วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บุกโรงงาน “วรพร” ผู้ผลิตมะม่วงดองรายใหญ่ที่สุดในประเทศ

จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นแหล่งผลิตมะม่วงชื่อดังของประเทศ มีการผลิตเพื่อบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกขายต่างประเทศ มะม่วงส่วนหนึ่งถูกนำมาแปรรูปเป็นมะม่วงดอง มะม่วงกวน วันนี้ ผมจะพาท่านไปพบกับบริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด ผู้ผลิตมะม่วงดอง มะม่วงกวนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ คุณชัยรัตน์ โสธรนพบุตร เจ้าของกิจการ จะเล่าให้เราฟังครับ
.
เติบโตจากธุรกิจหลังบ้าน...
กิจการของ “วรพร” เริ่มต้นจากธุรกิจหลังบ้าน
พ่อแม่เป็นคนทำมาก่อน ธุรกิจหลักของครอบครัวคือขายเสื้อผ้า รองลงมาคือดองผลไม้ขาย เป็นการดองตามฤดูกาล สถานที่ผลิตและจำหน่ายเริ่มที่อำเภอแปลงยาวซึ่งเป็นบ้านเกิด แล้วส่งขายต่อไปยังอำเภออื่นๆ กลายเป็นธุรกิจระดับจังหวัด ตอนแรกผมไม่ได้อยู่ในธุรกิจนี้ พ่อแม่บอกว่าเหนื่อย ผมจึงไปรับราชการเป็นครู หลังจากรับราชการได้สิบกว่าปี ได้ลาออกมาเลี้ยงกุ้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันกลับมาสนใจธุรกิจที่ครอบครัวเคยทำมา
.

เปลี่ยนการตลาดเพื่อขายห้าง...
เริ่มแรกก็ทำเป็นธุรกิจหลังบ้านเหมือนกัน แต่การตลาดเปลี่ยนไป คือตั้งใจทำขายให้นักท่องเที่ยว ไม่ใช่ขายเฉพาะในท้องถิ่น ต้องใส่น้ำตาล มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ต้องทำแบรนด์ มียี่ห้อ ซึ่งประสบความสำเร็จ ขายดี การขายมะม่วงดองเมื่อ 20 กว่าปีก่อน มีแต่ในระดับล่าง ร้านขายของชำ รถเข็น ไม่มีขายในห้าง ถึงมีก็ต้องจิ้มพริกเกลือ ผมเป็นรายแรกที่ทำมะม่วงดองที่ไม่ต้องจิ้มพริกเกลือ ร้านที่ส่งขายแรก ๆ เป็นร้านแหล่งท่องเที่ยว เช่น คิงส์สโตร์ ตั้งเซ่งจั้ว ร้านริน ร้านเหล่านี้ มองว่ามะม่วงดองของผมแพง ลูกละ 10 บาท แต่รถเข็นลูกละ 5 บาท ไม่น่าขายได้ แต่ปรากฏว่าผมเตรียมมะม่วงไว้ขาย 1 ปี ขายจริง 3-4 เดือนหมดแล้ว ทำให้เราเติบโตเรื่อยมา จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เราคือผู้ผลิตมะม่วงดองรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ส่วนการส่งออก เราขายต่างประเทศถึง 40 % ของปริมาณการผลิต ประเทศที่ส่งไปขายมากที่สุด คือ จีน ซึ่งตลาดเติบโตเร็วมากจนเราผลิตไม่ทัน
.
ก้าวข้ามความเป็นสินค้าท้องถิ่น...
แนวคิดก่อนออกมาทำธุรกิจ ผมคิดว่าต้องทำรายได้ไม่น้อยกว่าเงินเดือนที่เคยได้ ต้องตั้งเป็นเป้าหมายแรก แล้วมุมานะ พยายามทำให้ได้ ผมทำได้ไม่ถึงปี ก็บรรลุเป้าหมายนี้ คือมีรายได้มากกว่าเงินเดือน ที่ประสบความสำเร็จเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ประมาณปี 2529 ช่วงนั้นใครทำธุรกิจอะไรก็ประสบความสำเร็จ ขายอะไรก็ขายได้ เพราะคนมีสตางค์ และเป็นความโชคดี ที่เราได้รับการรับสนับสนุนจาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เขียนบทความลง น.ส.พ.มติชน ทำให้เราได้แบรนด์เชลล์ชวนชิม และตอนนั้นเจ้าหน้าที่ของเชลล์ชวนชิม กำลังเปิดร้านขายของในปั๊มน้ำมัน สินค้าที่ได้แบรนด์เชลล์ชวนชิมจึงได้รับการสนับสนุนด้วย ที่ประทับใจมากมีอยู่วันหนึ่ง ไปส่งของให้เขา กลับมาบ้านไม่ถึงชั่วโมง เขาโทรมาว่าให้ไปส่งใหม่ ที่ส่งมาขายหมดแล้ว ชั่วโมงเดียวหมดผมประทับใจมาก ตรงนั้นทำให้เราได้ชื่อเสียง เป็นการก้าวข้ามความเป็นสินค้าท้องถิ่นไปสู่สินค้าระดับประเทศ
.
การตัดสินใจครั้งสำคัญ...
ตอนนั้นต้องตัดสินใจว่า จะเป็นสินค้าท้องถิ่นหรือเป็นสินค้าอินเตอร์ ท้องถิ่นหรืออินเตอร์มันขึ้นอยู่กับการตั้งราคา ราคาของสินค้าท้องถิ่น คือ ถ้าซื้อที่ฉะเชิงเทราจะถูก ซื้อที่อื่นจะแพง ราคาของสินค้าอินเตอร์ คือ ไม่ว่าคุณจะซื้อที่ไหน ราคาเท่ากัน ส่วนวรพรตั้งเป้าหมายจะเติบใหญ่ ขายทั่วประเทศ เราต้องการเป็นสินค้าอินเตอร์ เมื่อตั้งเป้าอย่างนี้ เราก็มีสินค้ากระจายทั่วประเทศ การขายไกลๆ ต้องแบกรับค่าขนส่ง ทำให้เราได้กำไรต่อชิ้นน้อยลง แต่ปริมาณการขายจะมากขึ้น จุดหักเหอีกจุดหนึ่ง คือ ได้ไปเปิดตลาดที่จีน ประเทศนี้ไม่มีมะม่วงดอง แต่ชอบกินของเปรี้ยวๆ เค็มๆ เหมือนบ้านเรา ผมใช้เวลาบุกจีนมากกว่า 10 ปี ไม่ง่ายอย่างที่คิด เสียค่าใช้จ่ายไปมาก เกือบท้อใจ แต่สุดท้ายก็ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากลับมา ปัจจุบันถือว่าเราเข้มแข็งระดับหนึ่งในประเทศจีน แต่อย่างไรก็ตามเรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ
.
ปลูกเพื่อการผลิต เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า...
การปลูกมะม่วงหรือสินค้าเกษตรอื่น เพื่อนำมาผลิตเป็นอุตสาหกรรม
เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเราต้องใช้ต้นทุนที่ถูกที่สุดเพื่อเอาไปแข่งขัน เราต้องเอาผลไม้ที่เหลือกินเหลือใช้ ไม่มีราคาแล้ว เอามาทำ ถ้าเราปลูกเอง แปลว่าเรามีต้นทุนการผลิต ปัจจุบันเราซื้อต่ำกว่าต้นทุนที่มีการผลิต ดังนั้น อย่าปลูกเพื่อนำมาแปรรูป มันไม่คุ้มค่า หน้าที่ของผมเวลานี้คือส่งเสริมให้ชาวสวนได้กำไรเยอะๆ เพราะถ้าไม่มีเขา เราอยู่ไม่ได้ และส่วนที่เหลือในตลาด เช่น ขายไม่ออกเพราะผิวลาย ดกเกินไป ผมเป็นหน่วยสุดท้ายที่รองรับ นี่คือหน้าที่ของโรงงานแปรรูปผลไม้
.สินค้าดี ต้องมีมาตรฐาน...กระแสโลกมีความห่วงใยในเรื่องสุขภาพกันมาก การขายสินค้าในประเทศต่างๆ จะต้องมีมาตรฐานรองรับ เราเองก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ปัจจุบันนี้เราได้รับมาตรฐาน GMP และ HACCP แล้ว เป็น OTOP แปดริ้วรายแรกที่ได้รับมาตรฐาน HACCP( : Hazard Analysis Critical Control Point เป็นมาตรฐานระบบความปลอดภัยอาหารระดับนานาชาติ)
.
ฝากถึง OTOP คุณต้องตัดสินใจว่าคุณเป็นใคร...
ผู้ที่เป็น OTOP ต้องพิจารณาตัวเองว่า อยากจะยืนอยู่ในตำแหน่งใดในตลาด ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องทำอย่างวรพร คุณต้องดูศักยภาพของตัวเอง บรรจุภัณฑ์ไม่ได้สะท้อนความสำเร็จ ถ้าทำดีแต่ขายในท้องถิ่นจะทำให้คุณเปลืองต้นทุน แต่ถ้าขายต่างจังหวัดไกลออกไป ต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์และแนวคิดเช่นเรื่องราคาอย่างที่ว่า ถ้าเลือกเป็นสินค้าท้องถิ่น แปลว่าเขาต้องมาที่นี่เท่านั้น ไม่มีที่อื่น ถ้าเป็นสินค้าอินเตอร์ เขาซื้อที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาซื้อที่นี่ และซื้อในราคาที่เท่ากัน คุณต้องรู้ว่าคุณจะยืนอยู่ตรงไหน ไม่เช่นนั้นไม่มีทางประสบความสำเร็จ ผมขอฝากไว้ คุณต้องรู้จักตัวเองให้มากที่สุด

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด
20/5 หมู่ 6 ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
โทร. 038-813444
หรือ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร 038-511239...

ผลิตภัณฑ์ “วรพร” มีวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าชื่อดังทั่วประเทศ เป็นผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่เป็นชาวแปดริ้วแท้ๆ