วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

วัดโสธรฯ อ.เมืองฯ (1 อำเภอ 1 มหัศจรรย์)

วัดโสธรวรารามวรวิหาร อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง เดิมชื่อว่า วัดหงส์ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นที่ประิดิษฐาน หลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวเมืองเคารพนับถือ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ หายเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง

ตามประวัติเล่าว่า เป็นพระพุทธรูปปาฏิหาริย์ลอยทวนน้ำมาและมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ สันนิษฐานว่าตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2313 สมัยต้นกรุงธนบุรี แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักพาไป จึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้ จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน

ทุกวันนี้จะมีผู้คนต่างมานมัสการปิดทองหลวงพ่อโสธรกันเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถ หลังใหม่ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2530 โดยมีสำนักงานโยธาจังหวัดเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ลักษณะพระอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์ ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จริง เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 08.00-16.00 น.

วิหารจำลอง ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง สืบเนื่องจากทางคณะกรรมการวัด มีมติให้รื้อพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งมีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ และสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ โดยได้อัญเชิญพระพุทธโสธรองค์จำลองไปประดิษฐานไว้เพื่อเปิดให้ประชาชนได้มานมัสการตามปกติ เปิดให้นมัสการวันธรรมดาระหว่างเวลา 07.00-16.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเวลา 07.00-17.00 น.

วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราและกลุ่มจังหวัด สู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558 (6)

โครงการที่ไม่อยู่ในคำของบประมาณของกระทรวง กรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ได้แก่

  1. โครงการก่อสร้างสะพานกลับรถทางหลวงหมายเลข 304 บริเวณหน้าทางเข้าวัดสมานรัตนาราม
  2. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก (Over Pass) ทางหลวงหมายเลข 304 บริเวณสี่แยกบางคล้า
  3. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก (Over Pass) ทางหลวงหมายเลข 304 บริเวณสี่แยกพนมสารคาม
  4. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก (Over Pass) ทางหลวงหมายเลข 314 บริเวณสามแยกทางเลี่ยงเมืองด้านใต้

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามผังยุทธศาสตร์การคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคของรัฐบาลและมีผลการศึกษาวิจัยของหน่วยงาน กระทรวง กรม ได้แก่

  1. โครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก สุวรรณภูมิ – ฉะเชิงเทรา – พัทยา ความต้องการของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัด ขอให้มีสถานีจอดแวะผ่านในเขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
  2. การปรับปรุงขบวนรถไฟสายฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ ให้มีคุณภาพและความเร็ว อำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสาร สนับสนุนการกระจายตัวของประชาชนมาอาศัยในพื้นที่ปริมณฑล ลดความแออัด คับคั่งของการจราจรและชุมชนใน กทม.

ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราและกลุ่มจังหวัด สู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558 (5)

โครงการที่อยู่ในคำของบประมาณของกระทรวง กรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ 5,290.34 ล้านบาท ได้แก่
  1. โครงการพัฒนาเส้นทางสายหลักเชื่อมโยงสู่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ทางหลวงหมายเลข 314 บางปะกง-ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 16.9 ก.ม. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท
  2. โครงการพัฒนาเส้นทางสายหลักเชื่อมโยงสู่ภาคตะวันออก (ทางหลวงหมายเลข 331) งบประมาณ 360 ล้านบาท
  3. ก่อสร้างท่อเหลี่ยมคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อการระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม งบประมาณ 11.50 ล้านบาท
  4. โครงการขุดลอกคลองแก้มลิง 5 แห่ง รวม 69.34 ล้านบาท ดำเนินการที่ ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ 4 แห่ง และ ต.บางแก้ว อ.เมือง 1 แห่ง
  5. โครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำพร้อมขุดลอกคลองหนองอีโถน ระยะทาง 5.7 ก.ม. งบประมาณ 14.50ล้านบาท
  6. โครงการปรับปรุงและขยายถนนเดิมสาย ฉช 3001 แยก ทล.314 ลาดกระบัง (สาย A17) จังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจออกแบบประมาณการและสำรวจอสังหาริมทรัพย์แล้วเสร็จ และจะดำเนินการเวนคืนที่ดินในปี 2555 ระยะทาง 20.38 กม.งบประมาณ 3,835 ล้านบาท โครงการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการคมนาคมขนส่ง สนับสนุนกิจกรรมการกระจายสินค้าให้กับ GATEWAY/HUB ของภาคกลาง เชื่อมโยงกับการขนส่งทางรถไฟและทางอากาศที่สนามบินสุวรรณภูมิ ลดต้นทุนการขนส่ง พัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ระดับภาค จนถึงระดับชาติ และเพิ่มการจ้างงานของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกรมทางหลวงชนบทได้ตั้งงบประมาณ ปี 2556 เพื่อก่อสร้างถนนทั้งสายแล้ว

ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราและกลุ่มจังหวัด สู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558 (4)

  • จังหวัดฉะเชิงเทราขอขอบพระคุณในการที่ ฯพณฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง และคณะได้ให้ความสำคัญในการจัดเวทีสัมมนา “จังหวัดฉะเชิงเทราและกลุ่มจังหวัดกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ.2558” ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและจังหวัดภาคตะวันออกทั้ง 9 จังหวัดในการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญกับสมาชิกของประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ อันจะก่อให้เกิด One Vision One Identity One Unity หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตตลักษณ์ และหนึ่งประชาคม
  • จึงเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ/โครงการ พัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จำนวน 12 โครงการ โดยเป็นโครงการที่อยู่ในคำของบประมาณของกระทรวงและกรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ 5,290 ล้านบาท โครงการที่ไม่อยู่ในคำของบประมาณของกระทรวง กรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 4 โครงการ และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามผังยุทธศาสตร์การคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคของรัฐบาล และมีผลการศึกษาวิจัยของหน่วยงาน กระทรวง กรม จำนวน 2 โครงการ โดยสรุปดังนี้

ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราและกลุ่มจังหวัด สู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558 (3)

  • ทั้งนี้ จะเห็นว่าจังหวัดฉะเชิงเทรา มีโอกาสในการพัฒนาสูง แต่ปรากฏว่าจังหวัดฉะเชิงเทรา ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนนสายหลัก ทางหลวงสาย 314 บางปะกง-ฉะเชิงเทรา ที่จะเชื่อมโยงไปสู่ภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสาย 331 พนมสารคาม-สัตหีบ ที่จะเชื่อมโยงไปภาคตะวันออก มีสภาพชำรุด ไม่สามารถรองรับการขยายตัวระบบ Logistics เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงระบบรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก-สุวรรณภูมิ–ฉะเชิงเทรา–พัทยา ซึ่งขนส่งสินค้าไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง และมาบตาพุด จังหวัดระยอง ความต้องการของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัด ขอให้มีสถานีจอดแวะผ่านในเขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์เต็มศักยภาพ รวมถึงการปรับปรุงขบวนรถไฟสายฉะเชิงเทรา-กทม.ให้มีคุณภาพและความเร็ว อำนวยความสะดวก สนับสนุนการกระจายตัวของประชาชนในกทม.มาอยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัด ลดความ คับคั่งแออัดของระบบจราจร และชุมชนในกทม.
  • นอกจากนั้นจังหวัดฉะเชิงเทรายังมีความจำเป็นในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาค และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูงมาก รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพระบบถนนเชื่อมโยงระหว่างอำเภอ และท้องถิ่น เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558
  • ปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ปลายน้ำและได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล ในการปล่อยน้ำผ่านจังหวัดฉะเชิงเทราออกสู่ทะเลอ่าวไทย ทำให้ถนนหนทางและลำน้ำลำคลอง ชำรุดเสียหาย ดังนั้น หากได้รับงบประมาณตามแผนงาน/โครงการเชิงบูรณาการ ในการพัฒนาศักยภาพระบบโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก และการเตรียมการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ.2558 จะส่งผลให้จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ให้บรรลุวิสัยทัศน์จังหวัด และการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด การท่องเที่ยว และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล