วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นวัตกรรมมะม่วงแปดริ้ว : บอกโลกให้รู้ (อีกครั้ง)



ผมได้มีโอกาสต้อนรับคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง เป็นต้น รวมทั้งคณะศึกษาดูงานทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศหลายคณะ ทำให้ทราบว่าหลายท่านรู้จักชื่อเสียงรสชาติความอร่อยของมะม่วงแปดริ้วเป็นอย่างดี แต่พอเล่าเรื่องนวัตกรรมต่างๆ ของมะม่วงแปดริ้วให้ฟัง กลับพบว่าหลายท่านไม่เคยทราบ ไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อฟังแล้วก็รู้สึกทึ่ง และก็ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่าควรจะประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รู้จักอย่างกว้างขวาง จึงเป็นที่มาของบทความวันนี้ ซึ่งผมได้รวบรวมนวัตกรรมมะม่วงแปดริ้วทั้งหมดไว้ในบทความเดียวกัน ดังนี้ครับ... 
1. กิ่งพันธุ์มะม่วงเสริมราก 
วิธีการก็คือปลูกเมล็ดลงไป 3 ต้น เอาพันธุ์ดีมาปลูกตรงกลาง แล้วทาบติดกัน  เป็นการแก้ไขปัญหามะม่วงล้มเพราะไม่มีรากแก้ว และทำให้มะม่วงแข็งแรง ผลใหญ่ เพราะหากินเก่ง วิธีการเสริมรากแบบนี้ได้ขยายผลไปยังมะขาม ขนุน กระท้อน และมะนาวด้วย สำหรับมะนาวจะเสริมรากด้วยตอมะขวิด เพราะทนน้ำท่วม ทนแล้ง มีลูกได้ตลอดปี มีน้ำเลี้ยงเหลือเฟือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อคุณกุณฑล หรือคุณยุพิน ฉลาดถ้อย บ้านเลขที่ 2  หมู่ที่ 8 ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โทร. 081-9492181 
2. ผลมะม่วงเหลืองสุกพร้อมกันทั้งผล 
หลายท่านคงเคยเห็นผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่เหลืองสุกพร้อมกันทั้งผล สวยงาม ผลใหญ่ น่ารับประทานมาก นั่นเป็นเพราะชาวสวนได้ปฏิบัติดูแลสวนถูกต้องตามหลักวิชาการระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (EUREP GAP) ห่อผลด้วยถุงคาร์บอนในช่วงระยะเวลา 2 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต น้ำหนักของผลได้ตามมาตรฐานที่กำหนดร่วมกัน ลักษณะของผิวจะไม่มีรอยแผลที่เกิดจากโรคและแมลง คราบยาง และรอยช้ำจากการกระแทก ลักษณะของผลมะม่วงต้องตรงตามพันธุ์ การเก็บมะม่วงที่ความแก่ 85-90 % ตามดัชนีการเก็บเกี่ยวมะม่วง 
3. สติกเกอร์วัดความหวานของมะม่วง
มะม่วงน้ำดอกไม้ที่ไม่สุกจะมีรสชาติเปรี้ยว ถ้าสุกแล้วจะมีรสชาติหวาน มีปัญหาว่าจะทราบได้อย่างไรว่ามะม่วงนั้นสุกพร้อมที่จะรับประทานได้แล้วโดยไม่ต้องชิม วิธีแก้ปัญหานี้ สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้คิดสติกเกอร์เพื่อเทียบสีผิวมะม่วงขึ้น ในหนึ่งแผ่นจะมีสองสี คือ สีเหลืองนวลและสีเหลืองส้ม โดยติดไว้ที่ผลมะม่วงทุกผล ถ้าต้องการรับประทานรสชาติอมเปรี้ยวอมหวานหรือซื้อเป็นของฝาก ให้เลือกผิวมะม่วงสีเหลืองนวล ถ้าต้องการรับประทานทันที ให้เลือกผลที่นิ่มมือและสีผิวเป็นสีเหลืองส้ม ตามสติกเกอร์ที่ติดไว้ สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด 97/5 ม.1 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 24120 โทร. 081-930-5052 , 085-437-2029 
4. บาร์โค้ดตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ทุกผล 
มะม่วงแปดริ้วส่งออกจำหน่ายไปยังที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศหากมีปัญหาทำให้ผู้บริโภคท้องเสียหรือได้รับพิษภัยอันเกิดจากสารพิษตกค้างในมะม่วงแล้ว จะเสียหายมาก อาจไม่ได้รับการสั่งซื้ออีก รวมทั้งเสียชื่อเสียง หรือได้รับการร้องเรียนได้  นวัตกรรมที่ใช้แก้ปัญหานี้ คือ การติดบาร์โค้ดให้กับมะม่วงทุกผล โดยสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้พัฒนาระบบการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับถึงเกษตรกรผู้ผลิต ว่ามะม่วงผลนี้มีประวัติ ความเป็นมาอย่างไร ใครคือผู้ผลิต แหล่งผลิตอยู่ที่ไหน วิธีการผลิต การใส่ปุ๋ยและสารเคมี เป็นอย่างไร ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิตได้ จากสติกเกอร์ที่มีหมายเลขรหัสสมาชิกที่ติดบนผลมะม่วงโดยนำรหัสนี้พิมพ์ตรวจสอบบนเว็บไซต์ www.coopthai.com/mangoccs ซึ่งสหกรณ์ฯ พัฒนาให้มีข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น เป็นระบบข้อมูลสาธารณะ ตรวจสอบได้ทั่วโลก... 
5. บรรจุภัณฑ์ใหม่เพิ่มมูลค่าให้กับมะม่วง 
เมื่อก่อนนี้การจำหน่ายมะม่วงโดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง การจำหน่ายจะใช้วิธีชั่งกิโลขาย แล้วใส่ถุงหรือใส่เข่ง แล้วแต่ปริมาณ ราคาขายปลีกเฉลี่ยประมาณ 20 – 60 บาทต่อกิโลกรัม มาตอนนี้ผู้ประกอบการมะม่วงแปดริ้วหลายราย ได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ขึ้น เป็นลักษณะกล่องกระดาษที่สวยงามและแข็งแรง มะม่วงแต่ละผลจะหุ้มด้วยตาข่ายโฟมกันกระแทก เหมาะที่จะซื้อเป็นของขวัญของฝากที่มีค่า บรรจุภัณฑ์ที่ทำขึ้นนี้มีหลายขนาด บรรจุได้ตั้งแต่ 4 – 12 ผล ราคาขาย เช่น กล่องขนาด 8 - 9 ผล น้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 3 – 4 กิโลกรัม ราคาประมาณ 450 – 500 บาท  จะเห็นว่าขายได้ในราคาที่สูงขึ้น แต่ก็ได้รับความพึงพอใจจากผู้บริโภคจำนวนมาก ส่วนใหญ่ผู้ที่ซื้อบรรจุกล่องจะซื้อเพื่อเป็นของฝากมากกว่านำไปบริโภคเอง สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด 97/5 ม.1 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 24120 โทร. 081-930-5052 , 085-437-2029 
6. ขนมเปี๊ยะไส้มะม่วง 
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ขนมเปี๊ยะแปดริ้วแยกย่อยออกมาหลายชนิด เช่น ขนมเปี๊ยะกุหลาบ ขนมเปี๊ยะมะลิ  ขนมเปี๊ยะคุณหนู ขนมเปี๊ยะนมสด ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ไส้รวมรส ไส้ถั่วไข่เค็ม ไส้งาดำ ไส้ชาเขียว ไส้มะพร้าวอ่อน ไส้ทุเรียน ไส้ช๊อกโกแลต ไส้กาแฟ ไส้ถั่วใบเตย ไส้พุทราจีน ไส้สตรอเบอรี่ แต่นวัตกรรมล่าสุด คือ ขนมเปี๊ยะไส้มะม่วง รูปลักษณ์จะมีลักษณะเป็นก้อนกลม ขนาดประมาณพอดีคำ รับประทานง่าย หอมกลิ่นเทียนอบแบบไทย และผิวจะนุ่มนวลชวนรับประทาน ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณบุญมี ศรีสุข บ้านเลขที่ 39/5 ถนนปากน้ำ-หัวไทร หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 081-9288216 
7. มะม่วงกวนไม่ติดฟัน 
มะม่วงกวนเป็นของหวานที่หลายท่านโปรดปราน แต่ก็ยังมีปัญหาว่าเวลาทานมะม่วงกวน มันมักจะติดฟัน ทานแล้วไม่ค่อยหมั่นใจที่จะพูดจะคุยกับใคร เพราะเนื้อมะม่วงกวนยังติดอยู่ที่ฟัน ดูแล้วไม่เรียบร้อย การทำมะม่วงกวนที่ไม่ติดฟัน เป็นนวัตกรรมล่าสุดของมะม่วงแปดริ้ว เพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมา วิธีการก็คือ การนำเอามะม่วง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ น้ำดอกไม้ พิมเสน และเขียวเสวย มาผสมกัน ในสัดส่วนที่ลงตัว ก็จะได้มะม่วงกวนที่ไม่ติดฟัน สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณวาสิณี แจ้งสุคนธ์ โทร.๐๘๗-๘๒๗๒๘๕๕ บ้านเลขที่ ๔/๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒๔๑๑๐
นวัตกรรมทั้งหมดนี้ทำให้จังหวัดฉะเชิงเทราได้รับรางวัลผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเครือข่ายองค์ความรู้ OTOP จากกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 2 ครั้งแล้ว ได้แก่ ปี 2553 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ของประเทศ จากนวัตกรรมมะม่วงบาร์โค้ด และปี 2555 รางวัลชมเชย ระดับประเทศ จากนวัตกรรมมะม่วงไม่ติดฟัน จึงขอประกาศให้รู้โดยทั่วกัน และช่วยกันบอกต่อไปให้โลกได้รู้จักกับมะม่วงแปดริ้วให้มากขึ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกับ OTOP



“กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” เป็นงานนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มดำเนินการในปี 2555 กองทุนนี้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบทบาทสตรีให้มีศักยภาพและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยจัดสรรเงินให้กองทุน เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท โดยมีวิสัยทัศน์ของกองทุน คือ “สร้างสรรค์พลังสตรีให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ”



ประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับจากการดำเนินงานกองทุนฯ 
1. มีแหล่งเงินทุนในการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้
2. สตรีได้รับการพัฒนาศักยภาพและบทบาทการเป็นผู้นำ
3. สตรีและครอบครัวได้รับการดูแลด้านสวัสดิการจากกองทุนและชุมชน
4. เกิดความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของสตรีในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนมากขึ้น
5. สตรีและผู้ด้อยโอกาสได้รับการดูแลจากกองทุน
6. เกิดเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ
7. สตรีได้รับการยอมรับทั้งระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับสากล
8. เป็นการ ต่อ เติม เต็ม ความเข้มแข็งของชุมชน ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน



ความเกี่ยวข้องกันระหว่างกองทุนฯ กับ OTOP 
วัตถุประสงค์ของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลเช่นเดียวกัน คือ
1. สร้างงาน สร้างรายได้ แก่ชุมชน
2. สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ให้สามารถคิดเอง ทำเอง ในการพัฒนาท้องถิ่น
3. ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น
4. ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ผมคิดว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกันก็คือ สมาชิกของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (ต้องเป็นสตรีหรือองค์กรสตรีเท่านั้น) มีสิทธิกู้ยืมเงินกองทุนนี้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ได้ และผู้ลงทะเบียน OTOP ที่เป็นสตรีก็สมัครเป็นสมาชิกของกองทุนนี้ได้ทุกเมื่อ วัตถุประสงค์ของทั้ง 2 โครงการ ไปด้วยกันได้ ไม่ขัดแย้งกัน ขอเพียงแต่ว่าต้องเป็นสตรีและลงทะเบียนเป็น OTOP ไว้เท่านั้น เท่ากับว่ารัฐบาลได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง ...



หลักเกณฑ์การขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ 
สิ่งที่สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีควรทราบ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ก็คือ
1. สมาชิกที่มีสิทธิขอรับการสนับสนุน ได้แก่
     1.1 ประเภทบุคคลธรรมดา รวมตัวกันตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป
     1.2 ประเภทองค์กรสตรี
2. ประเภทโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุน
   2.1 ประเภทที่เป็นการกู้ยืมเงิน (เงินทุนหมุนเวียน ยืมแล้วต้องส่งคืน) สมาชิกเสนอโครงการได้ไม่เกิน โครงการละ 200,000 บาท (จัดสรรไว้ร้อยละ 80 ของเงินกองทุนทั้งหมด) 
     2.2 ประเภทที่ส่งเสริมศักยภาพสตรี (เงินอุดหนุน จ่ายขาด) สมาชิกเสนอโครงการได้ไม่เกินโครงการละ 200,000 บาท (จัดสรรไว้ร้อยละ 20 ของเงินกองทุนทั้งหมด)
3. เกณฑ์การพิจารณาเงินทุนของสมาชิก อัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ การค้ำประกัน ระยะเวลาการส่งใช้คืน การจัดสรรผลกำไร ฯลฯ ให้เป็นไปตามระเบียบของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการร่างระเบียบอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะให้สมาชิกยื่นเสนอโครงการได้ในต้นเดือนธันวาคม โดยขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาบทบาทสตรีตำบล แล้วให้คณะกรรมการพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดพิจารณาอนุมัติโครงการและโอนเงินให้สมาชิก คาดว่าทั้งหมดนี้คงจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้



การขึ้นทะเบียนสมาชิกกองทุนฯ... 
สำหรับคุณสุภาพสตรีที่มีความประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกของกองทุน ยังคงขอขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกได้ตลอดเวลานะครับ โดย 
1. ประเภทบุคคลธรรมดา ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกได้ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน/ที่ทำการชุมชน หรือ กศน.ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ หรือสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด หรือทางเว็บไซต์ www.womenfund.thaigov.go.th
2. ประเภทองค์กรสตรี ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกได้ ณ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เลขที่ 255 บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400



OTOP แปดริ้ววันนี้... 
ก่อนจบผมขอให้ข้อมูล OTOP ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการมาลงทะเบียนใหม่เมื่อวันที่ 24-28 ตุลาคม 2555 ดังนี้ 
     1. ประเภทของผู้ประกอบการ ประกอบด้วย ประเภทกลุ่มชุมชน 121 ราย ผู้ประกอบการรายเดียว 168 ราย และประเภท SMEs จำนวน 6 ราย รวมทั้งสิ้น 295 ราย เป็นรายเดิม 198 ราย รายใหม่ 97 ราย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อปี 2553 ที่มีผู้ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 292 ราย 
     2. ประเภทผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย อาหาร 331 ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม 27 ผลิตภัณฑ์ ผ้าและเครื่องแต่งกาย 67 ผลิตภัณฑ์ ของใช้ ของประดับตกแต่ง ของที่ระลึก 162 ผลิตภัณฑ์ และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 92 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 681 ผลิตภัณฑ์ ลดลง 70 ผลิตภัณฑ์ จากเมื่อปี 2553 ที่มีผลิตภัณฑ์รวมทั้งสิ้น 751 ผลิตภัณฑ์



ถ้าท่านผู้อ่านสนใจข้อมูลเพิ่มเติมทั้ง 2 โครงการนี้ ติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 038-511239 ในวันและเวลาราชการ ยินดีรับใช้ครับ...