วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ณัฐรินทร์น้ำมะพร้าวน้ำหอม



“เมืองธรรมะ พระศักดิ์สิทธิ์ ชิดเมืองหลวง มะม่วงหวาน ข้าวสารขาว มะพร้าวน้ำหอม” เป็นคำขวัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้คำขวัญปัจจุบัน... งั้นก็แสดงว่าทั้งมะม่วง ข้าวสาร และมะพร้าว ต้องเป็นของดีของแปดริ้วใช่มั๊ย...แล้วทำไมจึงตัดออกไปจากคำขวัญปัจจุบันของจังหวัดเสียล่ะ สงสัยจัง????...ไม่เป็นไร ผมไม่ได้ต้องการคำตอบอะไรมากมาย แค่จะบอกว่ามะพร้าวน้ำหอมน่ะ แปดริ้วเราก็ไม่น้อยหน้าใครนะครับ ไม่งั้นเขาคงไม่เอาไปเขียนไว้ในคำขวัญหรอก ...ถึงแม้ต่อมาเขาจะตัดออกไปจากคำขวัญ แต่มะพร้าวน้ำหอมของเราก็ยังมีดีและเด่นเหมือนเดิม ไม่เชื่อก็ดูข้างทางถนนสุวินทวงศ์ และถนนสิริโสธร ฝั่งขาออกจากแปดริ้ว มะพร้าวน้ำหอมเยอะเลยครับ...

อย่างไรก็ตาม ที่เห็นขายกันนั้น ส่วนมากก็ขายเป็นผลสด และมีเผาบ้าง ต้มบ้าง ก็ว่ากันไป...แต่มีน้อยรายที่จะนำมาแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และทำการตลาดอย่างจริงจัง...ดังนั้น วันนี้ผมจึงพาท่านไปรู้จักกับผู้ประกอบการ OTOP ที่ผลิตน้ำมะพร้าวจากมะพร้าวน้ำหอม และทำในเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการรายนี้ คือ คุณอณัฐ กรรณิกา เจ้าของผลิตภัณฑ์ “ณัฐรินทร์น้ำมะพร้าวน้ำหอม” ซึ่งจะเป็นผู้เล่าเรื่องราวของกิจการทำน้ำมะพร้าวให้เราฟังครับ...

จะได้ดังระดับประเทศ...
เริ่มต้นจากตัวดิฉันมีความรักและความชอบในการศึกษาหาความรู้ในด้
านสมุนไพรทั้งสมุนไพรทางอาหารและทางยา... เมื่อมีโอกาสได้เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำสมุนไพรจำหน่าย จึงมีความตั้งใจว่าจะผลิตเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยปลอดสารกันบูด คุณภาพดี ราคามาตรฐานและไม่เกิดมลพิษกระทบต่อสิ่งแวดล้อม... เมื่อได้มาตั้งกิจการที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้สังเกตเห็นวิถีชีวิตของชุมชน มีส่วนหนึ่งที่ประกอบอาชีพปลูกมะพร้าวน้ำหอม... ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทรายังมีแหล่งเพาะปลูกได้ดีเป็นจำนวนมาก...สามารถมีผลผลิตและจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งราคาถูก สามารถนำมาผลิตเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนได้... จึงมีแนวคิดว่าควรทำการผลิตและพัฒนาน้ำมะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่มของจังหวัดฉะเชิงเทราให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ... ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสร้างอาชีพและรายได้ต่อกิจการและชุมชนอย่างยั่งยืน

สำนึกอันยิ่งใหญ่...
น้ำมะพร้าวเป็นน้ำบริสุทธิ์จากธรรมชาติมีสรรพคุณบำรุงร่างกายและรักษาโรคได้ในเวลาเดียวกัน...จึงสมควรที่จะได้รับการอนุรักษ์ในด้านวิถีโภชนาและการสืบทอดการผลิตให้คงอยู่ตามวิถีชาวบ้านชุมชนชาวสวนมะพร้าวต่อไป...เปรียบดังเช่นการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทยสาขาต่างๆ ยิ่งใหญ่ฉันใด...การอนุรักษ์น้ำสมุนไพรไทยก็ยิ่งใหญ่ฉันนั้น...

เน้นคุณภาพและความแปลกใหม่
เรามีความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนของการผลิตที่ทำให้ได้รสชาติน้ำมะพร้าวที่แตกต่าง... โดยบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ที่รักษาคุณประโยชน์ของน้ำมะพร้าวสู่ผู้บริโภคได้อย่างเต็มคุณค่า... กระบวนการผลิตเริ่มจากการคัดเลือกผลมะพร้าวจากต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ผลมีอายุประมาณหนึ่งเดือนหรือที่เรียกว่ามะพร้าวอ่อน มีปริมาณน้ำหนักน้ำ 400-450 cc. มีเนื้อลักษณะหนาสองชั้น มีน้ำรสชาติหวานและหอม... แล้วนำมาปรุงแต่งด้วยส่วนผสมต่างๆ โดยปราศจากวัตถุกันเสีย ผ่านขั้นตอนการผลิตที่สะอาดถูกหลักอนามัยต่อผู้บริโภค... และบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยสามารถรักษาคุณภาพและรสชาติคงเดิม... เราเน้นการผลิตในเชิงคุณภาพ มากกว่าการผลิตในเชิงปริมาณ... ปัจจุบันกิจการได้พัฒนาสินค้าในการแปรรูปใ
หม่ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้มีตัวเลือกมากขึ้น เช่น การผลิตวุ้นมะพร้าวน้ำหอมใส่เม็ดแปะก๊วย และน้ำมะพร้าวน้ำหอมใส่เม็ดแปะก๊วย เป็นต้น

เคล็ดลับความอร่อย
การคัดเลือกผลมะพร้าวต้องเป็นผลของมะพร้าวน้ำหอมที่มีลักษณะมะพร้าวเนื้ออ่อนและมีเนื้อหนาสองชั้น สังเกตได้จากจีบที่ก้นกะลามะพร้าวมีสีดำ…การขูดเนื้อมะพร้าวต้องไม่ให้ติดเปลือกด้านในหรือส่วนกะลาเพราะจะทำให้น้ำที่ต้มมีสีออกสีชมพูผิดไปจากคุณลักษณะที่ดีของน้ำมะพร้าวหลังจากจับเวลาและอุณหภูมิการผลิตเป็นเวลา ๑๐ นาทีแล้วให้ปิดฝาภาชนะไว้สักครู่ เพื่อให้เนื้อมะพร้าวแตกมันเพิ่มความหอมให้น้ำมะพร้าว

มาตรฐานดี แผนธุรกิจเด่น...
เราได้มาตรฐานคัดสรรหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ ๔ ดาว... รางวัลประกาศนียบัตรแผนธุรกิจดีเด่นคัดเลือกจากโครงการผู้ประกอบการรายใหม่ ๕๐๐ ราย ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก และมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอรับใบรับรองมาตรฐาน

คืนกำไรสู่ชุมชน
กิจการของเรามีการรับชื้อผลมะพร้าว และต้นพันธุ์มะพร้าวเป็นจำนวนมากจากชาวสวนมะพร้าวในจังหวัด โดยให้ราคาที่ชาวสวนพอใจ ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง... ทำให้เกษตรกรมีความคิดในการพัฒนาและมีกำลังใจในการปลูกมะพร้าวเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม... นอกจากนี้กลุ่มยังมีการจ้างแรงงานในชุมชน ซึ่งสามารถใช้เวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์เป็นรายได้พิเศษ... และมีการสั่งซื้อวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์จากร้านค้าภายในจังหวัดก่อให้เกิดรายได้และเงินทุนหมุนเวียนส่งผลต่อรายได้และผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด... สำหรับในปี พ.ศ.2554 นี้ กลุ่มกำลังดำเนินการจัดตั้งสถานที่เปิดการฝึกอบรมอาชีพแก่บุคคลทั่วไปเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชนโดยมีองค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นธงนำในการเดินสู่วิถีทางแห่งการพึ่งตนเองและการคืนชีวิตให้แผ่นดิน คืนกำไรให้สังคมที่มีบุญคุณต่อกิจการ...

สถานที่ผลิตและจำหน่าย...
สถานที่ผลิต ได้แก่ กลุ่มผลิตน้ำสมุนไพรสดณัฐรินทร์ อาจารย์ไพรินทร์ฟาร์ม หมู่ 3 ซอยวัดอุดมมงคลตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา... ส่วนสถานที่จำหน่ายจะขายประจำ ณ ที่ทำการกลุ่ม โทรศัพท์ 086-3289844 , 083-0141506 ,ตลาดน้ำโบราณนครเนื่องเขต อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ,ศูนย์OTOP มายอง จ.ระยอง ร้านณัฐรินทร์มะพร้าวน้ำหอม ตลอดทั้งงานแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ที่หน่วยงานราชการและภาคเอกชนจัดขึ้น เช่น งาน OTOP CITY ที่เมืองทองธานี ,งานมหกรรม OTOP ของจังหวัด ,งานนมัสการพระพุทธโสธรและงานประจำปีจังหวัดฉะเชิงเทรา และโครงการ OTOP สู่โรงงาน เป็นต้น

สุดท้ายคุณอณัฐ ฝากขอบคุณทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ตลอดทั้งลูกค้าผู้มีอุปการะคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนอย่างดียิ่ง ซึ่งจะเป็นพลังให้กิจการเจริญก้าวหน้าและสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดฉะเชิงเทราต่อไป ...หมดพื้นที่เขียนแล้วครับ...สนใจขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” จังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้จังหวัดฉะเชิงเทราคัดเลือกหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ประจำปี 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้นำชุมชนที่มีผลงานดีเด่น และเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจังหวัดได้ดำเนินการคัดเลือกและประกาศผลให้ บ้านสระไม้แดง หมู่ที่ 5 ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ประจำปี 2554 ของจังหวัด โดยจะเข้ารับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสต่อไป
บ้านสระไม้แดง มีผู้ใหญ่บ้านชื่อนายเชษฐา ภูสมที ครัวเรือนที่อาศัยอยู่จริง 206 ครัวเรือน ประชากร 824 คน เป็น ชาย 432 คน หญิง 392 คน อาชีพหลักคือทำนา ทำไร่ ทำสวน อาชีพรองคือรับจ้าง อาชีพเสริมคือเพาะเห็ดฟางและปลูกพืชผัก แต่ก่อนหลังจากทำนา ชาวบ้านต้องไปรับจ้างนอกหมู่บ้านได้ค่าแรงวันละ 2030 บาท คนส่วนใหญ่จึงมีฐานะยากจน แต่ปัจจุบันนี้มีรายได้ดีขึ้นมากจากการทำอาชีพเสริมเพาะเห็ดฟาง ทุกครอบครัวมีรายได้ทุกวัน ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท รวมทั้งคนชราและเด็กที่รับจ้างตัดโคนเห็ดได้กิโลกรัมละ 3 บาท
การทำการเกษตรที่บ้าน ทำให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้ามีความอบอุ่น มีเวลาให้ความร่วมมือกับชุมชน การดำเนินชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคนในชุมชนให้ความสำคัญมาก กับโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชน มีการคัดเลือกครอบครัวพัฒนาต้นแบบ 30 ครัวเรือน เพื่อเป็นแกนนำวิถีชีวิตแบบพอเพียง ต่อมามีการขยายผลเกือบครบทุกครัวเรือน กิจกรรมที่ทำ เช่น การทำสวนครัว รั้วกินได้ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับในบริเวณบ้านและรั้วบ้าน มีการทำความสะอาดและจัดบริเวณบ้านให้น่าอยู่ น่ามอง ทำป้ายชื่อบ้านที่ดูดีและสวยงาม มีการออมเงินกับกลุ่มออมทรัพย์ฯ ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน มีการอนุรักษ์ป่าชุมชน 2 แห่ง คือ ป่าอนุรักษ์ และป่าเศรษฐกิจชุมชน ป่าอนุรักษ์ ชุมชนได้ดำเนินการจัดทำแนวเขต แนวกันไฟ มีการจัดเวรยามป้องกันไฟป่า รักษาป่าให้คงเดิมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มี การปลูกต้นไม้ในชุมชน ให้เกิดความร่มรื่น สร้างจิตสำนึกในการรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน สำหรับป่าเศรษฐกิจ ชุมชนได้เน้นการปลูกไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัส เพื่อตัดขายแล้วนำรายได้มาพัฒนาหมู่บ้าน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน
ด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน มี จุดเรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสาน และจุดเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ยาสมุนไพร การทำบายศรี การจักสาน การทอผ้าพื้นบ้าน ด้านความเอื้ออาทรต่อกัน ชุมชนมีความสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนเป็นญาติพี่น้อง แม้จะนับถือศาสนาที่ต่างกัน โดยมีวัดบ้านสระไม้แดง และวัดคาทอริกเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนา ซึ่งกิจกรรมต่างๆ จะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของบ้านสระไม้แดง คือ มีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม อันเกิดจากผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ มี ความเสมอภาค เป็นแบบอย่างที่ดี เชื่อถือ และไว้วางใจได้ นอกจากนี้สมาชิกในชุมชนยังมีความร่วมมือ ร่วมใจ มีความสามัคคี ต้องการเห็นชุมชนน่าอยู่ คนในชุมชนมีอาชีพมีรายได้สม่ำเสมอ สังคมเป็นสุข เอื้ออาทรต่อกัน สิ่งแวดล้อมดี มีความปลอดภัย ต้องการพึ่งพาตนเองให้มาก พึ่ง พาภายนอกให้น้อยลง กิจกรรมทุกเรื่องต้องมีการทำประชาคม รับฟังปัญหา ความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และบรรจุไว้ในแผนชุมชน โดยยึดแนวทางสายกลางแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นหลัก... ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239 หรือ ผู้ใหญ่เชษฐา ภูสมที โทร.087-0664652

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนตัวอย่างจังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จังหวัด ฉะเชิงเทราโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ได้ดำเนินการคัดเลือกศูนย์เรียนรู้ชุมชนตัวอย่างของจังหวัดขึ้น จำนวน 1 แห่ง เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษา เรียนรู้ และดูงานเกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน ที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อชุมชน

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนตัวอย่างฯ ดังกล่าว ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านอ่างเตย หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 เป็นการต่อยอดมาจากศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ซึ่งเกิดจากความต้องการของประชาชนในชุมชนที่ต้องการให้มีเวทีประชุมประชาคม ของหมู่บ้าน เผยแพร่แนวคิด มีแหล่งเรียนรู้ของชุมชน มีการจัดเก็บองค์ความรู้ ประวัติชุมชน และภูมิปัญญาของชุมชนอย่างเป็นระบบ มีการแสดงข้อมูลข่าวสารของชุมชนให้ได้เรียนรู้กันอย่างทั่วถึง รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนแห่งนี้ มี นายสำรวย ทรัพย์ประสาน สมาชิกสภาจังหวัดฉะเชิงเทรา อดีตผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้บริจาคที่ดิน จำนวน 30 ไร่ เพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ต่อมามีหน่วยงานราชการสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินกิจกรรมภายในศูนย์ฯ ให้หลากหลายขึ้น จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ตัวอย่างของจังหวัดในปัจจุบัน

สำหรับกิจกรรมของศูนย์ฯ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนตามฐานเรียนรู้ภายในศูนย์ฯ เช่น ฐานปุ๋ยหมักชีวภาพ ฐานปลูกไผ่ตง ฐานปลูกหม่อน ฐานเลี้ยงไหม ฐานทอผ้าไหม ฐานทำนา 1 ไร่ 100 ถัง ฐานปลูกกล้วย 1 หน่อ ได้ 2 ต้น ฐานเลี้ยงสุกร ฐานผลิตแก๊สชีวภาพ ฐานเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น และการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เช่น แปลงเกษตรผสมผสาน แปลงปลูกผัก แปลงไผ่ตงของปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น ผู้สนใจติดต่อขอศึกษาดูงานหรือขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นายไพรวัลย์ คำประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ขนมหวานธารทอง อร่อยระดับ 5 ดาว

เขียนถึง OTOP ประเภทอาหารมาหลายฉบับ ฉบับนี้ก็ยังเป็นเรื่องอาหาร เป็นประเภทของหวาน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฝอยเงิน ... ผมน่าจะเขียนถึงกลุ่มนี้มานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาส เขาอยู่ไกลถึงบางปะกง ต้องรอมาทำงานอย่างอื่นด้วย จึงได้มากลุ่มนี้ งานอื่นที่ว่าก็ไม่ใช่ธรรมดาสำหรับหมู่บ้านนี้ เขาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผมมาติดตามประเมินผลการทำงานของหมู่บ้าน เลยถือโอกาสเก็บข้อมูลมาเขียนคอลัมน์ OTOP ในวันนี้... ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ชเอม ซิ้มเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 ตำบลบางปะกง ประธานกลุ่มสตรีขนมหวานบ้านคลองผีขุด จะเล่าให้เราฟังครับ...

คนบางปะกง เก่งทำขนมไทย...
ชาวบ้านคลองผีขุด หมู่ที่
14 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง ประกอบอาชีพหลัก ได้แก่ การทำนาเกลือ เลี้ยงปลา/กุ้ง... เมื่อมีเวลาว่าง ก็คิดอยากจะมีอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว... จึงมีการรวมกลุ่มกันทำขนมไทยโบราณออกขาย... เหตุผลที่เลือกทำขนมไทย เนื่องจากที่นี่มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดวิธีการทำขนมไทยโบราณ มาจากบรรพบุรุษจนถึงลูกหลานในปัจจุบัน... เหตุผลอีกข้อหนึ่ง คือ เนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทราได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ทำให้สามารถหาวัตถุดิบได้ง่าย และมีความสดใหม่ ซึ่งจะได้คุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งพลังงานและโปรตีน...

เรื่องเล่าขานขนมไทยบางปะกง...
ขนมไทยโบราณที่เราเห็นกันอยู่มากมายนั้น ในอดีตจนถึงปัจจุบันได้ถูกนำไปใช้ประกอบสำรับอาหารในงานมงคลต่างๆ เช่นงานบวช งานแต่งงาน โกนจุก ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ โดยคนในชุมชนจะมาร่วมกันทำ มีการแบ่งหน้าที่ระหว่างหญิง /ชาย เด็ก/ผู้ใหญ่ ตามความถนัดและความสามารถของแต่ละคน สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชุมชน และความสามัคคีของชุมชน ซึ่งยังพอมีให้เห็นอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน หลายแห่ง นอกจากนี้ขนมไทยโบราณยังสามารถให้เป็นของฝากของขวัญแก่ผู้ใหญ่หรือบุคคลที่นับถือ สมาชิกในครอบครัว มิตรสหาย หรือบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะฝอยทอง ผลิตภัณฑ์ที่ทำชื่อเสียงให้กับกลุ่มฯ สามารถสื่อความหมายถึงความยืดยาว ทำให้ชีวิตยืนยาวเจริญรุ่งเรือง และความมั่งมีศรีสุข...การทำขนมไทยโบราณของชาวบ้านบางปะกงในอดีต มีการกล่าวขานไว้ว่าใครที่นั่งเรือผ่านทางแม่น้ำบางปะกง จะต้องหาขนมหวานทานให้ได้ เพราะคนย่านนี้ทำขนมได้อร่อยมาก...

ก่อตั้ง ขยายตัว ต่อยอด...
กลุ่มของเรา ชื่อว่า “กลุ่มสตรีขนมหวานบ้านคลองผีขุด” ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี
2542 มีสมาชิกจำนวน 10 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน เป็นเงิน 50,000 บาท สำหรับจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น มีนางชเอม ซิ้มเจริญ เป็นประธานกลุ่ม โดยได้จดทะเบียนพาณิชย์และทะเบียนเครื่องหมายการค้า ใช้ชื่อว่า ทองธารขนมไทย ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 81 คน สมาชิกที่ทำงานกับกลุ่ม จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากงานประจำ โดยได้ค่าแรงวันละ 200 บาท มีเงินทุนสะสมของกลุ่ม จำนวน 752,520 บาท และได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากงบประมาณที่ได้รับจากโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ (ระดับพออยู่ พอกิน) ของกรมการพัฒนาชุมชน มาผลิต ไข่เค็มจากดินฝุ่นนาเกลือ ซึ่งเป็นการใช้วัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่ และผลิตภัณฑ์นี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเวลานี้สำหรับขนมไทยโบราณที่กลุ่มเลือกผลิตนั้น จะเน้นขนมที่มีชื่อเป็นมงคล มีคำว่าทองอยู่ด้วย เพราะเชื่อว่าทองเป็นของมีค่า เมื่อทำขึ้นประกอบในงานมงคล ก็จะนึกไปถึงความร่ำรวยมั่งคั่งด้วยเงินทอง หากมอบเป็นของขวัญในวันสำคัญให้กับบุคคลที่รัก เคารพ หรือญาติสนิทมิตรสหาย ก็เปรียบเสมือนให้ของดีของมีค่าดั่งให้ทองคำแก่กัน เช่นฝอยทอง ทองหยอด ทองหยิบ ทองเอก เป็นต้น...

เคล็ดลับความอร่อย ไม่หวานมาก พอดีคำ...
ขนมหวานธารทองให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งพลังงานและโปรตีน มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย สีสวย อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย...การทำฝอยทองของกลุ่มจะทำการผลิตไม่หวานมาก เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสุขภาพ และยังดัดแปลงรูปลักษณ์ของฝอยทองจากการทำเป็นแพใหญ่ เปลี่ยนมาม้วนเป็นขนาดเล็กพอดีคำ สะดวกต่อการรับประทานมากขึ้น...

ใช้จนหมด ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม...
ผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ผลิตขึ้นในชุมชนอาจมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมชุมชน แต่สำหรับการทำขนมไทยโบราณของกลุ่มทำขนมหวานบ้านคลองผีขุด พบว่าวัตถุดิบหรือวัสดุเหลือใช้ในกระบวนการผลิต ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากวัสดุเหลือใช้ทุกชนิด สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่นไข่ขาวนำไปใช้ทำขนมหม้อแกง หากมีเหลือปริมาณมาก ก็นำไปผสมอาหารเลี้ยงกุ้ง-ปลา (เพิ่มโปรตีนให้กับอาหารสัตว์) เปลือกไข่ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ สามารถนำไปใส่โคนต้นไม้มีผลทำให้ดินร่วนซุย คุณภาพดี

ได้มาตรฐาน ของดีเมืองแปดริ้ว...
มาตรฐานด้านอาหารที่เราได้รับเวลานี้ คือ ทุกผลิตภัณฑ์ผ่านมาตรฐาน อย. และจากการส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ไทยทุกครั้งที่ผ่านมา เราได้ระดับ 5 ดาว ทุกครั้ง ซึ่งเป็นเครื่องหมายยืนยันความมาตรฐานของกลุ่มเราเป็นอย่างดี นอกจากนี้จากการที่กลุ่มของเรา มีการบริหารจัดการกลุ่ม จนมีความเข้มแข็ง ทำให้ได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลกลุ่มอาชีพดีเด่น จังหวัดฉะเชิงเทรา... รางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่น อำเภอบางปะกง... ประกาศเกียรติคุณ
ของดีเมืองแปดริ้ว”… รางวัล ผลิตภัณฑ์ตำบลไทย ความภูมิใจของแผ่นดิน”… รางวัลที่ 3 จากการประกวดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ งานนมัสการหลวงพ่อพุทธโสธร... และได้รับเกียรติบัตรการเข้าร่วมจำหน่ายในงานประชุมเอเปค เป็นต้น... กลุ่มของเราบริหารงานโดยการยึดหลักการรับฟังความคิดเห็นทั้งจากภายในและนอกกลุ่ม มีการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการไปศึกษาดูงานจากที่อื่นหรือเมื่อมีผู้มาดูงานที่กลุ่ม ก็จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือทุกคนในกลุ่มต้องมีส่วนร่วมในการทำงานและมีการแบ่งหน้าที่ต่างๆอย่างชัดเจน

สืบสานภูมิปัญญาให้ยาวนาน...
ในอนาคตข้างหน้า กลุ่มของเราจะส่งเสริมให้แกนนำกลุ่มร่วมกิจกรรมลด ละ เลิก อบายมุข... บริหารจัดการกลุ่มโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ค่อยเป็นค่อยไป อย่างพอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกัน... เราจะเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานเรื่องขนมไทยของจังหวัดฉะเชิงเทรา... เราจะมีการส่งเสริมการฝึกอบรม และพัฒนาแกนนำกลุ่มอยู่เสมอ
และสุดท้ายเราจะส่งเสริมและสืบสานภูมิปัญญาไทยนี้ให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางต่อไป

แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์...
ปัจจุบันจำหน่ายอยู่ที่ กลุ่มสตรีขนมหวานบ้านคลองผีขุด เลขที่ 38 หมู่ที่ 14 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา... ตลาดนัดสนามเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ทุกวันอังคารและศุกร์... และตลาดนัด อย. สำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ทุกวันศุกร์ต้นเดือน
หรือสั่งทำพิเศษ ติดต่อคุณสมเจตน์ ทัศนา โทร 08-9751-6281

ต้องการศึกษาเรียนรู้ดูงานหรือขอรายละเอียดเพิ่มเติม...ติดต่อ ผู้ใหญ่ชเอม ซิ้มเจริญ เลขที่ 38 บ้านคลองผีขุด หมู่ที่ 14 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24130 โทร :08-9751-6281 หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ...แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ...

ขอบคุณ นิตยสาร "ที่นี่แปดริ้ว"
แหล่งที่มาของข้อมูล

วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

กลุ่มปักฉลุร้อยมุกผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิม

วันนี้ เราไปดูผลิตภัณฑ์ของพี่น้องชาวมุสลิมกันบ้างนะครับ เป็นชุดเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าคลุมศรีษะของสตรีมุสลิม ฝีมือการตัดเย็บและการออกแบบสวยงามมาก กลุ่มนี้เข้มแข็ง และยึดเป็นอาชีพเสริมมานาน ปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อไปนี้คุณสาวณีย์ มะลิวัลย์ ประธานกลุ่ม จะเล่ารายละเอียดให้เราฟังครับ...

ประวัติความเป็นมา
ผ้าคลุมศีรษะฮิญาบ เป็นเครื่องแต่งกายอย่างหนึ่งของมุสลิม ซึ่งศาสนาอิสลามกำหนดให้สตรีมุสลิมนั้นต้องปกปิดอวัยวะของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า โดยให้เห็นเพียงใบหน้าและฝ่ามือเท่านั้น เพื่อป้องกันอันตรายทางร่างกาย ทางสายตา ทางวาจา และการล่วงละเมิดทางร่างกาย ก่อนการนิก๊ะห์ (การแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลาม) ในยุคอดีตสตรีมุสลิมจะใช้ผ้าธรรมดาไม่มีลวดลายสวยงาม ปัจจุบันจึงคิดริเริ่ม พัฒนาจากเดิมให้มีลวดลายที่สวยงาม ทันสมัย ตามกระแสนิยม เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็ก และสาววัยรุ่น แต่งกายให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

อัตลักษณ์หรือจุดเด่นของผลิตภัณฑ์
ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าคลุ่มศีรษะฮิญาบ และเครื่องแต่งกายสตรีมุสลิม คือ เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามลวดลายสวยงามเป็นผ้าปักลายติดมุก หรือลายติดเลื่อม ออกแบบเอง ปักลายเอง

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ
กลุ่มมีความภาคภูมิใจที่ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับรางวัลและมาตรฐาน สมกับความมานะพยายามที่ทุ่มเทลงไป ปัจจุบันกลุ่มมีใบวุฒิบัตรผ่านการอบรมการจัดทำบัญชี วิเคราะห์ต้นทุนและแผนธุรกิจจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ใบประกาศเกียรติคุณตามโครงการคัดเลือกกิจกรรมพัฒนาองค์กรเครือข่ายดีเด่นจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เลขที่ 30898-72/385 และล่าสุดได้รับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี 2553 ระดับ 5 ดาว

ความสัมพันธ์กับชุมชน
กลุ่มปักฉลุร้อยมุกผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิมและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ใช้แรงงานของคนในชุมชน เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับสตรีมุสลิมที่อยู่บ้าน ซึ่งว่างงานจากการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนา ให้มีรายได้เสริมเพื่อเลี้ยงครอบครัว และเป็นการส่งเสริมให้สตรีมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามและเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนสืบต่อไป

ขั้นตอนและเคล็ดลับการผลิต
สำหรับขั้นตอนการผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีอะไรยุ่งยากมาก แต่ต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความละเอียดประณีต เริ่มจากการเลือกผ้าเตรียมตัดและตัดผ้าตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นพิมพ์ลายลงบนผ้าที่เตรียมไว้ แล้วปักลายโดยใช้จักรอุตสาหกรรม หรือปักเลื่อมด้วยมือ (
Hand Make) เคล็ดลับในการผลิต คือ ต้องเลือกผ้าที่เนื้อดีเหมาะกับสภาพอากาศ และต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบและลวดลายให้ทันสมัยอยู่เสมอ

กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ
กลุ่มผู้ผลิต คือ กลุ่มปักฉลุร้อยมุกผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิมและเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีสถานที่ผลิตอยู่ที่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 5 ตำบลดอนฉิมพลี อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา 24170 ประธานกลุ่ม คือ คุณสาวณีย์ มะลิวัลย์ โทร.08-9754-5158 การเดินทางไปที่กลุ่มโดยรถโดยสาร มี 2 เส้นทาง คือ จากจังหวัดฉะเชิงเทรามีรถโดยสารประจำทางที่ผ่านคือ รถสายฉะเชิงเทรา – ตลาด16 และจากอำเภอบางน้ำเปรี้ยวมีรถโดยสารประจำทางที่ผ่านคือ รถสายบางน้ำเปรี้ยว – ตลาด16

แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์
ปัจจุบันเรามีแหล่งจำหน่ายประจำอยู่ที่ที่ทำการกลุ่ม คือ เลขที่ 30 หมู่ที่ 5 ตำบลดอนฉิมพลี อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา 24170 โทร.08-9754-5158 และที่ร้านมะลิวัลย์ ตลาดมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร โทร.08-9774-2168 สนใจอุดหนุนก็เชิญได้ เปิดทำการทุกวัน...

บ้านเรามีพี่น้องชาวมุสลิมอยู่พอสมควร การที่ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่การผลิต การตลาด มาตรฐาน และรางวัลที่ได้รับ ผมก็รู้สึกภาคภูมิใจกับเขาด้วย สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่คุณสาวณีย์ มะลิวัลย์ ตามเบอร์โทรที่ให้ไว้ หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ก็ได้ ยินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมครับ...

ขอบคุณ นิตยสาร "ที่นี่แปดริ้ว"
แหล่งที่มาของข้อมูล

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

แม่บุญมี ขนมเปี๊ยะบางคล้า

สวัสดีปีใหม่ครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พอดีช่วงปีใหม่ผมได้สั่งทำขนมเปี๊ยะที่ร้านพี่บุญมี ศรีสุข ไปแจกญาติและพรรคพวกเพื่อนฝูง จึงนึกขึ้นมาได้ว่าน่าจะนำผลงานของผู้ประกอบการ OTOP รายนี้มานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักบ้าง... พี่บุญมีเล่าว่า...

สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ...ความเป็นมาของขนมบ้านบุญมี มาจากการสืบทอดวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาการทำขนมเปี๊ยะ ตั้งแต่สมัยคุณพ่อ ซึ่งเป็นชาวจีน และคุณแม่ ซึ่งเป็นชาวไทย และเป็นแม่ครัวทำอาหารและขนมไทยที่มีฝีมือในสมัยนั้น เมื่อยังเด็กในครอบครัวก็จะมีการทำขนมเปี๊ยะจีนรับประทานกันในครอบครัว ต่อมาเมื่อมีครอบครัวแล้วและต้องการหางานพิเศษเพื่อเพิ่มรายได้ จึงได้เริ่มกิจการทำขนมปังและและขนมอบ มีเบเกอรี่ ขึ้น ต่อมาก็พัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ โดยคงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยและจีนไว้ให้มากที่สุด จึงเป็นต้นกำเนิดของการผลิตขนมเปี๊ยะในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเราเอง

คงเอกลักษณ์ อร่อย สะอาด...ขนมเปี๊ยะแม่บุญมี เป็นขนมที่มีลักษณะความเป็นจีน แต่รสชาติและกลิ่นเป็นแบบไทย โดยรวมส่วนผสมที่ให้คุณค่าอาหารของขนมอบ และสมุนไพรที่มีประโยชน์ เป็นขนมที่สื่อแสดงความเชื่อมโยงของการผสมผสานของการทำขนมของชาวจีนและชาวไทยกับการผสมผสานวัฒนธรรมของชาวจีนและชาวไทยในอำเภอบางคล้าได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีความอร่อย สะอาด และปลอดภัย โดยได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐาน อย. มาตรฐาน มผช. มาตรฐาน GMP เป็นต้น

เป็น OTOP 5 ดาว...แบรนด์ที่ใช้ขณะนี้ ใช้คำว่า แม่บุญมี ขนมเปี๊ยะบางคล้า ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนมบ้านบุญมี มีแรงงานประจำประมาณ 15 คน ลงทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP มาตั้งแต่ปี 2544 เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รับเครื่องหมาย เชลล์ชวนชิม รับรองความอร่อยจาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์

มีหลากหลายผลิตภัณฑ์...ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ภายใต้สัญลักษณ์ แม่บุญมี ได้แก่ ขนมเปี๊ยะกุหลาบ ขนมเปี๊ยะมะลิ ขนมเปี๊ยะคุณหนู ขนมเปี๊ยะนมสด ไส้ถั่ว ไส้รวมรส ไส้ถั่วไข่เค็ม ไส้งาดำ ไส้ชาเขียว ไส้มะพร้าวอ่อน ไส้ทุเรียน ไส้ช๊อกโกแลต ไส้กาแฟ ไส้ถั่วใบเตย ไส้พุทราจีน ไส้สตรอเบอรี่ และนวัตกรรมล่าสุด ไส้มะม่วง รูปลักษณ์ของขนมเปี๊ยะแม่บุญมี จะมีลักษณะเป็นก้อนกลม ขนาดประมาณพอดีคำ รับประทานง่าย หอมกลิ่นเทียนอบแบบไทย ถ้าเป็นเปี๊ยะนมสด ผิวจะนุ่มนวลชวนรับประทาน

ซื้อหาได้สะดวก...สนใจซื้อหาไปรับประทานเองหรือเป็นของขวัญของฝาก เชิญเลือกหาได้ที่ร้านขายของฝากขนมบ้านบุญมี ริมถนนฉะเชิงเทรา-บางปะกง ร้านขายของฝากสำคัญ ๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ร้านขายของฝาก ณ จุดพักรถบนถนนมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี ร้านขายของฝากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น หนองมน พัทยา และห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เช่น ห้างเดอะ มอลล์ ห้างอิออน เป็นต้น

ขนมเปี๊ยะอร่อยๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีอยู่หลายรายนะครับ แต่ละรายก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป และนี่ก็เป็นขนมเปี๊ยะอีกหนึ่งรายที่นำมาแนะนำให้รู้จักกันครับ...

ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณบุญมี ศรีสุข บ้านเลขที่ 39/5 ถนนปากน้ำ-หัวไทร หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 081-9288216

ขอบคุณ นิตยสาร "ที่นี่แปดริ้ว"
แหล่งที่มาของข้อมูล