ได้จริง
.
หลากหลายผลิตภัณฑ์...
ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ประมาณ 50 รายการ กลุ่มยาแคปซูล เช่น เพชรสังฆาต กระเทียม
ส้มแขก บอระเพ็ด ฟ้าละทายโจร ขมิ้นชัน ฯลฯ กลุ่มยาใช้ภายนอก เช่น ขี้ผึ้งไพล พิมเสนน้ำ ยาหม่อง น้ำมันไพล กลุ่มยาน้ำ เช่น ยาน้ำเชื่อมแก้ไอมะขามป้อม ยาธาตุน้ำขิง กลุ่มยาเม็ด เช่น ยาอมบรรเทาอาการไอมะขามป้อม (OTOP 5 ดาว)ตัวที่ขายดีที่สุด ในช่องทางร้านขายยา คือ ยาแก้ไอน้ำเชื่อมมะขามป้อมและยาอมแก้ไอ ผมวิเคราะห์ก่อนว่ายาแก้ไอบางอย่างทำไมขายดี ผมก็ทำตามนั้น ของเสีย ของเปลี่ยน ผมก็เปลี่ยนให้นี่คือ กลยุทธ์ที่ร้านอื่นไม่ทำ ช่องทางโรงพยาบาล คือ ยาในบัญชียาหลัก เช่น ขมิ้นชัน แก้โรคกระเพาะจะขายดี
.
อนาคตทำระบบสมาชิก...
วางเป้าหมาย คือ ขายให้ดีที่สุด เวลานี้ก็ขายทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ประกอบด้วยสินค้าที่ต้องโฆษณาและสินค้าตลาดที่ขายจำนวนมากๆ ยืนอยู่หลายจุดทำให้มั่นคง โรงพยาบาลสั่งครั้งละมากๆ ทำให้อยู่ได้ ระบบขนส่ง คิดเอง เพราะไม่ชอบไปไหน เห็นพนักงานบริษัทขนส่งมาที่ร้าน
บอกเอาของผมกลับไปขายด้วย เพิ่มให้อีก 10 บาท/ชิ้น เขาโอเค ผมคุยกับบริษัทขนส่ง ก็ส่งได้ทั่วประเทศ ต่อไปจะทำระบบสมาชิก เพราะมีลูกค้ามาก อยากได้รับความสะดวก ขายต่างประเทศบ้างผ่านเซลล์ที่เขมร ลูกค้าส่งที่ญี่ปุ่นก็มี แต่ฝรั่งไม่เอายากิน ปัญหาบางอย่างยังจับทางไม่ถูก อย่างมะขามป้อมเสียค่าโฆษณาทางวิทยุทั่วประเทศ เดือนละเป็นแสน แต่ขายได้ไม่ดีกว่าเดิม กำลังหาวิธีล้วงความลับนี้อยู่ ตัวที่เลิก คือ เพ็จกิ้งไม่ติดตลาด สินค้ารายการมากเกินไป ก็เลิกบ้าง แต่ส่วนใหญ่เอาไว้
.
ที่มาของธงทองโอสถ…
ธง คือ ชื่อผมเอง
ธงทอง คือ ไม่อยากใช้ธงชัย เพราะร้านขายยาไม่อยากซื้อจากร้านขายยาด้วยกัน อีกอย่างธงทองเป็นสิ่งที่เป็นมงคล และไม่อยากใช้คำว่า ฟาร์มาซูติคอล ฟังดูมันไม่โบราณ ธงทองโอสถ ฟังดูง่ายๆ เป็นมงคล และดูโบราณดี
.
ฝากถึงคนแปดริ้ว...
ข้อหนึ่ง อยากจะทำให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องกระบวนการผลิตยาสมุนไพร คนมาดูงานได้ โดยมาเป็นหมู่คณะ ข้อสอง อยากให้มีการปลูกพืชสมุนไพรในแปดริ้วมากๆ เพราะสมุนไพรที่นี่ บางอย่างปลูกเอง บางอย่างต้องไปหามาจากที่อื่นๆ แถวทางเหนือหรือปราจีนบุรี ข้อสาม ยาสมุนไพรใช้ได้ผลจริง อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะไปใช้ให้ได้ผลเร็วๆ อย่างยาลดน้ำมูก อย่างนี้สมุนไพรทำไม่ได้ สมุนไพรต้องเลือกตัวใช้ แต่มาตอบโจทย์ที่ว่าคนเบื่อยาปัจจุบัน อยากได้อะไรบางอย่างที่ให้ความรู้สึกว่า
ได้ช่วยเหลือตัวเองแล้ว และได้ผลเหมือนกัน ทั้งหมดนี้เพราะรู้ตัวว่าต้องการเป็นผู้ผลิตแท้ๆ เราจึงได้เห็นกิจการธงทองโอสถเกิดขึ้นในแปดริ้ว
ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ห้างธงทองโอสถ 17/3 ม.2 ต.วังตะเคียน อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000
โทร.038-813710, 038-816685 โทรสาร 038-813711
http://www.thongtongosoth.com/

หรือ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรือนสมุนไพร...1 ใน 20 สปาต้นแบบของไทย...


ประเด็นวันนี้ คือ เราสนใจเรื่องสุขภาพไหม อยากมีชีวิตที่ยืนยาวหรือเปล่า เชื่อว่า คนปกติทั่วไป จะตอบว่าอยากมีชีวิตที่ยืนยาว แต่ความจริง คนส่วนใหญ่ปฏิบัติต่อสุขภาพ ผิดหลักการที่จะทำให้ชีวิตยืนยาว พิสูจน์จากสถิติคนทั่วโลก ที่ตายด้วยโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง มากขึ้น ผมจึงขอแนะนำให้รู้จักกับผู้ประกอบการ OTOP รายหนึ่ง ที่ประกอบการเกี่ยวกับสปา ซึ่งไม่ใช่แค่นวดและอบสมุนไพร เท่านั้น แต่มีความรู้ในเรื่องการสร้างสุขภาพที่ดีด้วย...

ก่อนจะมาเป็นเรือนสมุนไพร...
เภสัชกรหญิงกิตติธร ปานเทศ หรือคุณมะเหมี่ยว เจ้าของกิจการ เล่าให้ฟัง ย้อนกลับไป 8 ปีก่อน หลังจากรับราชการมาได้ 4 ปี เรียนและทำงานด้านยามาตลอด พบปัญหาว่า บางครั้งการพึ่งพายาทำให้เกิดโรคเรื้อรัง คนไข้ที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นโรคแล้วรักษาไม่หาย จึงมีความสนใจเรื่องธรรมชาติบำบัด
คือ การรักษาสุขภาพ รักษาโรคโดยไม่ใช้ยา จากนั้นอ่านหนังสือ ค้นคว้าตำรับตำรา ทั้งของไทยและต่างประเทศมากขึ้น เข้าเรียนการนวด อบสมุนไพร และทดลองใช้องค์ความรู้ต่างๆ กับตัวเอง เมื่อได้ผลดี สุดท้ายมีแนวคิดว่า อยากให้ผู้อื่นได้สัมผัสกับความสุข สบาย สงบ รู้สึกผ่อนคลาย มีชีวิตชีวา และมีสุขภาพดี จึงก่อตั้งธุรกิจสปาขึ้น ชื่อว่า “เรือนสมุนไพรสปา” เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2545

อัตลักษณ์ที่โดดเด่น...
เรามีดีที่ใช้ “หลักธรรมชาติบำบัดแบบองค์รวม”
ในการป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ องค์ความรู้ที่ใช้ ได้แก่
1. หัตถศาสตร์บำบัด คือ การนวดทั้งแบบสวีดิช ไทย และไทยผสมสวีดิช
2. วารีบำบัด คือ การอบไอน้ำสมุนไพร การแช่
3. สุคนธบำบัด คือ การใช้สมุนไพรสดในการบำบัดร่วมกับการอบสมุนไพร
4. โภชนาการบำบัด คือ การรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มพลังให้กับร่างกาย
เรามีบริการนวดไทยที่มีเอกลักษณ์
และการทำทรีทเม้นต์จากเครื่องสำอางธรรมชาติ ช่วยล้างพิษออกจากร่างกาย ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ดูอ่อนกว่าวัย เรามีความเชี่ยวชาญในการดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตามหลักการดูแลสุขภาพ 7 ประการ คือ ดื่มน้ำดี … อาหารดี … ขับถ่ายดี … อากาศดี … สมาธิดี … ออกกำลังกายดี … และนอนหลับดี...

ผลิตภัณฑ์และบริการ...
ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ เรือนสมุนไพร ที่คิดค้นขึ้นมาเอง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากว่านหางจระเข้ และสารสกัดจากถั่วเหลือง ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็น OTOP ระดับ 4 ดาว ปี 2552 บริการหลักในสปา ได้แก่ การนวดไทย การใช้ลูกประคบ การอบสมุนไพร การใช้สมุนไพรไทย สารสกัดจากธรรมชาติ อาหารไทย ผลไม้ไทย ดนตรีไทย ผสานกับการใช้น้ำเพื่อการบำบัด เช่น อบสมุนไพรและการแช่น้ำ

คุ้มค่าทุกบริการ...
ก่อนบริการ มีการวินิจปัญหาเบื้องต้น สอบถามพฤติกรรมการใช้ชีวิต และให้คำแนะนำที่ถูกต้อง การให้บริการมีหลายโปรแกรมให้เลือก เช่น โปรแกรมนวดบำบัดผิวกาย 2 ช.ม.20 นาที โปรแกรมอยู่ไฟหลังคลอด คอร์สเจ้าสาว นวดไทย หรือนวดหินร้อน รวม 27 โปรแกรม สนนราคาต่ำสุด 150 บาท สูงสุด 1,100 บาท
มีแถมอีกต่างหาก หลังบริการ เสริฟด้วยน้ำคั้นผักและผลไม้สด ช่วยล้างพิษในร่างกายอีก 1 ชุด คุณค่าที่ได้สุดคุ้ม ช่วยผ่อนคลาย มีความสุข และมีสุขภาพดี

สปาไทยไปนอก...
ตั้งแต่ทำมาสรุปบทเรียนได้ว่า
อยากมีสุขภาพดีต้องใกล้ชิดธรรมชาติ ในด้านธุรกิจ มีกำไรบ้าง ไม่มีบ้าง คุยกับแฟนว่าเราจะสู้ต่อไป เพื่อพิสูจน์ว่า เรามีความรู้ เราจะทำธุรกิจได้ไหม ส่วนแผนที่วางไว้ในอนาคต
1. จับคู่พันธมิตรธุรกิจกับประเทศจีน ส่งออกธุรกิจสปา พนักงานนวดไทยและผลิตภัณฑ์ไทย
2. เป็นที่ศึกษาดูงานสปาไทย
ทำให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น
3. ตั้งโรงเรียนเรือนสมุนไพรสปาและธรรมชาติบำบัด
ซึ่งจะเปิดกิจการในเร็ว ๆ นี้

1 ใน 20 สปาต้นแบบของไทย...
ปัจจุบัน “เรือนสมุนไพรสปา” บริหารงานโดย
คุณมะเหมี่ยวและสามี คุณวราวิช ปานเทศ ลงทะเบียนครีมบำรุงผิวถั่วเหลือง เป็น OTOP ไว้กับจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่เลขที่ 101 ถ.เรืองวุฒิ ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา อยู่ในเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ห่างจากศาลากลางจังหวัด ประมาณ 300 เมตร มีระบบมาตรฐานบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 ติด 1 ใน 5 ของธุรกิจสปาในภาคตะวันออกและตะวันตกของไทย ที่มีศักยภาพโดดเด่น ด้านการออกตลาดทำธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้รับคัดเลือกเป็นสปาต้นแบบ 1 ใน 20 แห่งทั่วประเทศ จากกรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อจัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ธุรกิจสปาไทยไปทั่วโลก

สนใจหาคำตอบเรื่องสุขภาพเพิ่มเติม...
โทร.038-535523 ,081-617-4409
หรือ www.lookyoungerspa.com
หรือ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา 038-511239

ใส่ใจต่อสุขภาพสักนิด ชีวิตจะได้ยืนยาวครับ...

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

กลุ่มทำกระเป๋าหนังออนี่ : ลืมได้เลย...หลุยส์ วิตตอง...


หลุยส์ วิตตอง เป็นแบรนด์ที่กำเนิดขึ้นที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส…
เมื่อ ค.ศ. 1854 โดยหลุยส์ วิตตอง มัลเลเทียร์ …
ตอนนี้แบรนด์หลุยส์ วิตตองได้เป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่คนทั่วโลกรู้จัก …
สินค้าที่แบรนด์นี้จำหน่ายได้แก่ กระเป๋าสะพาย กระเป๋าถือ …
หีบห่อบรรจุเสื้อผ้า เสื้อผ้า รองเท้า นาฬิกา และเครื่องประดับ…

รวมแบรนด์ดัง...
หลุยส์ วิตตอง จัดว่าเป็นแบรนด์เก่าแก่แบรนด์หนึ่ง…
คู่แข่งของ หลุยส์ วิตตอง ตอนนี้ก็น่าจะได้แก่ เวอร์ซาเช่...,
แอร์เมส, ดัลเช่แอนด์กับบาน่า, กุชชี่, เบอเบอร์รี่, ดิออร์...,
ชาแนล, เฟนดิ, อาร์มานี่, พราด้า…
บริษัทที่ได้ดูแลและครอบครองหลุยส์ วิตตองในตอนนี้ก็คือ LVMH …
และดีไซน์เนอร์คนปัจจุบันของหลุยส์ วิตตอง ก็คือ Marc Jacobs…

รีบซื้อก่อนดัง...เรื่องของหลุยส์ วิตตอง เป็นเรื่องของไฮโซ หรือคนมีเงิน…
ประเด็นก็คือ ถ้าเรามีเงินไม่มาก...
แต่อยากได้กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพายดีๆ มาใช้บ้าง จะมีขายไหม...
วันนี้ ผมจึงขอแนะนำให้ท่านได้รู้จักกับกระเป๋าหนังยี่ห้อ “ออนี่” …
เป็นของดี มีคุณภาพ...
รับประกันด้วยใบประกาศนียบัตร OTOP ระดับ 5 ดาว ปี 2552…
ผลิตอยู่ที่บ้านกระบกเตี้ย หมู่ที่ 5 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต นี่เอง...

เส้นทางที่ยากลำบาก...
อำนวย แสงอภัย เด็กต่างจังหวัดจบการศึกษาเพียงชั้น ป.4 …
แล้วเดินทางมาขายแรงงานในเมืองหลวง ที่โรงงานกระเป๋าหนัง …
เริ่มตั้งแต่รับจ้างทากาว ตัดหนัง และช่างเย็บ …
ทำงานอยู่ 4 ปี ก็เริ่มรับงานเหมาเพราะได้เงินเป็นก้อนโต …
เก็บเงินได้สองแสนบาท ลงทุนเปิดร้านรับงานเอง …
แต่ความอ่อนด้อยเรื่องตลาด กิจการจึงไม่เป็นอย่างที่คิด...
สุดท้ายขาดทุนแทบหมดตัว …
เลยกลับไปรับจ้างในโรงงานเพื่อเก็บเงินมาลงทุนอีกครั้ง …
ตัดสินใจชวนทิพย์วัลย์ แสงอภัย ภรรยาคู่ใจกลับมาปักหลักที่บ้านเกิด …
อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา หวังมาทำกระเป๋าหนังส่งขายเมืองกรุง…

มุ่งสู่การเป็นเจ้าของกิจการ...
ปี 2544 มาจับจุดเกี่ยวกับธุรกิจได้จริง...
และเริ่มมีโครงการ OTOP เข้ามาช่วย…
มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงทำให้กระเป๋ายี่ห้อ “ออนี่”...
สามารถทำตลาดได้อย่างจริงจัง …
ต่อมาเริ่มหาทุนจากสถาบันต่าง ๆ เพื่อขยายการผลิต …
และเริ่มรู้จักการจัดระบบการขาย...
การออกแสดงสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ …
ส่วนใหญ่สินค้าที่ขายได้จะเป็นงานขายปลีกและการสั่งออเดอร์ …
เช่น กระเป๋าใส่นามบัตร พวงกุญแจ กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย …
ลูกค้าหลักของกระเป๋าออนี่ จะเป็นกลุ่มสาววัยทำงาน...
โดยราคาสินค้ามีตั้งแต่ 90 – 2,700 บาท…

อย่าผิดซ้ำซาก...
ปัจจุบันไม่มีหน้าร้าน...
เพราะมีความคิดว่าหากมีหน้าร้านคงต้องใช้เงินลงทุนสูง …
เนื่องจากเคยพลาดมาแล้วก็ไม่อยากซ้ำรอยเดิมอีก …
แต่จะมีการส่งเสริมการค้า...
โดยการนำเอาสินค้าออกจำหน่ายตามงานแสดงต่าง ๆ …
เพราะลูกค้าจะไม่ยึดติดกับแบรนด์ดัง ๆ...
แต่สนใจที่อายุการใช้งานมากกว่า …
ทางด้านราคาจะเช็คจากราคาหนัง...
วัตถุดิบให้ราคาต่ำกว่าท้องตลาดประมาณ 30% …
การดีไซน์หรือออกแบบจะดูจากกระเป๋าที่ใช้ทั่วไป...
แล้วจึงนำมาดัดแปลง…
ประยุกต์ให้มีความโดดเด่น สวยงามไม่แพ้ยี่ห้อดัง ๆ…

ต้องแตกต่าง แต่ดีกว่า...
เอกลักษณ์ของกระเป๋า ออนี่ คือ มีความคงทน สวยงาม น่าใช้ …
ที่สำคัญผู้ประกอบการรับซ่อมตลอดอายุการใช้งาน …
มีความแตกต่างจากยี่ห้ออื่น ๆ...
จะเน้นวัตถุดิบเป็นเครื่องหนังสลับเปลี่ยน …
คือกระเป๋า 1 ใบ จะมีหนังไม่เกิน 2 สี …
หนังที่ใช้จะเป็นหนังวัวฟอก 100% เกรด A ...
ให้ความคงทน นุ่ม ไม่กระด้าง...
การผลิตทำด้วยความประณีต วัสดุที่ใช้แข็งแรง...
ทนทานและมีบริการหลังการขาย…
แรงงานที่ใช้ผลิตเป็นแรงงานในชุมชนบ้านกระบกเตี้ย ต.ท่ากระดาน…
ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างดี…

สนใจสั่งซื้อได้ในงานแสดงต่าง ๆ เช่น งาน OTOP ที่เมืองทองธานี…
งานนมัสการหลวงพ่อโสธร งานกาชาด หรืองานกิจกรรมต่าง ๆ ที่จังหวัดจัดขึ้น…
หรือติดต่อคุณทิพย์วัลย์ แสงอภัย เลขที่ 148 บ้านกระบกเตี้ย...
หมู่5 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา...
โทร 08-7940-4237…
หรือ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 0-3851-1239...

ก็ “ออนี่” ไง ที่ผมว่า...ลืมได้เลย...หลุยส์ วิตตอง...

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ที่นี่ 5 ดาว...


ประเด็น ก็คือ คนทั่วไปจะรู้ไหม ทำไมผลิตภัณฑ์ OTOP ต้องให้ดาว…
5 ดาว กับ 4 ดาว หรือ 2 ดาว มันต่างกันอย่างไร...
เราควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีระดับดาวมาก ๆ หรือไม่...
แล้วพวกดาวน้อย ๆ จะทำอย่างไร...
วันนี้ ผมจะขอคุยเรื่องนี้สักหน่อย...
และตอนท้ายจะบอกว่า ที่แปดริ้วนี้ อะไรบ้างที่ได้ 5 ดาว...

ทำไมต้องให้ดาว...
เรื่องนี้มาจากโครงการที่ชื่อว่า การคัดสรรสุดยอด OTOP ไทย...
มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า OTOP Product Champion ชื่อย่อคือ OPC ...
เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ...
สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ...
เพื่อเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนในระดับฐานราก ...
ได้มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสามารถส่งออกได้...

มากน้อยต่างกัน...
ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการส่งเข้าคัดสรร จะได้ระดับดาวที่ต่างกัน...
ระดับ 5 ดาว เป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานสูง ส่งออกได้ทันที ...
ระดับ 4 ดาว เป็นสินค้ามีศักยภาพสูง สามารถพัฒนาเพื่อส่งออกได้ ...
ระดับ 3 ดาว เป็นสินค้าระดับกลาง ที่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 4 ดาวได้ ...
ระดับ 2 ดาว เป็นสินค้าที่มีศักยภาพต่ำ แต่สามารถพัฒนาไปสู่ 3 ดาวได้ ...
ระดับ 1 ดาว เป็นสินค้าที่มีจุดอ่อนมาก และยากต่อการพัฒนา ...

พิจารณาจากอะไร...
คณะกรรมการตัดสินมาจากหลายกระทรวง เช่น...
พาณิชย์ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ ศึกษา มหาดไทย เกษตร ฯลฯ...
เกณฑ์การพิจารณา ดูจาก ...
ด้านการผลิตและความเข้มแข็งของชุมชน...
ด้านตัวผลิตภัณฑ์และการตลาด สุดท้ายดูที่ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์...
ทำดี มีมาตรฐานสูงก็ได้คะแนนมาก...
ทำไม่ดี มาตรฐานไม่มี คะแนนก็น้อย...


ประโยชน์ของดาว…
แต่ละระดับดาว จะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนแตกต่างกัน...
พวก 5 ดาว สนับสนุนการส่งออก ...
พวก 3-4 ดาว สนับสนุนการขายในประเทศ...
พวก 1-2 ดาว จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ได้มาตรฐาน...
ใบเกียรติบัตร ผู้ผลิตใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้...
ผู้บริโภคก็ง่าย ต่อการตัดสินใจ...

5 ดาว ของแปดริ้ว…
จากการคัดสรรเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 ...
มีทั้งหมด 13 ราย ดังนี้ครับ...
1.มะม่วงดองน้ำตาลทราย บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด
20/5 หมู่ 6 ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา 038-813444
2.ศิริพรครองแครงกรอบ นางภาพร วรรณแจ่ม
7/27 ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 038-514663
3.ข้าวตังหน้างา วิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนา (ร้านริน)
15/2 หมู่ 3 ต.โสธร อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 038-515996
4.ขนมเปี๊ยะชุดคลาสสิก นายอรุพงษ์ อนิวรรตพงษ์ (อึ๊งมุ่ยเส็ง)
59 ต.ปากน้ำ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 038-541165
5.มะม่วง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก อ.บางคล้า
121 หมู่ 3 ต.สาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 038-583734
6.กะปิ กลุ่มประมงชายฝั่งบ้านคลองเจริญวัย
16/3 หมู่ 2 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 089-9387792
7.ปลากุเลาเค็ม กลุ่มแปรรูปปลากุเลา
174/29 หมู่ 2 ต.บางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 089-9387523
8.ฝอยเงิน กลุ่มสตรีขนมหวานบางปะกง (บ้านคลองผีขุด)
38 หมู่ 14 ต.บางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 038-832054
9.ไข่ไก่สด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด
136/2 หมู่ 2 ต.เทพราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 038-595627
10.มะม่วงน้ำดอกไม้ นายวิเชียร มงคล
93/1 หมู่ 3 ต.คลองเขื่อน อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา 089-9968294
11.กระเป๋าหนังสะพาย นางทิพวัลย์ แสงอภัย
148 หมู่ 5 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา 087-9404237
12.ยาอมบรรเทาอาการไอมะขามป้อม ห้างธงทองโอสถ
17/3 หมู่ 2 ต.วังตะเคียน อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 038-816685
13.มะม่วง วิสาหกิจชุมชนชมรมชาวสวนอำเภอแปลงยาว (เพชรสำโรง)
54 หมู่ 9 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา 038-589321

อาจแปลกใจนะครับ บางรายการเราไม่เคยรู้จักมาก่อน...
แต่นี่แหละของดีของบ้านเรา...
ส่วนระดับดาวอื่น ๆ ดูได้จากเว็บไซต์สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา…
หรือจะขอหนังสือ OTOP แปดริ้ว ก็ได้ ติดต่อที่ 038-511239...

ชีวิตผม…รู้เรื่องเดียว ขนมเปี๊ยะ “ตั้ง-เซ่ง-จั้ว”


ผมประทับใจสโลแกนนี้...
ชีวิตผม…รู้เรื่องเดียว ขนมเปี๊ยะ “ตั้ง-เซ่ง-จั้ว”
บนเสื้อคุณชัยรัตน์ ตันคงคารัตน์ เจ้าของร้านตั้งเซ่งจั้ว…
หนึ่งในร้านขนมเปี๊ยะชื่อดังของจังหวัดฉะเชิงเทรา…
เขาคุยว่าเขารู้เรื่องเดียว คือ ขนมเปี๊ยะ...
ต่อไปนี้ คุณชัยรัตน์ จะเล่าเรื่องขนมเปี๊ยะตั้งเซ่งจั้ว ให้เราฟังครับ...

มองข้ามความรวย...
เตี่ยผมนั่งเรือสำเภามาจากเมืองจีน มาอยู่แปดริ้วตั้งแต่ปี 2475...
มาทำขนมเปี๊ยะ ความรู้ที่ได้... รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ...
วางขายที่หน้าบ้าน ขายไม่ดี มีขนม 3-4 อย่าง ชิ้นใหญ่ กลาง เล็ก...
อายุ 13 หน้าที่หลักของผม ติดเตา เฝ้าเตาอบ ไม่หนักแต่ร้อนมาก...
อายุ 18 เตี่ยบอกว่างานขนมเปี๊ยะมันเหนื่อย ไม่อดทนอยู่ไม่ได้...
ถ้ามีงานไหนดีกว่า ชอบกว่า ไปเลย...
เตี่ยบอก ผมก็ไป...
เป็นลูกจ้างส่งใบชาที่กรุงเทพฯ 2 ปี ส่งยา 1 ปี ทำโรงสี 8 ปี...
โรงสีรายได้ดี แต่อยู่ไม่ได้เพราะแพ้ละอองข้าว...

ชีวิตต้องสู้...
กลับมารับขนมเปี๊ยะของพี่ชายมากระจายขาย...
หักลบกลบหนี้แล้ว ไม่คุ้มค่าเหนื่อย คิดว่าจะอยู่รอดต้องทำเอง...
ปี 2526 ผมทุ่มเงินเก็บทั้งหมดที่มี 14,500 บาท ทำขนมเปี๊ยะเอง...
ซื้อเตา ซื้อวัตถุดิบ วันแรกขายได้ร้อยเดียว แทบร้องไห้...
คิดมุมกลับ ขี่หลังเสือลงมาก็ตาย ผมสู้ทน ทำต่อไป...
ผมส่งของมาขายบ้านแม่ยายเพราะทำเลดีกว่า...
ได้วันละพัน สองพัน ไม่พอ แค่นี้อยู่ไม่ได้...

จุดเปลี่ยน...
กรมการค้าภายในมาช่วยชีวิต สมัยก่อนมีโครงการธงฟ้า สินค้าราคาถูก...
จัดงานจังหวัดต่าง ๆ ที่ละ 2 วัน แถวภาคตะวันออกขายดีมาก...
ได้ครั้งละ 3,000-5,000 บาท จึงขายแบบนี้เรื่อยมา...
ประทับใจเมื่อไปขายที่อยุธยา ไปถึง 5 โมงเย็น ฝนมา ฟ้ามืด...
ตกจนถึงหนึ่งทุ่ม น้ำท่วม ของเต็มรถทำไง ต้องขายไม่ขนกลับแน่...
ไม่น่าเชื่อ ผมเอาของมาขายกลางน้ำ คนซื้อลุยน้ำมาซื้อใฃ...
สามทุ่มขายหมดเกลี้ยง...
เมื่อไปหลายที่ คนเริ่มรู้จัก เริ่มขายง่าย ขายดี มีคนโทรมาสั่ง...

ค้าขายต้องปรับตัว...
ทำขนม ถ้าไม่หลากหลาย ก็ขายได้น้อย...
ผมคิดทำขนมเปี๊ยะขึ้นมาเรื่อยๆ ปีละ 1-2 อย่าง...
ตอนนี้ที่ขายดี คือ บัวหิมะ ไส้ทุเรียน ถั่วเขียว ถั่วดำ งาดำ มะตูม...
กว่าจะคิดได้ ทำเสีย ทำทิ้งไปเยอะ...
ส่วนขนมเปี๊ยะมีหลายไส้...
ถั่วไข่เค็ม ถั่วงาดำ สัปปะรด พุทราจีน ฟัก ทุเรียน ฯลฯ...
ขนมที่นี่ทำสดทุกวัน ไม่ใส่สารกันบูด เก็บปกติได้ 1 สัปดาห์...
เก็บในตู้เย็นได้ 2 สัปดาห์ อยู่ได้เพราะเราใส่ซองดูดความชื้น...

พัฒนาไม่สิ้นสุด...
ขนมดีต้องมีกล่องสวย ซื้อฝากใครไม่อายกัน...
ที่นี่กล่องสวย ฝีมือลูกๆ หลาน ๆ ผมมีวิธีลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์...
จะรวมกับพี่ชาย สั่งครั้งละมากๆ ราคาก็ถูกลง...
ขนมที่นี่ 90 % ขายหน้าร้าน ขายหมดทุกวัน...
เมื่อก่อนใช้แรงงานคนปั้น ไม่ทันขาย ทุกวันนี้ต้องใช้เครื่องมาช่วย...
มีห้างใหญ่ๆ ติดต่อให้ไปขาย สนใจนะ แต่ติดปัญหาเรื่องกำลังการผลิต...

เรียนรู้จุดเด่น แก้ไขจุดด้อย...
ขนมเปี๊ยะจะอร่อยอยู่ที่ทุกอย่าง แป้งดี ไส้มีคุณภาพ มีความสด ใหม่...
ผมเน้นว่าต้องทำให้พอดี ขายหมดวันต่อวัน ต้องเตรียมของให้พอขาย...
ขายของกินต้องรู้จักสังเกต ต้องเตรียมตัว ช่วงไหนขายดี ช่วงไหนเงียบ...
ช่วงเงียบ อย่าตุน เงินจะได้ไม่จม...
ช่วงขายดี ปีใหม่ ตรุษจีน ไหว้พระจันทร์ ต้องเตรียมให้พอ...
ปีใหม่ขายดีมาก เพราะขนมเปี๊ยะดีกว่า ทนกว่า...
หยิบกระแทก หน้าไม่เละเหมือนเค้ก...

ชีวิตผม รู้เรื่องเดียว ขนมเปี๊ยะ...
สโลแกนนี้ ลูกสาวคิด สั้นๆ แต่ได้ใจความ...
มนุษย์เรานั้นขอให้มีความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง...
ก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำมาหาเลี้ยงชีพ...
ดังบทกลอนส่วนหนึ่งของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่ว่า…
อย่าเกียจคร้านการเรียนเร่งอุตส่าห์ มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน...
จะตกถิ่นฐานใดคงไม่แคลน ถึงคับแค้นก็พอยังประทังตน…
อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล…
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์ ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี...

ภูมิใจสร้างตัวได้...
คุณชัยรัตน์ แห่งร้านตั้งเซ่งจั้ว ก็เข้าตำรานี้ครับ...
เขาบอกภูมิใจเรื่องความรู้เรื่องขนมเปี๊ยะ จนกลายมาเป็นสโลแกนประจำตัว...
อีกอย่างที่เขาภูมิใจมาก...
คือ การสร้างเนื้อสร้างตัวจากเงินเพียง 14,500 บาท เท่านั้น...
ปัจจุบันร้านนี้มีอยู่ 2 แห่ง...
ตั้งอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟฉะเชิงเทราและที่ปากทางเข้าวัดผาณิตาราม...
หรือจะซื้อที่ร้านโกลเด้น เพลส กรุงเทพฯ เขาก็มีขายเช่นกัน...
ส่วนร้านเก๋งจีนที่บางคล้า และร้านที่ถนนมอเตอร์เวย์บางปะกง เป็นของพี่ชาย...
ใครสะดวกจุดไหนก็แวะมาเลือกซื้อได้ครับ...
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม 275/1 ถ.มหาจักรพรรดิ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา…
โทร.0-3851-5395 , 0-3851-1139
หรือ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.0-3851-1239...

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

จากงูเขียวในท้องถิ่น เป็นมังกรบินได้อย่างไร…


คุณรู้ไหมว่า การพัฒนา OTOP แปดริ้ว เขาทำกันอย่างไร...
ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็ดีขึ้นมาได้...แต่มันมีกระบวนการปั้นดินสู่ดาว...
หรือที่ผมเรียกว่า “จากงูเขียวในท้องถิ่น เป็นมังกรบิน” นั่นแหละครับ...

องค์กรลับ ขับเคลื่อน...
จริง ๆ ไม่ใช่องค์กรลับอะไร แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้...
หนึ่ง เขามีคณะอนุกรรมการ OTOP จังหวัด ท่านผู้ว่าฯ เป็นประธาน...
มีหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์...
สอง คณะกรรมการพัฒนาองค์ความรู้ รองผู้ว่าฯ เป็นประธาน...
มีหน้าที่วางแผนการพัฒนาทุกๆ ด้าน...
สาม คณะอนุกรรมการด้านการตลาด การบริหารจัดการ
คณะอนุฯ ด้านอาหาร คณะอนุฯ ด้านของใช้...
มีหน้าที่วางแผนปฏิบัติการและขับเคลื่อน...
สี่ เครือข่าย OTOP แปดริ้ว...

มีหน้าที่ช่วยเหลือกันทุกด้านในกลุ่ม OTOP ด้วยกัน...

คิดจะรบ ต้องมีกลยุทธ์…
องค์กรเหล่านี้ เขาไม่ทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า...
เขามีการประชุมวางแผนกันก่อน...
มองอนาคตอย่างไร มีวิสัยทัศน์อย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร...
เขาวิเคราะห์ มองรอบด้าน จะแก้ปัญหาอย่างไร พัฒนาอย่างไร...
สรุปออกมา เขาเรียกว่า “ยุทธศาสตร์” ครับ...
ในนั้นจะบอกเป้าหมาย กลยุทธ์ ยุทธวิธี ที่จะรบทั้งหมด...

จับงูเขียว มาฝึก...
กลุ่มเป้าหมายของเขา คือ กลุ่ม OTOP แปดริ้วทั้งหมด...
ส่วนใหญ่เป็นงูเขียวท้องถิ่น คือ หากินเล็กๆ น้อยๆ แถวบ้าน...
มีบ้างที่เป็นงูใหญ่ หากินไกลหน่อย มีกำลังมาก...
องค์กรจะจับพวกนี้มาอบรม ฝึกซ้อม ประชุม สัมมนา...
เรียกว่าให้ความรู้ และฝึกทักษะของการเป็นผู้ประกอบการทุกอย่าง...
บางหลักสูตร ลงทุนเป็นหลายๆ แสนบาท ก็มี...

กบนอกกะลา…
ยังไม่พอ เกรงจะไม่เข้าใจ ยังพาไปดูงานอีก...
ว่ากันว่า การทัศนศึกษา ดูงาน เป็นการเรียนรู้ที่ดีมากอย่างหนึ่ง...
เขาพางูเขียวท้องถิ่นไปดูกระบวนการผลิต การบรรจุภัณฑ์...
ดูการบริหารจัดการ การตลาด การหาแหล่งทุน และอีกหลายอย่าง...
พวกนี้กลับมาก็กลายเป็นกบนอกกะลา โลกทัศน์กว้างไกลขึ้น...

กระบวนการ กลายร่าง...
กลับจากการฝึกวิทยายุทธ์ และดูงานแล้ว...
พวกงูเขียวทั้งหลาย ก็ต้องมาพัฒนาตัวเอง...
ผลิตภัณฑ์ต้องดีขึ้น ทั้งสี กลิ่น รส รูปทรง คุณภาพ มาตรฐาน...
บรรจุภัณฑ์ต้องตา ต้องใจ แข็งแรง ปลอดภัย...
ราคาขาย ราคาทุน ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ไม่ใช่ทุนหาย กำไรหด...
สถานที่ขายต้องดี เหมาะสม ทำอย่างไร ให้ลูกค้าเห็นง่าย เห็นแล้วซื้อ...
การส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม ก็ต้องมี...
ภาษานักการตลาด เขาเรียกว่า หลัก 4P นั่นเอง...
คือ การพัฒนา Product Price Place และ Promotion …

งูเขียว ที่แคระแกรน…
กระบวนการพัฒนานี้ ไม่ใช่ว่าทุกผู้ประกอบการจะทำได้...
บ้างคนก็ท้อแท้ หมดกำลังใจไปก่อน...
แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปแล้ว...
โดยหลักที่ผิดพลาดก็คือ 1 ใน 4P หรือหลายตัวใน 4P ...
อีกประการหนึ่ง คือ การไม่คิดที่จะพัฒนาของตัวผู้ประกอบการเอง...
แต่สำหรับผู้ที่ไม่ย่อท้อแล้ว มักจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ...

ถึงเวลา มังกรบิน…
เมื่อมีการพัฒนาแล้ว งูเขียวก็กลายเป็นมังกร...
พร้อมที่จะค้าขายกับโลกภายนอก ต่างถิ่น...
บ้างก็มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง บ้างก็ตลาดนัด...
บ้างก็ค้าขายทางอินเตอร์เน็ต หรือ Event ต่างๆ ...
บ้างก็ค้าขายทั้งในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ...

สุดท้าย พบกันที่เมืองทอง...
นี่คือแหล่งใฝ่ฝันของบรรดาเหล่ามังกรบินทั้งหลาย...
เพราะมันคือโอกาสทางธุรกิจที่ดีที่สุดของ OTOP…
การค้าปลีก ค้าส่ง และพบปะลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศจะเกิดขึ้นที่นี่...
จากที่เล่ามาทั้งหมด คือ กระบวนการพัฒนา OTOP แปดริ้ว...
ซึ่งจะหมุนวนไม่หยุดนิ่ง ปีแล้วปีเล่า ตราบเท่าที่ ยังมี OTOP อยู่...
และขณะนี้องค์กรขับเคลื่อน OTOP แปดริ้ว...

ได้จัดทำหนังสือชื่อ “OTOP แปดริ้ว” เพื่อเผยแพร่แล้ว...
สนใจขอรับได้ที่ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.0-3851-1239...

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“ริน” หนึ่งในตำนานขนมหวานแปดริ้ว

“รินขนมไทย”...ลงทะเบียน OTOP ...
ในนามวิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนา...
ตั้งอยู่เลขที่ 15/2 ม.3 ต.โสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000...
บริหารงานโดย คุณวิทยา คุณวรพรรณี น้อยใจบุญ สองสามีภรรยาและลูกๆ…
เป็นผู้นำธุรกิจขนมหวานไทยของแปดริ้ว...
จากสูตรขนมคุณยายทำให้ลูกหลานและญาติมิตรรับประทาน....
พัฒนามาเป็นร้านขนมหวานของดีประจำจังหวัด...

ที่รู้จักกันมานานกว่า 30 ปี...
คุณวรพรรณี หรือพี่เล็ก ผู้ประกอบการรุ่นลายคราม...

จะเล่าเรื่องราวของ “รินขนมไทย” ให้เราฟัง...

ก่อนจะมาเป็น “ริน”…
เดิมพี่เป็นครู แฟนเลี้ยงไก่ ไม่มีประสบการณ์ ขาดทุนมาก... เจ๊ง...
คิดใหม่ ทำใหม่ น่าจะทำขนม เพราะปู่ย่าตายายทำขนมเก่ง...
คิดถึงกระยาสารท หนึ่งเก็บได้เป็นปี...
สองกรอบมันเพราะไม่ใช้น้ำตาล เราใช้น้ำอ้อย...


ปัญหาน่าปวดหัว…
เริ่มค้นหาวัตถุดิบ...ข้าวเม่า งา ถั่วลิสง น้ำอ้อย จะซื้อจากที่ไหน....
รู้ว่าพ่อค้าไปเอาที่แพท้องน้ำ (วัดแหลม)...
แต่ที่นั่นเขาไปเอามาจากไหนไม่รู้...
อย่างอ้อยไม่ใช่ที่ไหนก็ใช้ได้...อ้อยชลบุรี ดินทราย ร่วนใช้ไม่ได้...
อ้อยวัดผาฯ (วัดผาณิตาราม อ.บ้านโพธิ์) ดินน้ำเค็ม ก็ใช้ไม่ได้...
อ้อยดี ต้องปลูกดินเหนียว แถวนนทบุรี,ปทุมธานี...
และต้องเป็นอ้อยพันธุ์ที่ปลูกกวนขนมเท่านั้น...
ค้นหามานาน หลายที่กว่าจะลงตัว...ใช้งาที่เพชรบูรณ์ ถั่วลิสงที่พนัสนิคม...
ข้าวเม่าต้องเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงู...
กวนเดือนแปด ใช้เดือนสิบ (ประมาณตุลาคม)...
แม่ค้าที่ตลาดถาม...ทำไมไม่ขายทั้งปี...
เดี๋ยวขายเดี๋ยวหยุด...เลยลองกวนทั้งปี...

เหตุที่ดัง...
มีลูกค้าซื้อไปฝาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ท่านทิ้งไว้นาน...
วันหนึ่งทานข้าวเสร็จ หยิบกระยาสารทมาทาน...
แผ่นกลาง 4 ชิ้น ทานหมดเลย...
ท่านเขียนลงวารสารฟ้าเมืองไทย...
และทางวารสารขอเครื่องหมาย “เชลล์ชวนชิม” ให้...
หลังจากนั้นมา ก็ขายดีขึ้นเรื่อยๆ...

ทำไมยี่ห้อ “ริน”
สินค้าต้องมียี่ห้อ...เล็ก ชื่อโบราณ...ชื่อจริงก็ยาวไม่เหมาะสม...
ลูกสาวชื่อภาวริน “ริน” แปลว่า ทอง...ฟังดูเย็นๆ ดี เหมือนน้ำไหลรินๆ...
จึงตกลงใช้ชื่อนี้ น้องของพี่วิทยาออกแบบตัวหนังสือให้...

มากกว่ากระยาสารท...
จากกระยาสารทหนึ่งอย่าง ลูกค้าบอกมีตัวเลือกน้อย...
จึงทำขนมอื่น ๆ ด้วย ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหัวผักกาด ฯลฯ...
จากที่เราเป็นเด็ก แม่มีลูก 7 คน ทำขนมกินเอง ทำให้เรารู้จักขนมต่างๆ...
ค่อยพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ลองผิดลองถูก...ปรับบางสูตรที่ไม่อร่อย...
สูตรต่างๆ จากวิธีตวง เปลี่ยนเป็นวิธีชั่ง เพราะตวงไม่แน่นอน...

ตลาดของ “ริน”…
แรกๆ หิ้วขนมไปฝากขายตามร้านต่างๆ แถวบางกะปิ 10 ร้าน ได้ 2 ร้าน...
เขาบอกติดเทศกาลไหว้พระจันทร์ ที่ได้ก็เป็นฝากขาย ไม่ซื้อขาด...
ต่อมาออกงานบ่อย ขายที่งานในกรุงเทพฯ งานที่สวนอัมพร งาน ททท....
ต้องปรุงตรงนั้น เอารถสิบล้อขนไป...เจอคู่แข่งเราไม่กลัว เพราะเราอร่อยกว่า...
ปัจจุบันเราขายประจำที่ร้านริน มี 2 แห่ง... คือ ที่นี่ เปิดทุกวัน 07.00-19.00 น.
กับที่ ถ.เทพคุณากร ขาออกจากไปไหว้หลวงพ่อโสธร เปิด 08.00-18.00 น....
ต่างจังหวัด ส่งร้านโกลเด้นเพลส ,บางจาก ,เรมอนฟาร์ม...
และร้านขายของฝาก กรุงเทพฯ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ไม่ไปไกล...

อยู่อย่างพอเพียง...
เคยคิดพัฒนาเพื่อส่งออก เริ่มติดต่อที่เมืองจีน ลองตลาด ขายไม่ดี...
เมืองจีนมีขนมถั่วตัด คนไม่สนใจกระยาสารท...
เคยมีพ่อค้าคนกลาง สั่งของเราไปขายที่นิวซีแลนด์...
หยุดไปพักหนึ่ง นึกว่า OK ปรากฏว่าร้านเขา ทางการตรวจแล้วไม่ผ่าน...
ล๊อตเดียวหายเลย...และช่วงนั้นมีข่าวพ่อค้าคนกลางหลอกลวง OTOP บ่อยๆ...
กลับมาพิจารณา เราเข้าวัด ปฏิบัติธรรม ในหลวงก็บอกเศรษฐกิจพอเพียง...
จึงเลิกคิดส่งออก...ลูกค้าเก่าอย่าให้หาย ลูกค้าใหม่หาเพิ่มเติม...
คงไว้ซึ่งความยุติธรรม ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อลูกค้า...

ไม่เอาเปรียบลูกค้า เท่านี้พอ...

รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ...
ร้านริน มีเอกลักษณ์ คือ ทำขนมไทยไม่ทำขนมต่างประเทศ...
และมีการสืบกิจการให้กับทายาท รางวัลแห่งความภาคภูมิใจล่าสุด...
ได้รับรางวัลคุณแม่ผู้อนุรักษ์ขนมไทยดีเด่น...
จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เมื่อ 29 ก.ค.49...
รายละเอียดเพิ่มเติมขอได้ที่ ร้านริน โทร 0-3851-3777, 0-3851-2534...
หรือ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.0-3851-1239...

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แปดริ้วแชมป์…ชัยชนะท่ามกลางความโกลาหล...


ผมขอคุยเรื่องนี้หน่อยเถอะ...นานๆ จะได้แชมป์ระดับประเทศสักที...
เป็นรางวัลชนะเลิศการประกวดขบวนพาเหรดวัฒนธรรม...
งาน OTOP Festival in the City 2009...
ณ สนามศุภชลาสัย ถนนสุขุมวิท...
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2552...
รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารฯ...
กับเงินสดอีก 500,000 บาท...
ผู้ว่าฯ วีรวิทย์ วิวัฒนวานิช รับถ้วยพระราชทาน...
พัฒนาการจังหวัด กฤษณา สุพรรณพงษ์ รับเงินสดห้าแสนบาท...
จากนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ...
ผมขอเล่าเรื่องเบื้องหลัง ด้วยความภาคภูมิใจ...
เราสามารถแก้ไขปัญหามาได้ด้วยดี จนคว้าชัยชนะครั้งนี้ครับ...

วิกฤตคือโอกาส...
คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ...
มีมติให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดงานใหญ่...
OTOP Festival in the City 2009 ณ บริเวณใจกลางเมืองกรุงเทพฯ...
ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 5 เมษายน 2552...
พูดง่ายๆ คือ ขาย OTOP ในศูนย์การค้าชั้นนำ 7 แห่ง ได้แก่...
เอ็มโพเรียม อัมรินทร์พลาซ่า สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์...
สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และมาบุญครอง...
กับสนามศุภชลาสัย สนามกีฬาแห่งชาติ รวม 3,200 ร้านค้า...
อยากให้งานดี งานดัง ก็เลยให้มีการประกวดขบวนพาเหรดวัฒนธรรมด้วย...
แบ่งเป็น 18 กลุ่มจังหวัด ๆ ละ 1 ขบวน...แข่งขันวันเปิดงาน 29 มีนาคม...
เรารู้ตัวก่อนแข่งขันประมาณ 10 วัน เท่านั้นเอง...

ปัญหามา ปัญญามี...
เวลากระชั้นชิด คิดอะไรได้ต้องรีบทำ...
ผู้ใหญ่ในจังหวัด ตั้งแต่ผู้ว่าฯ พัฒนาการจังหวัด...เคลียร์ปัญหาก่อน ทำไงดี...
กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง มี 5 จังหวัด...
ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว...
ตอนนี้แปดริ้วรับบทเป็นหัวหน้ากลุ่ม...
ท่านผู้ว่าฯ เคลียร์ทุกจังหวัด ขอรับอาสาดำเนินการเอง...
ไม่งั้นไม่ทัน ไม่เรียบร้อย บริหารจัดการยาก...
ทุกจังหวัดโอเค แปดริ้วดำเนินการ...

ขุนศึกอยู่ที่ไหน...
ยิ่งใกล้วัน เวลาเหลือน้อย ยิ่งต้องรีบ...
เงื่อนไขประกวด ต้องมีรถขบวน 1 คัน ยาว 9 เมตร สูง 4 เมตร...
ประดับด้วย OTOP...
ผู้แสดง 150-200 คน แสดงวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทุกจังหวัด...
เวลาน้อย โจทก์ยาก ใครจะทำได้...
โชคยังดี หลายปีผ่านมา เวลาเปิดงาน OTOP แปดริ้ว...
เราใช้นักแสดงของอาจารย์อุษา วงศ์กลม โรงเรียนวัดดอนทอง...
ได้อาจารย์อุษามาช่วยเรื่องรูปขบวนและนักแสดง...
อาจารย์นิวัฒน์ช่วยเรื่องตกแต่งรถ...
อาจารย์ไปช่วยกันคิดอยู่เป็นวัน จึงได้แบบออกมาเป็นรูปร่าง...

คิดดี มีความหมาย...
พัฒนาการจังหวัดช่วยเพิ่มเติม เข้ารูปเข้ารอย...
รถแห่ นำหน้าด้วยหลวงพ่อโสธร เสด็จจากสวรรค์...
แห่แหนด้วยสัตว์ป่าหิมพานต์...
คชสีห์ หมายถึงความน่าเกรงขาม...
นกสัมพาที หมายถึงความมีพลัง ความเสียสละ...
นาคราช หมายถึง ความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์...
นำผลิตภัณฑ์ OTOP จากภูมิปัญญาอารยชนสู่มวลมนุษย์...
เสริมด้านข้างด้วยรูปแกะสลัก ปลาช่อน ตำนานของชาวแปดริ้ว...
และด้านหลังด้วยซุ้มประตูปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว...
รวมแล้วหมายถึง ความเลื่อมใสหลวงพ่อโสธร...
และอวยพรให้ทุกคนเจริญก้าวหน้า...

เบญจบูรพาสุวรรณภูมิ...
ขบวนนักแสดง ประกอบด้วย 5 ขบวน ๆ ละ 30 คน...รวม 150 คน...
ฉะเชิงเทรา ชื่อขบวน “พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร”
เป็นแม่ลูกคู่ขวัญไปรำแก้บนหลวงพ่อ...
สมุทรปราการ ชื่อขบวน “อรชรรามัญบรรเจิดเชิดหุ่นคน” ...
แสดงหุ่นคนเชิด...
นครนายก ชื่อขบวน “สวยเลิศล้นชนไทยพวน” ...
แต่งกาย ร่ายรำแบบชนพื้นเมือง...
ปราจีนบุรี ชื่อขบวน “งามสง่าล้วนทวาราวดี” ...
แสดงระบำทวาราวดี...
สระแก้ว ชื่อขบวน “สำอางค์ศรีนางอัปสรา” ...
แสดงระบำอัปสราสำอางค์ แบบเขมร...
และสุดท้าย เราให้ชื่อกลุ่มจังหวัดนี้ว่า “กลุ่มเบญจบูรพาสุวรรณภูมิ”...
ทั้งหมดนี้ กรรมการชอบ คนดูชอบ...เราชนะที่หนึ่งของประเทศ...
ขอบคุณในความร่วมมือของทุกคน...
และลืมไม่ได้ อบจ.ฉะเชิงเทรา สนับสนุนงบประมาณครับ...
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สนง.พัฒนาชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา โทร.0-3851-1239...

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

จากสุดยอดสมุนไพรไทย…มาเป็นเครื่องสำอาง...วรรณพฤกษา...


เคยบ้างไหม...ที่รู้สึกว่า...มีอะไรบางอย่าง ที่เรารู้จักดีที่สุด...
รักที่สุด ชอบที่สุด ดีจนอยากบอกต่อ...
อยากให้คนอื่นใช้...ของดีๆ อย่างเราบ้าง...
วันนี้ ผมมีเรื่องของคนแบบนี้ มาเล่าให้ฟัง...
คุณวรรณี นิ่มเจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนวรรณพฤกษาสมุนไพรไทย...
คนที่รู้จักคุณค่าของสมุนไพรไทยดีที่สุดคนหนึ่ง...
คนที่แบ่งปันความรู้ ภูมิปัญญา ออกมาในรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย...
เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ สิ่งดีๆ อย่างที่เธอใช้...
ต่อไปนี้ คุณวรรณีเล่า...ผมเขียน....เช่นเคยครับ...

เปิดประตูกิจการ...
วิสาหกิจชุมชนวรรณพฤกษาสมุนไพรไทย จดทะเบียนแล้ว...
อยู่เลขที่ 193/12 ซ.มหาจักรพรรดิ 9 ถ.มหาจักรพรรดิ
ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา...
ก่อตั้งเมื่อปี 2547 มีสมาชิก 7 คน ส่วนใหญ่เป็นญาติกัน...
ลงทุนครั้งแรก 300,000 บาท ด้วยทุนส่วนตัว...
เป็นค่าแบบพิมพ์ สติกเกอร์ ขวด อุปกรณ์ สมุนไพร...
สมุนไพร...บางอย่างปลูกเอง ที่บ้านแม่ที่คลองเขื่อน...
เช่น มะกรูด ทองพันชั่ง ว่านหางจระเข้ ใบบัวบก ใบตำลึง ฯลฯ...
หัวเชื้อเคมีซื้อแถวเยาวราช...วัดตึก...ขวดซื้อที่หลานหลวง...สะพานขาว...
กำลังการผลิต 100-200 ขวด/เดือน...
มีหลายขนาด ต่ำสุด 30 ม.ล. สูงสุด 340 ม.ล....
หลายราคา...ต่ำสุดพิมเสนน้ำ 30 ...สูงสุดน้ำมะพร้าว 120 ...

ให้ในสิ่งที่เราชอบ...
เพราะเคยอยู่วัดทำสมาธิ จำศีล ภาวนา...
อยู่มาหลายจังหวัด...เลย สระบุรี เชียงราย...
อยู่วัดไม่ค่อยใช้เงิน...เพราะห่างไกลตลาด...แม่ชีแนะนำให้ใช้สมุนไพร...
ส้มป่อยสระผม...ขมิ้นไพรพอกหน้า...ตำลึงหมักผม...
นานเข้า...สะสมเป็นความชอบ...จึงศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือ...
รู้ว่าสมุนไพรไทยคือสุดยอดของดี ของมีค่า ของคนไทย...
ตอนแรกทำใช้เอง...แต่อยากแบ่งปันของดีให้คนอื่นใช้บ้าง...
เลยทำออกขาย...ไปฝากที่สถานีรถไฟแปดริ้ว...
เขาบอกไม่ได้...ต้องเป็น OTOP เลยมาลงทะเบียนเมื่อปี 2547...

ล้มแล้วลุก...สู้แล้วรวย...
ช่วงแรกที่ทำออกขาย ไม่ใช่ง่าย ไม่ใช่ทำแล้วได้เลย...
ต้องลองผิด ลองถูก อยู่นาน กว่าจะเข้าที่...บางครั้งส่วนผสมผิด ต้องเททิ้ง...
แชมพูกวนเข้าที่แล้ว...ดันเหลวเป็นน้ำ...ทำไง...เอาไปถูห้องน้ำ ซักผ้า...
ทำตามตำรา ใช่ว่าจะได้เสมอไป...แชมพูเหลว จับเป็นก้อนก็มี...
อยากได้แบบนี้ กลับได้แบบนั้น...ที่สำคัญมันใช้ไม่ได้...
แต่ไม่ท้อ ท้อไม่ได้ เพราะอยากทำของดีให้คนอื่นใช้...

ของดี มีไว้แบ่งปัน...
ประเภทบำรุงผิวพรรณ ทำให้ผุดผ่อง เป็นยองใย นวลเนียน ใสสะอาด...
ต้องโลชั่นว่านนางคำ โลชั่นว่านหางจระเข้ผสมใบบัวบก...
หรือโลชั่นน้ำนมข้าวผสมว่านหางจระเข้...
ประเภทบำรุงเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื่น มีน้ำหนัก นุ่มสลวย เงางาม จัดทรงง่าย...
ต้องแชมพูสมุนไพร มะรุม อัญชัน หางจระเข้ ทองพันชั่ง มะกรูด...
ครีมนวดผมผสมใบตำลึง...สเปรย์บำรุงเส้นผม ป้องกันผมแห้ง แตกปลาย...
ประเภททำความสะอาดร่างกาย ทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง นวลเนียน...
ต้องสบู่เหลวผสมสมุนไพรชาเขียวและใบพลู...
ครีมอาบน้ำสมุนไพรขมิ้น ว่านนางคำ น้ำผึ้งป่า...
ยังมีอีกหลายอย่าง...
แป้งสมุนไพร...สมุนไพรไล่ยุง...ครีมสมุนไพรไพลสดแก้ปวดเมื่อย...
สบู่ขัดผิวทานาคาขมิ้น...น้ำมันงา...น้ำมันมะพร้าว...
และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนแต่ใช้สุดยอดสมุนไพรไทยทั้งนั้น...

ต้องสู้...จึงจะชนะ...
ผลิตภัณฑ์ทุกตัว ทุกขวดออกแบบฉลากเอง...
มีมาตรฐาน อย. หรือ มผช....จดทะเบียนพาณิชย์ ตราดอกกุหลาบ เพราะชอบ...
จำหน่ายประจำที่ตลาด 100 ปี บ้านใหม่ ทุกวันเสาร์ อาทิตย์...
ตลาดนัดเทศบาลเมืองทุกวันอังคาร/ศุกร์...งานเทศกาล...จังหวัดเคลื่อนที่...
สั่งมาก ยินดีส่งทางไปรษณีย์...
และสิ่งที่หวังมากที่สุด คือ การผลิตสินค้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ...
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมหรือเป็นตัวแทนจำหน่าย ติดต่อคุณวรรณี...
โทร.08-9883-5889 หรือ สนง.พัฒนาชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา 0-3851-1239...

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

สำนึกรักบ้านเกิด…ทายาท อ.จุฬา-เกษตร ผลิตซอสหลากยี่ห้อ...


วันนี้ผมขอพาไปรู้จักผู้ประกอบการรายใหม่...ลงทะเบียน OTOP ปีนี้…
เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs…
ผลิตภัณฑ์ประเภทซอสปรุงรส...ใช้ประกอบต้ม ผัด แกง ทอด...
ขอแนะนำให้รู้จักกับ บริษัท ชำนาญอาหาร จำกัด...
ตั้งอยู่เลขที่ 106 หมู่ 3 ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์...
คุณนิธิภา วนานุวัธ หรือคุณเงิน ผู้ช่วยผู้จัดการ...
ลูกสาวคนสวยของเจ้าของบริษัท...จะเป็นผู้นำเสนอข้อมูลครับ...

เก่งสิ่งไหน ทำสิ่งนั้น...
ที่มาของธุรกิจมาจากคุณพ่อ คุณแม่...
คุณพ่อ ดร.พงษ์ วนานุวัธ เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์อาหาร...
อดีตอาจารย์จุฬาฯ ผู้บริหาร อสร....
ปัจจุบันผู้บริหารบริษัท กรไทย ...ผลิตครีมเทียม ขิงผง กะทิผง...
คุณแม่ เนื้อทอง วนานุวัธ อาจารย์ ม.เกษตร...
เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเกษตร...
มีลูก 3 คน ชื่อ แก้ว ...แหวน...เงิน....
แก้ว ผู้ชายเป็นวิศวกร แหวนเป็นหมอ...
ส่วนเงินจบคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ทำงานกับ อสร.มา 5 ปี...
ก่อนออกมาทำธุรกิจของครอบครัว...

ดัง...ทางดี...
เราเลือกทำธุรกิจที่เราถนัด...เรามีความรู้ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร...
เราทราบว่ากระแสของผู้คนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น....
เราไม่มีสูตรดั้งเดิม...ครอบครัวเรานั่งคิดร่วมกัน...จะทำอะไรดี...
มันต้องดีต่อสุขภาพ และไม่เน่าเสียง่าย...
สุดท้ายลงตัวที่...ซีอิ้ว ...

ไม่รู้ว่าบินได้ จนกว่าจะกางปีกบิน...
คิดเสร็จ สร้างโรงงานเมื่อปี 2545...ไม่กู้เงินใคร ใช้ทุนส่วนตัวทั้งหมด...
ปี 2547 จดทะเบียนบริษัท...
ปี 2548 เริ่มผลิต ส่งขายให้โรงงานอื่น...รักษาคุณภาพให้มั่นคง...
ปี 2550 เริ่มบรรจุขวด...วางแผนหาตลาดเอง ทั้งขายเองและส่งบริษัทอื่น...
ปัญหาของเรา คือ ไม่มี Know How เรื่องบริหารและการตลาด…
ช่วงบุกเบิก ต้องลองผิดลองถูก เสียเวลาเป็นปี...

ประตูแห่งความหวัง...
ปัจจุบัน เรามีคนงาน 8 คน กำลังการผลิต 80 ตันต่อเดือน...
มีผลิตภัณฑ์ 4 อย่าง...
หนึ่ง ซีอิ้วขาวสูตร 1 ตราเซียนเทา สำหรับแม่บ้าน...
ส่งเข้าคัดสรร OTOP ได้ระดับ 4 ดาว...
สอง ซอสถั่วเหลือง ตราโมริโซย่า สำหรับผู้ชื่นชอบสไตล์ญี่ปุ่น...
สาม ซอสปรุงรส ตราแมคเค สำหรับเด็ก...
สี่ ซอสถั่วเหลืองออร์กานิค สำหรับกลุ่มชอบเกษตรอินทรีย์...
ขนาดบรรจุ 200,300,700 มิลลิลิตร...แกลลอน 5 ก.ก. 30 ก.ก....
มาตรฐานรับรอง อย. GMP และ Pre-HACCP…
จุดขายของเรา คือ เราหมักธรรมชาติ...
หมัก 1 ปี นานกว่าที่อื่น ทำให้มีกลิ่นหอมกว่า โปรตีนสูงกว่า...
ไม่มีสารก่อมะเร็ง (3-MCPD) ใช้วัตถุดิบ Non-GMO's…
ตลาดเรายังไม่กว้างขวางนัก…เราขายประจำที่โรงงาน...
กับซุปเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ แถวพระราม 3...
และออกงานต่าง ๆ ที่ราชการและเอกชนจัด...
ที่เรามาเป็น OTOP ก็หวังเป็นช่องทางให้คนรู้จักมากขึ้น...

จะประสบความสำเร็จ ต้องมีเป้าหมาย...
เราอยากส่งออก อยากให้ผู้บริโภครู้จัก...
และอยากทำอาหารที่ปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค...
นี่คือเป้าหมายในทางธุรกิจ...
แต่เป้าหมายแรก ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำธุรกิจแล้ว...
ในฐานะที่คุณแม่เป็นคนบ้านโพธิ์และมีที่ดินอยู่ที่นี่...
เราจึงตัดสินใจว่า เราจะพัฒนาที่ดิน และสร้างธุรกิจครอบครัว...
ให้เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวบ้านโพธิ์ให้ได้....โปรดเป็นกำลังใจให้เราด้วย...
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือเป็นตัวแทนจำหน่าย...
ติดต่อ นิธิภา วนานุวัธ (คุณเงิน) โทร.08-1859-4107...
หรือ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.0-3851-1239...

จักสานส่งออก ของดีแปลงยาว...


สวัสดีปีใหม่ แฟนที่นี่ 8 ริ้ว ทุกท่าน...
ขอให้ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่...
ขอให้มีความสุข ตามที่หวัง ตลอดปี ตลอดไป...
ฉบับนี้ ผมคุยกับ ป้ามานพ เมรสนัด...
ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวังเย็น อ.แปลงยาว...
เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานชื่อดังของแปดริ้ว...
ส่งออกต่างประเทศมาแล้ว...
เชิญติดตามได้...ป้าเล่า ผมเขียนครับ...

ยืนหยัด ไม่ยอมล้ม...
ตั้งกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2525...เกษตร พัฒนาชุมชน มาช่วยตั้ง...
สานตะกร้าไม้ไผ่ได้ แต่ไม่เก่ง ต้องเรียนเพิ่ม...
ครู กศน.ช่วยสอน ดูงานที่พนัสนิคมแหล่งผลิตใหญ่...
ล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อย แต่ไม่ยอมล้ม...
จนมาเป็น OTOP เมื่อปี 2544 ได้ไปขายที่เมืองทอง...
คนรู้จัก ทั้งไทย ทั้งเทศ ตามมาดูงานที่กลุ่ม ดังไปใหญ่...

กลุ่ม ไม่กลุ้ม...
สมาชิก 30 คน แบ่งเป็นฝ่าย ช่วยกันทำงาน...
ฝ่ายผลิต ฝ่ายตลาด ฝ่ายตรวจสอบ ฝ่ายประชาสัมพันธ์...
มีระเบียบ มีทุน ทั้งหุ้นสมาชิก กู้และทุนประธาน รวมแล้วแสนกว่าบาท...
ที่ทำการเอกเทศ เลขที่ 1/11 ม.1 ต.วังเย็น อยู่ในเขตบ้านป้า...
ประชุมกันบ่อย เอางานมาส่ง ประชุมด้วย ปีละหลายหน...
สามัคคีกันดี ไม่มีปัญหาอะไรให้กลุ้มใจ...

ผลิตตามสั่ง...
ลูกค้าอยากได้แบบไหน บอกมา...
เราเรียกสมาชิกรวมตัว คิดระดมสมอง...
ออกแบบ ทำพิมพ์ แล้วก็สาน...
สมาชิกบางคนเก่งมาก างมีสมาชิกเก่งเก่งหลายคน พวกนี้สานได้หมด ทุกแบบ ทุกลาย.....ออกแบบได้ สานได้ ทุกแบบ ทุกลาย...
ป้าคิดเองก็มี ส่วนใหญ่เน้นแนวคิดจากประโยชน์ใช้สอย...
วัตถุดิบ ไม้ไผ่ หวาย สี น้ำมันสน มาจากพนัสนิคม...
ก้านมะพร้าว มาจากแถวนี้ แปลงยาว บางคล้า แปดริ้ว...

มอดไม่กิน...
ขั้นตอนการทำ ต้องเริ่มทำโครงสร้างก่อน...
จากนั้นเหลา จักตอก ขูดผิว ถัก ผูก มัด สาน ใส่พื้น...
มอบปาก เข้าขอบก้นตะกร้า จูงนางปาก พันหู ทาน้ำมัน...
จุดเด่น มอดไม่กิน ป้าขอบอก...

ไฮโซ โลโซ...
จุดเด่น อยู่ที่ประโยชน์ใช้สอย สวย ทน...
ของใช้สอย ฝาชี ตะกร้า กระจาด กระด้ง กระติ๊บ กระเช้า พวกนี้ขายดี...
ของทำตามสั่ง ชะลอม กล่อง ตะกร้า เป็นส่วนใหญ่...
ของหรู กระเป๋าหวาย ผักตบชวา ตะกร้ายกดอก ตะกร้าคุณนาย...
เคยส่งคัดสรร OTOP ระดับประเทศ ได้ 5 ดาว มาแล้ว...
พวกนี้ราคาสูง หลักหลายร้อยจนถึงหลักพัน ฝีมือต้องดี งานละเอียด...
งานของป้า ใช้ได้ทั้งไฮโซ และโลโซ...
ส่วนตัวใหม่ที่จะทำ คือ โคมไฟ ตอนนี้กำลังออกแบบอยู่...

ขายนอก...
ป้าขายประจำที่ที่การทำกลุ่ม...ร้านค้าหน้าอำเภอแปลงยาว...
ตลาดน้ำบางคล้า ทุกเสาร์ อาทิตย์...
งานของหน่วยราชการ เอกชนที่เขาจัด ป้าก็ไป...
ตลาดต่างประเทศ เราส่งออกไปญี่ปุ่น เดนมาร์ก...
ส่วนใหญ่เป็นตะกร้าไวน์ ตะกร้าขนม ตะกร้ากล่องใส่สบู่...
เขารู้จักเรา จากนามบัตรตอนไปขายที่เมืองทอง จากอินเตอร์เน็ตด้วย...

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ...
ใจรักในงานจักสาน เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวม...
ความพร้อมในครอบครัว ความภาคภูมิใจที่ทำเพื่อชุมชน...
นี่คือ ปัจจัยที่ทำให้ป้าและกลุ่มดำเนินงานมาจนถึงทุกวันนี้...
ถามข้อมูลเพิ่มเติม ป้ามานพ เมรสนัด โทร.08-9962-8667

หรือสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา 038-511239