วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บ้านหนองปรือ : หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข ปี 2555



บ้านหนองปรือ... หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวนครัวเรือน  119  ครัวเรือน จำนวนประชากร 497 คน เป็นชาย 251 คน หญิง 246 คน รายได้เฉลี่ย 42,727 บาท/คน/ปี (ข้อมูล จปฐ. ปี 2555) บ้านหนองปรือเป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากบ้านหนองแสง  หมู่ที่ 6 ตำบลเขาหินซ้อน คนดั้งเดิมอพยพมาจากบ้านหัวกระสังข์ ตำบลบ้านซ่อง แต่เดิมภายในหมู่บ้านมีหนองน้ำใหญ่ตั้งอยู่ และบริเวณหนองน้ำจะมีต้นปรือขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก  ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหนองปรือ และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน



ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา...ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจึงมีวัฒนธรรมเหมือนชาวไทยพุทธทั่วไป มีการทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา เช่น การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การทำบุญตักบาตรในวันพระ การเคารพผู้ใหญ่ การไหว้เพื่อแสดงความเคารพ เป็นต้น

สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน...

1. กลุ่มอาชีพชุดสำเร็จรูปปักเลื่อม  เป็นกลุ่มอาชีพที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี  2540  มีสมาชิกทั้งหมด  20  คน  เป็นนำเอาผ้าฝ้าย ผ้าไหม  มาตัดเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป  แล้วนำมาปักด้วยลูกปัดหลากสี  ทำให้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์  และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของบ้านหนองปรือด้วย ได้ 4 ดาวจาการคัดสรรปี 2553 

2. วัดหนองปรือ เป็นวัดหนึ่งในหมู่บ้านที่มีความสวยงาม  และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนภายในหมู่บ้าน  จะมารวมตัวกันเมื่อมีงานพิธีทางศาสนาต่างๆ  และเมื่อมีการประชาคม  การประชุม ในเรื่องการดำเนินงานของกลุ่ม องค์กรต่างๆภายในหมู่บ้าน และการประชุมประจำเดือนของ

3. พิพิธพันธ์พื้นบ้าน  ชาวบ้านหนองปรือได้นำของใช้ในชีวิตประจำวันในสมัยก่อน เช่นเกวียน  เครื่องสีข้าว  ครกกระเดื่อง  เครื่องมือจับสัตว์น้ำ  ฯลฯ  มาบริจาคให้วัด  เจ้าอาวาสเลยเก็บสะสม  และสร้างอาคารสำหรับเก็บสิ่งของเหล่านี้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็น  ได้ศึกษา


วิธีการหรือกระบวนการทำงาน... การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนชาวไทย  เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยแต่ดั้งเดินเป็นสังคมที่มีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว  มีการลดรายจ่าย เช่น การปลูกผักสวนครัว การเอื้ออารีต่อกัน เป็นต้น แต่ต่อมาเมื่อสังคมขยายเพิ่มขึ้นกลายเป็นสังคมเมือง มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ประชากรเพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรน้อยลง สังคมกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงค่อยๆหายไป จากสาเหตุนี้นี่เองทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาชี้แนะการดำรงชีวิตของพสกนิกรเพื่อจะได้ดำรงชีวิตในทางสายกลาง  มีความพอประมาณ


บ้านหนองปรือ หมู่ที่14 ตำบลเขาหินซ้อน... ก็เหมือนกับชุมชนอื่นๆ ซึ่งตอนนี้มีประชากรเพิ่มมากขึ้น สังคมเริ่มกลายเป็นสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การทำบัญชีครัวเรือน และส่วนราชการต่างๆมาให้ความรู้เรื่องการลดรายจ่าย การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านหันมาดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมร่วมกัน มีการลดรายจ่ายโดยการปลูกผักสวนครัว มีการแลกเปลี่ยนกันกิน ที่เหลือจากกินก็สามารถนำไปขายได้มีคนมารับซื้อถึงบ้าน จึงทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกผักขายกันมากขึ้น มีอาชีพเสริมหลังจากการปลูกมัน ทำนา แทนการไปทำงานรับจ้างนอกบ้าน ทำให้สังคมที่เริ่มจะกลายเป็นสังคมเมืองกลับกลายเป็นสังคมชนบทเหมือนดั้งเดิมมากขึ้น จะเปลี่ยนแปลงแต่เรื่องเทคโนโลยีต่างๆเท่านั้นที่ทันสมัยขึ้น 


เมื่อชาวบ้านมีรายได้เหลือ... ก็ทำให้เกิดการออมขึ้นภายในหมู่บ้าน เกิดกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  มีเงินทุนสำหรับให้ชาวบ้านกู้ไปประกอบอาชีพ ดอกเบี้ยต่ำ ดีกว่ากู้จากนายทุนและยังมีเงินทุนที่ทางราชการให้มาอีกเช่นกองทุนหมู่บ้าน กองทุนแม่ของแผ่นดิน ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการรวมกลุ่มกันแสดงถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ชาวบ้านมีสัจจะในการออมเงินและให้ความร่วมมือกับการพัฒนาหมู่บ้าน จนกลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ดี กินดีต้นแบบในปัจจุบัน


ผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาหมู่บ้าน...

1. การปลูกผักสวนครัว... ชาวบ้านได้มาทำเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลัก  จนทำให้มีรายได้ทุกวันแทนการทำไร่ซึ่งมีรายได้ปีละ 1 ครั้ง  มีความเป็นอยู่ดีขึ้น  และยังมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยการใช้ชีวภาพแทนเคมี  การดูแลรักษาดิน  เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้มากยิ่งขึ้น  และยังรักษาสภาพแวดล้อม  ไม่ทำลายระบบนิเวศไม่ทำลายธรรมชาติ  ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย

2. การส่งเสริมการออมเงิน... โดยจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ส่งเสริมให้ชาวบ้านออมเงินในกลุ่มต่างๆ  ทำให้ชาวบ้านมีแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ  โดยไม่ต้องยืมจากนายทุน  มีดอกเบี้ยถูก  ทำให้ต้นทุนในการผลิตน้อย  มีกำไรเพิ่มขึ้น  จนทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

3. เกิดการรวมกลุ่ม... มีการพบปะพูดคุยกัน  ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมหมู่บ้าน  ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านได้  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเอื้ออารีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

4. การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการทำการเกษตร... จนทำให้สามารถทำการเกษตรได้มากยิ่งขึ้น  ลดการจ้างแรงงาน  มีรายได้เพิ่มขึ้น  และใช้เวลาน้อยกว่าการทำการเกษตรโดยใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาหมู่บ้าน

1. ความร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน กับทุกๆฝ่าย

2. การให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของส่วนราชการต่างๆ

3. การประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง


ความโดดเด่นของหมู่บ้านที่เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดได้... เป็นหมู่บ้านที่มีศูนย์การเรียนรู้และมีจุดการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงหลายจุด เช่น บ้านผู้นำวิถีเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า สินค้า OTOP และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไปทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี เยาวชน และคนทั่วไป และยังแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของคนภายในหมู่บ้านด้วย

ความภาคภูมิใจที่ได้รับ...

ชนะเลิศหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2555

ชนะเลิศแผนชุมชนดีเด่น ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  1  ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  2  ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนชาย ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  1  ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนหญิง ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  3  ผู้นำสตรี  ปี 2555



ข้อมูลการติดต่อหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่... ผู้ใหญ่บ้าน นางสุนันท์ ผาวันดี บ้านเลขที่  56/1 หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 080-0903452

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เสรี สุนทรโชติ : ผู้นำวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงปี 2555



ประวัติโดยย่อ...คุณเสรี  สุนทรโชติ  อยู่บ้านดอนกา หมู่ที่ 1 ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อวันที่ 14  มกราคม  พ.ศ. 2501 เป็นบุตรชายคนแรกในจำนวนบุตรชาย 2 คน ปัจจุบันอายุ 54 ปี จบการศึกษาระดับ ปวช.ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมชลบุรี เริ่มประกอบอาชีพทางการเกษตร ตั้งแต่ปี 2520 อาชีพหลัก คือ การทำนา อาชีพเสริม คือ ทำไม้ประดับ,ข่า,ตะไคร้ขาย สมรสกับนางสุนีย์ สุนทรโชติ มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน คือ ด.ช.อิสระ สุนทรโชติ อาชีพการเกษตร นำเงินรายได้สู่ครอบครัวมากกว่า 200,000 บาท/ปี

ตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายในปัจจุบัน...

1. ประธานศูนย์ข้าว หมู่ 1 ตำบลบางเตย

2. หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านตำบลบางเตย

3. กรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลบางเตย กรรมการหมู่ 1 ตำบลบางเตย

4. แกนนำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

5. เคยได้รับการฝึกอบรมการผลิตข้าวตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรในพระราชดำริ

กิจกรรมที่เป็นแบบอย่างต่อสาธารณชน...หลังจากจบการศึกษา ปี 2520 เริ่มต้นการทำอาชีพเกษตรในที่นาจำนวน 48 ไร่ และไม่มีการเผาตอซังฟางข้าวโดยเด็ดขาดรวมทั้งการเผาในที่โล่งแจ้งทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเศษขยะหรือหญ้าแห้ง เหตุผลที่ไม่มีการเผาคือ การเผาทำให้เกิดความร้อนนำไปสู่มลภาวะที่เป็นพิษทางอากาศ และการจุดไฟเผาส่งผลต่อการลุกลามไปทำลายพืชผลทางด้านการเกษตรเสียหาย รวมถึงที่พักอาศัย ถ้าเดินเข้าไปในบริเวณพื้นที่รอบ ๆ บริเวณบ้านและที่ทำการเกษตรจะสังเกตได้ว่าไม่มีกองขี้เถ้าอยู่เลย เว้นเสียแต่บริเวณเตา, เต่าเผาถ่าน

กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน...การเป็นกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและการเป็นวิทยากรประจำศูนย์ ทำให้เราสามารถถ่ายทอดความรู้ แนะนำสิ่งที่ดีและถูกต้องสู่สาธารณชน เช่น

- สามารถแนะนำการหมักตอซังฟางข้าว

- อธิบายถึงการใช้ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยพืชสด, ปุ๋ยคอก, ปุ๋ยเคมี

- สามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์พืชแบบต่าง ๆ

- สามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้เตาเผาถ่าน, น้ำส้มควันไม้

- สามารถถ่ายทอดความรู้การใช้สมุนไพรแบบง่าย ๆ

- สามารถสาธิตเรื่องราวของการเพาะถั่วงอก

- สามารถแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับไม้ป่า ไม้ประดับบางชนิด

ความสามารถในการเป็นผู้นำ...เป็นประธานศูนย์ข้าว ดูแลสมาชิกประมาณ 15 คน ให้ชำระหนี้ ได้ตรงตามเวลาที่กำหนดไม่มีหนี้สิน การให้ความเป็นธรรมบวกกับกฎระเบียบ การเสียสละ ทำให้กลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนและดำเนินงานมาได้ด้วยดี



การใช้พลังงาน...ปัจจุบันพลังงานเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นแก๊สหุงต้ม, น้ำมัน, พลังงาน, ไฟฟ้า การหุงต้มเป็นส่วนหนึ่งที่เราสามารถลดการใช้พลังงานลงได้มากกว่าครึ่ง โดยการใช้ถ่านที่เผาเองเป็นพลังงานทดแทนแก๊ส  การใช้พลังงานไฟฟ้าก็เช่นเดียวกันสามารถลดลงได้มากกว่า 50% โดยการใช้หลอดประหยัดคือหลอดไฟตะเกียบแทนหลอดไส้ ได้แสงสว่างเพิ่มมากขึ้นแต่จ่ายเงินค่าไฟน้อยลง


บัญชีครัวเรือน...ในปัจจุบันการทำบัญชีครัวเรือนถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นหัวใจของการดำเนินชีวิต “เมื่อยี่สิบปีที่แล้วไม่เห็นมีใครพูดถึงบัญชีครัวเรือนเลย” ครอบครัวของข้าพเจ้าก็สามารถจัดการกับรายรับ รายจ่ายได้อย่างเหมาะสม ไม่มีหนี้สิน แถมมีเงินเก็บออมเอาไว้ซ้อที่นาเพิ่ม มีเงินเก็บเอาไว้ปลูกบ้านใหม่โดยไม่ต้องมีหนี้สิน      “ทำไมไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านบ้าง”



ผักสวนครัว...พอพูดถึงผักสวนครัวเราก็มักจะคิดถึงผักกาด, ผักคะน้า, ต้นหอมผักชี, แตงกวา ฯลฯ แต่วันนี้เราต้องกลับมาคิดถึงผักพื้นบ้าน อย่างเช่น ผักหนาม, ดอกแค, ตำลึง, สะเดา, ผักบุ้ง, ใบยอ, ยอดขี้เหล็ก พืชผักพวกนี้เรียกว่าผักหัวแข็งไม่ยอมจะถูกทำลายจากพวกแมลงหรือเชื้อราชนิดต่าง ๆ ผักพวกนี้ปลอดภัย 100% แต่ผักที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแม้ว่าจะปลูกเองก็ใช่ว่าจะหลีกเลี่ยงสารพิษได้ ฉะนั้นเราเป็นเกษตรกรเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะกินสารพิษหรือผักธรรมชาติ


การเลี้ยงสัตว์...การเลี้ยงสัตว์มักจะควบคู่กับการทำการเกษตรแทบทุกชนิด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับการเลี้ยงสัตว์จะจำเป็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับความพอใจ ที่บ้านข้าพเจ้าไม่มีการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ที่บ้านข้าพเจ้ามีนกมากกว่า 10 ชนิด ตัวเงินตัวทองขนาดใหญ่และเชื่องมาก เต่าอีกเกือบ 10 ตัว



การเมือง...ประเทศไทย ยิ่งพัฒนายิ่งยากจน ยิ่งพัฒนายิ่งมีมลพิษเต็มไปหมด ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น อากาศ น้ำ แผ่นดิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นของคนไทยแทนที่จะเก็บไว้ให้คนไทยใช้ “แต่นักการเมือง” กลับไปเชิญชวนให้คนต่างชาติมาช่วยกันใช้ แบบนี้ถ้าไม่เรียกว่า “คนขายชาติ” แล้วจะเรียกว่าอะไร

ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โกมุทประสานกาย : น้ำมันไพล ระดับ 5 ดาว



เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้ไปคุยกับคุณกชพรรณ ชอบสวน มาครับ... เป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์น้ำมันไพล ตราโกมุทประสานกาย ที่ได้รับการคัดสรรให้ได้ระดับ 5 ดาว ในปี 2555 เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันไพลชนิดเดียวในแปดริ้วที่ได้ดาวระดับนี้ คุณกชพรรณ ชอบสวน เล่าให้ฟังว่าอย่างนี้ครับ...


ก่อนจะมาทำน้ำมันไพล ตราโกมุทประสานกาย... เมื่อก่อนเป็นเซลล์ขายยาให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ทำมานานเจอคนเจ็บป่วยปวดเนื้อตัวเยอะ พอดีได้ยินข่าวเค้าเปิดสอนแพทย์แผนไทย ที่สถาบันแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยแพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ เรามีความตั้งใจตรงนั้นอยู่แล้ว ก็เลยไปสมัครสอบและได้เรียน ในหลักสูตรเรียนเภสัช 1 ปี เวชกรรม 3 ปี จบแล้วสอบใบประกอบโรคศิลป์ สามารถเป็นหมอแผนโบราณได้ จัดยา เจียดยา วิเคราะห์โรค แล้วก็นวด เรียนไว้เพื่อรู้ เพื่อช่วยคนนั้นคนนี้ ต่อมาจึงออกจากบริษัทยา มาเป็นหมอแผนไทยที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในแปดริ้ว ทำยาให้เขาด้วยและนวดด้วย ออกบูธด้วย ตอนหลังมันเหนื่อยเลยออกมาทำของตัวเอง 

เริ่มทำครั้งแรก ทำน้ำมันไพลซึ่งเป็นสูตรของปู่... คือเกิดมาที่ปทุมธานีก็เห็นเขาเคี่ยวน้ำมันไพลอยู่แล้ว แต่แรกไม่เคยคิดว่าจะใช้ พอมาถึงตรงนี้ก็จำได้ว่าเคยทำ ก็เลยเอาสูตรตรงนั้นมาทำใช้ในร้าน ไม่ได้ออกไปข้างนอก ใช้ดี ลูกค้ามานวดเยอะ ลูกค้าถามว่าทำไมไม่ทำขายข้างนอก บอกว่าไม่หรอก เพราะอยู่บ้านเป็นหลัก ลูกค้าเยอะอยู่แล้ว เฉลี่ยลูกค้า 2,000 กว่าคนต่อปี เสร็จแล้วก็มีลูกค้ามารับไปแบ่งขายบ้าง พอดีมีโครงการ OTOP เข้ามา จึงคิดต่อยอดเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ประมาณปี 2546 และร่วมคัดสรรได้ตั้งแต่ระดับ 3 ดาว จนถึงการคัดสรรครั้งล่าสุดเมื่อปี 2555 ได้ระดับ 5 ดาว

ผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่มี 3 ชนิด... ได้แก่ 1) น้ำมันไพลธรรมดาหรือน้ำมันเหลือง ราคา 180 บาท สรรพคุณช่วยลดอาการอักเสบปวดบวม แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกตามร่างกาย ใช้มาตั้งแต่โบราณนานนม และผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ของสถาบันการศึกษา บอกว่าไพลมีสารลดการเจ็บปวดของมัดกล้ามเนื้อได้ดีมาก เราจะทิ้งไพลไม่ได้ 2) น้ำมันไพลผสมใบบัวบก ราคา 200 บาท สรรพคุณช่วยแก้กระแทกกระทั้นเขียวช้ำอักเสบเคล็ดขัดยอกเป็นหลัก และปวดเมื่อยตามร่างกาย บัวบกจะลดการอักเสบได้เร็วกว่าไพล และคนที่เป็นเบาหวานสามารถโดนใบบัวบกได้โดยแผลไม่เน่า และ3) น้ำมันไพลผสมมะรุม มี 2 ราคา คือ 280 (30 ซีซี) และ 490 บาท (50 ซีซี) สรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เคล็ดขัดยอกข้อต่อกระดูกติดขัดหรืออักเสบ มะรุมจะเสริมฤทธิ์ของไพลให้ไปไวขึ้น เส้นเอ็นที่มีปัญหาจะดีขึ้น มะรุมจะมีสารตัวหนึ่งที่เข้าไปช่วยได้ วันข้างหน้าจะมีอีกตัวหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังปิดไว้ก่อน

เรามีกิจกรรมเสริมจากการทำน้ำมันไพล... ได้แก่ โรงเรียนแพทย์แผนไทยโกมุท เปิดมาเพื่อสอนตาม อบต. สอนมาหลายโครงการแล้ว เราสามารถออกใบวิชาชีพการนวดเพื่อสุขภาพให้กับผู้เรียนได้ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยหวังให้เป็นอาชีพเสริม สามีภรรยาได้ดูแลกัน สร้างความสมานฉันท์ในครอบครัว บางทีแม่ไม่มาลูกก็มาเรียนแทน พ่อแม่ก็ภูมิใจที่ลูกได้จับเท้า พอลูกนวดเท้าให้แม่ แม่น้ำตาร่วงเลย ถามว่าครูทำยังไงให้ลูกจับเท้าแม่ได้ ส่วนคลินิกแพทย์แผนไทยโกมุทนั้นเปิดมานานตั้งแต่แรกแล้ว นับ 10 กว่าปีแล้ว เป็นคลินิกรักษาโรคแห่งเดียวในฉะเชิงเทราที่เป็นคลินิกแพทย์แผนไทย ที่อื่นจะเป็นนวดเพื่อสุขภาพซึ่งมีใบอนุญาตใบประกอบโรคศิลป์พร้อมให้ตรวจสอบ และต้องต่อใบอนุญาตทุกปี ซึ่งได้ยากมากเพราะต้องเป็นหมอจริงๆ มีใบเวชกรรมมาก่อนตั้งคลินิก ปัจจุบันคลินิกนี้ทำน้อยลงแต่จะออกบูธมากกว่า กิจกรรมของคลินิกคือการนวดเป็นหลัก เราไม่ได้จ่ายยา ถ้าลูกค้ามามีปัญหาเยอะ เราจะเจียดยาหม้อให้ไปซื้อเองที่ร้านในตลาด สำหรับศูนย์โกมุทสมุนไพร เป็นแบรนด์ของน้ำมันไพลมะรุม เพราะก่อนจะขอ อย.ได้ เราต้องมีโรงงานของตัวเอง ศูนย์นี้คือจุดเริ่มต้นของ OTOP
ส่วนตราโกมุทประสานกายนั้น... มาจากชื่อของสามีซึ่งเป็นจ่าทหาร ชื่อเล่นชื่อโกและมุทเป็นชื่อเล่นของตัวเอง จึงคิดว่าจะชื่ออะไรดี ที่คนติดปาก เรียกง่าย จึงเอาชื่อสามีกับชื่อตัวเองมาต่อกัน เป็นโกมุทและจดลิขสิทธิ์แล้ว ส่วนคำว่าประสานกายคือ เราสองคนอยากให้ลูกค้าที่ใช้น้ำมันของเราทาแล้วหาย โดยเราสองคนประสานกัน ก็คือแบรนด์ของเรา 

ตลาดของเรามีอยู่ทั่วประเทศ... วันจันทร์แรกของเดือนเราอยู่ที่ รพ. นครนายก จันทร์ที่ 2 รพ.สมเด็จพระเทพฯ คลอง 16 จันทร์ที่ 3 รพ.มกลักษณ์ กาญจนบุรี หรือ รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น วันอังคารแรกของเดือนอยู่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ รังสิต อังคารที่ 2 ศูนย์พระเทพฯ รพ.ท่าม่วง กาญจนบุรี วันพุธ อยู่ที่ รพ.อยุธยา โรงงานมินิแบ บางปะอิน วันพฤหัสบดี รพ.สระบุรี หรือ รพ.พหล กาญจนบุรี วันศุกร์ อยู่ที่ รพ.เด็กในกรุงเทพฯ วันเสาร์ อาทิตย์ อยู่ที่ รพ.กรุงเทพ-ระยอง และทุกวันเสาร์ จะแบ่งคนไปประจำที่ศูนย์โตโยต้า บางปะกง ฉะเชิงเทรา พนมสารคาม สนามชัยเขต ซึ่งโตโยต้าใช้บริการขอบคุณลูกค้า ส่วนที่ส่งขายประจำ ได้แก่ ร้านหมอไฝในตลาด ที่ทำการไปรษณีย์แปดริ้ว และกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี สำหรับต่างประเทศก็มีบ้าง เช่น นอร์เวย์ อเมริกา ญี่ปุ่น ผ่านชิปปิ้งเป็นครั้งคราว
การจ้างงานจะมีเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์... เราจะหั่นไพลครั้งละ 2 ตัน (2,000 กิโลกรัม) โดยใช้ชาวบ้านในหมู่บ้าน ประมาณ 50 คน เป็นคนหั่น ให้ค่าจ้างกิโลกรัมละ 7 บาท วันหนึ่งจะได้คนละหลายร้อย ใช้เวลาหั่นอยู่ประมาณเกือบเดือนจึงเสร็จ แล้วเราจะนำมาเคี่ยวน้ำมันไพลเก็บไว้เป็นหัวเชื้อต่อไป ที่ทำช่วงนี้เพราะจะได้น้ำมันไพลที่มีปริมาณและคุณภาพมากที่สุด ไพลที่นำมาใช้นี้สั่งเขาปลูกที่กาญจนบุรี และปราณบุรี เพราะที่นั่นจะเป็นดินทราย ซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณน้ำมันที่มาก ที่ไม่สั่งบ้านเราเพราะบ้านเราเป็นดินเหนียว หัวไพลไม่ใหญ่ ได้น้ำมันน้อย ถึงจะได้หัวใหญ่แต่ก็ได้น้ำมันน้อย ส่วนใบบัวบกนี่ของบ้านเราแถวคลองสวนและบางคล้า สำหรับมะรุมใช้ของสนามชัยเขตเป็นหลัก 

เรื่องของมาตรฐานและกำลังการผลิต... เรามีมาตรฐาน อย.เป็นหลัก และมี มผช. พร้อมทั้งเลขทะเบียนยาทุกชนิด ถ้าไม่มีเราออกไปไกลไม่ได้ และตอนนี้เรากำลังจะขอเครื่องหมายบาร์โค๊ดเพื่อต่อยอดเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้อต่อไป  กำลังการผลิตของเรา ผลิตได้ประมาณ 1,000 ขวดต่อเดือน ตอนนี้มีลูกค้าติดต่อมาเยอะ ต่อไปจะขยายกำลังการผลิตให้มากกว่านี้
สุดท้ายขอฝากคนแปดริ้วช่วยกันอุดหนุนด้วยนะคะ ของดีมีคุณภาพของแปดริ้ว ทำเงินหมุนเวียนอยู่ในแปดริ้ว และสร้างชื่อเสียงในกับชาวแปดริ้วค่ะ

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการเข้าศึกษาดูงาน หรือใช้บริการติดต่อได้ที่ คุณกชพรรณ ชอบสวน เลขที่ 19 หมู่ที่ 2 ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 081-6670277 หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...