วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

ขนมหวานใบเตย...ของดีจากตำบลบางเตย

วันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องราวของขนมหวานอีกสักรายนะครับ ในความรู้สึกของผม บางทีก็รู้สึกว่า OTOP ของแปดริ้วเรามีผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเยอะเหลือเกิน เวลานำเสนอเดี๋ยวๆ ก็ประเภทอาหารอีกแล้ว คนอ่านเขาจะเบื่อไหม... แต่อีกความรู้สึกหนึ่ง ก็ภูมิใจนะครับ ว่าบ้านเราอุดมสมบูรณ์ไม่อดอยาก และต้องบอกว่ามีฝีมือดีด้วย ไม่งั้นก็คงไม่ได้ 4-5 ดาว นะครับ... สำหรับผู้ประกอบการรายนี้ ก็คือ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางเตยพัฒนา อยู่ที่หมู่ที่ 13 ตำบลบางเตย อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เจ้าของผลิตภัณฑ์ประเภทขนมหวานระดับ 5 ดาว หลายชนิด เช่น ขนมชั้นใบเตย ขนมเปียกปูน ขนมใส่ไส้ ขนมเทียน ฝอยทอง ทองหยิบ เม็ดขนุน ขนมหม้อแกง กาละแม ขนมหัวผักกาด เป็นต้น... ผมไปคุยกับป้าบุญล้อม ผดุงกุล ประธานกลุ่ม ได้รายละเอียดมาเล่าสู่กันฟัง...คือป้าเล่าว่าอย่างนี้ครับ...

อาชีพหลักทำนา อาชีพเสริมทำขนม...
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางเตยพัฒนา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 คือมีการรวมตัวกันของสตรีอาสาในตำบลบางเตย หมู่บ้านละ 5 คน มี 13 หมู่บ้าน ก็เท่ากับ 65 คน เพื่อเข้ารับการอบรมพัฒนาสตรีของอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ตอนนั้นทำขน
มไปให้นายอำเภอชิมด้วย นายอำเภอบอกว่าทำขายได้นี่ ซึ่งความจริงก็ทำขนมส่งขายที่รามคำแหงอยู่แล้ว พอนายอำเภอว่าอย่างนั้น ก็เลยมารวมสมาชิกกลุ่ม 5-6 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติกัน ทำขนมขายเรื่อยมา โดยมีป้าเป็นประธาน เริ่มขายงานแรกงานกาชาด สนุกดี เมื่อได้ออกงาน เจอผู้คน ทำไปขายไป ก็มีคนติดต่อมาเรื่อยๆ จนได้มาลงทะเบียน OTOP เมื่อปี 2545 ทุนของกลุ่มตอนแรกก็มีวัสดุอุปกรณ์จากทางราชการ เช่น เตาอบ เครื่องตีไข่ เครื่องคั้นกะทิ เครื่องกวน เป็นต้น ส่วนทุนหมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นของประธานเอง สมาชิกไม่นิยมลงหุ้น แต่ชอบรับเป็นค่าแรงมากกว่า ปัจจุบันนี้มีสมาชิก 30 คน และป้ายังรับตำแหน่งประธานของกลุ่มเหมือนเดิม

ความรู้ทำขนมมาจากบรรพบุรุษ ความรู้การตลาดต้องเรียนรู้เพิ่มเติม...
เดิมพื้นฐานการทำขนมหวานได้มาจากพ่อแม่อยู่แล้ว แต่เราก็ต้องพัฒนาเพิ่มเติม ได้พาสมาชิกไปศึกษาดูงานหลายที่ ต้องบอกว่าโดยพื้นฐานคนเขานิยมขนมของเราอยู่แล้ว แต่ในส่วนของเรื่องการตลาดเราต้องเรียนรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะที่ส่วนราชการ เช่น พัฒนาชุมชน พาณิชย์ อุตสาหกรรม มีหนังสือเ
ชิญมาเราก็ไปรับการอบรม ทั้งเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การผลิต การตลาด การประชาสัมพันธ์ และการสร้างแบรนด์ จนเดี๋ยวนี้เราพัฒนาขึ้นมามาก เราได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารและยา หรือ อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. แล้ว ส่วนรางวัล เราได้รับการคัดสรรเป็น OTOP ระดับ 5 ดาว นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลจากการประกวดภูมิปัญญาขนมไทย อีกหลายรายการสำหรับแผนการในอนาคต ป้าจะทำต่อไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ได้ถ่ายทอดความรู้ให้สมาชิกบ้างแล้ว รวมทั้งลูกๆ ทุกคน และอยากจะช่วยคนด้อยโอกาสให้มีงานทำด้วย... ส่วนการผลิตจะเน้นคุณภาพ ให้ได้มาตรฐานเดียวกัน...

จุดเด่นของเราคือใช้ใบเตยแท้ ๆ...
ผลิตภัณฑ์ของเราเวลานี้ก็มี ขนมชั้นใบเตย ขนมเปียกปูน ขนมใส่ไส้ ขนมเทียน ฝอยทอง ทองหยิบ เม็ดขนุน ขนมหม้อแกง กาละแม ขนมหัวผักกาด คือขนมไทยทำได้ทุกอย่าง แต่ที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ ขนมหม้อแกง ขนมชั้น และเปียกปูน จุดเด่นของเรา คือ ขนมเราใช้ใบเตยแท้ ๆ สด ๆ ตอนนี้น้ำท่วมใบเตยขาดตลาดต้องซื้อแพงขึ้น จุดเ
ด่นต่อมา คือ เราไม่มีสารกันบูด ไม่ใช้เลย และอีกอย่างหนึ่ง คือ ความจริงใจกับลูกค้า เราทำใหม่ สดทุกวัน ไม่ขายของเหลือ ไม่ทำ เหลือมาก็ให้ปลากิน ทำใหม่วันต่อวัน...
เคล็ดลับของเรา... เราคัดเกรดมะพร้าว ... มะพร้าวอ่อนทำวุ้น ทำน้ำมะพร้าวอ่อน แก่ขึ้นมาหน่อยทำไส้ขนม แก่อีกนิดก็คั้นกะทิ...ส่วนเรื่องสีสัน เราเน้นสีเตยธรรมชาติ สำหรับสีแดงเราทำจากน้ำครั่ง กาแฟให้สีน้ำตาล อัญชัญให้สีม่วง ลูกตาลให้สีเหลือง... ส่วนเรื่องขนาดรูปร่างของขนม เราดูจากความต้องการของลูกค้า เช่น ทานเอง ของฝาก ทำบุญ ถ้าทานเองควรเป็นถุงพลาสติก เพราะใส่กระเป๋าถือได้ ทิ้งง่าย ถ้าขายทั่วไปต้องใส่ถาด ของฝากต้องใส่กล่อง จับเป็นดอกก็มี ส่วนใหญ่เอาไปทำอาหารว่างรับรองแขก... ของขวัญปีใหม่ ทำในภาชนะถ้วยปู ปลา หัวใจ เล็กๆ น้อยๆ... เคยทำดอกกุหลาบ แต่ตัวเองไม่ชอบ คือ รู้สึกมันปนเปื้อนหลายขั้นตอน สวย แต่ปนเปื้อน ไม่น่าทาน... การทำขนมชั้นไม่ให้ติดกัน ตอนเทต้องเปิดช้าๆ ให้ไอน้ำเข้า หน้าก็ชื้นหน่อย แต่จะลอกง่าย... สำหรับเรื่องรสชาติ ของเราเมื่อก่อนต้องหวาน แต่เมื่อเราสัมผัสคนภายนอกมาแล้วเขาไม่ชอบหวาน เราต้องลดลง... กะทิก็ไม่ชอบมัน เราต้องลดลง หวานลดลง มันลดลง รสชาติกำลังพอดีทุกอย่าง... เรื่องวิธีทำเมื่อก่อนใช้ความชำนาญของเราไม่ต้องตวงชั่ง ใช้ความรู้สึกเอา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ ต้องได้มามาตรฐาน ต้องตวง ต้องชั่งของทุกอย่าง ใช้ภาชนะเดียวกัน...

ความสัมพันธ์กับชุมชนที่ดีเยี่ยม...
เวลาที่วัดมีงานบุญ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า พระมาสอบนักธรรม เราจะจัดอาหารหวานคาว ไปเลี้ยง โดยใช้ทุนส่วนตัวและเพื่อนสมาชิกกลุ่ม... เมื่อชุมชนจัดงานส่วนรวม เราก็จัดขนมไปช่วย... หรือคนยากจนเราก็ช่วย จัดเป็นเงินบ้าง ของบ้าง ทำขนมให้... ผู้ชรา ผู้สูงอายุ มีงานสงกรานต์ ก็ซื้อผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้าไปแจก... งานวัด งานโรงเรียน ช่วยเหลือมาตลอด... ส่วนเรื่องการถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิกกลุ่ม เด็กนักเรียน และประชาชนทั่วไปนั้น เราจัดเป็นศูนย์เรียนรู้การถ่ายทอดภูมิปัญญาทั้งในและนอกสถานที่ รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับผู้สนใจทั่วไปด้วย...

แหล่งขาย
ตอนแรกๆ ไปกับอำเภอ จังหวัด ไปขายที่เมืองทองธานี ขายดีมาก ตอนหลังไม่ไหว ยอดสั่งซื้อเยอะแต่เรารับไม่ได้ เพราะเป็นของสด ทำวันต่อวัน เยอะมากทำไม่ทัน... เวลานี้จึงขายอยู่ที่ตลาดลอยฟ้าสถานีขนส่งใหม่ (ตลาดนัด) ทุกวันจันทร์ ส่วนวันอังคารและวันศุกร์ ขายที่ตลาดนัดหน้าศาลากลางจังหวัด... นอกเหนือจากนี้ก็ทำตามสั่งโดยมีโทรสั่งมีเกือบทุกวัน เดือนหนึ่งเว้นประมาณ 2-3 วันเท่านั้น... ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดสนใจก็ติดต่อได้ที่ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ด้านล่าง...

สนใจผลิตภัณฑ์ติดต่อได้ที่...
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางเตยพัฒนา บ้านเลขที่ 81/1 หมู่ที่ 13 ตำบลลางเตย อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา โทร.038-565048 หรือประธานกลุ่ม นางบุญล้อม ผดุงกุล โทร.081-4588515 หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239... เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่คอลัมน์ OTOP แปดริ้ว ภูมิใจนำเสนอครับ...