วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กลุ่มธารทิพย์ : ข้าวปลอดภัย 1 ไร่ 1 ล้าน



ในแวดวงเกษตรตอนนี้มีกระแสตื่นตัวกันมากในเรื่องเกษตรประณีต 1 ไร่ 1 แสน เข้าใจว่าเป็นเพราะผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างมากจากการทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ 1 ไร่ ในระยะเวลาเพียง 1 ปี คอลัมน์ OTOP แปดริ้ว วันนี้ได้ไปคุยกับกลุ่มธารทิพย์มาครับ เป็นกลุ่ม OTOP ที่ผลิตข้าวสารปลอดสารพิษ ข้อมูลที่ได้น่าตื่นตะลึงมากกว่า 1 ไร่ 1 แสนซะอีก เขาบอกว่าสามารถทำได้ถึง 1 ล้าน ต่อ 1 ไร่ ภายใน 1 ปี... มันจริงหรือโกหก... เรามาดูกันครับว่าเขาทำอย่างไร...
รู้จักกับกลุ่มธารทิพย์... วิสาหกิจชุมชนกลุ่มธารทิพย์ ที่ทำการตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่ม คือ การรวมตัวกันของชาวนาเพื่อผลิตข้าวที่ปลอดภัยในการบริโภคและแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือออกจำหน่าย โดยเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ปัจจุบันมี คุณสำรวย ศรีเกษม เป็นประธาน มีสมาชิกทั้งสิ้น จำนวน 33 คน เงินทุน จำนวน 2,500,000 บาท ผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่ม คือ ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือมะลิแดง...
กลยุทธ์ในการผลิตข้าว... กลุ่มธารทิพย์เป็นกลุ่ม OTOP ที่ผลิตข้าวหอมมะลิแดง เขาวางกลยุทธ์ในการผลิตข้าวไว้ 2 ข้อ คือ หนึ่ง การพัฒนาไปข้างหน้า โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการและยกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวในสูงขึ้น และ  สอง การพัฒนาไปข้างหลัง โดยการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง ไม่ใช้สารเคมี และบริหารจัดการแปลงปลูกให้ได้มาตรฐานของทางราชการ...
การพัฒนาไปข้างหลังเพื่อให้ได้ข้าวปลอดภัย... คำว่าพัฒนาไปข้างหลัง หมายถึง การพัฒนากระบวนการผลิตต่างๆ ก่อนที่จะมาเป็นข้าวสาร โดยมีเป้าหมาย คือ ทำให้ข้าวปลอดภัยจากสารพิษมากที่สุดและลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด
สิ่งที่กลุ่มธารทิพย์ได้ทำเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อให้ได้ข้าวที่ปลอดภัย... ได้แก่
1. การไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงต้นข้าว
2. การไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชและศัตรูข้าว
3. การไถกลบตอซังและหญ้า เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าวและบำรุงดิน
4. การใช้ปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอร์รี่ในการบำรุงต้นข้าวและไล่หอยเชอร์รี่ (เป็นภูมิปัญญาโบราณ : สัตว์ชนิดเดียวกันไม่กินเนื้อกัน)
5. การใช้ฮอร์โมนรกหมูและไข่ ในการบำรุงต้นข้าว
6. การใช้สมุนไพรเพื่อไล่แมลง สมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ สะเดา ข่า ตะไคร้ พริก มะกรูด ยอ เหล้าขาว และพริกแกง
7. การใช้หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีมาบริหารแปลงนา จนได้มาตรฐาน GAP จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผลจากการดำเนินกิจกรรมพัฒนาไปข้างหลัง ปรากฏว่า กลุ่มธารทิพย์สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้จำนวนมาก จากที่เคยผลิตโดยใช้ระบบสารเคมี มีต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 5,000 – 7,000 บาท เหลือเพียงไร่ละ 1,200 บาท เท่านั้น
การพัฒนาไปข้างหน้าเพื่อให้ได้ไร่ละ 1 ล้านบาท... คำว่าพัฒนาไปข้างหน้า หมายถึง การแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร (ข้าวกล้อง) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวสารให้ได้มาตรฐานและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น โดยมีเป้าหมาย คือ การขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวให้ได้มูลค่าสูงที่สุดต่อการผลิต 1 ไร่  ผลผลิตข้าวเปลือกของกลุ่มธารทิพย์เฉลี่ยไร่ละ 650 กิโลกรัม และถ้านำมาแปรรูปเป็นข้าวสาร (ข้าวกล้อง) จะได้ จำนวน 580 กิโลกรัม/ไร่ ในจำนวนดังกล่าว ถ้าเราขายเป็นข้าวเปลือก จะได้เป็นเงิน 9,750 บาท/ไร่ และถ้านำข้าวสารมาบรรจุถุงขาย ก็จะได้เป็นเงิน 29,000 บาท/ไร่ (กิโลกรัมละ 50 บาท)
สิ่งที่กลุ่มธารทิพย์ได้ทำเกี่ยวกับการพัฒนาไปข้างหน้า... ได้แก่
1. การผลิตข้าวกล้องสุญญากาศ (เก็บไว้ได้นาน) คิดเป็นเงิน 34,800 บาท/ไร่ (กิโลกรัมละ 60 บาท)
2. การผลิตข้าวกล้องงอก (ได้คุณค่าโภชนาการ) คิดเป็นเงิน 58,000 บาท/ไร่ (กิโลกรัมละ 100 บาท)
3. การผลิตน้ำนมข้าว (บรรจุขวด ทานได้สะดวก) คิดเป็นเงิน 580,000 บาท/ไร่ (ลิตรละ 50 บาท)
4. การผลิตข้าวชง (บรรจุซอง พกพาสะดวก) คิดเป็นเงิน 1,160,000 บาท/ไร่ (10 กรัม 20 บาท)
5. การขอมาตรฐาน อย.
ผลจากการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาไปข้างหน้า ทำให้กลุ่มธารทิพย์มีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวที่หลากหลาย และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นไร่ละ 1 ล้านบาทได้ ภายใน 1 ปี
ผลพลอยได้... จากการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาทั้งไปข้างหน้าและมาข้างหลังของกลุ่มธารทิพย์ นอกจากได้ผลิตภัณฑ์หลักแล้วยังได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้อีกหลายชนิด เช่น ทองม้วน ไอศกรีม ข้าวเกรียบ คุกกี้ ขนมเปี๊ยะ ข้าวคั่ว ที่ทำจากปลายข้าว ได้รำสำหรับเลี้ยงหมูและเลี้ยงจิ้งหรีด และได้แกลบสำหรับผลิตถ่านอัดแท่งและปุ๋ยหมักใส่พืชอีกด้วย ซึ่งทำให้มูลค่าของข้าวต่อหนึ่งไร่ยิ่งสูงขึ้นไปอีก...
คิดเป็น มีแต่ได้กับได้... จากกิจกรรมที่มีการพัฒนาทั้งไปข้างหน้าและมาข้างหลังของกลุ่มธารทิพย์ คงได้เห็นแล้วว่า มีแต่ได้กับได้ คือ พัฒนาไปข้างหลัง ก็จะลดต้นทุนลงไปเรื่อย ๆ จนต่ำสุด และการพัฒนาไปข้างหน้า ก็จะได้มูลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุด แต่ก็ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก ซึ่งทางกลุ่มคิดว่าน่าจะไปได้ถึงไร่ละ 2 ล้าน ด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งซึ่งทางกลุ่มไม่บอกว่าคืออะไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป...
การตลาด... เวลานี้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีจำหน่ายอยู่ประจำที่ที่ทำการกลุ่ม ร้านรินขายของฝาก และตลาดน้ำบางคล้าทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ นอกจากนี้ก็มีในมินิมาร์ทบางแห่งในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียง...
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม... หรือต้องการเข้าศึกษาดูงาน ติดต่อได้ที่ คุณสำรวย ศรีเกษม เลขที่ 1 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคา จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 086-5371667 หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บ้านหนองปรือ : หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข ปี 2555



บ้านหนองปรือ... หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวนครัวเรือน  119  ครัวเรือน จำนวนประชากร 497 คน เป็นชาย 251 คน หญิง 246 คน รายได้เฉลี่ย 42,727 บาท/คน/ปี (ข้อมูล จปฐ. ปี 2555) บ้านหนองปรือเป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากบ้านหนองแสง  หมู่ที่ 6 ตำบลเขาหินซ้อน คนดั้งเดิมอพยพมาจากบ้านหัวกระสังข์ ตำบลบ้านซ่อง แต่เดิมภายในหมู่บ้านมีหนองน้ำใหญ่ตั้งอยู่ และบริเวณหนองน้ำจะมีต้นปรือขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก  ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหนองปรือ และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน



ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา...ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจึงมีวัฒนธรรมเหมือนชาวไทยพุทธทั่วไป มีการทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา เช่น การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การทำบุญตักบาตรในวันพระ การเคารพผู้ใหญ่ การไหว้เพื่อแสดงความเคารพ เป็นต้น

สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน...

1. กลุ่มอาชีพชุดสำเร็จรูปปักเลื่อม  เป็นกลุ่มอาชีพที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี  2540  มีสมาชิกทั้งหมด  20  คน  เป็นนำเอาผ้าฝ้าย ผ้าไหม  มาตัดเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป  แล้วนำมาปักด้วยลูกปัดหลากสี  ทำให้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์  และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของบ้านหนองปรือด้วย ได้ 4 ดาวจาการคัดสรรปี 2553 

2. วัดหนองปรือ เป็นวัดหนึ่งในหมู่บ้านที่มีความสวยงาม  และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนภายในหมู่บ้าน  จะมารวมตัวกันเมื่อมีงานพิธีทางศาสนาต่างๆ  และเมื่อมีการประชาคม  การประชุม ในเรื่องการดำเนินงานของกลุ่ม องค์กรต่างๆภายในหมู่บ้าน และการประชุมประจำเดือนของ

3. พิพิธพันธ์พื้นบ้าน  ชาวบ้านหนองปรือได้นำของใช้ในชีวิตประจำวันในสมัยก่อน เช่นเกวียน  เครื่องสีข้าว  ครกกระเดื่อง  เครื่องมือจับสัตว์น้ำ  ฯลฯ  มาบริจาคให้วัด  เจ้าอาวาสเลยเก็บสะสม  และสร้างอาคารสำหรับเก็บสิ่งของเหล่านี้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็น  ได้ศึกษา


วิธีการหรือกระบวนการทำงาน... การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนชาวไทย  เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยแต่ดั้งเดินเป็นสังคมที่มีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว  มีการลดรายจ่าย เช่น การปลูกผักสวนครัว การเอื้ออารีต่อกัน เป็นต้น แต่ต่อมาเมื่อสังคมขยายเพิ่มขึ้นกลายเป็นสังคมเมือง มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ประชากรเพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรน้อยลง สังคมกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงค่อยๆหายไป จากสาเหตุนี้นี่เองทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาชี้แนะการดำรงชีวิตของพสกนิกรเพื่อจะได้ดำรงชีวิตในทางสายกลาง  มีความพอประมาณ


บ้านหนองปรือ หมู่ที่14 ตำบลเขาหินซ้อน... ก็เหมือนกับชุมชนอื่นๆ ซึ่งตอนนี้มีประชากรเพิ่มมากขึ้น สังคมเริ่มกลายเป็นสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การทำบัญชีครัวเรือน และส่วนราชการต่างๆมาให้ความรู้เรื่องการลดรายจ่าย การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านหันมาดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมร่วมกัน มีการลดรายจ่ายโดยการปลูกผักสวนครัว มีการแลกเปลี่ยนกันกิน ที่เหลือจากกินก็สามารถนำไปขายได้มีคนมารับซื้อถึงบ้าน จึงทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกผักขายกันมากขึ้น มีอาชีพเสริมหลังจากการปลูกมัน ทำนา แทนการไปทำงานรับจ้างนอกบ้าน ทำให้สังคมที่เริ่มจะกลายเป็นสังคมเมืองกลับกลายเป็นสังคมชนบทเหมือนดั้งเดิมมากขึ้น จะเปลี่ยนแปลงแต่เรื่องเทคโนโลยีต่างๆเท่านั้นที่ทันสมัยขึ้น 


เมื่อชาวบ้านมีรายได้เหลือ... ก็ทำให้เกิดการออมขึ้นภายในหมู่บ้าน เกิดกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  มีเงินทุนสำหรับให้ชาวบ้านกู้ไปประกอบอาชีพ ดอกเบี้ยต่ำ ดีกว่ากู้จากนายทุนและยังมีเงินทุนที่ทางราชการให้มาอีกเช่นกองทุนหมู่บ้าน กองทุนแม่ของแผ่นดิน ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการรวมกลุ่มกันแสดงถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ชาวบ้านมีสัจจะในการออมเงินและให้ความร่วมมือกับการพัฒนาหมู่บ้าน จนกลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ดี กินดีต้นแบบในปัจจุบัน


ผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาหมู่บ้าน...

1. การปลูกผักสวนครัว... ชาวบ้านได้มาทำเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลัก  จนทำให้มีรายได้ทุกวันแทนการทำไร่ซึ่งมีรายได้ปีละ 1 ครั้ง  มีความเป็นอยู่ดีขึ้น  และยังมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยการใช้ชีวภาพแทนเคมี  การดูแลรักษาดิน  เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้มากยิ่งขึ้น  และยังรักษาสภาพแวดล้อม  ไม่ทำลายระบบนิเวศไม่ทำลายธรรมชาติ  ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย

2. การส่งเสริมการออมเงิน... โดยจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ส่งเสริมให้ชาวบ้านออมเงินในกลุ่มต่างๆ  ทำให้ชาวบ้านมีแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ  โดยไม่ต้องยืมจากนายทุน  มีดอกเบี้ยถูก  ทำให้ต้นทุนในการผลิตน้อย  มีกำไรเพิ่มขึ้น  จนทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

3. เกิดการรวมกลุ่ม... มีการพบปะพูดคุยกัน  ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมหมู่บ้าน  ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านได้  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเอื้ออารีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

4. การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการทำการเกษตร... จนทำให้สามารถทำการเกษตรได้มากยิ่งขึ้น  ลดการจ้างแรงงาน  มีรายได้เพิ่มขึ้น  และใช้เวลาน้อยกว่าการทำการเกษตรโดยใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาหมู่บ้าน

1. ความร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน กับทุกๆฝ่าย

2. การให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของส่วนราชการต่างๆ

3. การประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง


ความโดดเด่นของหมู่บ้านที่เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดได้... เป็นหมู่บ้านที่มีศูนย์การเรียนรู้และมีจุดการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงหลายจุด เช่น บ้านผู้นำวิถีเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า สินค้า OTOP และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไปทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี เยาวชน และคนทั่วไป และยังแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของคนภายในหมู่บ้านด้วย

ความภาคภูมิใจที่ได้รับ...

ชนะเลิศหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2555

ชนะเลิศแผนชุมชนดีเด่น ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  1  ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  2  ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนชาย ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  1  ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนหญิง ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  3  ผู้นำสตรี  ปี 2555



ข้อมูลการติดต่อหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่... ผู้ใหญ่บ้าน นางสุนันท์ ผาวันดี บ้านเลขที่  56/1 หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 080-0903452

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เสรี สุนทรโชติ : ผู้นำวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงปี 2555



ประวัติโดยย่อ...คุณเสรี  สุนทรโชติ  อยู่บ้านดอนกา หมู่ที่ 1 ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อวันที่ 14  มกราคม  พ.ศ. 2501 เป็นบุตรชายคนแรกในจำนวนบุตรชาย 2 คน ปัจจุบันอายุ 54 ปี จบการศึกษาระดับ ปวช.ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมชลบุรี เริ่มประกอบอาชีพทางการเกษตร ตั้งแต่ปี 2520 อาชีพหลัก คือ การทำนา อาชีพเสริม คือ ทำไม้ประดับ,ข่า,ตะไคร้ขาย สมรสกับนางสุนีย์ สุนทรโชติ มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน คือ ด.ช.อิสระ สุนทรโชติ อาชีพการเกษตร นำเงินรายได้สู่ครอบครัวมากกว่า 200,000 บาท/ปี

ตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายในปัจจุบัน...

1. ประธานศูนย์ข้าว หมู่ 1 ตำบลบางเตย

2. หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านตำบลบางเตย

3. กรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลบางเตย กรรมการหมู่ 1 ตำบลบางเตย

4. แกนนำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

5. เคยได้รับการฝึกอบรมการผลิตข้าวตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรในพระราชดำริ

กิจกรรมที่เป็นแบบอย่างต่อสาธารณชน...หลังจากจบการศึกษา ปี 2520 เริ่มต้นการทำอาชีพเกษตรในที่นาจำนวน 48 ไร่ และไม่มีการเผาตอซังฟางข้าวโดยเด็ดขาดรวมทั้งการเผาในที่โล่งแจ้งทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเศษขยะหรือหญ้าแห้ง เหตุผลที่ไม่มีการเผาคือ การเผาทำให้เกิดความร้อนนำไปสู่มลภาวะที่เป็นพิษทางอากาศ และการจุดไฟเผาส่งผลต่อการลุกลามไปทำลายพืชผลทางด้านการเกษตรเสียหาย รวมถึงที่พักอาศัย ถ้าเดินเข้าไปในบริเวณพื้นที่รอบ ๆ บริเวณบ้านและที่ทำการเกษตรจะสังเกตได้ว่าไม่มีกองขี้เถ้าอยู่เลย เว้นเสียแต่บริเวณเตา, เต่าเผาถ่าน

กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน...การเป็นกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและการเป็นวิทยากรประจำศูนย์ ทำให้เราสามารถถ่ายทอดความรู้ แนะนำสิ่งที่ดีและถูกต้องสู่สาธารณชน เช่น

- สามารถแนะนำการหมักตอซังฟางข้าว

- อธิบายถึงการใช้ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยพืชสด, ปุ๋ยคอก, ปุ๋ยเคมี

- สามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์พืชแบบต่าง ๆ

- สามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้เตาเผาถ่าน, น้ำส้มควันไม้

- สามารถถ่ายทอดความรู้การใช้สมุนไพรแบบง่าย ๆ

- สามารถสาธิตเรื่องราวของการเพาะถั่วงอก

- สามารถแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับไม้ป่า ไม้ประดับบางชนิด

ความสามารถในการเป็นผู้นำ...เป็นประธานศูนย์ข้าว ดูแลสมาชิกประมาณ 15 คน ให้ชำระหนี้ ได้ตรงตามเวลาที่กำหนดไม่มีหนี้สิน การให้ความเป็นธรรมบวกกับกฎระเบียบ การเสียสละ ทำให้กลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนและดำเนินงานมาได้ด้วยดี



การใช้พลังงาน...ปัจจุบันพลังงานเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นแก๊สหุงต้ม, น้ำมัน, พลังงาน, ไฟฟ้า การหุงต้มเป็นส่วนหนึ่งที่เราสามารถลดการใช้พลังงานลงได้มากกว่าครึ่ง โดยการใช้ถ่านที่เผาเองเป็นพลังงานทดแทนแก๊ส  การใช้พลังงานไฟฟ้าก็เช่นเดียวกันสามารถลดลงได้มากกว่า 50% โดยการใช้หลอดประหยัดคือหลอดไฟตะเกียบแทนหลอดไส้ ได้แสงสว่างเพิ่มมากขึ้นแต่จ่ายเงินค่าไฟน้อยลง


บัญชีครัวเรือน...ในปัจจุบันการทำบัญชีครัวเรือนถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นหัวใจของการดำเนินชีวิต “เมื่อยี่สิบปีที่แล้วไม่เห็นมีใครพูดถึงบัญชีครัวเรือนเลย” ครอบครัวของข้าพเจ้าก็สามารถจัดการกับรายรับ รายจ่ายได้อย่างเหมาะสม ไม่มีหนี้สิน แถมมีเงินเก็บออมเอาไว้ซ้อที่นาเพิ่ม มีเงินเก็บเอาไว้ปลูกบ้านใหม่โดยไม่ต้องมีหนี้สิน      “ทำไมไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านบ้าง”



ผักสวนครัว...พอพูดถึงผักสวนครัวเราก็มักจะคิดถึงผักกาด, ผักคะน้า, ต้นหอมผักชี, แตงกวา ฯลฯ แต่วันนี้เราต้องกลับมาคิดถึงผักพื้นบ้าน อย่างเช่น ผักหนาม, ดอกแค, ตำลึง, สะเดา, ผักบุ้ง, ใบยอ, ยอดขี้เหล็ก พืชผักพวกนี้เรียกว่าผักหัวแข็งไม่ยอมจะถูกทำลายจากพวกแมลงหรือเชื้อราชนิดต่าง ๆ ผักพวกนี้ปลอดภัย 100% แต่ผักที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแม้ว่าจะปลูกเองก็ใช่ว่าจะหลีกเลี่ยงสารพิษได้ ฉะนั้นเราเป็นเกษตรกรเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะกินสารพิษหรือผักธรรมชาติ


การเลี้ยงสัตว์...การเลี้ยงสัตว์มักจะควบคู่กับการทำการเกษตรแทบทุกชนิด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับการเลี้ยงสัตว์จะจำเป็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับความพอใจ ที่บ้านข้าพเจ้าไม่มีการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ที่บ้านข้าพเจ้ามีนกมากกว่า 10 ชนิด ตัวเงินตัวทองขนาดใหญ่และเชื่องมาก เต่าอีกเกือบ 10 ตัว



การเมือง...ประเทศไทย ยิ่งพัฒนายิ่งยากจน ยิ่งพัฒนายิ่งมีมลพิษเต็มไปหมด ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น อากาศ น้ำ แผ่นดิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นของคนไทยแทนที่จะเก็บไว้ให้คนไทยใช้ “แต่นักการเมือง” กลับไปเชิญชวนให้คนต่างชาติมาช่วยกันใช้ แบบนี้ถ้าไม่เรียกว่า “คนขายชาติ” แล้วจะเรียกว่าอะไร

ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...