วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

"เนรัญชลา" ผลไม้แปรรูปของดีอำเภอบางคล้า

ผมคิดว่าแปดริ้วเรา เป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีผลผลิตทางการเกษตรมาก ทั้งพืช ผัก ผลไม้ และฟาร์มปศุสัตว์ เวลาที่ผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้ล้นตลาด เกินความต้องการแล้ว กระบวนการหนึ่งที่ช่วยได้มากเลย ก็คือเรื่องของการแปรรูป... ถ้าไม่มีการถนอมอาหารด้วยการแปรรูปแล้ว คิดว่าเกษตรกรคงจะเสียมากทีเดียว การแปรรูปอาหารนอกจากจะช่วยเกษตรกรเรื่องผลผลิตล้นตลาดแล้ว ยังช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย ซึ่งในวันนี้ ผมจะพาท่านไปรู้จักกับกลุ่มแปรรูปผลไม้กลุ่มหนึ่งที่อำเภอบางคล้า เป็นกลุ่มที่ช่วยรับซื้อผลผลิตที่ล้นตลาดนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ภายใต้ยี่ห้อ สวนเนรัญชลา และปัจจุบันได้รับการคัดสรรให้เป็น OTOP ระดับ ๕ ดาว ของแปดริ้วครับ...

ประวัติการก่อตั้งกลุ่ม... กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ในชื่อ กลุ่มแปรรูปผลไม้อำเภอบางคล้า ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า มี คุณเกี๋ยงคำ แจ้งสุคนธ์ เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกจำนวน ๑๖ คน ที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๔/๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์ความรู้ในการแปรรูปผลไม้ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากคนดั้งเดิมในท้องถิ่น และสมาชิกภายในกลุ่มร่วมกันต่อยอดภูมิปัญญาดังกล่าว ด้วยการแปรรูปผลไม้ที่มีอยู่มากในชุมชน เช่น มะม่วง มะขาม มะดัน มะกอก สัปปะรด และคิดริเริ่มสร้างสรรค์นำการตลาดสมัยใหม่มาพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิต มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ได้คุณภาพมาตรฐาน และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าโดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่ดี ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนภายในชุมชน

เป็นแหล่งรับซื้อผลไม้... กลุ่มเป็นแหล่งรับซื้อผลไม้ในท้องถิ่นเมื่อผลผลิตของเกษตรกรล้นตลาด เช่น มะม่วง สับปะรด และผลไม้ตามฤดูกาล โดยให้ราคาสูงเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งรับซื้อทั่วไป โดยนำมาทำการแปรรูป ช่วยลดปัญหาการขาดทุนของเกษตรกรในชุมชน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเกษตรกรที่มีความสนใจในเรื่องการทำปุ๋ยหมักชีวภาพนำเปลือกของผลไม้ต่างๆ ไปใช้ในการผลิตปุ๋ย หรือเลี้ยงสัตว์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

ผลิตผลไม้แปรรูปหลายชนิด... กลุ่มนี้แปรรูปผลไม้หลายชนิดมาก เช่น มะม่วงกวน สัปปะรดกวน ผลไม้แช่อิ่ม ทั้งมะม่วง มะขาม มะดัน มะกอก กระท้อน เป็นต้น จนมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป พร้อมทั้งได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย กลุ่มได้ส่งสินค้าไปขายในตลาดใกล้เคียงและร้านขายของฝากภายในจังหวัดและต่างจังหวัด ทำให้เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก ตั้งแต่ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาทต่อคนต่อเดือน

ได้มาตรฐานและไม่กระทบสิ่งแวดล้อม... ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มพัฒนามาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนในชุมชน เป็นการต่อยอดวิธีการถนอมอาหารแปรรูปผลไม้ที่มีอยู่ภายในท้องถิ่น สร้างสรรค์จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ในบรรจุภัณฑ์ที่ดี ถูกตา ต้องใจ โดยใช้ตรา “สวนเนรัญชลา” เป็นยี่ห้อสินค้าทำการตลาด ซึ่งได้มาจากชื่อสวนผลไม้ของคุณเกี๋ยงคำประธานกลุ่ม...สำหรับกระบวนการผลิต... กลุ่มจะทำการผลิตโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ปัจจุบันกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เครื่องหมาย “เชลล์ชวนชิม” และได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ.๒๕๕๓

สร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์... จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้อยู่ที่ รสชาติความอร่อย และความสะอาด ถูกหลักอนามัย เช่น สัปปะรดกวน เนื้อของสับปะรดจะมีความหอม เหนียว แห้ง มีเส้นใยทางอาหารสูง รสชาติอร่อยเป็นที่ยอมรับของลูกค้า และมีการสร้างกล่องกระดาษห่อหุ้มตัวกล่องชั้นในอีกชั้นหนึ่ง เพื่อสร้างความแข็งแรงในการขนส่ง เพิ่มรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ให้หน้าจับต้อง ดึงดูดความสนใจของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งในผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ภายใต้ตรา สวนเนรัญชลา ก็เน้นจุดเด่นในลักษณะนี้เช่นกัน

สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน... กลุ่มแปรรูปผลไม้อำเภอบางคล้าได้ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า ๘ ปี มีการสร้างงานให้กับสมาชิกภายในชุมชน จัดเป็นแหล่งศึกษา ดูงาน ให้ความรู้ในด้านการถนอมอาหารแปรรูปผลไม้ต่างๆ มีผู้ที่สนใจแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาเรื่องการแปรรูป หรือขอข้อมูลต่าง ๆ ไปประกอบการทำรายงาน ซึ่งทางกลุ่มมีความยินดีเป็นอย่างมากในการมีส่วนร่วมให้ความรู้กับชุมชน นอกจากนี้ยังมีการแบ่งปันผลกำไรคืนสู่ชุมชนทุกปี โดยประธานกลุ่มจะเป็นผู้นำเงินไปซื้อของบริจาค เป็นอาหารและขนมให้กับโรงเรียนในท้องถิ่นเสมอ

แหล่งจำหน่าย... ผู้ที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม สามารถซื้อได้ที่บ้านสวนเนรัญชลา ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า ,ร้านเนรัญชลา ถนนฤทธิ์ประศาสน์ ตำบลบางคล้า ,ร้านจำหน่ายของฝากในจังหวัดฉะเชิงเทรา เช่น ร้านตั้งเซ่งจั๊ว, ร้านริน, ร้านถาวร ,ร้านขายของฝากบนทางด่วนมอเตอร์เวย์ จังหวัดชลบุรี (ทั้งสองฝั่ง) ,โครงการสินค้า OTOP สู่โรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง ,โครงการคาราวานการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัด (จังหวัดเคลื่อนที่) ทุกเดือน ,งานแสดงสินค้า OTOP ที่เมืองทองธานีและงานทั่วไปในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ,ห้างสรรพสินค้า อาทิ ห้างเดอะมอลล์ ห้างแฟชั่นไอแลนด์ และตลาดน้ำบางคล้า วันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์...

หมดพื้นที่เขียนแล้วครับ ต้องยุติเพียงเท่านี้ ...สนใจขอข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ประธานกลุ่ม : คุณเกี๋ยงคำ แจ้งสุคนธ์ บ้านเลขที่ ๔/๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒๔๑๑๐ โทร.๐๓๘-๘๒๕๓๐๘ หรือคุณวาสิณี แจ้งสุคนธ์ โทร.๐๘๗-๘๒๗๒๘๕๕ หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร ๐๓๘-๕๑๑๒๓๙

วัดโสธรวรารามวรวิหาร



วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวแปดริ้วและคนต่างบ้านต่างเมืองมาแต่ อดีตกาล ตั้งอยู่บนถนนสายมรุพงษ์ ห่างจากตลาดกลางเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้แต่เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ตามประวัตินั้น แต่แรกมีชื่อว่า “วัดหงส์” เพราะมี “เสาหงส์” อยู่ในวัด เป็นเสาสูงมียอดเป็นตัวหงส์อยู่บนปลายเสา ต่อมาหงส์บนยอดเสาหักตกลงมาเหลือแต่เสา และมีผู้เอาธงขึ้นไปแขวนแทน จึงได้ชื่อว่า “วัดเสาธง” ครั้นเมื่อเสาธงหักเป็นสองท่อน จึงเรียกชื่อใหม่ว่า “วัดเสาธงทอน” ส่วนชื่อ “วัดโสธร” อันมีความหมายว่า “บริสุทธิ์” และ “ศักดิ์สิทธิ์” นั้น เรียกตามพระนามของพระพุทธโสธรหรือหลวงพ่อโสธรซึ่งได้มาประดิษฐานในวัดนี้ ในภายหลังวัดโสธรได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดช ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีนามว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2501


พระพุทธโสธรหรือหลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง สันนิษฐานว่าได้มาประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ประมาณปี พ.ศ.2313 อันเป็นสมัยต้นกรุงธนบุรี ตามประวัติเล่าว่า แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างศอกเศษ แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักขโมยไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิม ไว้ จนมีลักษณะดังที่เห็นปัจจุบัน

ประวัติจังหวัดฉะเชิงเทรา


จังหวัดฉะเชิงเทราหรือที่นิยมเรียกกันว่า "แปดริ้ว" เคยเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอำนาจการปกครองของขอมมาก่อน ในสมัยอิทธิพลของอาณาจักรลพบุรี (ขอม) เมืองฉะเชิงเทราตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เป็นไปได้ว่าชาวเมืองสมัยโบราณอาจจะเรียกชื่อแม่น้ำบางปะกงว่า คลองลึกหรือคลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็นแต่ด้วยอิทธิพลเขมรจึงได้เรียกชื่อแม่น้ำ เป็นภาษาเขมรว่า "สตึงเตรง หรือ ฉทรึงเทรา" ซึ่งแปลว่า คลองลึก นั่นเอง ครั้นเรียกกันไปนาน ๆ เสียงเลยเพี้ยนกลายเป็น "ฉะเชิงเทรา" แต่ก็มีความเห็นอื่นที่แตกต่างออกไปว่าชื่อ "ฉะเชิงเทรา" น่าจะเพี้ยนมาจาก "แสงเชรา" หรือ "แซงเซา" หรือ "แสงเซา" อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช เสด็จไปตีได้ตามที่พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้มากกว่า

ความเป็นมาของคำว่าแปดริ้ว


ความเป็นมาของชื่อ "แปดริ้ว" มีเล่าขานกันมาหลายกระแส บ้างก็ว่าที่ได้ชื่อว่าเมืองแปดริ้ว ก็เพราะขนาดอันใหญ่โตของปลาช่อนที่ชุกชุมเมื่อนำมาแล่ จะต้องแล่ถึงแปดริ้ว หรือไม่ก็ว่ามาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง "พระรถเมรี" เล่าว่ายักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว ทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาด

สำหรับข้อสันนิษฐานการตั้งเมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวา ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) แต่สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏชัดเจนในสมัยพระนเรศวรมหาราชที่ใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นที่รวบรวมไพร่พล เมื่อ พ.ศ.2136 ด้วยชัยภูมิของเมืองที่เหมาะแก่การทำสงครามกองโจร ทำให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้ป้องกันศัตรู ปกป้องเมืองหลวง 

จวบจนสู่การปกครองระบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 และในปี พ.ศ.2476 มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค คำว่าเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ครองเมือง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นปีที่มีการตั้งภาคครั้งสุดท้ายของไทย ฉะเชิงเทราได้รับเลือกเป็นสถานที่ภาคมีเขตความรับผิดชอบ 8 จังหวัด ซึ่งนับเป็นบทบาทที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การปกครองของจังหวัดฉะเชิงเทรา

สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ จังหวัดฉะเชิงเทรา


สภาพภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัด ประกอบด้วย ที่ราบเชิงเขามีลักษณะเป็นที่ราบลูกฟูก และที่ราบลุ่มแม่น้ำจากด้านตะวันออกสุดไปจรดด้านตะวันตก ดังนั้น พื้นที่เกษตรกรรมจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นที่ราบลูกฟูก เหมาะแก่การทำไร่และปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ตั้งอยู่เฉพาะในเขตอำเภอพนมสารคามและอำเภอแปลงยาว ส่วนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัด บริเวณอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง พื้นที่ส่วนนี้อยู่ในเขตชลประทานเหมาะแก่การทำนาข้าว ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์

สภาพภูมิอากาศ
จังหวัดฉะเชิงเทรามีลักษณะร้อนชื้นเขตศูนย์สูตร โดยมีลมมรสุมพัดปกคลุมเกือบตลอดปีแบ่งออกตามฤดูกาลได้ 3 ฤดู ดังนี้

ฤดูร้อน... เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม โดยมีลมตะวันออกและลมใต้พัดปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอ้าวและอากาศร้อนจัดเป็นบางวันบางครั้งอาจมีพายุฤดูร้อน ลักษณะเป็นฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงอุณหภูมิอากาศสูงสุดเฉลี่ย 35-38 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ย 200-300 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การปลูกพืชไร่

ฤดูฝน... เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม โดยมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ประกอบกับมีร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปและตกหนักบางพื้นที่ อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง โดยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,000 – 1,200 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การทำงานและปลูกผลไม้

ฤดูหนาว... เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงพัดผ่าน ทำให้ท้องฟ้าโปร่งใสอากาศเย็นมีหมอกในตอนเช้า และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิอากาศต่ำสุดเฉลี่ย 18-21 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ย 50-100 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอกและไม้ประดับ