วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มะม่วงติดบาร์โค้ด


การลงทะเบียนผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในปีนี้ สรุปผล มีจำนวน 292 ราย 759 ผลิตภัณฑ์ มากกว่าเมื่อครั้งปี 2551 ที่มีจำนวน 267 ราย 591 ผลิตภัณฑ์ ส่วนการคัดสรรสุดยอด OTOP ไทย ของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวน 96 ราย 96 ผลิตภัณฑ์ ผลการคัดสรรจะแจ้งให้ทราบในเดือนกันยายนนี้ ในการลงทะเบียนคราวนี้ มีผลิตภัณฑ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ มะม่วงติดบาร์โค้ด ของสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด นอกจากจะเป็นผู้ส่งออกมะม่วงรายใหญ่แล้ว เขายังมีนวัตกรรมที่น่าทึ่งอีกด้วย ต่อไปนี้ คุณศักดิ์ดา ขันติพะโล ประธานคณะผู้บริหารสหกรณ์ฯ จะเล่าให้เราฟังครับ...


รวมตัวเข้มแข็ง ดำเนินการมั่นคง…
ชมรมชาวสวนจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน ต่อมาปี 2541 ได้มีการรวมตัวกันอย่างจริงจัง และเริ่มผลิตมะม่วงส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ในปี 2549 ชมรมฯ ได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา มุ่งเน้นการผลิตมะม่วงให้มีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ปัจจุบันมีสมาชิก 176 คน พื้นที่ปลูกมะม่วงของสมาชิก กว่า 10,000 ไร่ แยกเป็น สายพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และสีทอง 7,000 ไร่ เขียวเสวย 2,000 ไร่ อื่น ๆ 1,000 ไร่ ผลผลิตที่ผลิตได้ปีละ ประมาณ 7,000 ตัน สหกรณ์ฯ มีการสร้างสำนักงานเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตมะม่วง ที่จะจัดส่งให้กับบริษัทผู้ส่งออกต่างๆ และเป็นแหล่งบริการข้อมูล มีการซื้อขายกับบริษัทต่างๆ มากกว่า 15 บริษัท ที่จัดส่งมะม่วงไปยังประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี ยุโรป และอเมริกา ส่วนในประเทศมีการจำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะมอลล์ ภายใต้ชื่อการค้าว่า “ทองแปดริ้ว” และจำหน่ายทั่วไป ภายใต้ชื่อมะม่วง QM และตะวัน


คุณภาพมาตรฐานเพื่อการส่งออก…
สหกรณ์ฯ มีการพัฒนาสมาชิกเกษตรกร ด้วยการให้ความรู้ การพัฒนาผลผลิต พัฒนาองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล และพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ผลผลิตและการบริหารจัดการที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก เกษตรกรต้องปฏิบัติดูแลสวนถูกต้องตามหลักวิชาการระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (EUREP GAP) ห่อผลด้วยวัสดุที่เหมาะสมในช่วงระยะ 2 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต น้ำหนักของผลจะต้องได้ตามมาตรฐานที่กำหนดร่วมกัน ลักษณะของผิวต้องไม่มีรอยแผลที่เกิดจากโรคและแมลง คราบยาง รอยช้ำจากการกระแทก ลักษณะของผลมะม่วงต้องตรงตามพันธุ์ การเก็บมะม่วงที่ความแก่ 85-90 % ตามดัชนีการเก็บเกี่ยวมะม่วง ห่อหุ้มผลมะม่วงด้วยตาข่ายโฟมก่อนบรรจุลงภาชนะ


วิธีรับประทานมะม่วงให้ได้ รสชาดหวาน…
มะม่วงน้ำดอกไม้ที่ไม่สุกจะมีรสเปรี้ยว ถ้าสุกแล้วจะมีรสหวาน มีปัญหาว่า จะรับประทานได้ในวันที่เท่าไร วิธีแก้ปัญหานี้ สหกรณ์ได้คิดสติกเกอร์เพื่อเทียบสีผิวมะม่วงขึ้น โดยติดไว้ที่ผลมะม่วงทุกผล ถ้าต้องการรับประทานทันที ให้เลือกผลที่นิ่มมือและสีผิวเป็นแบบสีเหลืองส้ม ถ้าต้องการเป็นของฝาก ให้เลือกผิวสีเหลืองนวล วิธีนี้จะทำให้ผู้บริโภคทราบได้ทันทีว่า จะทานเมื่อไร จึงจะได้รสชาดหวาน

ตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ทุกผล…
สหกรณ์ฯ มุ่งเน้นผลิตมะม่วงให้มีคุณภาพปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และตระหนักถึงสุขอนามัยของผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง จึงพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงเกษตรกรผู้ผลิต ว่ามะม่วงผลนี้มีประวัติ ความเป็นมาอย่างไร ใครคือผู้ผลิต แหล่งผลิตอยู่ที่ไหน วิธีการผลิต การใส่ปุ๋ยและสารเคมี เป็นอย่างไร ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิตได้ จากสติกเกอร์ที่มีหมายเลขรหัสสมาชิกที่ติดบนผลมะม่วงโดยนำรหัสนี้พิมพ์ตรวจสอบบนเว็บไซต์
www.coopthai.com/mangoccs ซึ่งสหกรณ์ฯ พัฒนาให้มีข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น เป็นระบบข้อมูลสาธารณะ ตรวจสอบได้ทั่วโลก
กิจกรรมเสริมให้กับสมาชิก...
ปัจจุบัน สหกรณ์ฯ มีบริการจำหน่ายปุ๋ย และสารเคมีให้แก่สมาชิก ซึ่งราคาถูกกว่าท้องตลาด เนื่องจากสหกรณ์ฯ สั่งซื้อมาครั้งละมากๆ นอกจากนี้สมาชิกยังได้รับเงินเฉลี่ยคืนจากสหกรณ์อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนอนาคต สหกรณ์ฯ กำลังให้ความสนใจศึกษาผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งอาจจะดำเนินการร่วมกันไปกับมะม่วงก็ได้

ต้องการเยี่ยมชมกิจการ หรือติดต่อซื้อผลผลิต หรือขอรายละเอียดเพิ่มเติม
ติดต่อที่ สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด
97/5 ม.1 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 24120
โทร. 081-930-5052 , 085-437-2029 แฟ็กซ์ 038-502198
หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239

ผมไปเยี่ยมบริษัท กลุ่ม องค์กรมาหลายแห่ง ประทับใจที่นี่มาก มีความเข้มแข็ง มีนวัตกรรมที่น่าสนใจ ข้อมูลและการนำเสนอของเขาดีและหลากหลาย ทั้งวีดิทัศน์ PowerPoint แผ่นพับ เอกสาร บอร์ดประชาสัมพันธ์ต่างๆ ผมว่านี่เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจ สำหรับชาวแปดริ้วครับ...