วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กลุ่มแม่บ้านบึงตะเข้ : ชาวนาปริญญาโท ข้าวกล้องระดับ 5 ดาว

ชาวนาปริญญาโท... ผู้ประกอบการ OTOP ที่ผมจะพาไปรู้จักในฉบับนี้ คือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านบึงตะเข้ ที่ทำการตั้งอยู่เลขที่ 130/1 หมู่ที่ 14 บ้านบึงตะเข้ ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เอาเป็นว่าอันดับแรกที่ผมอยากจะชื่นชมกลุ่มนี้ก็คือ การมีผู้นำกลุ่มที่เข้มแข็งและมีคุณภาพมาก ผู้นำกลุ่มคือ คุณบานเย็น เข็มลาย อายุ 45 ปี มีตำแหน่งเป็นประธานกลุ่ม จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง อาชีพทำนา เป็นผู้นำกลุ่มที่มีเกียรติประวัติดีงาม ได้รับรางวัลทั้งระดับจังหวัดและเขตมาแล้วมากมาย เช่น ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนดีเด่น อาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่น เกษตรกรดีเด่น หมอดินอาสาดีเด่น ผู้นำกลุ่มองค์กรในงานพัฒนาชุมชนดีเด่น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น และล่าสุดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ในปี 2556…
พึ่งพาตนเองโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง... กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านบึงตะเข้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาวนาบ้านบึงตะเข้ ซึ่งประสบปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ และถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ประกอบกับการสังเกตเห็นชาวบ้านบริโภคแต่ข้าวขาว ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการน้อย ทำให้คนในหมู่บ้านเป็นโรคเบาหวาน และมะเร็งลำไส้ อันเนื่องมาจากบริโภคข้าวที่ขัดขาวมากเกินไป จึงเกิดแนวคิดรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อนำข้าวเปลือกที่ผลิตได้เองในหมู่บ้านมาทำการสีแปรรูปเป็นข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ เพื่อเก็บไว้บริโภคเองและจำหน่าย เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง
เริ่มด้วยทุนน้อย... สมาชิกเริ่มแรก จำนวน 13 คน เริ่มดำเนินการผลิตโดยนำเอาเครื่องสีข้าวที่ทำขึ้นเองจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ครกกระเดื่องและสีมือหมุน มาผลิตข้าวกล้อง และข้าวซ้อมมือ ส่วนวัตถุดิบที่นำมาผลิต ก็ได้มาจากสมาชิกที่นำข้าวเปลือกมาเข้าหุ้นคนละ 10 ถัง สำหรับแรงงาน สมาชิกก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ สถานที่ผลิตก็อาศัยโรงเรือนเลี้ยงไก่เก่าที่บ้านของประธาน (ปัจจุบันยังใช้ที่นี่ มีพื้นที่รวมทั้งพื้นที่ทำนาด้วย ประมาณ 20 ไร่) ผลผลิตในระยะแรกๆ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่สนใจ เพราะข้าวสารจะมีลักษณะสีขาวขุ่น ไม่น่ารับประทาน แต่ก็มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งซื้อไปบริโภค ลูกค้ากลุ่มนี้สนใจรักษาสุขภาพ มองเห็นคุณค่าของข้าวสีขาวขุ่น ซึ่งมีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคเหน็บชา โรคปากนกระจอก โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งลำไส้ได้...
เติบโตตามกระแสรักสุขภาพ... ปัจจุบันนี้ กิจการของกลุ่มดำเนินต่อเนื่องมาเข้าปีที่ 12 แล้ว กลุ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สามารถขยายกำลังการผลิตโดยใช้โรงสี วันละ 5 ตัน แทนครกกระเดื่องและสีมือหมุน มีสมาชิกมาทำงานประจำ วันละ 10-15 คน สมาชิกปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 50 คน และมีเครือข่ายที่ผลิตข้าวเปลือกปลอดภัยจากสารพิษส่งให้แก่กลุ่มถึง 200 คน ได้รับการสนับสนุนทุน วิชาการ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มากมายจากทั้งภาคราชการและภาคเอกชน เช่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กศน. กระทรวงอุตสาหกรรม กรมตรวจสอบบัญชี โรงสีรัชมงคล กรมปศุสัตว์ กรมประมง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาหินซ้อน กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา กระทรวงวิทยาศาสตร์ กรมพัฒนาที่ดิน สหกรณ์จังหวัด ธนาคาร ธกส. เทศบาลตำบลสนามชัยเขต วัดพระธาตุวาโย เครือข่ายกลุ่มแม่บ้าน และผู้นำหมู่บ้าน เป็นต้น สำหรับค่าตอบแทนของสมาชิกนั้น สมาชิกคนใดที่มาทำงานจะได้รับค่าตอบแทนเป็นรายวัน วันละ 170-250 บาท ตามแต่งานที่รับผิดชอบ ส่วนการจัดสรรผลกำไร แบ่งเป็น สวัสดิการ 20 % (ทุนการศึกษา,พบปะสังสรรค์) พัฒนากลุ่ม 50 % ปันผล 20 % และสาธารณประโยชน์ 10 % ...
ผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากแนวคิด “บริหารจัดการให้เหลือศูนย์”... สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของกลุ่มนี้ก็คือ แนวคิดในเรื่องการบริหารจัดการวัตถุดิบให้เหลือศูนย์ หมายความว่า วัตถุดิบที่นำมาทำผลิตภัณฑ์นั้นจะถูกบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ทุกอย่างจนไม่มีอะไรเหลือเป็นขยะที่ต้องทิ้งเลย ทุกอย่างจะถูกทำให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์และใช้ประโยชน์ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ข้าวเปลือก เมื่อนำมาสีจะได้ข้าวสาร ปลายข้าว รำข้าว และแกลบ ข้าวสารจะนำออกจำหน่าย บางส่วนที่เหลือจะถูกแปรรูปเป็นแป้งเพื่อทำเป็นขนม ส่วนปลายข้าวและรำข้าว จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ เช่น ปลา เป็ด ไก่ หมู วัว สัตว์เหล่านี้เมื่อถ่ายมูลออกมา จะถูกนำเอาไปทำก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือน และบางส่วนจะนำไปทำปุ๋ยเพื่อใส่ต้นไม้และผักสวนครัว ต้นไม้โตขึ้นจะถูกนำไปเผาถ่าน ได้น้ำส้มควันไม้นำไปรดกุหลาบและกล้วยไม้ที่กลุ่มปลูกไว้ ผักสวนครัวจะนำไปบริโภคและแปรรูปจำหน่าย สำหรับแกลบ รวมทั้งเศษดอกหญ้าและฝุ่นละอองจากการสีข้าว จะถูกนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอัดเม็ดต่อไป...
เน้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน... จากแนวคิดบริหารให้เหลือศูนย์จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับสมาชิกได้ ปัจจุบันกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ถึง 17 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ข้าวกล้องมะลิแดง ข้าวกล้องมะลิข้าว ข้าวกล้องนิล ข้าวซ้อมมือ ข้าวเกรียบกุ้ง ขนมข้าวแต๋น ไข่เค็ม ขนมมันฉาบ ขนมเผือกฉาบ ขนมกล้วยกรอบ ขนุนกวน น้ำอ้อย สบู่สมุนไพร น้ำยาล้างจาน น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และน้ำปลา ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ในอนาคตกลุ่มวางแผนธุรกิจไว้ว่า กำลังจะดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิตน้ำดื่ม ภายในปี 2558 นี้ สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มคนอนุรักษ์นิยม โรงเรียน โรงพยาบาล ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ข้าราชการ สมาชิกในกลุ่ม และกลุ่มแม่ค้าร้านข้าวต้ม แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ได้แก่ ที่ทำการของกลุ่ม ตลาด อ.ต.ก.กรุงเทพฯ ตลาดนัดข้างศาลากลางจังหวัดทุกวันอังคารและวันศุกร์ ตลาดน้ำบางคล้าทุกวันเสาร์/อาทิตย์ ร้านค้าหลายแห่งในจังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี งานแสดงสินค้าทั่วไปของจังหวัด งานอำเภอเคลื่อนที่/จังหวัดเคลื่อนที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มยังส่งข้าวไปจำหน่ายยังประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา โดยผ่านตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ อีกเดือนละ 30 – 50 ตัน...
อยากให้บริโภคสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ... กลุ่มได้กำหนดวิสัยทัศน์ของกลุ่มไว้ ดังนี้ “เป็นกลุ่มที่มีมาตรฐานในด้านการบริหาร บัญชี ตลาด และการผลิต มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง” และมีคำขวัญในการดำเนินงาน คือ “ทำดี คิดเป็น มีหลักการ”... คุณบานเย็น ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับหลักการดำเนินงานของกลุ่มไว้ว่า “เรามุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะให้กลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค การผลิตข้าวของกลุ่ม จะสนับสนุนให้สมาชิกใช้ข้าวพันธุ์ดี โดยกลุ่มจะเป็นผู้จัดซื้อให้และรับซื้อข้าวคืนจากสมาชิก การเลือกซื้อข้าวเปลือกมาผลิตข้าวสาร กลุ่มจะมีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกจากสมาชิกและเครือข่ายที่ได้รับเครื่องหมาย GAP จากกระทรวงเกษตรฯ หรือเป็นเกษตรกรที่ใช้สารอินทรีย์ในการทำนาเท่านั้น ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าได้บริโภคข้าวสารที่ปลอดภัยจากสารพิษจริงๆ”...
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการเข้าศึกษาดูงานติดต่อได้ที่ คุณบานเย็น เข็มลาย โทรศัพท์ 087-1273417 หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...