วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น จังหวัดฉะเชิงเทรา


สุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น จังหวัดฉะเชิงเทรา

(Chachoengsao Provincial Star OTOP : PSO)

การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์... หรือ OTOP ที่ผ่านมาของจังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถทำรายได้ให้กับจังหวัดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการนำภูมิปัญญาชาวบ้าน และทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาพัฒนาและสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น มีคุณภาพ มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ สามารถพึ่งตนเองได้ และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น... 
ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน... จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP โดยได้ดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้น (เข้าใจง่ายๆ ก็คือการให้ระดับ 1 – 5 ดาว แก่ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เข้าร่วมคัดสรรนั่นเอง) และมีแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านการผลิต การบรรจุภัณฑ์ การตลาด การบริหารจัดการ และรูปแบบอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้มาตรฐาน ส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อ ผลิตภัณฑ์ OTOP ทั้งในและต่างประเทศ 
และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง... กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จัดให้มีการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของแต่ละจังหวัดขึ้น (Provincial Star OTOP : PSO) โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดสรร เมื่อปี 2556 ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีท่านบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ และมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หอการค้าจังหวัด เครือข่าย OTOP จังหวัด สถาบันการศึกษาในพื้นที่ นักการตลาดและนักวิชาการจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมเป็นกรรมการ
ขั้นตอนของการคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของจังหวัด... มีดังนี้

1. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดสรรฯ

2. ประชุมชี้แจง กรอบ/แนวทาง และหลักเกณฑ์การคัดสรรฯ
3. คณะกรรมการฯ ดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ 3 – 5 ผลิตภัณฑ์ ตามแนวทางที่กำหนด
4. ประกาศผลการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของจังหวัด(Provincial Star OTOP : PSO)
5. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการคัดสรรฯ
6. ส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของจังหวัด
          6.1 ส่งเสริมการตลาด
          6.2 พัฒนาต่อยอด
หลักเกณฑ์ของการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น... มีดังนี้
ด้าน Supply Side พิจารณาจาก
          1. อัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ (Provincial Identity)
          2. การใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น (Local Wisdom & Resources)
          3. ความสามารถด้านการตลาด (Marketable)
          4. การพัฒนาต่อยอด/ความคิดสร้างสรรค์ (Value Creation)
ด้าน Demand Side พิจารณาจาก
          1. ความสามารถในการผลิต
          2. คุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
          3. การตลาดและการขาย
          4. รูปลักษณ์และลักษณะภายนอกของสินค้าโดยรวม
          5. ความรับผิดชอบต่อสังคมและการรักษาวัฒนธรรม 
หลังจากคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาคัดสรรแล้ว... ปรากฏว่า ได้ผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดมา 3 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้ 
1. ประเภทอาหาร... ได้แก่ มะม่วง ของสวนเพชรสำโรง สวนสายันต์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกจังหวัดฉะเชิงเทรา (ส่วนสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่ได้ส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP ไทย ในปี 2555 จึงไม่มีชื่อได้รับการคัดสรร) 
2. ประเภทของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก... ได้แก่ ดอกไม้จันทน์ ของกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์แสงจันทร์ เรื่องการคัดสรรดอกไม้จันทน์เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นของจังหวัดนี้ เป็นที่ถกเถียงกันมากทั้งในที่ประชุมคณะกรรมการ และผู้รับทราบข่าวสารโดยทั่วไป ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากมีการประชาสัมพันธ์ออกไปในวงกว้าง จะกลายเป็นเรื่องไม่เป็นมงคลหรือไม่ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วนตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดแล้ว ปรากฎว่ามีคะแนนเหนือกว่าผลิตภัณฑ์อื่นในประเภทเดียวกันในทุกๆ ด้าน จึงลงมติให้ดอกไม้จันทน์ของกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์แสงจันทร์ เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นของจังหวัด (หมายถึง ดอกไม้จันทน์เฉพาะกลุ่มนี้นะครับ ไม่รวมของกลุ่มอื่นๆ ที่มีผลิตอยู่ทั่วไป) 
3. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร... ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแคปซูลขมิ้นชัน) ตราธงทอง ของห้างธงทองโอสถ 

สำหรับผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น อีก 2 ประเภท... คือ ประเภทเครื่องดื่ม และประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายนั้น คณะกรรมการฯ เห็นว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์ OTOP ใดเหมาะสม และผ่านหลักเกณฑ์เพียงพอที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของจังหวัดได้ จึงมีมติไม่ประกาศผลการคัดสรรทั้ง 2 ประเภท

ขอบคุณ...นิตยสาร "ที่นี่...8 ริ้ว"
ปีที่ 7 ฉบับที่ 59 เดือนพฤกษาคม-มิถุนายน 2557

ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตราธงทอง



ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตราธงทอง

ห้างธงทองโอสถ

17/3 หมู่ที่ 2 ตำบลวังตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

หมายเลขโทรศัพท์ 038-816685

OTOP ระดับ 5 ดาว

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตราธงทอง... ห้างธงทองโอสถดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อผลิตยาแผนโบราณ เครื่องสำอาง และอาหารเสริมตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข กระบวนการดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรของห้างธงทองโอสถ เริ่มจากการปลูก การเก็บเกี่ยว การคัดเลือกสิ่งปนปลอม การล้างทำความสะอาด การหั่นสับ การทำให้แห้ง การบดร่อน การเก็บบรรจุ การฆ่าเชื้อ การตรวจวิเคราะห์ 
ห้างธงทองโอสถใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในชุมชน... และจากแหล่งปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผลิต ผลิตคิดค้นและพัฒนาสูตรตำรับโดยเภสัชกรแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์ของห้างธงทองมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือยาแคปซูลขมิ้นชันตราธงทอง

เภสัชกรธงชัย สีมาเอกรัตน์ เจ้าของห้างธงทองโอสถ กล่าวว่า...

ผลิตภัณฑ์ธงทองโอสถนี่นะครับ ก็เริ่มต้นจากการทำสินค้า OTOP ง่ายๆ คือสินค้าที่ใช้ภายนอก เช่น สินค้ากลุ่มยาดม พิมเสนน้ำ แล้วก็ทำกันอย่างง่ายๆ ทำกันในครัวเรือนนะครับ แล้วก็ใช้และได้รับความนิยมถึงพัฒนา มีการทำเป็นสินค้าอื่นๆออกมาอีกหลายตัวนะครับ เช่น ยากลุ่มรับประทาน อย่างยาน้ำเชื่อมแก้ไอมะขามป้อม ยาอมบรรเทาอาการไอมะขามป้อม จนมาถึงปัจจุบันก็มียาแคปซูลขมิ้นชันครับ
จุดเด่นของสินค้าของห้างธงทองโอสถ... คือ สินค้าของเราเป็นสินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในจังหวัดเราทั้งหมดเลย แล้วก็มีการใช้แรงงานภายในจังหวัด และผลิตภัณฑ์ของเราก็ผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP
ยกตัวอย่างสินค้าตัวหนึ่ง... เช่น ยาแคปซูลขมิ้นชันของเรา นี่ก็เป็นสินค้า OTOP และเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของเราผลิตจากแปลงปลูกที่ได้รับมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นแปลงปลูกที่อยู่ที่อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรานี่เองครับ และตัวสินค้าผลิตในโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน GMP สินค้าก็ได้รับความนิยม มีผู้ใช้กันอย่างแพร่หลายครับ

ดอกไม้จันทน์ : กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์แสงจันทร์



ดอกไม้จันทน์
กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์แสงจันทร์
เลขที่
25/9 หมู่ที่ 18 บ้านไผ่แถว  ถนนสุวินทวงศ์ ตำบลศาลาแดง
อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
หมายเลขโทรศัพท์
038-845201 , 081-7511248
OTOP ระดับ 4 ดาว
    

คุณปราณี แสงจันทร์ ประธานกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์แสงจันทร์... มีแนวคิดว่าดอกไม้จันทน์เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นแก่ครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิต เมื่อถึงเวลานั้นทุกคนก็ต้องใช้  และในมุมมองด้านการตลาด ดอกไม้จันทน์เป็นสินค้าสิ้นเปลืองไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ประกอบกับด้วยใจรักงานศิลปะและมีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว  จึงรวมตัวกันในหมู่สตรีของหมู่บ้าน จัดตั้งกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อทำดอกไม้จันทน์ออกจำหน่าย

ด้วยความมุมานะและความมุ่งมั่น... คิดพัฒนากลุ่มและผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา กิจการของกลุ่มจึงมีความเติบโต และมีรายได้มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ดอกไม้จันทน์แห่งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือ (handmade) ต้องใช้ฝีมือและความชำนาญในการประดิษฐ์รูปแบบจินตนาการให้ดอกออกมาเสมือนของจริงด้วยความละเอียด ประณีตและสวยงาม มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ออกมาทันสมัยอยู่เสมอ ประดิษฐ์เป็นดอกไม้จันทน์หลากสีหลายรูปแบบและตรงตามความต้องการของลูกค้า สำหรับใช้ในงานฌาปนกิจศพ...
คุณปราณี แสงจันทร์ ประธานกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์แสงจันทร์ กล่าวว่า...
กลุ่มของเราก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปลายปี 2540 นะคะ ด้วยการทำดอกไม้จันทน์ซึ่งทำจากกระดาษแล้วก็เป็นรูปแบบที่ธรรมดา ตอนนั้นเศรษฐกิจไม่ดี การทำดอกไม้จันทน์ธรรมดาเราจะสู้ตลาดไม่ได้ เราก็เลยมาพัฒนา ดัดแปลง จากดอกไม้จันทน์ที่เป็นสีธรรมชาติสีขาวให้มีสีสันมากขึ้น เราก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากแบบธรรมดาให้หลากหลายรูปแบบขึ้น ก็คือมีตั้งแต่ดอกกุหลาบ ดอกทิวลิป ดอกแก้ว ดอกจำปี ดอกลีลาวดี ดอกรักเร่ เยอะมากเลยนะคะ เป็นดอกพุดก็มีค่ะ


แต่การต่อสู้ดอกไม้จันทน์ตอนนั้น... ต้องต่อสู้อย่างหนักนะคะ เพราะว่าการทำดอกไม้จันทน์นี่จริงๆแล้วมันไม่ธรรมดานะคะ เราต้องมีความอดทนสูงเราถึงต่อสู้มาได้จนถึงทุกวันนี้ จากรูปแบบของเราที่มีหลากหลายรูปแบบก็เลยเป็นที่ต้องการของตลาดนะคะ ตลาดมีการสั่งเข้ามามาก รวมทั้งประชาชน กลุ่มแม่บ้านก็สนใจที่จะเรียนรู้ เราก็เปิดสอนอาชีพตรงนี้ให้กับกลุ่มแม่บ้านทั่วประเทศ มีการเรียนรู้แล้ว เขาก็ไปสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชนให้กับครอบครัว ให้เขาได้มีอาชีพสืบต่อกันไปมาจนถึงทุกวันนี้

จุดเด่นของเราก็คือดอกไม้จันทน์ของเรามีสีสันเพิ่มขึ้นมา... และกล้าพูดได้เต็มปากเลยว่าเราเป็นผู้ริเริ่มทำดอกไม้จันทน์ที่เป็นสีขึ้นมา โดยทำขึ้นมาให้ลูกค้าเลือกนะคะ ถ้าใครอนุรักษ์นิยมก็ใช้สีธรรมชาติไป แต่ว่าบางคนต้องการความแปลกใหม่ในดอกไม้จันทน์ ก็จะเลือกเอาที่มีสีสันของเราเอาไปค่ะ
แล้วถามว่าดอกไม้จันทน์ของเราทำไมอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้... คำตอบก็คือเริ่มจากการที่เราพัฒนารูปแบบอย่างต่อเนื่องนะคะ แล้วก็มีการประชาสัมพันธ์ สื่อต่างๆ ก็มาถ่ายทำกันมากมาย เลยทำให้สินค้าของเรานี้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศค่ะ...

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

มะม่วง : สุดยอด OTOP เด่น ประเภทอาหารของเมืองแปดริ้ว



เรื่องมะม่วงนี้... เราได้ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ว่าการผลิตมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นได้รับการยอมรับทางด้านรสชาติ และคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และที่สำคัญ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนมะม่วงที่มีชื่อเสียงของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ และเขียวเสวย โดยเฉพาะมะม่วงที่ปลูกในอำเภอบางคล้า ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ผลผลิตเฉลี่ย 800 กิโลกรัม ต่อไร่ เนื่องจากมีคุณภาพดินที่มีความเหมาะสมเพราะเป็นดินเหนียวปนตะกอน มีธาตุอาหารสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกมะม่วง สำหรับพันธุ์ที่นิยมรับประทานดิบ ได้แก่ เขียวเสวย ฟ้าลั่น แรด ทวายเดือนเก้า ขายตึก โชคอนันต์ มันขุนศรี และพันธุ์ที่นิยมรับประทานสุก ได้แก่ น้ำดอกไม้เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทอง อกร่อง และมหาชนก...

การปลูกมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรา... มีพื้นที่กระจายไปทุกอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สูง ที่ดอน และเกษตรกรมีระบบการจัดสวนที่ดี โดยได้รับการรับรองการจัดสวนตามระบบ GAP แล้ว ทั้งนี้ผลผลิตมะม่วงของจังหวัดส่วนใหญ่จำหน่ายในตลาดภายในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการลงนามสัญญาซื้อขายมะม่วงเพื่อการส่งออกระหว่างเกษตรกรชาวสวนกับบริษัทผู้ส่งออก ตั้งแต่ ปี 2544 เป็นต้นมา พันธุ์ที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ น้ำดอกไม้สีทอง และกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งออก ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกจังหวัดฉะเชิงเทรา และกลุ่มสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด ผู้ผลิตทั้ง 2 กลุ่ม มีการจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ตลาดต่างประเทศส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นมากเป็น อันดับ 1…


ในปัจจุบันพื้นที่ปลูกมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรา... มีทั้งสิ้นประมาณ 41,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 639 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 23,000 ตัน มีมูลค่าประมาณ 475 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่ปลูกทั้งสิ้นประมาณ 7,300 ราย ปลูกมะม่วงได้ในทุกพื้นที่ทุกอำเภอในจังหวัด สำหรับพื้นที่ผลิตเพื่อการส่งออก ได้แก่ บางคล้า ราชสาส์น แปลงยาว พนมสารคาม สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ และคลองเขื่อน...