วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

กล้วยแผ่นอบ : ผลิตภัณฑ์เด่นจากอำเภอราชสาส์น

อำเภอราชสาส์น... เป็นอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา บรรยากาศเงียบสงบ ประชากรเพียงหนึ่งหมื่นกว่าคน แต่มีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหลายผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวหอมมะลิ 105 มะม่วง แคนตาลูป และกล้วยแผ่นอบ เป็นต้น สำหรับวันนี้ คอลัมน์ OTOP แปดริ้ว ขอนำเสนอเรื่องราวของกล้วยแผ่นอบ จากกลุ่มสตรีแปรรูปอาหารจากกล้วย โดยคุณจินตนา ตันเจริญ ประธานกลุ่ม จะเล่าเรื่องให้เราฟัง ดังนี้ครับ...
เริ่มนับหนึ่ง กลุ่มสตรีแปรรูปอาหารจากกล้วย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2542 ความเป็นมาเริ่มแรก คือ ตั้งต้นตั้งแต่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยท่านฐิระวัตร กุลละวณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ในขณะนั้น มีนโยบายสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกกล้วยเพื่อบริโภคและจำหน่าย ต่อมาผลผลิตก็ล้นตลาด ราคาตกต่ำ ท่านจึงมีนโยบายมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน โดยส่งกลุ่มสตรีซึ่งเราเป็นประธานอยู่ในขณะนั้นเข้าไปเรียนแปรรูปอาหารจากกล้วยที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ไปเรียนแล้วก็กลับมาสอนสมาชิกในกลุ่ม โดยตั้งเป็นกลุ่มสตรีแปรรูปอาหารจากกล้วย เริ่มดำเนินการกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีสมาชิก 27 คน
พบปัญหา... มาทำครั้งแรกๆ ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเราไม่เคยทำ ทำแล้วต้องทิ้งเพราะมันไม่เหมือนที่เรียนมา เราดูตู้อบไม่เป็นบ้าง ปัญหาอื่นบ้าง ตอนแรกเราทำกันเฉพาะกรรมการกลุ่ม 5 – 6 คน ลองผิดลองถูก ทำบ้างหยุดบ้าง ก็ฝึกฝนกันเรื่อยไป พอเริ่มมีคุณภาพแล้วก็ออกตลาด ที่แรกที่เราไปขายคือวันประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่อำเภอ แต่ขายไม่ค่อยดี คนไม่รู้จัก ครั้งต่อมาก็ไปที่ตลาดที่ข้างศาลากลางจังหวัด ก็ยังขายไม่ดีอีก แต่ก็อดทนทำเรื่อยมา ขายบ้าง แจกบ้าง ให้ลูกค้าลองชิมดู ต่อมามีคนที่รู้จักกันเขาลองเอาไปเสนอขายที่การบินไทย ตอนนั้นเราทำน้อย คุณภาพก็ดี สวยมาก เอาไปให้เขา เขาก็ยินดีรับ แต่แล้วพอเขาสั่งออเดอร์มามาก พอทำจำนวนมาก ก็ทำได้ไม่ดี ไม่มีคุณภาพ พอส่งไป สินค้าถูกตีกลับหมดเลย ต้องเอาไปทิ้งให้ปลากิน แต่ก็ไม่ยอมแพ้ เริ่มทำกันใหม่จนผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ สามารถส่งการบินไทยได้ช่วงหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ส่งให้แล้ว เนื่องจากเขามีนโยบายสนับสนุนสินค้ากลุ่มเกษตรหลายๆกลุ่มผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
ปัญหาที่พบบ่อย... ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ ตลาด คนทำ และวัตถุดิบ ปัญหาที่เจอจะมีผสมปนเปกันไป เช่น บางครั้งตลาดดี แต่ก็เจอปัญหาคนทำไม่ว่าง วัตถุดิบน้อย แต่บางครั้งคนทำว่าง วัตถุดิบมาก แต่ตลาดไม่ดีก็มี เป็นปัญหาที่เราเจอสลับกันไป ซึ่งต้องบริหารจัดการให้ได้ โดยเฉพาะคนทำ ที่นี่เราอยู่กันแบบกลุ่ม ไม่ใช่โรงงาน สมาชิกส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำนา ถึงเวลาทำนาก็ไปนาบ้าง มีงานวัดก็ไปช่วยวัดบ้าง อะลุ้มอล่วยกันไป มีธุระก็หยุดได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งตลาดไม่รอเรา คือ เขาสั่งมากำหนดวันที่แน่นอนมาเลย พอเราทำตามกำหนดไม่ได้ เขาก็ต่อว่าเรา คือ เราก็ควบคุมคนทำไม่ได้ บางทีเขามีธุระ เขาก็หยุด นี่เป็นปัญหาเหมือนกัน
สิ่งที่ภาคภูมิใจ... ตั้งแต่ทำมาก็มีหลายอย่างที่ทำผ่านมาแล้วก็รู้สึกภาคภูมิใจ คือ เราอยู่แบบชาวบ้านธรรมดา แต่คนทั่วประเทศก็รู้จัก คนนั้น คนนี้ ก็พูดถึงกล้วยจินตนา มีชื่อเสียงโด่งดังกระจายไปทั่วประเทศ มีคนรู้จักเราส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือ ภูมิใจตรงที่มีสมาชิกแม่บ้านมาทำงานร่วมกัน แต่ละวันจะมีความสุขตรงนี้ ถ้าวันไหนหยุด ก็จะรู้สึกเหงา เรื่องเงินทองนั้นไม่เท่าไร แต่เรามีสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นของพวกเราเอง ตรงนี้คือสิ่งที่เราภาคภูมิใจมาก และอีกส่วนหนึ่ง คือ ตอนนี้ได้ส่งสินค้าให้กับคิงพาวเวอร์ ซึ่งพบกันในงานจำหน่ายสินค้า OTOP ที่เมืองทองธานี คณะกรรมการของเขาเดินชิมไปทั่วงาน พอมาชิมของเรา เขาบอกว่าของเราอร่อยที่สุด เขาถูกใจ แล้วเขาก็มาดูที่กลุ่ม ดูที่ผลิตว่าสะอาดไหม ถูกหลักอนามัยไหม แล้วก็ตกลงใจ สั่งออเดอร์เราเป็นประจำ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราภูมิใจมากอีกส่วนหนึ่ง
ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์... คือ กล้วยของเราจะบาง แห้ง และไม่เหนียว เหมือนกล้วยธรรมชาติที่เอามาแปรรูปเลย แต่ที่อื่นจะหนา เหนียว และแฉะ บางรายจะเหมือนมีน้ำตาลเคลือบด้วย สินค้าเราจะแตกต่างจากที่อื่นตรงนี้ ซึ่งลูกค้าจะชอบของเรามากกว่า
วัตถุดิบ...
กล้วยที่ทำกล้วยแผ่นอบได้อร่อยต้องเป็นกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง เนื้อจะนิ่ม เหลือง สวย ลูกใหญ่ กลม บ้านเราไม่มี ส่วนมากจะเป็นกล้วยน้ำว้าแบบไส้เหลืองกับไส้ขาว ซึ่งทำได้เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นไส้แดงหรือน้ำว้าเขียวเอามาทำไม่ได้ ทำแล้วกล้วยจะดำ เวลานี้ที่กลุ่มทำ ส่วนมากจะเป็นพันธุ์น้ำว้าไส้เหลืองกับไส้ขาว เอามาจากบ้านหนองคอก อำเภอท่าตะเกียบ ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นจะปลูกกันเยอะมาก ส่วนแถวราชสาส์นปลูกกันน้อย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่อำเภอสนับสนุนให้ปลูกพันธุ์มะลิอ่อง แต่พอเจอปัญหาน้ำท่วมก็ตายหมด ไม่มีให้ทำ
ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ... มีครั้งหนึ่งในโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ พัฒนาการจังหวัดในขณะนั้น คือ คุณอำนวย งามวงศ์วาน ได้พูดเรื่องการสนับสนุนตู้อบให้แก่กลุ่มสตรี แต่ให้อำเภออื่น ไม่ใช่อำเภอราชสาส์น พอได้ยินตรงนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจว่า ทำยังไงนะจึงจะได้มาให้สมาชิกสตรีในอำเภอราชสาส์นได้ทำกัน เพราะว่างๆกันอยู่ หลังจากนั้นจึงไปหาหัวหน้าอำนวย ท่านถามว่าจะเอาเหรอ ถ้าเอาต้องทำให้ได้นะ ตอนนั้นก็รับปากว่าทำได้ แล้วก็ได้รับการสนับสนุนมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ลืมพระคุณเลย และอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เดินมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็คือ ความที่ใจรัก บางครั้งก็ท้อเหมือนกัน แต่ก็ต้องนึกว่าต้องสู้ เพราะมาถึงขนาดนี้แล้ว คือ ตลาดมันดีแล้ว ทุกอย่างมันพร้อมหมดแล้ว เราจะมาหยุด มาท้อ มาถอย ได้ยังไง ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจว่า ฉันต้องทำต่อไป
การสนับสนุน... ก็มีหลายหน่วยงาน ครั้งแรกคือท่านผู้ว่าฯ ฐิระวัตร กุลละวณิชย์ ท่านส่งไปเรียนการแปรรูปกล้วยและให้ตู้อบกล้วยมา ต่อมาก็ได้จากบริษัท อิสวอเตอร์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนตู้อบมาอีก สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอราชสาส์น สนับสนุนโต๊ะ อุปกรณ์ขายของ และสนับสนุนเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม ความรู้ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด การทำแผนธุรกิจ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์ การลงทะเบียนและคัดสรร OTOP ทุกครั้ง นายอำเภอชิดชนก ทับแสง สนับสนุนเรื่องบรรจุภัณฑ์ กระทรวงพลังงานสนับสนุนโรงเรือนอบกล้วยเพื่อลดต้นทุนการผลิต กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนเรื่องมาตรฐาน อย. กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนเรื่องมาตรฐาน มผช. กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนเรื่องการตลาด และที่สำคัญคือสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์สนับสนุนเรื่องความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการแปรรูปกล้วยและอนุญาตให้กลุ่มผลิตกล้วยแผ่นอบภายใต้ลิขสิทธิ์ของสถาบันได้
ตลาด... ผลิตภัณฑ์ของเรามีจำหน่ายตามร้านขายของฝากในแปดริ้ว เช่น ร้านตั้งเซ่งจั๊ว ร้านอึ้งมุ่ยเส็ง ร้านคิงส์สโตร์ ร้านปูกะเอ ปั้มน้ำมัน ปตท. ที่อำเภอพนมสารคาม สายพนมสารคาม – ปราจีนบุรี ส่วนจังหวัดอื่นก็มีที่โครงการหลวงดอยคำ จังหวัดชลบุรี อันนี้จำหน่ายภายใต้แบรนด์ของเราเอง ตรา“จินตนา” แต่ที่เราผลิตให้กับบริษัทคิงพาวเวอร์นั้น จะเป็นอีกแบรนด์หนึ่งซึ่งเป็นของคิงพาวเวอร์เอง ตอนนี้เราไม่ค่อยได้ออกงานกิจกรรมต่างๆ แล้ว เนื่องจากว่าต้องเร่งการผลิตให้พอป้อนตลาดที่เรามี จึงไม่ค่อยมีเวลาออกไปร่วมงานกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ปัจจุบันกลุ่มของเรามีผลิตภัณฑ์ จำนวน 9 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กล้วยแผ่นอบ จำหน่ายราคา 40 บาท/ถุง น้ำหนัก 180 กรัม หากต้องการซื้อเป็นกล่อง ราคา 50 บาท/กล่อง น้ำหนัก 180 กรัม และมีราคาส่ง 25 บาท/ถุง น้ำหนัก 120 กรัม ลูกค้าจะนำไปขายต่อในราคา 3 ถุง 100 บาท ซึ่งขายดีมาก ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ก็เช่น กล้วยอบ กล้วยตาก กล้วยกรอบรสปาริก้า รสบาร์บีคิว กล้วยกรอบอบงา น้ำพริกเผากล้วย ข้าวเกรียบกล้วย และกล้วย 3 รส
สนใจขอรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่...
คุณจินตนา ตันเจริญ ประธานกลุ่มสตรีแปรรูปอาหารจากกล้วย ที่ทำการเลขที่ 36 หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 089-9287764 หรือ 084-7789678 หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์: งานทำเงินจากเศษวัสดุและสิ่งเหลือใช้


เศษวัสดุที่เหลือทิ้งแล้วอย่างเศษเขาควาย เศษไม้ อาจจะไร้ค่าสำหรับคนทั่วๆไป แต่กับลุงเงิน บุญสร้าง ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา กลับมีค่ายิ่ง เพราะสิ่งนี้นำมาซึ่งอาชีพและรายได้ของครอบครัวลุงเงิน และครอบครัวของสมาชิกอีกหลายคน ต่อไปนี้เป็นคำบอกเล่าของลุงเงิน บุญสร้าง เชิญติดตามครับ...
ก่อร่างสร้างอาชีพ...การทำเครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์ เริ่มจากที่บ้านเป็นช่างทำงานประดิษฐ์ต่าง ๆ ทำของใช้และของประดับบ้านโดยเอาเขาควายที่วางทิ้ง นำมาทำด้ามมีดบ้าง นำมาประดิษฐ์ติดข้างฝาบ้านสำหรับแขวนหมวกและเสื้อผ้าบ้าง ทำเป็นแจกันบ้าง เมื่อปี พ.ศ.2512 ได้เข้าไปเป็นลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์จากเขาควายในกรุงเทพฯ เช่น เรือหงส์ เรือใบ เขาควายแกะสลักเป็นรูปมังกร รูปหงส์ และรูปเสือ  ต่อมาถึงปี พ.ศ.2518 นายจ้างได้เลิกกิจการ จึงได้ขอเครื่องมือมาทำเองที่บ้านหมู่ที่3 ตำบลคลองนครเนื่องเขต โดยครั้งแรกเริ่มจากนำเขาควายมาทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ แล้วนำไปเดินขายในกรุงเทพฯ หลังจากทำได้ประมาณ  1 ปีเศษ เห็นเศษเขาควายเหลือเป็นจำนวนมาก จึงมีความคิดว่าน่าจะนำมาทำอะไรได้อีก  อีกทั้งได้เคยเห็นชาวบ้านที่นำเอาไม้ชิ้นเล็ก ๆ มาต่อกันเพื่อปูพื้นบ้านที่เรียกกันว่า ปาเก้   และได้เห็นต่างหู กำไลข้อมือสีต่างๆ ซึ่งทำจากพลาสติก  จึงเริ่มลองนำเศษเขาควายและเศษไม้มาติดกาวทำเป็นกำไลข้อมือก่อน  ต่อมาได้พัฒนาเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นกิ๊บติดผม ปิ่นปักผม  ต่างหู สร้อยคอ และจากเครื่องประดับมาเป็นเครื่องใช้ เช่น ช้อนกาแฟ ซ้อมจิ้มผลไม้ จานรองแก้ว กล่องใส่นามบัตร หวี กัวซา โดยได้พัฒนารูปแบบให้ทันสมัย ตรงตามความต้องการของตลาดโดยทั่วไป

ถูกใจคนทั้งโลก...ลักษณะที่โดดเด่นของเครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์ของกลุ่มเรา คือ เป็นงานฝีมือ Hand made ทำจากเศษวัสดุธรรมชาติ หาได้ง่ายทั่ว ๆ ไป มีสีเป็นธรรมชาติของไม้และเขาสัตว์ ชิ้นงานมีความประณีต รูปแบบสวยงาม คงทน ตรงตามความต้องการของลูกค้าซึ่งมีทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ
1.ได้รับรางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้า ปี 2533
2.เป็นหมู่บ้านหัตกรรมสร้างสรรค์ของมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บูรฉัตร ปี 2539
3.เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปี 2542
4.ได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช.27937 – 16 – 68จากกระทรวงอุตสาหกรรม
5.ได้รับเครื่องหมายการค้า ค.215371 – ค.215367
6.เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ4 ดาว ของจังหวัดฉะเชิงเทรา

ฝีมือและภูมิปัญญาของคนในชุมชน...
ฝีมือ แรงงานที่ใช้ในกลุ่ม มาจากคนในชุมชนเดียวกัน ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้งานต่อ ๆ กันไปและมีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ซึ่งกันและกันโดยอาศัยภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า  มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1.เขาควาย
2.เศษไม้สีต่าง ๆ ตามความต้องการ
3.กาวติดไม้
4.กระดาษทราย
5.อุปกรณ์ในการเจียร ตัด ขัด และตบแต่ง



ขั้นตอนในการผลิต...เมื่อได้วัสดุที่ต้องการมาพร้อมแล้ว นำเขาสัตว์และเศษไม้มาเลื่อยเป็นชิ้นส่วนตามรูปแบบที่ต้องการแล้วนำมาขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวหน้าเลียบ นำไปติดกาวต่อให้เป็นชิ้นเดียวกัน แล้วนำไปขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวหน้าเลียบอีกครั้ง  นำแบบที่เตรียมไว้วาดลงในชิ้นงานนั้น และนำมาเจียรตามรูปที่วาด นำมาลงกระดาษทรายให้ผิวของชิ้นงานเลียบ ขัดเงาด้วยลูกผ้าและยาขัดเงา จากนั้นมาเช็ดทำความสะอาดคัดเลือกชิ้นที่มีตำหนิออก สำหรับต่างหู และกิ๊บ นำมาประกอบกับห่วงและขากิ๊บซึ่งเป็นชิ้นส่วนโลหะ ระยะเวลาในการผลิตขึ้นอยู่กับรูปแบบ และปริมาณของชิ้นงานที่ลูกค้าสั่งผลิตสำหรับเคล็ดลับในการผลิตที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพนั้น คือ เขาควายและเศษไม้ที่ใช้ ต้องแห้ง ไม่มีรอยแตกหรือผุ ไม่เก่าหรือใหม่เกินไป มีสีสวยงามเมื่อนำมาขัดเงาแล้วต้องได้สีตามที่ต้องการ

แหล่งจำหน่าย... หากต้องการชมผลิตภัณฑ์หรือรับไปจำหน่าย หรือต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ ขอเชิญได้ที่
1.ที่ทำการกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์ 37/1 ม.3 ต.คลองนครเนื่องเขต
2.ย่านการค้าตลาดโบราณคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
3.ตลาดนัดจตุจักรกรุงเทพมหานคร
4.งาน OTOP ที่จังหวัดจัดขึ้น หรือมอบหมายให้ไปร่วมกิจกรรม

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่...
นายเงิน  บุญสร้างประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์บ้านเลขที่ 37/1  หมู่ที่ 3  ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000  โทร. 081-757-9939  โทรสาร038-847-307หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239

งานนี้นอกจากได้ของดี มีคุณภาพแล้ว ยังได้ช่วยลดโลกร้อน ด้วยการนำเศษสิ่งที่เหลือใช้ กลับมาทำประโยชน์ และช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านด้วยนะครับ หลายต่อจริงๆ...

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น จังหวัดฉะเชิงเทรา


สุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น จังหวัดฉะเชิงเทรา

(Chachoengsao Provincial Star OTOP : PSO)

การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์... หรือ OTOP ที่ผ่านมาของจังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถทำรายได้ให้กับจังหวัดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการนำภูมิปัญญาชาวบ้าน และทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาพัฒนาและสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น มีคุณภาพ มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ สามารถพึ่งตนเองได้ และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น... 
ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน... จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP โดยได้ดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้น (เข้าใจง่ายๆ ก็คือการให้ระดับ 1 – 5 ดาว แก่ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เข้าร่วมคัดสรรนั่นเอง) และมีแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านการผลิต การบรรจุภัณฑ์ การตลาด การบริหารจัดการ และรูปแบบอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้มาตรฐาน ส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อ ผลิตภัณฑ์ OTOP ทั้งในและต่างประเทศ 
และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง... กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จัดให้มีการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของแต่ละจังหวัดขึ้น (Provincial Star OTOP : PSO) โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดสรร เมื่อปี 2556 ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีท่านบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ และมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หอการค้าจังหวัด เครือข่าย OTOP จังหวัด สถาบันการศึกษาในพื้นที่ นักการตลาดและนักวิชาการจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมเป็นกรรมการ
ขั้นตอนของการคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของจังหวัด... มีดังนี้

1. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดสรรฯ

2. ประชุมชี้แจง กรอบ/แนวทาง และหลักเกณฑ์การคัดสรรฯ
3. คณะกรรมการฯ ดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ 3 – 5 ผลิตภัณฑ์ ตามแนวทางที่กำหนด
4. ประกาศผลการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของจังหวัด(Provincial Star OTOP : PSO)
5. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการคัดสรรฯ
6. ส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของจังหวัด
          6.1 ส่งเสริมการตลาด
          6.2 พัฒนาต่อยอด
หลักเกณฑ์ของการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น... มีดังนี้
ด้าน Supply Side พิจารณาจาก
          1. อัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ (Provincial Identity)
          2. การใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น (Local Wisdom & Resources)
          3. ความสามารถด้านการตลาด (Marketable)
          4. การพัฒนาต่อยอด/ความคิดสร้างสรรค์ (Value Creation)
ด้าน Demand Side พิจารณาจาก
          1. ความสามารถในการผลิต
          2. คุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
          3. การตลาดและการขาย
          4. รูปลักษณ์และลักษณะภายนอกของสินค้าโดยรวม
          5. ความรับผิดชอบต่อสังคมและการรักษาวัฒนธรรม 
หลังจากคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาคัดสรรแล้ว... ปรากฏว่า ได้ผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดมา 3 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้ 
1. ประเภทอาหาร... ได้แก่ มะม่วง ของสวนเพชรสำโรง สวนสายันต์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกจังหวัดฉะเชิงเทรา (ส่วนสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่ได้ส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP ไทย ในปี 2555 จึงไม่มีชื่อได้รับการคัดสรร) 
2. ประเภทของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก... ได้แก่ ดอกไม้จันทน์ ของกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์แสงจันทร์ เรื่องการคัดสรรดอกไม้จันทน์เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นของจังหวัดนี้ เป็นที่ถกเถียงกันมากทั้งในที่ประชุมคณะกรรมการ และผู้รับทราบข่าวสารโดยทั่วไป ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากมีการประชาสัมพันธ์ออกไปในวงกว้าง จะกลายเป็นเรื่องไม่เป็นมงคลหรือไม่ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วนตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดแล้ว ปรากฎว่ามีคะแนนเหนือกว่าผลิตภัณฑ์อื่นในประเภทเดียวกันในทุกๆ ด้าน จึงลงมติให้ดอกไม้จันทน์ของกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์แสงจันทร์ เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นของจังหวัด (หมายถึง ดอกไม้จันทน์เฉพาะกลุ่มนี้นะครับ ไม่รวมของกลุ่มอื่นๆ ที่มีผลิตอยู่ทั่วไป) 
3. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร... ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแคปซูลขมิ้นชัน) ตราธงทอง ของห้างธงทองโอสถ 

สำหรับผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น อีก 2 ประเภท... คือ ประเภทเครื่องดื่ม และประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายนั้น คณะกรรมการฯ เห็นว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์ OTOP ใดเหมาะสม และผ่านหลักเกณฑ์เพียงพอที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของจังหวัดได้ จึงมีมติไม่ประกาศผลการคัดสรรทั้ง 2 ประเภท

ขอบคุณ...นิตยสาร "ที่นี่...8 ริ้ว"
ปีที่ 7 ฉบับที่ 59 เดือนพฤกษาคม-มิถุนายน 2557

ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตราธงทอง



ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตราธงทอง

ห้างธงทองโอสถ

17/3 หมู่ที่ 2 ตำบลวังตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

หมายเลขโทรศัพท์ 038-816685

OTOP ระดับ 5 ดาว

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตราธงทอง... ห้างธงทองโอสถดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อผลิตยาแผนโบราณ เครื่องสำอาง และอาหารเสริมตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข กระบวนการดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรของห้างธงทองโอสถ เริ่มจากการปลูก การเก็บเกี่ยว การคัดเลือกสิ่งปนปลอม การล้างทำความสะอาด การหั่นสับ การทำให้แห้ง การบดร่อน การเก็บบรรจุ การฆ่าเชื้อ การตรวจวิเคราะห์ 
ห้างธงทองโอสถใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในชุมชน... และจากแหล่งปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผลิต ผลิตคิดค้นและพัฒนาสูตรตำรับโดยเภสัชกรแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์ของห้างธงทองมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือยาแคปซูลขมิ้นชันตราธงทอง

เภสัชกรธงชัย สีมาเอกรัตน์ เจ้าของห้างธงทองโอสถ กล่าวว่า...

ผลิตภัณฑ์ธงทองโอสถนี่นะครับ ก็เริ่มต้นจากการทำสินค้า OTOP ง่ายๆ คือสินค้าที่ใช้ภายนอก เช่น สินค้ากลุ่มยาดม พิมเสนน้ำ แล้วก็ทำกันอย่างง่ายๆ ทำกันในครัวเรือนนะครับ แล้วก็ใช้และได้รับความนิยมถึงพัฒนา มีการทำเป็นสินค้าอื่นๆออกมาอีกหลายตัวนะครับ เช่น ยากลุ่มรับประทาน อย่างยาน้ำเชื่อมแก้ไอมะขามป้อม ยาอมบรรเทาอาการไอมะขามป้อม จนมาถึงปัจจุบันก็มียาแคปซูลขมิ้นชันครับ
จุดเด่นของสินค้าของห้างธงทองโอสถ... คือ สินค้าของเราเป็นสินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในจังหวัดเราทั้งหมดเลย แล้วก็มีการใช้แรงงานภายในจังหวัด และผลิตภัณฑ์ของเราก็ผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP
ยกตัวอย่างสินค้าตัวหนึ่ง... เช่น ยาแคปซูลขมิ้นชันของเรา นี่ก็เป็นสินค้า OTOP และเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของเราผลิตจากแปลงปลูกที่ได้รับมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นแปลงปลูกที่อยู่ที่อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรานี่เองครับ และตัวสินค้าผลิตในโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน GMP สินค้าก็ได้รับความนิยม มีผู้ใช้กันอย่างแพร่หลายครับ