วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สุภาพ โนรีวงศ์ ผมผลิตข้าวอร่อย จากโรงงานธรรมชาติ

สุภาพ โนรีวงศ์... คือเกษตรกรดีเด่นระดับเขต ปี 2556 สาขาอาชีพทำนา เขาบอกว่าเขารู้จักข้าวดี เขาสร้างโรงงานธรรมชาติขึ้นมา เพื่อผลิตข้าวที่อร่อยที่สุดให้เรารับประทาน เราจะไปทำความรู้จักกับคุณสุภาพกัน โดยเขาเล่าให้ฟัง ดังนี้ครับ...

ประวัติ... ปัจจุบันผมอายุ 66 ปี มีภรรยา 1 คน ลูก 3 คน รับราชการ 1 คน เป็นเกษตรกร 2 คน จบ ป.4 แล้วเรียนต่อ กศน. จนจบ ม.ปลาย อาชีพทำนาตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำกับพ่อแม่ ปลูกข้าวมายาวนาน แรกๆ ไม่คิดอะไร ทำสนุก ทำตามพ่อแม่ เรียนไม่เก่งอยู่ท้ายเพื่อน ผมไม่ชอบทำนานัก แต่ยิ่งเรียนรู้การทำงานก็สนุกขึ้น เบาแรงขึ้น ยิ่งเรียนยิ่งแตกฉาน
พลิกชีวิต... ปี 48 ผมได้เรียนรู้เรื่องธาตุอาหาร ทำให้คิดหลายร้อยเรื่อง ทาง ธกส.ถามว่าใครอยากรู้เรื่องธาตุอาหารบ้าง เราไม่รู้ ก็ไปเรียน เรียนที่สุพรรณ 2 ปี เรียนกับ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ ชาวนาอย่างเราภูมิใจนะ เพราะถ้าเป็นนักศึกษาต้องเสียเงินเรียน แต่ชาวนาอาจารย์สอนให้ฟรี ผมก็ตั้งใจเรียน ไม่หลับเลย ต้องการรู้จริง แล้วกลับมาทดลองทำ อาจารย์ก็มาช่วย ปีที่ 2 ให้ทำเอง ต้องเก็บตัวอย่างดิน วิเคราะห์ดิน ว่ามีธาตุอาหารอะไรบ้าง มีความเป็นกรดด่างอย่างไร จะเติมปุ๋ยอะไรลงไป ปลูกข้าวเท่าไรจึงจะพอเหมาะกับพื้นที่ที่เราทำ ตรงนี้เองที่ทำให้ผมรักอาชีพของผมมากขึ้น
ประยุกต์ใช้... วิชาที่เรียนมามันช่วยประหยัด 1.ต้นทุน 2.แรงงาน ทำงานเบาขึ้น ทุนน้อย เบาแรง 3.ได้ผลผลิตเยอะ แล้วชาวนาจะเอาอะไรอีก ได้ 3 ตัวนี้ก็พอใช้ได้แล้ว แต่ผมยังไม่พอ คือตอนเรียนกับอาจารย์ เขาบอกว่า 1 ไร่ ใช้ปุ๋ย 27 โล (กิโลกรัม) ผมถามตัวเองว่าให้มันเหลือ 10 โลได้ไหม อาจารย์ใช้เนื้อปุ๋ย 15 โล คือ เอ็น6 พี4 เค5 รวมกับสิ่งเจือปนเป็น 27 โล (เอ็น (N) คือไนโตรเจน พี (P) คือฟอสฟอรัส เค (K) คือโปรตัสเซียม เป็นธาตุอาหารที่ใช้เป็นส่วนผสมของปุ๋ยเคมี : ผู้เขียน) แต่ผมขอว่าเฉพาะเนื้อปุ๋ย 10 โลได้ไหม เพราะฉะนั้นต้องหาอะไรมาแทนมัน ผมก็เลยหาฟางข้าว ถ้าข้าว 1 ตัน ได้ฟาง 900 โล ในนี้ได้เอ็น 5-6 โล พอกับที่ขาดเลย เพียงแค่เอากลับลงไปในนาเท่านั้นเอง ด้วยวิธีอะไรก็ได้ใส่ลงไปในนา อย่าเผาก็แล้วกัน คุณจะได้เอ็น 5-6 โลแล้ว คุณไม่ต้องซื้อแม้แต่เม็ดเดียว มาแล้วตัวที่ 1 ส่วนพีในฟางมีน้อย ไปหาถั่วมาได้ไหม ใส่ถั่วก็ได้เอ็นอีก พีได้มานิดเดียว ตรวจแล้วต้องเติม ก็ต้องไปซื้อมาเติม แต่เติม 1 โลพอ เพราะตรวจดินแล้วมีพอกลางๆแล้ว สำหรับเคยังไม่มา เคจะมากับน้ำ ผมเคยเอาดินมาตรวจ ดินน้ำท่วม ได้เคเพียบเลย แสดงว่าน้ำพาเอาเคมา เพราะฉะนั้นใครอยากได้เค ก็ไขน้ำเข้ามา สำหรับผม เคต้องเติม เพราะที่ผมโดนล้อมไว้หมด น้ำไม่เข้า สรุปแล้วเราได้เนื้อปุ๋ย 10 โล แล้วทำอย่างนี้ซ้ำๆ ทุกรอบ ผมยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลยแม้แต่เม็ดเดียว มันเหลือแล้ว พอแล้ว งามเกินแล้ว
สร้างโรงงานธรรมชาติ... มันเป็นเรื่องของการจัดการ 1.จัดการธาตุอาหาร 2.จัดการระบบน้ำ 3.จัดการพันธุ์ ดูที่ต้านทานโรคและแมลง ถ้าทำให้ข้าวแกร่ง โรคก็จะไม่มา แมลงก็ไม่เกิด ทำให้ข้าวอดน้ำ แมลงก็ไม่วางไข่ ฉะนั้นให้น้ำเป็นช่วงๆ ไม่ต้องหล่อ ข้าวอดน้ำ 15 วันยังไม่ตายเลย ข้าวแกร่งแมลงเจาะไม่เข้าและข้าวไม่ล้ม ตอนนี้ผมกำลังจัดการเอาน้ำออกให้มันแห้ง ถ้าเอาน้ำออกต้นข้าวจะไม่ปรุงอาหาร มันจะไม่กินเพิ่มเข้าไป เหมือนคนอดอาหาร ข้าวจะใช้อาหารในดินน้อยลง ข้าวจะกลับมาแกร่ง จะลดความงาม ลดโรคและแมลง ได้ข้าวเพิ่มขึ้น เมล็ดแกร่งขึ้นด้วยการอดน้ำ เคมีไม่ต้องคุย ไม่ต้องใช้ ที่สำคัญต้องมีการจัดการตัวเองด้วย คือ อย่าไปตามใจตัวเองมาก อย่างชาวนาทั้งหลาย เวลายังไม่มีแมลงก็ซื้อยามาฉีดแล้ว ถามว่าต้องจัดการตัวเองไหมอย่างนี้ ถามว่าฉีดทำไม ฉีดป้องกัน ป้องกันอะไร ยังไม่มีอะไรเลย ป้องกันทำไม ทำให้เปลื้อง ต้องจัดการความคิดของตัวเองเสียก่อน แล้วเรื่องทั้งหลายจะตามมา
ยิ่งศึกษา ยิ่งชอบ... ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวนา ยิ่งทำ ยิ่งศึกษา ยิ่งสนุก ใช้เครื่องมือเป็น รู้จักธาตุอาหาร รู้จักพืช แก้ดินกรด ดินเปรี้ยวได้ ผมเรียนกับอาจารย์ แล้วก็กลับมาทำกับแปลงนาตัวเอง ศึกษาเอง ทดลองเอง ตรวจเอง มันเปลี่ยนแปลงไหม ลองศึกษาตัวเลข ปีหนึ่งผมตรวจดิน 2 เที่ยว ตรวจทุกปี ตรวจก่อนปลูกข้าว และหลังเกี่ยวข้าวแล้ว คอมพิวเตอร์ก็เป็นเครื่องมือที่ดีช่วยเราได้ 1.ได้สื่อสาร 2.ได้ดูข้อมูล ผมมีอินเตอร์เน็ต มีเฟชบุ๊ค ลุกมาดูเมื่อไรก็ได้ สนุกกับเขา แรกๆผมไม่รู้เรื่อง ผมจบ ป.4 ภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง เดาไป ทำไป ผมคิดว่าเครื่องมือพวกนี้เขาทำมาให้คนใช้ คนอย่างผมต้องใช้มันได้ แล้วผมก็ใช้มันได้จริงๆ
ทำไมเราไม่ปลูกข้าวกินเอง... ผมทำนา 80 ไร่ ยิ่งมารู้จักการปลูกข้าวชุดใหม่ ราคาที่ตกต่ำ ทำให้ผมยิ่งเรียนรู้มากขึ้น มีการเรียนรู้เรื่องข้าวเพื่อกิน ใช้ข้าวปทุมธานี 1 นี่แหละ โดยปลูกกึ่งอินทรีย์มาก่อน วิเคราะห์แล้วเอาอินทรีย์มาช่วย ใส่กันคนละครึ่ง ปรากฏว่ามันได้พันธุกรรมเก่ากลับมา เช่น ความนุ่มนวล กลิ่นหอมกรุ่นๆ ไม่ต้องไปซื้อเขา และเราประหยัด ผมถามเกษตรกรว่า ทำไมเราไม่ปลูกกินเองบ้างล่ะ เราใส่อะไร ฉีดอะไร เรารู้ใช่ไหม แล้วเราจะฉีดของไม่ดีกินไหม ซื้อเขาแน่ใจเหรอว่าเขาใส่อะไรมาให้เรา ข้าวในตลาดต้องอบยากันมอดมากี่เที่ยวกว่าจะถึงเรา
ออกตลาด... ผมปลูกกินเองก่อน เอ...มันอร่อยนี่ ก็ลองมาปลูกในเชิงพาณิชย์บ้าง ให้เพื่อนๆได้ลองกินของเราบ้าง ปรากฏว่าตลาดตอบรับ ผมปลูกปทุมธานี1 เป็นพันธุ์ผสม กข. แต่ไม่ได้ออกตลาดจริงๆ เพราะว่าราคามันถูก แต่ที่ออกตลาดจริงๆ คือ ไรซ์เบอร์รี่ ที่เลือกเพราะราคามันน่าทำ แรกๆกิโลละ 100 ข้าว 1 ตัน ได้ข้าวกล้อง 600 โล ๆ ละ 100 ได้ 60,000 แล้วทำข้าวอะไรได้ 60,000 อย่างนี้ไม่ทำเหรอชาวนา ไปขายข้าวเปลือกได้ 6,000 ถ้าทำอย่างนี้ได้ตั้งกี่เท่า โรงสีถึงได้รวยไง ชาวนาทำไมไม่คิดใหม่ เราต้องเปลี่ยนกระบวนการคิด เราจะมาสู่วงจรอยู่ได้ อยู่ดี ถามว่าเราเอาเปรียบชาวบ้านไหม ไม่ใช่ เราให้ความเป็นธรรมด้วยซ้ำ ถ้ามันแพงก็ลดลง ปัจจุบันผมลดราคาลงแล้ว ราคาขายตอนนี้ ราคาส่งอยู่ที่ 60 บาท/โล ราคาปลีกอยู่ที่ 80 บาท/โล ความคิดผมคือ อยากให้กินของที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย และราคาถูก ให้ผมอยู่ได้พอแล้ว นี่คือการตลาดที่มีความสุขครับ ทีนี้ผมเห็นชาวบ้านเขาตอบรับข้าวมะลิ ผมก็เลยเอามาทำบ้าง เป็นปีแรก หลายคนว่าจะทำได้เหรอที่นี่ ผมว่าไม่เป็นไร เรียนรู้เอา  
วิธีทำข้าวให้อร่อย... ตลาดที่ผมขาย คือ 1.เพื่อนๆ คนรู้จัก เวลาเข้าประชุมก็นำเสนอ 2.ลูกๆหลานๆนำไปขายที่กรุงเทพและปราจีนบุรี 3.นำไปวางตามร้านขายข้าวสาร แรกๆขายยาก เพราะว่าใครก็มีไรซ์เบอร์รี่ มีเยอะมาก แต่ของผมมีจุดเด่นคือ เราปลูกไม่เหมือนใคร ทำไมพูดอย่างนั้น คือ 1.เรารู้จักธาตุอาหาร รู้จักดิน ดินขาดอะไร เอ็น (N) ทำให้ข้าวเติบโตแข็งแรง แต่เอ็นมากไป จะได้แต่ใบ ข้าวไม่ค่อยได้ ต้องใส่แค่พอดี พี (P) ทำให้เมล็ดข้าวแข็งแกร่ง และเค (K) ทำให้ข้าวมีรสหวานมันหอม ถ้าเรารู้จัก 3 ตัวแล้วใส่พอดี เท่าที่ข้าวต้องการ ใครก็สู้เราไม่ได้ แล้วธาตุอาหารพวกนี้ได้จากธรรมชาติ เช่น พืชตระกูลถั่ว ชาวนาทำได้หมด ใครก็ทำได้ เพื่อให้ข้าวมันอร่อย ปลูกถั่วลงไป ปลูกปอเทืองลงไป ตอนที่เราพักดิน  วิธีปลูกก็ปลูกตอนแล้ง แล้วก็ทิ้งไปเลย 60 วันกลับมาดู เขาไม่ต้องการน้ำ กินน้ำค้างก็อยู่ได้ 60 วันแล้วไถ่กลบ พร้อมกับฟางข้าว น้ำมาก็ทำเทือก ได้ธาตุอาหารเก็บไว้ในดินแล้ว ทำให้เรามีรายจ่ายแค่นิดเดียว คือ ต้องซื้อตัวเคมาเติมเท่านั้นเอง
ความโดดเด่น... คือ ข้าวของผมอร่อย หอม นุ่ม เราได้ธาตุอาหารจากธรรมชาติ บริสุทธิ์ มันตอบสนองตอนที่เราเอาข้าวมาหุงต้ม มันจะนุ่มนวล หอม หวาน พันธุกรรมเขากลับมา ชาวบ้านเอาข้าวไปกินกว่าจะรู้ใช้เวลานานเหมือนกัน พอเขาไปกินที่อื่น กับของเรา เขารู้ว่ามันต่างกัน อร่อยกว่า ก็กลับมาหาเรา ตลาดเริ่มติดแล้ว เป็นความโดดเด่นที่ใครก็ยังตามไม่ทัน ถ้าทำสูตรนี้ ข้าวเมืองไทยอร่อยทุกราย ผมชวนคนฉะเชิงเทรามาทำข้าวสูตรนี้ พัฒนาดินก่อน สร้างโรงงานธรรมชาติไว้ก่อน ใช้ไม่รู้จักหมด แสงอาทิตย์ ลม ฟ้า อากาศ มีอยู่ในเมืองไทยอยู่แล้ว พืชก็ฉลาดดูดธาตุอาหารเก็บไว้ที่ต้น เราไถ่กลบลงไปก็ได้แล้ว แต่เราต้องตรวจดูดินเราด้วยว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ตรงกับที่พระเจ้าอยู่หัวฯ สอนให้ห่มดิน คือ เอาพืชที่มีชีวิตมาห่มดิน ไม่ใช่เอาผ้ามาห่ม
อนาคต... ผมคงทำไรซ์เบอร์รี่ต่อไป เพิ่มมะลิ และสังข์หยดของพัทลุง ถามว่าปลูกได้เหรอ ตอบว่าข้าวก็คือข้าว เหมือนกันหมด ชอบอากาศ ฝน ที่เป็นธรรมชาติ เรารู้ใจข้าวเขาหรือเปล่า ถ้าเราเก่งจริง รู้จักเขา นิสัยเขาเป็นยังไง ชอบฤดูไหน เราก็ปลูกได้ ผมยังสนุกกับข้าวอยู่ อยากทำข้าว 1 กิโล ให้ได้ 1,000 บาท แต่ทำยังไงยังไม่รู้ต้องให้นักวิทยาศาสตร์ช่วย รู้แต่ว่าอยากทำ...
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ...
กลุ่มผู้ผลิต : วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลดอนเกาะกา
สถานที่ผลิต : เลขที่ 31/1 หมู่ที่ 4 ต.ดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร : 092-6548040 และ 086-1471868
ประธานกลุ่ม : คุณสุภาพ โนรีวงศ์

หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พรมเช็ดเท้าบ้านห้วยตะปอก กับบทเรียนที่ต้องคิดเอง ทำเอง

วันนี้ เราไปเยี่ยมกลุ่ม OTOP ไกลถึงบ้านห้วยตะปอก หมู่ที่ 9 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ ระยะทางห่างจากศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงที่ทำการกลุ่มพรมเช็ดเท้า ประมาณ 110 กิโลเมตร ไกลกว่าเดินทางไปกรุงเทพมหานครซะอีก คิดดูว่าเวลาเขาเอาผลิตภัณฑ์พรมเช็ดเท้ามาขายที่ตัวจังหวัดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร ท้ายบทความเราจะคุยกันเรื่องของลิขสิทธิ์สักนิด เป็นอุทาหรณ์สอนใจที่กลุ่มนี้เอามาฝาก เอาล่ะ...เราจะไปคุยกับคุณอัมพร กานต์วิศิษฎ์ ประธานกลุ่มพรมเช็ดเท้าบ้านห้วยตะปอก กันครับ... 

ประวัติความเป็นมา...กลุ่มของเราเป็นกลุ่มของชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยตะปอก หมู่ที่ 9 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกและชุมชน มีอาชีพ มีงานทำอย่างต่อเนื่อง สมาชิกเริ่มแรกมีเพียง 18 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 29 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 24 คน เริ่มแรกนั้นทำพรมเช็ดเท้าด้วยวิธีการทอ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2541 เปลี่ยนมาเป็นใช้วิธีการเย็บ เพื่อความแข็งแรง ทนทาน และสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ และออกแบบเป็นลวดลายต่างๆ ที่ไม่เหมือนใคร ปัจจุบันกลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้ว และกำลังมองหาช่องทางตลาดใหม่ๆ เพื่อขยายฐานการผลิตออกไปอีก รวมทั้งตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตพรมเช็ดเท้าให้กับสมาชิกในชุมชนและในหมู่บ้านอื่นๆ ที่สนใจ... 

กระบวนการ/ขั้นตอนการผลิต...กลุ่มของเรามีขั้นตอนการผลิต ดังนี้...
1.      ซื้อวัสดุ คือ เศษผ้า ด้ายจากโรงงานในกรุงเทพมหานคร
2.      ซื้อแผ่นยางจากภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง
3.      ตัดเศษผ้าให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 1 นิ้ว ยาว 2.5 นิ้ว
4.      ตัดแผ่นยางให้เป็นรูปแบบต่างๆ ต้องความต้องการ เช่น รูปสี่เหลี่ยม วงกลม แตงโม รูปการ์ตูน เป็นต้น
5.      นำปากกาเมจิกมาขีดเส้นบนแผ่นยางที่ตัดไว้เป็นแถวๆ ระยะห่าง 1 ซ.ม.
6.      นำเศษผ้าที่ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วมาวางบนเส้นที่ขีดไว้แล้วทำการเย็บตามรูปแบบที่ต้องการ… 

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์...ผลิตภัณฑ์ของเราใช้วิธีการเย็บ ไม่ใช้การทอเหมือนกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น จึงมีจุดเด่นแตกต่างออกไป ดังนี้...
1.      ใช้ได้ทนทาน มีระยะเวลาการใช้งานนานมากกว่า 3 ปี
2.      สีสันสดใส น่าใช้ มีแบบให้เลือกซื้อมากกว่า 30 แบบ
3.      สามารถซักล้าง ทำความสะอาด ด้วยมือหรือเครื่องซักผ้าได้ 

ปริมาณการผลิตและราคา...ผู้ผลิตของเราทั้งหมดเป็นชาวบ้านห้วยตะปอก ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน ฝ่ายผลิตก็ผลิตเกือบทุกวัน ฝ่ายขายก็ทำหน้าที่ขายเป็นประจำเช่นกัน...
  •       ปริมาณการผลิต ผลิตได้เดือนละ 6,000 – 10,000 ชิ้น
  •        ราคาจำหน่าย

          - ขายปลีก ชิ้นละ 39 บาท ,79 บาท และ 99 บาท ตามขนาด
          - ขายส่ง ชิ้นละ 20 บาท ,50 บาท และ 60 บาท ตามขนาด
มาตรฐานผลิตภัณฑ์และรางวัลที่ได้รับกลุ่มของเราได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และรางวัลต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้า ดังนี้
1.      ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
2.      ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับสามดาว ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จากโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2555 (OTOP Product Champion)
3.      ได้รับรางวัลที่ 3 จากการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2557 ของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จังหวัดฉะเชิงเทรา
4.      ได้รับประกาศเกียรติบัตรด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น จากกระทรวงพาณิชย์

สถานที่จำหน่าย...เรามีช่องทางการตลาด ดังนี้
1.      ที่ทำการกลุ่มพรมเช็ดเท้าบ้านห้วยตะปอก เลขที่ 553 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160 เปิดจำหน่ายเป็นประจำทุกวัน ทั้งขายปลีกและขายส่ง
2.      สถานที่จัดงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของอำเภอและจังหวัด รวมทั้งงาน OTOP ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดจำหน่ายตามโอกาสที่มีการจัดงาน
3.      วัดสมานรัตนาราม เปิดจำหน่ายทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด
4.      ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาพนมสารคาม เดือนละ 3,000 ชิ้น เปิดจำหน่ายทุกวัน
บทเรียนเรื่องลิขสิทธิ์...บทเรียนที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับกลุ่มอื่นๆ จากประสบการณ์ของกลุ่มพรมเช็ดเท้า คือ เรื่องของลิขสิทธิ์ ทางกลุ่มเคยผลิตสินค้าที่เป็นลายการ์ตูนดังๆ เช่น โดเรมอน ปลานีโม กบเคโระ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่านั่นคือการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กลุ่มจึงถูกดำเนินการและถูกปรับค่าเสียหายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนให้กลุ่มได้ดำเนินการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยความระมัดระวังในเวลาต่อมา โดยกลุ่มจะออกแบบผลิตภัณฑ์เองทั้งหมด ซึ่งมีคุณชลทรัพย์ กานต์วิศิษฎ์ (ลูกชายของคุณอัมพร) เป็นผู้รับผิดชอบ ก็ขออนุญาตบอกเตือนไปยังกลุ่มอื่นๆ ด้วยความหวังดีว่า อย่าไปละเมิดลิขสิทธิ์ของคนอื่นเขาเด็ดขาด ควรคิดออกแบบเองจะดีที่สุด...

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ...
กลุ่มผู้ผลิต : กลุ่มพรมเช็ดเท้าบ้านห้วยตะปอก
สถานที่ผลิต : เลขที่ 553 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160
โทร : 089-0717891 และ 093-5815091
ประธานกลุ่ม : คุณอัมพร  กานต์วิศิษฎ์

หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เอก&ออย เบเกอรี่ ดาวรุ่ง OTOP แปดริ้ว

เขียนถึง OTOP ที่เด่นดังมามากแล้ว วันนี้ มาติดตามดูดาวรุ่ง OTOP แปดริ้วกันหน่อยนะครับ เป็นผู้ประกอบการทำเบเกอรี่ในอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เพิ่งเข้าสู่วงการ OTOP ประมาณ 4 - 5 ปีนี้เอง แล้วก็มีท่าทีว่าจะไปได้ไกล เพราะมีความตั้งใจที่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ดีให้ได้ ฟังคุณรวิพร หอยสังข์ หรือคุณออย เจ้าของกิจการเอก&ออย เบเกอรี่ เล่าให้ฟังนะครับ...
ตั้งใจทำอย่างหนึ่ง กลับได้อีกอย่างหนึ่ง...เริ่มแรกปี 2549 คุณเอกวิทย์ ชุ่มชื่น (สามี) และดิฉันทำงานประจำ แต่คุณเอกวิทย์อยากเรียนเพิ่มเติมด้านซ่อมโทรศัพท์และคิดจะเปิดร้านขายโทรศัพท์จึงได้ไปสมัครเรียนที่โรงเรียนสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ช่วงที่ดิฉันรอเขาอยู่ ได้ไปดูอาจารย์สอนทำขนม ซึ่งดิฉันมีความชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และได้สมัครเรียนทำขนมเบเกอรี่ ส่วนคุณเอกวิทย์นั้นรออาจารย์มา 3 วัน ก็ไม่มีการเปิดสอนเพราะมีผู้สมัครไม่ครบตามจำนวน อาจารย์ที่สอนทำเบเกอรี่ เลยชวนมาเรียนด้วยกันพร้อมกับดิฉัน จากนั้นมาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ก็ได้ลงทุนซื้อเครื่องตี เตาอบ และอุปกรณ์ต่างๆ มาเพื่อทำขนม...
ครั้งแรกคิดทำแค่ทาน... ไม่ได้คิดถึงเรื่องขาย แต่พอทำและรู้สึกว่าอร่อยก็เลยทำแจกญาติพี่น้อง และกระแสตอบรับดี ก็เลยทำออกมาขายที่ทำงานและตลาดนัด ขายดีและมีลูกค้าสั่งเพิ่มในปริมาณที่มากขึ้น  แล้วก็เริ่มมองหาตลาดเพิ่ม มาลงตัวที่ตลาดโบราณนครเนื่องเขต และเปิดเป็นร้านเบเกอรี่เจ้าแรกของตลาด
สาลี่ทิพย์ไม่ใช่ขนมไข่...ย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 5  ได้มีการนำขนมอบ เข้ามาในกรุงสยาม หรือเรียกอีกอย่างว่า ขนมฝรั่ง หรือขนมกุฏีจีน” ซึ่งมีลักษณะกรอบนอกนุ่มใน เวลาทานจะรู้สึกว่ากรอบนอก นุ่มลิ่น ไม่ฝืดคอเหมือนขนมไข่ทั่วไป ที่กินแล้วรู้สึกติดคอ กระหายน้ำขึ้นมา แต่ลักษณะของขนมสาลี่ทิพย์นั้น คนไทยได้นำมาปรับปรุง โดยการใส่เนื้อมะพร้าวขูดลงไปในเนื้อของขนม เพื่อเพิ่มความหอมมันของเนื้อมะพร้าว ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยจะนิยมนำมะพร้าวมาใช้ในการประกอบอาหารหวานคาว เพราะเป็นผลไม้ที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณ และได้ตั้งชื่อขนมชนิดใหม่ว่าขนมสาลี่ทิพย์”
ผสมดอกอัญชัน ดีและแตกต่าง...ต่อมาทางร้าน ได้มีการคิดค้นและนำมาปรับปรุงต่อยอดของผลิตภัณฑ์ โดยได้นำ ดอกอัญชันพืชสมุนไพรที่มี สรรพคุณ คือ มีเบต้าแคโรทีนสูง เป็นตัวแอนติออกซิแดนท์ ช่วยต่อต้านสารก่อมะเร็ง  สารแอนโธไซยานินที่มีอยู่มากในดอกอัญชัน มีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ เช่น ช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็น เนื่องจากสารตัวนี้จะไปเพิ่มการไหลเวียนในหลอดเลือดเล็กๆ เช่น หลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้กลไกที่ทำงานเกี่ยวกับการมองเห็นแข็งแรงขึ้น เพราะมีเลือดไหลเวียนมาเลี้ยงมากขึ้น ในขณะนี้ก็มีการศึกษาวิจัยทางคลินิก เกี่ยวกับความสามารถของสารแอนโธไซยานิน ในการเพิ่มประสิทธิภาพของตา เช่น ตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน โรคต้อหิน โรคต้อกระจก  เป็นต้น และสารแอนโธไซยานินที่ว่านี้ ก็ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติอีกด้วย นอกจากนั้น ในตำรายาไทยยังได้กล่าวถึง สรรพคุณของอัญชันไว้ว่า รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย ช่วยบำรุงสายตา แก้ตาอักเสบ ตาฟาง ตาแฉะ นอกจากนี้ ยังมีการนำรากอัญชันมาถูฟันแก้ปวดฟัน ทำให้ฟันคงทนแข็งแรงได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นดอกไม้ไทยๆ อีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าไม่น้อยเลยทีเดียว เวลานำมาทำขนมจะทำให้มีกลิ่นหอมและหวานมันจากเนื้อมะพร้าวและดอกอัญชัน ทางร้านได้ตั้งชื่อขนมใหม่ว่า “สาลี่ทิพย์ดอกอัญชันกรอบ” โดยยังมีหน้ากรอบนอก นิ่มในดั้งเดิมด้วย...
กรอบนอกนุ่มใน อร่อยได้มาตรฐาน... ลักษณะที่โดดเด่นของขนมสาลี่ทิพย์ คือ เนื้อขนมจะกรอบนอกนุ่มข้างใน เวลาทานจะนุ่มลิ้น ไม่ฝืดคอ เพราะเนื้อขนมจะมีเนื้อมะพร้าวผสมดอกอัญชัน อยู่ข้างในเวลาทานจะทำให้รู้สึกว่ามีความหอมและมันของเนื้อมะพร้าวและดอกอัญชัน ที่สำคัญดิฉันจะเลือกมะพร้าวจากสวนในพื้นที่เท่านั้น ส่วนดอกอัญชันทางร้านนั้นปลูกเองเพราะมั่นใจว่าไม่มีสารยาฆ่าแมลง เคล็ดลับความอร่อยของเรา อยู่ที่การยีมะพร้าวแบบโบราณ (ความลับเฉพาะทางร้าน) เพื่อให้เนื้อขนมมีความนิ่มและหอมหวานไม่กระด้าง สำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์นั้น ทางร้านได้เครื่องหมาย มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) จากกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเครื่องรับรองมาตรฐาน และได้รับประกาศเป็น OTOP ระดับ 4 ดาว ในปี 2555 จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ทางร้านจึงมีความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์นี้อร่อยแล้วก็ได้มาตรฐานด้วย
หนึ่งในใจของผู้บริโภค คือ ความฝันของเรา... เราต้องการเป็นผู้นำที่ผลิตและจำหน่าย ขนมสาลี่ทิพย์ดอกอัญชันกรอบ” ที่เป็นเจ้าแรกในจังหวัดฉะเชิงเทรา และเป็นที่ยอมรับของลูกค้า โดยเราจะเน้นคุณภาพมาตรฐาน รสชาติที่อร่อย เนื้อหอม กรอบนอกนุ่มในคงเดิม ทำให้เวลาที่ลูกค้าอยากทานจะนึกถึงแบรนด์ เอก & ออย เบเกอรี่”...  เราต้องการเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งระดับบน กลาง และล่าง สิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ...
1.       คัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพในการผลิตสินค้า
2.       เน้นความสะอาด ปลอดภัย ต่อผู้บริโภค
3.       สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้า
4.       ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
5.       ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลากหลายรสชาติ
6.       ราคาไม่แพง
ช่องทางการจำหน่าย... ขณะนี้เปิดหน้าร้าน 2 แห่ง อยู่ที่ตลาดโบราณนครเนื่องเขต และตลาดปองพล อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา นอกนั้นก็จะมีออกบูธตามกลุ่มโรงงานนิคมอุตสาหกกรม บูธร่วมกับหน่วยงานราชการ / หน่วยงานเอกชน และฝากขายกับโรงเรียน พนักงานบริษัท ร้านกาแฟสด และเครือข่าย OTOP แปดริ้ว สินค้าของเราไม่ได้ขายเฉพาะขนมสาลี่ทิพย์นะคะ เรามีขนมเบเกอรี่อย่างอื่นด้วย เช่น ขนมปังปอนด์ ขนมปังกรอบ และมีวุ้นมะพร้าวอ่อนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าดูหลากหลายน่าสนใจขึ้นค่ะ...
ถ่ายภาพกับนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ...
กลุ่มผู้ผลิต : ร้านเอก & ออย เบเกอรี่
สถานที่ผลิต : เลขที่ 63 หมู่ 10 ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000
โทร : 081-1528866 ,089-5409412
ประธานกลุ่ม : คุณรวิพร  หอยสังข์
หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

หมี่กรอบ “คุณย่าพูล” อร่อย 5 ดาว

ยอดขายดีมากนะครับ สำหรับหมี่กรอบตรา “คุณย่าพูล” ...ในระยะ 4 – 5 ปีมานี้ ต้องบอกว่ายอดขายสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี สวนทางอย่างผิดหูผิดตากับกระแสเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาลง ผมคิดว่ามาจากปัจจัยหลายอย่างผสมผสานกัน หนึ่งคือผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นและมีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน ถูกใจตลาด สองคือการประชาสัมพันธ์แบบบอกต่อ ปากต่อปาก เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ใช้ทุนน้อยแต่ได้ผลมาก และสามคือความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการที่เอาจริงเอาจัง ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ...เอาล่ะ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์หมี่กรอบตรา “คุณย่าพูล” กัน โดยจะคุยกับคุณบุญมี ศรีสุข ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากน้ำโจ้โล้ เจ้าของผลิตภัณฑ์หมี่กรอบตรา “คุณย่าพูล” ครับ...
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากน้ำโจ้โล้ เป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จัดตั้งขึ้นโดยสำนักงานเกษตรอำเภอบางคล้า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2545 สมาชิก จำนวน 15 คน เลขทะเบียนวิสาหกิจชุมชน 3-24-02-09/1-0002 มีกรรมการบริหารกลุ่ม จำนวน 8 คน ประกอบด้วย ประธาน (ปัจจุบัน คือ คุณทองพูล ศรีวรานันท์) รองประธาน ฝ่ายบัญชีและการเงิน ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายผลิต และเลขานุการ สมาชิกกลุ่ม จำนวน 7 คน เป็นแรงงานแม่บ้านในท้องถิ่นทั้งหมด ช่วงที่มีการสั่งซื้อมากๆ จะเพิ่มแรงงานจากเยาวชนและนักเรียนในหมู่บ้าน สถานที่ตั้งอยู่เลขที่ 39/4 หมู่ 1 ต.ปากน้ำ  อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
การบริหารจัดการกลุ่ม... กลุ่มของเราจะดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการส่งเสริมและสนับสนุนโดย

  1. มีการจัดทำระเบียบข้อบังคับ
  2. จัดให้มีการประชุมกลุ่มทุก 3 เดือน เพื่อพัฒนาปรับปรุงการทำงาน
  3. มีการจัดทำแผนการตลาด แผนการผลิต แผนการเงิน
  4. มีการจัดทำงบการเงินและงบดุล โดยได้รับความรู้จาก สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ฉะเชิงเทรา
  5. ทุนที่ใช้เป็นการระดมทุนจากสมาชิก และเงินสนับสนุนจากเทศบาลตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
  6. มีการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกกลุ่ม และปันผลสิ้นปี
  7. มีการช่วยเหลือสังคมและชุมชน เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ เป็นต้น
เรื่องราวของผลิตภัณฑ์... ตั้งแต่จัดตั้งกลุ่มมามีการผลิตสินค้าหลากหลายชนิดโดยใช้วัตถุดิบของท้องถิ่น เช่น มะขามแก้ว มะม่วงกวน แต่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบไม่มีตลอดทั้งปี กลุ่มจึงมีการจัดประชุมระดมความคิดว่าจะผลิตสินค้าอะไรที่สามารถตอบสนองออเดอร์ได้ตลอดทั้งปี  จึงสรุปความคิดเห็นว่าควรผลิตหมี่กรอบซึ่งเป็นอาหารไทย ภูมิปัญญาไทย ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ใช้รับประทานเป็นอาหารว่างหรือเป็นกับข้าวก็ได้ ประกอบกับที่ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า เป็นแหล่งของการผลิตน้ำตาลโตนดจากต้นตาล คุณภาพดี มีกลิ่นหอม รสหวานเป็นพิเศษ ทางกลุ่มจึงได้นำน้ำตาลปี๊บจากต้นตาลโตนดที่ผลิตในชุมชน ใหม่สดทุกวัน มาเป็นส่วนผสมของหมี่กรอบสูตรต่างๆ คลุกเคล้าให้เข้ากันกับน้ำซอสที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ จึงได้หมี่กรอบสูตรต่าง ๆ ที่อร่อยลงตัว มีเอกลักษณ์ของความเป็นอาหารไทยโบราณ และยังเป็นการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในชุมชนอีกด้วย
ย่าพูลตัวจริง
ที่มาของตรา “คุณย่าพูล”... หลังจากได้รับการฝึกอบรม เรียนรู้เรื่องการสร้างแบรนด์ จากหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาต่างๆ แล้ว กลุ่มได้ปรึกษากันที่จะสร้างแบรนด์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์หมี่กรอบขึ้นมา โดยพิจารณาว่า ผลิตภัณฑ์นี้เป็นอาหารไทยโบราณ ดังนั้น หากจะสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าศรัทธาก็ควรจะเป็นชื่อของผู้สูงอายุหรือคนแก่ที่เป็นเจ้าของสูตรอาหารนี้ จึงได้สร้างแบรนด์ตรา “คุณย่าพูล” ขึ้นมา คุณย่าพูลมีตัวตนจริงๆ ก็คือ คุณทองพูล ศรีวรานันท์ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากน้ำโจ้โล้ นั่นเอง ปัจจุบันแบรนด์นี้เป็นที่ยอมรับและศรัทธาของกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก...
สินค้าที่ผลิตและกลุ่มเป้าหมาย หมี่กรอบเป็นอาหารพื้นบ้านแต่โบราณ ทำรับประทานในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง เก็บรักษาไม่ได้นาน ทำแล้วก็ต้องรับประทานให้หมด กลุ่มจึงได้นำภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาดัดแปลงเป็นการค้าสร้างรายได้ ผ่านขั้นตอนการผลิตที่สะอาด ถูกหลักอนามัย ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. ผ่านการคัดสรรเป็น OTOP ระดับ 5 ดาว (ปี 2555) โดยนำมาบรรจุกล่องที่ทันสมัย ผนวกกับฟิล์มหดป้องกันสิ่งเจือปน ทำให้หมี่กรอบทั้ง 2 สูตร คือ สูตรโบราณ (ดั่งเดิม) และสูตรสมุนไพร คงรสชาติกรอบอร่อยเหมือนเดิม มีอายุการเก็บรักษาไว้ยาวนานขึ้น สามารถส่งไปขายตามร้านค้า ร้านของฝาก ให้แก่นักท่องเที่ยว ผู้สูงอายุ ผู้บริโภคภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งห้างสรรพสินค้าชั้นนำของประเทศได้...
การเพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่... ทางกลุ่มได้รับความรู้จากการฝึกอบรมกับหน่วยงานต่างๆ จึงคิดที่จะพัฒนา ปรับปรุงรสชาติของหมี่กรอบที่เดิมมีแต่สูตรโบราณ และสูตรสมุนไพรเท่านั้น โดยคิดค้น เพิ่มสูตรหมี่กรอบให้หลากหลาย เพิ่มมูลค่าทางอาหารให้มากขึ้น เช่น สูตรธัญพืช เพื่อคนที่รักสุขภาพ สูตรต้มยำกุ้ง เพื่อผู้ที่ชอบรสชาติที่แปลกใหม่ สูตรมันกุ้งที่กลมกล่อมชอบรับประทาน ซึ่งเป็นตัวเลือกสำหรับลูกค้าเป้าหมายใหม่ ได้ทดลองสูตรใหม่ๆ ไม่เบื่อและจำเจ จะทำให้ลูกค้าอยู่กับสินค้าของเราได้นานขึ้น และเพิ่มกลุ่มลูกค้าจากผู้สูงอายุมาเป็นกลุ่มวัยรุ่น และคนสมัยใหม่มากขึ้น
แนวคิดของผลิตภัณฑ์ใหม่... การนำอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาแต่ดั้งเดิมมาผสมผสานการทำธุรกิจสมัยใหม่ ปรับให้เข้าสู่ชีวิตไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ให้ผลิตภัณฑ์หมี่กรอบที่มีรสชาติกรอบอร่อยอยู่แล้ว แต่ก้าวต่อไปเพื่อความทันสมัยมากขึ้น กลุ่มได้มีแนวคิดที่จะผลิตหมี่กรอบให้มีลักษณะเป็นก้อนพอดีคำ เพื่อความสะดวกในการรับประทาน พกพาไปได้ทุกที่ หิวเมื่อไรก็เปิดกล่องรับประทานได้เลย และยังใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามสะอาดไม่ปนเปื้อน อายุสินค้าเก็บได้นาน 1 เดือน ทางกลุ่มเชื่อว่าจะเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงานที่ต้องการความสะดวกสบายอย่างแน่นอน และยังคงรักษากลุ่มลูกค้าเดิมได้ด้วย...
การตลาดและแหล่งจำหน่าย... ปัจจุบันหมี่กรอบตรา “คุณย่าพูล” มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อหาตามความชอบ จำนวน 5 สูตร ได้แก่ สูตรโบราณ (ดั้งเดิม) สูตรสมุนไพร สูตรธัญพืช สูตรต้มยำกุ้ง และสูตรมันกุ้ง ผลิตภัณฑ์น้ำหนักสุทธิ 110 กรัม ราคากล่องละ 35 บาท โดยจำหน่ายอยู่ที่วัดสมานรัตนารามทุกวัน... ตลาดน้ำบางคล้าทุกวันเสาร์ อาทิตย์... ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น ห้างเดอะ มอลล์ ห้างสยามพารากอน ห้างแม็กแวลู  ปั้มน้ำมัน ปตท. ร้านจิ๊ฟฟี่ ร้านขายของฝากหลายแห่งในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งจำหน่ายทางระบบขนส่งพัสดุไปรษณีย์อีกหลายจังหวัด ในการทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย กลุ่มจะใช้กลยุทธ์ปรุงสดให้ลูกค้าชม โดยเฉพาะที่ตลาดน้ำบางคล้า จะมีการปรุงสดทุกวันที่เปิดจำหน่าย เป็นการเพิ่มยอดขายที่ได้ผลดีมาก...

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม... ติดต่อที่ คุณบุญมี ศรีสุข ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากน้ำโจ้โล้ เลขที่ 39/4 หมู่ 1 ต.ปากน้ำ  อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โทร.038-133174  สายด่วน 24 ชม. โทร 081-9288216 หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

ขอบคุณนิตยสาร "ที่นี่แปดริ้ว"

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พระปรางค์วัดสะแกงาม

พระปรางค์วัดสะแกงาม ตั้งอยู่ บ้านสะแกงาม ในวัดสะแกงาม หมู่ที่ ๘ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๗ ฐานกว้าง ๑๑ ศอก สูง ๑๕ วา นายเก๊า นางเฮียะ สามีภรรยาสกุลสมบูรณ์ทรัพย์ คหบดีชาวบางขาม สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลและบรรจุอัฐิบุตรีที่เสียชีวิต 

ถ้ำนางสิบสอง

ถ้ำนางสิบสอง ตั้งอยู่ติดวัดหินดาษ บ้านหินดาษหมู่ที่ ๑๔ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ถ้ำนางสิบสองเป็นเรื่องเล่าในนิทานพื้นบ้านเรื่องพระรถเมรี ที่นางยักษ์สนธมารนำนางทั้งสิบสองมาขังไว้ ชาวดงน้อยเล่าว่า เมื่อก่อนปากถ้ำนี้กว้างกว่าที่เราเห็น สามารถเดินจากโพรงถ้ำนี้ไปทะลุที่ลานชนไก่พระรถได้ 

วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

แปดริ้วเปิดช่องทางรวย...รับลงทะเบียน OTOP…ตั้งแต่บัดนี้

ข่าวดีสำหรับชาวแปดริ้ว... ขณะนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจอยากจะเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ได้ลงทะเบียนแล้ว นับว่าเป็นโอกาสอันดี สำหรับกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายเดียว และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหลาย ที่จะได้รับการสนับสนุนจากทางราชการ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ แต่ก่อนที่จะพูดถึงเงื่อนไข หลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการลงทะเบียน ผมขอพาท่านย้อนกลับไปทบทวนเรื่องแนวคิดและหลักการของ OTOP สักนิด เพื่อฟื้นฟูความรู้ความเข้าใจในเรื่อง OTOP ให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน...
แนวคิดเรื่อง หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์หรือ One Tambon One Product (OTOP) เป็นแนวคิดที่เน้นกระบวนการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชนหรือตำบล เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้แต่ละชุมชนได้นำทรัพยากรภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นและมีมูลค่าเพิ่มเป็นที่ต้องการของตลาด สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่น โดยยึดหลักการพึ่งตนเองของชุมชน และรัฐพร้อมที่จะช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการ เชื่อมโยงสินค้าชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หนึ่งท้องถิ่น มีผลิตภัณฑ์อย่างน้อยหนึ่งอย่าง... นอกจากนี้ยังเป็นแนวคิดที่ต้องการให้แต่ละท้องถิ่นมีผลิตภัณฑ์หลักอย่างน้อย 1 ประเภท ที่ใช้วัตถุดิบทรัพยากรของท้องถิ่น ลดปัญหาการอพยพ ย้ายถิ่นไปสู่เมืองใหญ่ เป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่สอดคล้องกับการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างชุมชนที่เข้มแข็งพึ่งตนเองได้ การดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นกลยุทธ์การพัฒนาที่ต้อง อาศัยหมู่บ้านเป็นหน่วยการพัฒนาเบื้องต้น
ผลิตภัณฑ์ไม่ได้หมายถึงตัวสินค้าอย่างเดียว... แต่เป็นกระบวนการทางความคิดรวมถึงการบริการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การรักษาภูมิปัญญาไทย การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรมประเพณี การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีเอกลักษณ์ มีจุดเด่น จุดขาย ที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ
หลักการพื้นฐานของ OTOP... การดำเนินงาน OTOP มีหลักการพื้นฐานในการดำเนินงาน ดังนี้
1. ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล (Local yet Global) ผลิตสินค้าและบริการที่ใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
2. พึ่งตนเองและคิดอย่างสร้างสรรค์ (Self - Reliance – Creativity) สร้างกิจกรรมที่อาศัยศักยภาพของท้องถิ่น คิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนไม่ซ้ำแบบกันและเป็นที่ยอมรับทั่วไป
3. การสร้างทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) สร้างบุคลากรที่มีความคิดกว้างไกลมีความรู้ ทักษะ ความสามารถในการผลิตและบริการมีจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์
ไม่ได้เน้นการให้เงินสนับสนุนแก่ท้องถิ่น... หลักการดังกล่าว ไม่เน้นการให้เงินสนับสนุนท้องถิ่น เพราะอาจไปทำลายความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชน รัฐบาลเพียงให้การสนับสนุนด้านความรู้ เทคโนโลยีที่จะพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ตลอดจนด้านการประชาสัมพันธ์ และช่องทางการจำหน่ายสินค้าสู่ตลาดต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายหลัก 3 ประการคือ
1. มาตรฐานผลิตภัณฑ์คุณภาพระดับสากล
2. มีเอกลักษณ์เป็นที่ลือชื่อเพียงหนึ่งเดียว
3. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการปรับปรุงเทคโนโลยี
กิจกรรมหลักที่สำคัญของ OTOP... ในการดำเนินการ OTOP มีกิจกรรมหลักที่สำคัญ ดังนี้
1. ขยายสินค้าท้องถิ่นไปยังตลาด โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพเพื่อขยายออกสู่ตลาดทุกระดับ
2. ผลิตและคิดค้นขึ้นเองโดยคนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นผู้ให้การสนับสนุน ในด้านความรู้ เทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นและการวิจัยที่ครบวงจร
3. สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพของท้องถิ่น มีความรู้ความสามารถความคิดกว้างไกล มีการบริหารจัดการที่ดี มุ่งเน้นการผลิตและบริการโดยคำนึกถึงผู้บริโภคเป็นหลัก
ทำไมจึงต้องมีการลงทะเบียน OTOP... กลับมาพูดถึงเรื่องการลงทะเบียนเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กันต่อนะครับ... การดำเนินงานโครงการ OTOP จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน แต่เนื่องจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า OTOP มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี อีกทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP รายเดิม ได้มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานใหม่ ทางราชการจึงมีความจำเป็นต้องมีการสำรวจข้อมูลการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เพื่อจัดทำฐานข้อมูลใหม่ ให้สามารถสนับสนุนด้านวิชาการและการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงานหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เช่น การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP การเพิ่มประสิทธิภาพกลุ่มอาชีพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ...
ผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่จะลงทะเบียนได้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร...
1. ต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ที่ทำการผลิตสินค้า OTOP อยู่ในพื้นที่อำเภอที่ขอลงทะเบียน มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ดังนี้ เป็นกลุ่ม หรือเป็นเจ้าของรายเดียว หรือเป็นวิสาหกิจขนาดกลาง/ขนาดย่อม
2. ต้องมีความเชื่อมโยงกับชุมชน ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ หรือชุมชนได้รับประโยชน์
3. สถานที่ผลิตต้องตั้งอยู่ภายในอำเภอที่ขอลงทะเบียน
4. ผู้ผลิต ผู้ประกอบการและสมาชิกกลุ่ม ต้องมีสัญชาติไทย
5. กรณีส่งตัวแทนมาแจ้งการลงทะเบียนจะต้องเป็นได้รับมอบอำนาจ

ผลิตภัณฑ์ที่สามารถลงทะเบียนได้... ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงภูมิปัญญาไทยและมีลักษณะ ดังนี้
1. วัตถุดิบที่นำมาผลิต ต้องไม่ผิดกฎหมาย
2. ไม่เป็นสินค้าที่เลียนแบบ ดัดแปลง นำเข้า หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
3. ไม่เป็นสินค้าที่ก่ออันตรายอย่างร้ายแรงต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม
4. กรณีเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกฎหมายบังคับ ต้องได้รับอนุญาตให้ผลิต
วันที่รับลงทะเบียน... ทุกครั้งที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชนจะให้เวลาในการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ปีนี้เปิดโอกาสให้ลงทะเบียนได้ถึง 4 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ 
ไตรมาสที่ 1 ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน - 7 ธันวาคม 2557,
ไตรมาสที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 20 มีนาคม 2558,
ไตรมาสที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 20 มิถุนายน 2558 ,และ
ไตรมาสที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม
8 สิงหาคม 2558
แต่ทางจังหวัดฉะเชิงเทราของเรา เน้นเชิญชวนตั้งแต่ไตรมาสแรกครับ...


สำหรับวิธีการและขั้นตอนการลงทะเบียน... รวมทั้งเอกสารหลักฐานต่างๆ นั้น ขอให้ติดต่อสอบถามจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอที่ขอลงทะเบียน หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทราก็ได้ หมายเลขโทรศัพท์ 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...