วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลดอนฉิมพลี

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลดอนฉิมพลี
ประเภท... กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
ชื่อองค์กร... กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลดอนฉิมพลี
สถานที่ตั้ง... องค์การบริหารส่วนตำบลดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา
ชื่อประธาน... นางสมศรี แก่นรอด
เบอร์โทร... 08-9825-4463
จำนวนเงินทุน... 2,478,070 บาท
จำนวนสมาชิก... 256 คน
กิจกรรม/บริการ/ผลิตภัณฑ์ ...
บริการสมาชิกกู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ
การจัดสรรผลกำไร...
ทุนสำรอง 5%
ปันผลสมาชิก 70%
เฉลี่ยคืน 10%
สาธารณประโยชน์ 5%
ค่าตอบแทนคณะกรรมการ 10%
สวัสดิการสมาชิก...
ฌาปณกิจสงเครกะห์ การรักษาพยาบาล
จุดเด่น/จุดขาย...
ประชุมคณะกรรมการประจำเดือน
สมาชิกส่งสัจจะทุกวันที่ 8 ของเดือน
แนวคิดในการดำเนินงาน...
เป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพ
และบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือน
ทั้ง ด้านการช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่ชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา(3)

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวแปดริ้ว 3
31. เกาะลัด อำเภอคลองเขื่อน
เกาะลัดเป็นเกาะกลางน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่กลางลำน้ำบางปะกง สามารถล่องเรือชมทิวทัศน์รอบเกาะลัดสองฟากฝั่งแม่น้ำ ศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้าน สามารถลงเรือได้ที่หน้าที่ว่าการอำเภอบางคล้า หรือหน้าวัดคุ้งกร่าง กิ่งอำเภอคลองเขื่อน
32. ตลาดน้ำบางคล้า อำเภอบางคล้า
เป็นตลาดที่จัดตั้งขึ้นโดยเทศบาลตำบลบางคล้า โดยนายกเทศมนตรีศุภชัย วีระสมบัติ เริ่มเปิดทดลองขายเมื่อวันที่ 27- 31 ธันวาคม 2550 และดำเนินกิจกรรมตลอดมาจนถึงปัจจุบันโดยพ่อค้า แม่ค้าจะลงเรือขายของและตั้งร้านค้าบนโป๊ะทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ มีกิจกรรมเสริมของตลาดน้ำ ได้แก่ เรือเช่าชมเกาะลัด (เกาะน้ำจืด) โดยมีนักเรียนของเทศบาลมาเป็นมัคคุเทศก์ให้โดยเรือมีไว้ให้บริการนัก ท่องเที่ยวท่านละ 60 บาทและเช่าเหมาลำ 2,900 บาท/เที่ยว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.038 - 541027
33. สวนปาล์ม ฟาร์มนก อำเภอคลองเขื่อน
อยู่ที่ตำบลบางตลาด อำเภอคลองเขื่อน ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทราประมาณ 7 กิโลเมตร(ผ่านเขื่อนทดน้ำบางปะกงทางไปอำเภอบางคล้า) เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และจำหน่ายนกแก้วมาคอร์ (พันธุ์บลูแอนด์โกลด์, สกาเล็ต, กรีนวิง, ไฮยาซิน) นกกระตั้ว สุนัขพันธุ์ต่างประเทศ (พันธุ์โอลด์อิงลิช มาสตีฟ, เฟรนซ์ มาสตีฟ, นีโปรลีแตน มาสตีฟ) และต้นปาล์มกว่า 10 สายพันธุ์ เช่น ตาลฟ้า มูลิไอวิคตอเรีย โคราช ฟ๊อกซ์เทล ริเวอร์ เพชรบุร อินทผลัม เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเที่ยวชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในสวนได้ ซึ่งหากเข้าชมเป็นหมู่คณะติดต่อล่วงหน้าได้ที่ 0 – 3855 – 1834
34. ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อำเภอบางคล้า
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 เพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับชัยชนะในการสู้รบกับพม่าบริเวณปากน้ำโจ้โล้ ทรงใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านในการกอบกู้เอกราช หลังเหตุการณ์เสียกรุง เล่ากันว่าก่อนหน้านั้น สถานที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของเจดีย์อนุสรณ์ชัยชนะของพระองค์ คราวสู้รบกับพม่าในบริเวณนี้ ภายหลังเจดีย์ได้พังทลายลงในปี พ.ศ. 2491 โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ยังคงเล่าเรื่องราวสืบต่อกันมา และได้สร้างศาลพร้อมอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2531
35. เรนโบว์ อโรคยา อำเภอบางคล้า
ศูนย์อายุยืนแห่งแรกในประเทศไทย ศูนย์สุขภาพแบบองค์รวมแนวใหม่ ที่ให้ความรู้ร่วมกับประสบการณ์จริงในการดูแลสุขภาพ ทั้งทางภาคทฤษฎีและปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองได้อย่าง ยั่งยืน ท่ามกลางธรรมชาติของพันธุ์ไม้นานาชนิด บนพื้นที่กว่า 13 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เบอร์โทรติดต่อ 038 – 568 – 291 – 2
36. เที่ยวสวนมะม่วงฉะเชิงเทรา
มะม่วงที่ผลิตได้นำออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยทำการผลิตแบบชีวภาพ มะม่วงที่ขึ้นชื่อ เช่น มะม่วงแรด น้ำดอกไม้สีทอง เขียวเสวย เป็นต้น นักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถเข้าชมขั้นตอนการผลิตมะม่วงการจัดการในสวนและชิมมะม่วงที่สวนต่าง ๆ ดังนี้
1. สวนพัชระ หมู่ 2 ต.บางคา อ.ราชสาส์น โทร. 08 – 1806 – 7474 ปลูกมะม่วงแรดที่มีคุณภาพระดับส่งออก
2. สวนพฤษณา หมู่ 5 ต.บางคา อ.ราชสาส์น โทร. 08 – 1459 – 4033 ปลูกมะม่วงหลากชนิด เน้นการผลิตระบบชีวภาพ
3. สวนเงาศิลป์ หมู่ 15 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม โทร. 08 -1930 -5052 ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
4. สวนเพชรสำโรง หมู่ 9 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว โทร. 08 -9834 – 3299 ปลูกมะม่วงเขียวเสวย เป็นสวนที่เกษตรกรใช้เป็นตัวอย่างในการผลิตมะม่วงคุณภาพ ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. 0 – 3851 – 3197 , 0 – 3851 – 1635
5. สวนแก้ววงษ์นุกูล 56 หมู่ 3 ต.สาวชะโงก อ.บางคล้า โทร. 0 – 3858 – 3734
6. สวนเกียรติอัมพร 290 หมู่ 6 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม โทร. 08 – 9242 – 1966
7. สวนหมอนิคม (เกียรติฉวีพรรณ) 170 หมู่ 13 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต โทร. 08 – 1864 – 7684
8. สวนผานาง (วิทยา แว่นสวน) 6 หมู่ 13 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต โทร. 08 – 9939 – 8481
9. สวนสาธิตเกษตร เป็นสวนของนายกุณฑล(ช้าง) – นางยุพิน ฉลาดถ้อย ตั้งอยู่ที่บ้านสะพานนาค ต.วังเย็น อ.แปลงยาว โทร. 08 – 1949 – 2181
37. ศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า อำเภอพนมสารคาม
ตั้งอยู่ในอำเภอพนมสารคาม สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้วยพระปรีชาสามารถในวิชาการทหารแบบตะวันตก ทรงพัฒนากองทัพและประเทศชาติจนก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดศาลแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2522
38. สวนสาธิตเกษตรของกลุ่ม OTOP อำเภอแปลงยาว
สวนสาธิตเกษตรเป็นสวนของนายกุณฑล(ช้าง) – นางยุพิน ฉลาดถ้อย ตั้งอยู่ที่บ้านสะพานนาค ต.วังเย็น อ.แปลงยาว เป็นสวนสาธิตการเกษตรที่มีให้ชิมและให้ชมทั้ง ต้นไม้นานาภัณฑ์ ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ ซึ่งใช้วิธีการปลูกจากภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง โดยได้คิดสูตรน้ำหมักชีวภาพที่ได้คุณภาพจนประสบผลสำเร็จได้รับรางวัล OTOP 5 ดาว ระดับประเทศ ทำให้ได้ผลผลิตงอกงามดี ต้นไม้และผลไม้มีผลขนาดใหญ่กว่าท้องตลาด อาทิ มะม่วงผลใหญ่กว่ามะพร้าว ขนุนยักษ์ ซึ่งได้รับความ สนใจจากเกษตรกร กลุ่มผู้นำชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เดินทางศึกษาดูงานที่เป็นประจำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08 – 1949 – 2181
39. กลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์จากก้านมะพร้าวและไม้ไผ่ อำเภอแปลงยาว
ผลิตขึ้นจากฝีมือของกลุ่มแม่บ้าน ต.วังเย็น อ.แปลงยาว เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ทำเป็นอาชีพเสริมสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้แก่ ตะกร้า ตะกร้อสอยผลไม้ ฝาชี ขวดไวน์ แจกันดอกไม้ กระเช้าดอกไม้ กระเช้าผลไม้ กระเช้ารูปไก่ และเครื่องจักสานอีกนานาชนิด เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ทนทาน ใช้งานได้นานปีจนได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว แวะซื้อหาเป็นของฝากกลับบ้าน ปัจจุบันจำหน่ายอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอแปลงยาว
40. ถ้ำนางสิบสอง อำเภอราชสาส์น
ถ้ำนางสิบสอง เป็นบ่อศิลาแลงลึกลงไปใต้ดิน มีน้ำเอ่อเกือบเต็ม ปากบ่อกว้างประมาณ 1 เมตร ภายในลึกเท่าใดไม่ทราบ แต่ชาวดงน้อยเล่าว่าเมื่อก่อนบ่อกว้างกว่าปัจจุบัน เห็นน้ำในบ่อตักเท่าไหร่ไม่รู้จักหมด และสามารถเดินทางตามโพรงบ่อนี้ไปทะลุที่ลานพระรถชนไก่ ครั้งหนึ่งมีวัวเดินตกลงไปตายในบ่อ ชาวบ้านเลยช่วยกันนำต้นโพธิ์มาปลูกปิดบังไว้ ต่อมาต้นโพธิ์ก็โค่นล้มไปอีก จึงเหลือแต่โพรงศิลาเป็นถ้ำนางสิบสองให้เราได้เห็นจนทุกวันนี้
41. ลานพระรถชนไก่ อำเภอราชสาส์น
อยู่ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น ปัจจุบันมีลักษณะเป็นลานกว้างล้อมรอบด้วยกอไผ่และต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ริมลานมีเจดีย์ทรงกลมขนาดย่อมไม่ปรากฏว่าสร้างสมัยใด มีตำนานเล่าว่าบริเวณนั้นปลูกต้นข้าวไม่ค่อยได้ผลเพราะพระรถเคยขอชาวบ้าน เลี้ยงไก่ แต่ชาวบ้านไม่ให้พระรถจึงสาปไว้ ลานชนไก่แห่งนี้พระรถได้ไปท้าพนันชนไก่กับเจ้าเมืองอู่ไท ในบริเวณใกล้เคียงกันนี้ยังมีถ้ำนางสิบสองและหมอนนาง ที่บ้านหมอนนาง ศิลา 12 ก้อนเป็นหมอนสำหรับนางสิบสองในเรื่องพระรถเสนหนุน ส่วนถ้ำนางสิบสองเป็นถ้ำดินที่นางสิบสองเคยถูกขังเพราะนางยักษ์สนธมาร
42. วัดท้าวอู่ไท อำเภอสนามชัยเขต
วัดท้าวอู่ไท ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งเมื่อประมาณ 700 – 1000 ปีก่อน เจ้าท้าวอู่ไทมีความเป็นมาอย่างไรมิได้แจ้งชัด ตามตำนานเล่าสืบทอดกันมาว่าท่านเป็นพระโอรสของกษัตริย์ (เฉพาะพระมารดาเท่านั้น) ส่วนพระบิดาเป็นเพียงท่านท้าว ชื่อว่าท้าวแสนปม เหตุที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะท่านมีปมขึ้นตามตัวมากนั้นเอง เล่ากันว่าท้าวอู่ไทพร้อมด้วยไพร่พลเดินทางมาถึงสถานที่แห่งนี้ได้สร้าง เมืองและวัดขึ้น แต่ภายหลังเมื่อสิ้นพระชนม์ลงบ้านเมืองก็ล่มสลาย ในปัจจุบันเจ้าอาวาสและประชาชนได้ช่วยกันบูรณะวัดขึ้นใหม่
43. กลุ่มผลิตภัณฑ์ทองเหลืองสาน อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ที่ 56 หมู่ 13 บ้านคลองขุดใหม่ ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง และหมู่ที่ 7 ตำบลบางขวัญ อำเภอเมือง จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากลวดทองเหลืองสาน เช่น แจกัน ตะกร้า กล่องทิชชู่ ที่ใส่แชมเปญ เชิงเทียน ของชำร่วย เป็นต้น โทร. 038 – 513 – 857 , 08 – 1939 – 9942
44. กลุ่มผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากไม้และเขาสัตว์ อำเภอเมือง หมู่ บ้านกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์ หมู่ 3 ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับและเครื่องใช้จากวัสดุเหลือใช้ ประกอบด้วย กระดูก เขาสัตว์ และไม้นำมาประกอบกันเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น กิ๊บติดผม ปิ่นประดับผม สร้อยคอ กำไล ต่างหู ตะเกียบ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 038 – 847 – 307, 038 – 592 – 978
45. วัดชมโพธิยาราม อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ตำบลโสธร อำเภอเมือง สิ่งที่สำคัญภายในวัด คือ เจดีย์จำลองแบบพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพุทธศาสนิกชนให้ความเคารพสักการะ
46. หอพิพิธภัณฑ์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์โรงเรียนพุทธโสธร ถนนศรีโสธร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ปี พ.ศ. 2526 พระพรหมคุณาภรณ์ (จิรปญฺโญ นายดาบเจียม กุลละวณิชย์) เจ้าอาวาส วัดโสธรวรารามวรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างพิพิธภัณฑ์สำหรับจัดเก็บและจัดแสดงโบราณวัตถุ และสิ่งของเก่าแก่ที่หาได้ยากในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปี พ.ศ. 2530 และได้รับพระราชทานชื่ออาคารว่า “อาคารอเนกประสงค์หอสมุด หอพิพิธภัณฑ์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช”
47. อาคารไม้สักร้อยปี ค่ายศรีโสธร อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ เลขที่ 1 ถนนศรีโสธร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2451 เดิมเป็นกองพลที่ 9 มณฑลปราจีน ลักษณะตัวอาคารเป็นเรือนไม้สักขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 95 เมตร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขณะทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังกองพันทหารช่างที่ 2 (นามหน่วยเดิม) ซึ่งเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรทางตะวันออกและหน่วยทหารในต่างจังหวัดเป็นครั้ง แรก ปัจจุบันบริเวณอาคารไม้สัก 100 ปี เป็นที่ตั้งของกองบังคับการกองพันทหารช่างที่ 2 รักษาพระองค์
48. สวนรุกขชาติ อำเภอพนมสารคาม
สวนรุกขชาติของกรมป่าไม้ ซึ่งได้ปลูกต้นไม้โตเร็วในบริเวณหินธรรมชาติ บริเวณวัดเขาหินซ้อนจำนวนเนื้อที่ 250 ไร่ ขณะนี้กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำดำเนินการปรับปรุงแล้ว เหมาะสำหรับเป็นสถานที่ทัศนาจร สวนรุกขชาติและสวนหิน อยู่ติดถนนสายฉะเชิงเทรา – กบินทร์บุรีตรงบริเวณ กม.ที่ 51
49. ศาลมณฑลปราจีน อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ที่ 118 ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ในอดีตเป็นที่ตั้งของศาลมณฑลปราจีน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขณะทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จประทับเป็นองค์ประธานคณะผู้พิพากษาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ปัจจุบันใช้เป็นอาคารพุทธสมาคมฉะเชิงเทรา
50. เขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม
ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา – กบินทร์บุรี) กิโลเมตรที่ 53 อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 53 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่มีความสูงไม่มากนัก ประกอบด้วยก้อนหินขนาดใหญ่น้อยรูปทรงต่าง ๆ เรียงรายอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณเขาหินซ้อนจัดเป็น “สวนรุกขชาติสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ” เป็นที่ตั้งของศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลนี้เมื่อปี พ.ศ. 2522 ด้านหลังของศาลเป็นที่ตั้งของวัดเขาหินซ้อน

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา(2)

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวแปดริ้ว 2
13. วัดพยัคฆอินทาราม (วัดเจดีย์) อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ตำบลบ้านใหม่ จากหลักฐานแผ่นเงินที่พบที่รอยแตกตรงคอระฆังของเจดีย์องค์ใหญ่ แจ้งว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายเสือหรือพระเกรียงไกรกระบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรากับภรรยา ชื่ออิน ได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นในปี พ.ศ. 2416 ส่วนวัดนั้นสร้างเสร็จในราวปี พ.ศ. 2424 นับว่าเป็นวัดเก่าแก่ ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ เจดีย์องค์ใหญ่ 1 องค์ เจดีย์องค์เล็ก 2 องค์ วิหารพระพุทธบาท สุสานเก่า อุโบสถ และหอระฆัง
14. วัดสัมปทวน อำเภอเมือง
เดิมชื่อวัดสามพระทวน ตั้งอยู่บนถนนศุภกิจ ตำบลบางแก้ว เป็นวัดเก่าแก่ มีตำนานเกี่ยวกับหลวงพ่อพุทธโสธร มีพระอุโบสถที่มีลายปูนปั้นอยู่ด้านบนระเบียงโบสถ์แสดงภาพพระเวสสันดรชาดก อีกด้านหนึ่งเป็นภาพวิถีชีวิตชาวแปดริ้วในอดีต หน้าวัดมีหอพระงดงาม บริเวณท่าน้ำจะมองเห็นเขื่อนทดน้ำบางปะกง
15.เขื่อนทดน้ำบางปะกง อำเภอเมือง
ตั้งอยู่บริเวณบ้านไผ่เสวก ตำบลบางแก้ว ห่างจากตัวเมืองไปตามลำน้ำบางปะกงประมาณ 6 กม. ใช้เส้นทางฉะเชิงเทรา – บางคล้า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางปะกง เป็นเขื่อนป้องกันน้ำเค็ม ใช้อุปโภคบริโภค และจัดสรรน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก
16. ตลาดคลองสวน 100 ปี อำเภอบ้านโพธิ์
ตั้งอยู่ในเขตตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทราและเทศบาลตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ในอดีตคลองสวนเป็นเป็นทางสำหรับเดินทางไปกรุงเทพฯ จากประตูน้ำท่าฉั่ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ล่านผ่านตลาดคลองสวน ก่อนจะแล่นเข้าประตูน้ำวังสระปทุม กรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตของชาวคลองสวนทั้งชาวไทยจีน ไทยมุสลิม ไทยพุทธ วัฒนธรรมผสมผสานการดำรงชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมกับบรรยากาศของวิถีชีวิตร่วมสมัยอายุนับ 100 ปี ชิมอาหารอร่อย ขนมหวาน กาแฟสูตรโบราณ ติดต่อ 02 - 7393253
17. อนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อำเภอบางคล้า
ตั้งอยู่บริเวณปากคลองท่าลาด ห่างจากตัวอำเภอบางคล้า 2 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เมือง ฉะเชิงเทรา เป็นเส้นทางเดินทัพผ่านในการกอบกู้เอกราชหลังเหตุการณ์เสียกรุง เล่ากันว่าก่อนหน้านั้นเคยเป็นที่ตั้งของเจดีย์อนุสรณ์ชัยชนะของพระองค์ เมื่อสู้รบกับพม่าที่บริเวณนี้ ภายหลังเจดีย์ได้พังทลายลงไปในปี พ.ศ.2484 โดยไม่ทราบสาเหตุแต่ยังคงเล่าเรื่องสืบต่อกันมา และได้สร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2531
18. วัดโพธิ์บางคล้า เขตเทศบาล อำเภอบางคล้า
วัดโพธิ์บางคล้าเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งในฉะเชิงเทรา ที่มีทั้งคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว กำเนิดของวัดบางคล้าย้อนหลังกลับไปจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อกรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้แก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหรือพระยากำแพงเพชรในสมัยนั้น ทรงนำพลตีฝ่าข้าศึกมุ่งหน้าจะไปจันทบุรี เมื่อข้ามคลองท่าลาดมาถึงบริเวณปากน้ำโจ้โล้ อำเภอบางคล้าแห่งนี้ ก็ทรงหยุดพักใต้ต้นโพธิ์แห่งหนึ่ง ซึ่งภายหลังจากที่กอบกู้เอกราชได้สำเร็จแล้ว ทรงให้สร้างวัดขึ้นที่บริเวณนี้แล้วให้ชื่อว่า “วัดโพธิ์” น่าเสียดายที่วัดโพธิ์ในวันนี้ทรุดโทรมไปมากแล้ว สิ่งเดิมที่ยังคงเหลือให้เห็นคือมณฑปทรงจัตุรมุขก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงจั่วซึ่งอยู่ในสภาพชำรุด สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดคือ ฝูงค้างคาวแม่ไก่สีดำขนาดใหญ่นับแสนตัวที่อาศัยเกาะอยู่บนต้นไม้ในวัดนี้จน หนาทึบไปหมด ในยามพลบค่ำ ค้างคาวซึ่งนอนมาตลอดทั้งวันก็จะตื่นส่งเสียงเซ็งแซ่และเริ่มบินออกหากิน เป็นภาพอันน่าตื่นตาและดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นอันมาก
19. วัดแจ้ง อำเภอบางคล้า
ตั้งอยู่บริเวณตลาดบางคล้า มีพระอุโบสถที่งดงามเป็นศิลปะแบบไทยผสมจีน มีรูปปั้นยักษ์ข้างโบสถ์ ไม่ปรากฏว่าสร้างในปีใด ชาวบ้านเล่นต่อกันมาว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยกทัพไปตีเขมร เดินทัพมาสว่างบริเวณนี้จึงได้สร้างวัดแห่งนี้และขนานนามว่าวัดแจ้ง
20. หมู่บ้านน้ำตาลสด อำเภอบางคล้า
ตั้งอยู่บริเวณบ้านปากน้ำ ตำบลปากน้ำ เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลสดพร้อมดื่ม ชมขั้นตอนการผลิตน้ำตาลสดจากต้นตาลโตนดโดยเกษตรกรในแบบดั้งเดิม เริ่มด้วยการปีนต้นตาลสูงระฟ้าเพื่อรองน้ำตาล ต่อด้วยขบวนการต้มน้ำตาลสด ทำน้ำตาลปึก ชิมน้ำตาลสดพร้อมผลหวานชื่นใจ ก่อนกลับเลือกซื้อเป็นของฝากไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลสด น้ำตาลปึก งวงตาลตัวผู้ซึ่งเชื่อว่าจะรักษาโรคเบาหวานได้ ติดต่อ 038-541003
21. ล่องเรือชมโลมา อำเภอบางปะกง
บริเวณตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง โลมาจากอ่าวไทยจะตามแหล่งอาหารมาหากิน เนื่องจากในช่วงเดือน พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ของทุกปีบริเวณนี้จะมีปลาดุกทะเลจำนวนมากซึ่งเป็นอาหารโปรดของปลาโลมาอาศัย อยู่รวมกันเป็นฝูง ประมาณ 40 - 50 ตัว จะกระโดดขึ้นหายใจเหนือผิวน้ำพร้อม ๆ กัน ครั้งละ ประมาณ 3 – 4 ตัว พันธุ์ที่พบมากคือพันธุ์หัวบาตร (สีเทา) และยังพบพันธุ์ปากขวด (สีเทาและสีชมพูบ้าง) ติดต่อ 038 – 573411
22. วัดหงษ์ทอง อำเภอบางปะกง
ตั้งอยู่ที่ ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง เดินทางโดยใช้ถนนสายบางนา – ตราด เลี้ยวเข้าถนนาย 3 สมุทรปราการจากทางเข้าตลาดบางปะกง ระยะทางไม่เกิน 10 กม. เลี้ยวซ้ายที่บริเวณทางเข้ามีรูปหงษ์ทองขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เป็นวัดที่มีภูมิทัศน์สวยงาม แวดล้อมด้วยทะเลและป่าชายเลน ซึ่ง มีสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอยู่มาก มีความโดดเด่นที่มีอุโบสถ และพระธาตุคงคามหาเจดีย์ตั้งอยู่กลางทะเลแห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัด ฉะเชิงเทรา
23. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม
ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม ห่างจากตัวอำเภอไปตามถนนสายพนมสารคาม – กบินทร์บุรี ประมาณ 17 กิโลเมตร เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและหายใจ” มีพื้นที่ 264 ไร่ ภายในศูนย์ประกอบด้วยกิจกรรมทางการเกษตรที่น่าสนใจหลายอย่าง ทัศนียภาพสวยงาม
24. คุ้มบุญส่ง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว
มีการแสดงผลิตภัณฑ์ สินค้า ภาพศิลป์จากขี้เลื่อยและวัสดุเหลือใช้ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 30 หมู่ที่ 2 ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว เดินทางโดยเริ่มต้นจากถนนสายสุวินทวงศ์ กรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา แยกเข้าถนนเทศบาลตำบลบางขนาก ระยะทางประมาณ 1 กม. เป็นศูนย์ผลิตและจำหน่ายสินค้าศิลป์จากขี้เลื่อยและวัสดุเหลือใช้ มีสถานที่พักอาศัยและลงเรือแจวเที่ยวคลองแสนแสบ ชนนก ตกปลา วิถีชีวิต วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ พร้อมมีอาหารรสชาติอร่อยให้รับประทาน
25. อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อำเภอท่าตะเกียบ
ตั้งอยู่ท้องที่ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 200,000 ไร่เศษ เก็บน้ำได้ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำตลอดปี มีทัศนียภาพและธรรมชาติที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ
26. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน อำเภอท่าตะเกียบ
เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ครอบคลุมพื้นที่ 674,352 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่ป่าผืนใหญ่เป็นรอยต่อ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว เป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา คลองโตนดจังหวัดจันทบุรี และแม่น้ำประแสร์ในจังหวัดระยอง สภาพภูมิประเทศทั่วไปมีความลาดชันไม่มากนัก โดยทั่วไปมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 30 – 150 เมตร มีพื้นที่ป่าปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง มีสัตว์ป่านานาชนิดและนกพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่มากมาย และเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าแห่งแรกของภาคตะวันออก และเป็นแหล่งที่สองของประเทศไทย รองจากสถานีวิจัยสัตว์ป่านางรำ ที่ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี พืชพรรณธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบแล้ง มีป่าผสมผลัดใบขึ้นแทรกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มีไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ไม้สกุลยาง ไม้มะค่าโมง และยังเป็นแหล่งพันธุกรรม ไม้ผลหลายชนิด เช่น ขนุนป่า ลิ้นจี่ป่า ระกำ ฯลฯ และเป็นแหล่งธนาคารพันธุกรรมของกล้วยไม้ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลวนิลลา ฯลฯ จากการสำรวจพบแล้วถึง 100 ชนิด ในจำนวนนี้พบ Taeniopphyllum radiatum ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่เล็กที่สุดในประเทศไทย และเพชรหึง (Grammatphyllum speciosum) ซึ่งมีช่อดอกใหญ่ที่สุดในโลก คือ ช่อยาวเกือบ 2 เมตร ลักษณะพันธุ์สัตว์ จากความหลากหลายของสังคมพืช และถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ประกอบกับมีปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพของสัตว์ป่า เช่น แหล่งดินโป่ง ฯลฯ ทำให้จำนวนและความหลากหลายของชนิดสัตว์มีสูง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 64 ชนิด จาก 50 สกุล ใน 23 วงศ์ เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง นก 246 ชนิดจาก 160 สกุล ใน 16 วงศ์ เช่น นกเงือนกรามช้าง นกขุนทอง ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน 53 ชนิดจาก 40 สกุลใน 16 วงศ์ เช่น จระเข้น้ำจืด ตะกอง ฯลฯ สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก 18 ชนิด 9 สกุล ใน 5 วงศ์ เช่น เขียดจก กบหนอง ฯลฯ แมลง 106 ชนิด จาก 76 สกุล ใน 12 วงศ์ เช่น ผีเสื้อนางพญาเขมร ในจำนวนนี้มีสัตว์ป่าที่ถูกคุกคามและใกล้จะสูญพันธุ์ที่สำคัญ คือ ชะนีมงกุฎ เสือลายเมฆ ช้าง นกกระสาคอยาว นกตะกรุม ไก่ฟ้าพญาลอ และจระเข้น้ำจืด ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขตอ่างฤๅไน เป็นมรดกล้ำค่า ซึ่งมีความงดงามตามธรรมชาติ นอกจากพืชพรรณ และสัตว์ป่าแล้วยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของพื้นที่ภาคตะวันออก มีน้ำตกที่ไหลตลอดปี คือ น้ำตกบ่อทอง อยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าบ่อทองส่วนน้ำตกเขาตะกรุม และน้ำตกอ่างผักหนาม ซึ่งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาใหญ่ แม้จะไม่มีน้ำในฤดูแล้ง แต่เมื่อเข้าฤดูฝนจะมีน้ำตกไหลสวยงามมาก เป็นแหล่งพักผ่อนที่นิยมของชาวบ้านในถิ่น นอกจากนี้ยังมีเขาหินปูนที่มีถ้ำสวยงามอยู่หลายแหล่ง แต่ยังไม่มีการสำรวจอย่างละเอียด ของป่าที่มีมากเป็นพิเศษได้แก่ เร่ว ระกำป่า หวายชนิดต่าง ๆ และไม้กฤษณา
27. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่ อำเภอท่าตะเกียบ
ตั้งอยู่บนเส้นทาง 3259 พนมสารคาม – ท่าตะเกียบ ก่อนถึงอำเภอท่าตะเกียบประมาณ 2 กม. เป็นสถานที่วิจัย เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์ เปิดเป็นสถานที่ศึกษาวิจัยแก่นักเรียน นิสิตนักศึกษาและผู้สนใจ ภายในมีลิง ชะนี ค่าง หมี นกยูง นกเป็ดก่า ฯลฯ ติดต่อ 01 – 8677439
28. อ่างเก็บน้ำแควระบม อำเภอสนามชัยเขต
เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีความจุ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร มีทัศนียภาพสวยงาม เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ตั้งแคมป์ ตกปลา เล่นน้ำ ขี่จักรยานเสือภูเขา
29. ศูนย์ศึกษาพัฒนาการสังคมหมู่บ้าน บ้านศานติธรรม อำเภอสนามชัยเขต
ใช้ทางหลวงหมายเลข 3245 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3249 ประมาณ 3 กม. ภายในอาณาบริเวณเกือบ 10 ไร่ มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เป็นสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ ภายในบ้านไม้แบบไทยมุงด้วยกระเบื้องว่าว มีใต้ถุนสูงสำหรับประชุมหรือบรรยาย ชั้นบนใช้เก็บและแสดงเครื่องใช้พื้นบ้านวัตถุโบราณ ของใช้รุ่นเก่าต่าง ๆ ด้านหลังบ้านมียุ้งข้าวจำลองและอุปกรณ์นวดข้าว สีข้าว อีกด้านของบริเวณจัดไว้เป็นที่สำหรับตั้งค่ายพักแรมสำหรับเยาวชน มีลายสันทนาการและบริเวณทำกิจกรรม ติดต่อ 035-597441
30. วัดพระธาตุวาโย (วัดห้วยน้ำทรัพย์) ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลลาดกระทิง
ใช้เส้นทางสนามชัยเขต – ท่าตะเกียบ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 9 กม. หน้าวัดมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่มาก มีเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระเบื้องสีเหลือง น้ำเงิน ขาว งดงามแปลกตา ด้านในมีพระพุทธรูป จำนวนมาก มีภาพเขียนสีน้ำมันเป็นเรื่องราวประวัติการสร้างวัด มีบันไดขึ้นไปด้านบนหลายชั้น ชั้นบนสุดมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบ บริเวณใกล้กันมีอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีภูมิทัศน์โดยรอบคงความเป็นธรรมชาติ เหมาะเป็นสถานที่พักผ่อน ชมธรรมชาติ

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา(1)

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวแปดริ้ว 1
1. วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวแปดริ้วและคนต่างบ้านต่างเมืองมาแต่ อดีตกาล ตั้งอยู่บนถนนสายมรุพงษ์ ห่างจากตลาดกลางเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้แต่เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ตามประวัตินั้น แต่แรกมีชื่อว่า “วัดหงส์” เพราะมี “เสาหงส์” อยู่ในวัด เป็นเสาสูงมียอดเป็นตัวหงส์อยู่บนปลายเสา ต่อมาหงส์บนยอดเสาหักตกลงมาเหลือแต่เสา และมีผู้เอาธงขึ้นไปแขวนแทน จึงได้ชื่อว่า “วัดเสาธง” ครั้นเมื่อเสาธงหักเป็นสองท่อน จึงเรียกชื่อใหม่ว่า “วัดเสาธงทอน” ส่วนชื่อ “วัดโสธร” อันมีความหมายว่า “บริสุทธิ์” และ “ศักดิ์สิทธิ์” นั้น เรียกตามพระนามของพระพุทธโสธรหรือหลวงพ่อโสธรซึ่งได้มาประดิษฐานในวัดนี้ ในภายหลังวัดโสธรได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดช ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีนามว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2501 พระพุทธโสธรหรือหลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง สันนิษฐานว่าได้มาประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ประมาณปี พ.ศ.2313 อันเป็นสมัยต้นกรุงธนบุรี ตามประวัติเล่าว่า แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างศอกเศษ แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักขโมยไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิม ไว้ จนมีลักษณะดังที่เห็นปัจจุบัน
2. กำแพงเมืองเก่า (ป้อมเมืองฉะเชิงเทรา) ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
กำแพงเมืองเก่าเป็นของคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งจารึกร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายยุคสมัย ทั้งร่องรอยแห่งชัยชนะในการศึกสงครามและเหตุการณ์นองเลือด อันเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของเมืองฉะเชิงเทรา ความเป็นมาของกำแพงเมืองย้อนกลับไปถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมกลางรักษ์รณเธศเป็นแม่กองก่อสร้าง เมื่อปี 2377 กำแพงเมืองมีลักษณะก่ออิฐ ขณะนั้นไทยกำลังขับเคี่ยวทำสงครามกับญวนเพื่อรักษาอำนาจในการปกครองเมือง เขมร ไทยและญวนได้สู้รบกันยืดเยื้อยาวนานถึง 14 ปี (พ.ศ.2376 - 2390) จนอาจกล่าวได้ว่า สงครามอานามสยามยุทธ” ในครั้งนั้นเป็นการศึกกับต่างชาติที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ชาติไทย
3. ศาลหลักเมือง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
ในกำแพงเมืองเก่า เป็นที่ประดิษฐานของศาลหลักเมืองและเสาหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองที่ช่วยคุ้มครองปกปักรักษาเมือง แปดริ้ว ให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวงมาแต่อดีตกาล ศาลหลักเมืองนั้นมีมาตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองแปดริ้ว ล่วงมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสาหลักเมืองชำรุดผุขาดไปมาก จึงได้สร้างเสาขึ้นใหม่ด้วยไม้มะค่า และจัดให้มีงานบำเพ็ญกุศลและสมโภชในการยกเสาในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2438 บริเวณศาลหลักเมืองเคยมีปืนใหญ่กองรวมกันอยู่ ภายหลังกรมศิลปากรได้นำมาวางบนกำแพงเมืองประมาณ 5 กระบอก ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
4. วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์หรือวัดเมือง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์หรือวัดเมืองเป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่สร้างขึ้นเมื่อเกิดการสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ของฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ.2377 เมื่อมีการสร้างกำแพงเมือง เพื่อกำหนดขอบเขตของแปดริ้ว และให้เมืองนี้เป็นปราการรักษาพระนครและชาวบ้านชาวเมือง ให้ปลอดภัยจากข้าศึกศัตรูนั้นศรัทธาในพุทธศาสนาได้ทำให้มีการสร้างวัดขึ้น ด้วย เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองและที่พึ่งทางใจในยามศึกสงคราม เนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่ในเมือง ชาวบ้านจึงเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดเมือง” ต่อมาภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาส ฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ.2451 จึงได้พระราชทานนามวัดว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งมีความหมายว่า “วัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง” วัดนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคนั้น เพราะนอกจากจะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 17 เมตร ยาว 29.50 เมตรแล้ว สังเกตจากศิลปะที่องค์พระปรางค์ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับพระปรางค์อัฐเคราะห์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามใน กรุงเทพมหานครมาก จึงน่าเชื่อว่าคงจะได้ช่างฝีมือจากเมืองหลวง
5. ศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีน(ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า) ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
ศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีน (ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า) ตั้งอยู่ที่เลขที่ 122/6 ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบันทึกของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ และเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชของไทยในยุคจักรวรรดินิยม จนมีผู้ขนานนามว่าเป็น “อนุสาวรีย์แห่งเสรีภาพ” ของฉะเชิงเทรา สงครามเย็นจากยุคล่าอาณานิคมซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ระอุถึงขีดสุดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยจึงเร่งปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย เป็นวิเทโศบายหลักในการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับคนไทยที่กำลังหวาดหวั่นต่อการคุกคามของมหาอำนาจ “มณฑลปราจีน” จึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2435 ตามระบบเทศาภิบาล ซึ่งเป็นการปกครองแบบใหม่ เมื่อมณฑลปราจีนขยายเขตการปกครองออกไป และเมืองฉะเชิงเทราได้เป็นศูนย์อำนาจรัฐและเป็นที่ตั้งของที่ว่าการมณฑล จึงได้ก่อสร้างศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีนขึ้นโดยสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2446 ถึงปี พ.ศ. 2449 ใช้เป็นศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีน (ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก พนมสารคาม พนัสนิคม ชลบุรี และบางละมุง รวมจันทบุรี ระยอง และตราด ในภายหลัง) เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2450 ศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีนเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. 2475 และใช้เป็นศาลาเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. 2506 ถึงปี พ.ศ. 2518 จากนั้นเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ย้ายที่ทำการ อาคารถูกใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 อาคารถูกเพลิงไหม้ กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะอาคาร และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ปรับปรุงอาคารอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2548 เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จังหวัดฉะเชิงเทรา กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีน เป็นโบราณสถานและประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในปี พ.ศ. 2520
6. ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ อำเภอเมือง
ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ซึ่งปัจจุบันคือจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่แพ้ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าหรือศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีน เมื่อไทยใช้นโยบายการเมืองนำหน้าการทหาร และเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากจตุสดมภ์มาเป็นระบบเทศาภิบาล ฉะเชิงเทราได้เป็นที่ตั้งของที่ว่าการมณฑลปราจีนและกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริ พัฒน์ สมุหเทศาภิบาลผู้ทรงพระปรีชาชาญในวิชาการปกครอง ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองในช่วง เวลานั้น การวางแผนก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ ในมณฑลปราจีนนั้น แท้จริงก็คือการเริ่มต้นวางผังเมืองฉะเชิงเทรานั่นเอง ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ซึ่งเป็นเรือนไม้สองชั้น สร้างขึ้นเป็นที่พำนักของสมุหเทศาภิบาลในยุคนั้น จึงอาจถือได้ว่าเป็นก้าวแรกๆ ของการก่อสร้าง “บ้านพักข้าราชการ” ของแปดริ้ว ความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งของ ชาวเมืองคือตำหนักแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับพักแรมของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่เสด็จประพาสฉะเชิงเทราถึง 2 ครั้ง พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านซึ่งได้พระราชทานไว ้ตั้งแต่เสด็จประทับครั้งแรก พร้อมลายพระหัตถ์มีความว่า “ให้ไว้สำหรับเรือนเทศาภิบาลมณฑลปราจีณ (เมืองฉะเชิงเทรา) เป็นที่ระลึกในการที่ได้มาอยู่ในที่นี้ ได้ความสุขสบายมาก ตั้งแต่วันที่ 24 ถึงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2450” ยังอยู่เป็นของคู่ตำหนักมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบัน ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ยังใช้เป็นที่ประทับและทรงงานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยามที่เสด็จเยือนฉะเชิงเทรา
7. อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ถนนศรีโสธร ตรงข้ามค่ายทหารศรีโสธร พระยาศรีสุนทรโวหารเป็นชาวฉะเชิงเทราโดยกำเนิด เป็นนักปราชญ์คู่พระบารมีแห่งองค์สมเด็จพระปิยมหาราช เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ท่านคิดแบบสอนอ่านหนังสือไทยรวม 6 เล่ม คือ 1. มูลบทบรรพกิจ 2. วาหนิติ์นิกร 3. อักษรประโยค 4. สังโยคพิธาน 5. พิศาลการันต์ และ 6. ไวพจน์พิจารณ์ พระยาศรีสุนทรโวหารมีความรู้เชี่ยวชาญภาษาไทยและภาษาอื่น หาผู้ใดเสมอเหมือน ได้ใช้ความรู้ความสามารถรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระมหากษัตริย์ถึง 3 พระองค์คือ รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434 รวมสิริอายุได้ 69 ปี
8. สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฉะเชิงเทรา อำเภอเมือง
ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด มีเนื้อที่ประมาณ 90 ไร่ เป็นสวนสาธารณะ มีสระน้ำขนาดใหญ่ กลางสวนมีทางเดินรอบสระ มีต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับร่มรื่น มีสนามเด็กเล่นเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
9. ศาลเจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ อำเภอเมือง
ประดิษฐานอยู่ที่สมาคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา ถนนศุภกิจ (มูลนิธิสว่างศรัทธาธรรม) เป็นรูปยืนองค์ลอย สูงประมาณ 1 เมตรเศษ หนัก 40 กิโลกรัม ทำจากเซรามิก เมื่อปี 2540 มีคนพบลอยน้ำมาติดฝั่งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ชาวแปดริ้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสเดินทางไปสักการะเป็นประจำ
10. วัดอุภัยภาติการาม (วัดซำปอกง) อำเภอเมือง
ตั้งอยู่บนถนนศุภกิจ ใกล้กับบริเวณตลาดบ้านใหม่ ภายในวัดมีวิหารลักษณะเหมือนศาลเจ้า เดิมเป็นวัดจีนแต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในลัทธิมหายานไปแล้ว เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต (พระไตรรัตนนายก) หรือที่ชาวจีนเรียกว่าเจ้าพ่อซำปอกง ในประเทศไทยมีเพียง 3 องค์เท่านั้น ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์จะมีนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวันมานมัสการเป็นประจำ
11. วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่) อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ เดิมชื่อว่าวัดเล่งฮกยี่ ห่างจากศาลากลางจังหวัด 4 กิโลเมตร เป็นวัดพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ผู้สร้างคือหลวงจีนชกเฮง ซึ่งเป็นศิษย์ของวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ในกรุงเทพมหานคร ชื่อวัดเล่งฮกยี่ได้เปลี่ยนเป็นวัดจีนประชาสโมสร เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนเมืองแปดริ้ว แผ่นป้ายชื่อพระราชทานยังคงประทับเป็นสง่าในวัดจนกระทั่งทุกวันนี้ ที่ทางเข้าพระอุโบสถของวัดคือท้าวจตุโลกบาล ทำเป็นรูปนายทหารและเทวรูปจีนขนาดใหญ่ยืนรักษาปากประตูอย่างสง่างาม ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปแบบจีน 3 องค์ คือพระยู่ไล้ พระโอนิโทฮุด และพระเอี้ย ซือฮุด ซึ่งเชื่อว่าสามารถบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ที่น่าสนใจคือ ทั้ง 3 องค์ล้วนสร้างขึ้นจากกระดาษซึ่งนำมาจากเมืองเซี่ยงไฮ้พร้อม ๆกับรูป 18 อรหันต์ ที่ประดิษฐานอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ อันเป็นประจักษ์พยานของความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวไทยและชาวจีนมาตั้งแต่ ครั้งประวัติศาสตร์
12. ตลาดบ้านใหม่ ตลาดริมน้ำร้อยปี อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ริมแม่น้ำบางปะกง อำเภอเมือง เป็นตลาดที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดที่มีวิถีชีวิตเดิมที่โดดเด่นที่แตก ต่างจากชุมชนอื่น ๆ นั่นคือ ความมีเสน่ห์ของอายุสถานที่ที่ยาวนาน บ้านเรือนมีเอกลักษณ์เก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และละครย้อนยุคของชุมชนชาวจีน เช่น อยู่กับก๋ง นางนาค เจ้าสัวสยาม ร้านขายของและร้านอาหารที่มีความหลายหลาย มีร้านกาแฟโบราณรสชาติเข้มข้นหอมหวาน เป็นที่รวบรวมของฝากที่ต้องแวะซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-3881-7336

รู้จัก "แปดริ้ว"

รู้จัก "แปดริ้ว"
ประวัติจังหวัดฉะเชิงเทรา
จังหวัดฉะเชิงเทราหรือที่นิยมเรียกกันว่า "แปดริ้ว" เคยเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอำนาจการปกครองของขอมมาก่อน ในสมัยอิทธิพลของอาณาจักรลพบุรี (ขอม) เมืองฉะเชิงเทราตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เป็นไปได้ว่าชาวเมืองสมัยโบราณอาจจะเรียกชื่อแม่น้ำบางปะกงว่า คลองลึกหรือคลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็นแต่ด้วยอิทธิพลเขมรจึงได้เรียกชื่อแม่น้ำ เป็นภาษาเขมรว่า "สตึงเตรง หรือ ฉทรึงเทรา" ซึ่งแปลว่า คลองลึก นั่นเอง ครั้นเรียกกันไปนาน ๆ เสียงเลยเพี้ยนกลายเป็น "ฉะเชิงเทรา" แต่ก็มีความเห็นอื่นที่แตกต่างออกไปว่าชื่อ "ฉะเชิงเทรา" น่าจะเพี้ยนมาจาก "แสงเชรา" หรือ "แซงเซา" หรือ "แสงเซา" อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช เสด็จไปตีได้ตามที่พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้มากกว่า
ความเป็นมาของคำว่าแปดริ้ว
ส่วนความเป็นมาของชื่อ "แปดริ้ว" ก็มีเล่าขานกันมาหลายกระแส บ้างก็ว่าที่ได้ชื่อว่าเมืองแปดริ้ว ก็เพราะขนาดอันใหญ่โตของปลาช่อนที่ชุกชุมเมื่อนำมาแล่ จะต้องแล่ถึงแปดริ้ว หรือไม่ก็ว่ามาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง "พระรถเมรี" เล่าว่ายักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว ทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาดสำหรับข้อสันนิษฐานการตั้งเมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวา ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) แต่สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏชัดเจนในสมัยพระนเรศวรมหาราชที่ใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นที่รวบรวมไพร่พล เมื่อ พ.ศ.2136 ด้วยชัยภูมิของเมืองที่เหมาะแก่การทำสงครามกองโจร ทำให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้ป้องกันศัตรู ปกป้องเมืองหลวง จวบจนสู่การปกครองระบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 และในปี พ.ศ.2476 มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค คำว่าเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ครองเมือง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นปีที่มีการตั้งภาคครั้งสุดท้ายของไทย ฉะเชิงเทราได้รับเลือกเป็นสถานที่ภาคมีเขตความรับผิดชอบ 8 จังหวัด ซึ่งนับเป็นบทบาทที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การปกครองของจังหวัดฉะเชิงเทรา
อาณาเขต
จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ประมาณ 5,422 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,395,000 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ถึง 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ชลบุรี และสมุทรปราการ
การคมนาคม
จังหวัดฉะเชิงเทรา ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถไฟสายตะวันออก ประมาณ 61 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 (สุวินทวงศ์) ประมาณ 75 กิโลเมตร และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางนา-ตราด) แยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314 (ฉะเชิงเทรา-บางปะกง) ประมาณ 90 กิโลเมตร
สภาพภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัด ประกอบด้วย ที่ราบเชิงเขามีลักษณะเป็นที่ราบลูกฟูก และที่ราบลุ่มแม่น้ำจากด้านตะวันออกสุดไปจรดด้านตะวันตก ดังนั้น พื้นที่เกษตรกรรมจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นที่ราบลูกฟูก เหมาะแก่การทำไร่และปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ตั้งอยู่เฉพาะในเขตอำเภอพนมสารคามและอำเภอแปลงยาว ส่วนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัด บริเวณอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง พื้นที่ส่วนนี้อยู่ในเขตชลประทานเหมาะแก่การทำนาข้าว ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
สภาพภูมิอากาศ
จังหวัดฉะเชิงเทรามีลักษณะร้อนชื้นเขตศูนย์สูตร โดยมีลมมรสุมพัดปกคลุมเกือบตลอดปีแบ่งออกตามฤดูกาลได้ 3 ฤดู ดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม โดยมีลมตะวันออกและลมใต้พัดปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอ้าวและอากาศร้อนจัดเป็นบางวันบางครั้งอาจมีพายุฤดูร้อน ลักษณะเป็นฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงอุณหภูมิอากาศสูงสุดเฉลี่ย 35-38 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ย 200-300 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การปลูกพืชไร่
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม โดยมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ประกอบกับมีร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปและตกหนักบางพื้นที่ อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง โดยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,000 – 1,200 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การทำงานและปลูกผลไม้
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงพัดผ่าน ทำให้ท้องฟ้าโปร่งใสอากาศเย็นมีหมอกในตอนเช้า และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิอากาศต่ำสุดเฉลี่ย 18-21 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ย 50-100 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอกและไม้ประดับ
ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่
จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถแบ่งสภาพการพัฒนาตามกายภาพของพื้นที่ ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
พื้นที่ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของจังหวัด ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดชลบุรี มีสภาพเป็นที่ลุ่ม ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บางปะกง บ้านโพธิ์ และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ด้านทิศตะวันตก ได้รับการเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานคร และโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก พื้นที่ส่วนนี้มีแนวโน้มจะกลายเป็นย่านอุตสาหกรรม ชุมชนเมือง การบริการและที่อยู่อาศัย และอยู่ใกล้สนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 (สนามบินสุวรรณภูมิ) จะเป็นตัวเร่งขยายความเจริญเติบโตของบ้านเมืองฉะเชิงเทรา
พื้นที่ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ ฝั่งแม่น้ำบางปะกง (พื้นที่ตอนกลางของจังหวัด) อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บางส่วนของอำเภอบางคล้า อำเภอคลองเขื่อน อำเภอบ้านโพธิ์ซีกตะวันออก อำเภอบางน้ำเปรี้ยวซีกตะวันออก อำเภอพนมสารคาม อำเภอราชสาส์น อำเภอแปลงยาว อำเภอสนามชัยเขต (บางส่วน) ส่วนใหญ่ทำการเกษตรกรรม ปลูกข้าว ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ และพืชไร่ ขณะนี้มีเขื่อนทดน้ำบางปะกงในท้องที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งได้สร้างแล้วเสร็จในต้นปี 2543 ความจุต้นทุน 30 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับอำเภอแปลงยาวจะเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรม
พื้นที่ส่วนที่ 3 เป็นที่ราบสลับภูเขา มีป่าไม้ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ำ ลำธาร ในปัจจุบันคือป่าสงวนแห่งชาติ แควระบม – สียัด เนื้อที่ 746,625 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.3 ก่อสร้างพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลอง สียัด ความจุ 325 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งแล้วเสร็จต้นปี 2543 เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การบริการ และกิจการประปาของชุมชน
สภาพทางเศรษฐกิจ
จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นฐานด้านการเกษตร เป็นแหล่งผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรในภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร ประชาชนร้อยละ 70 ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัด ผลผลิตที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดในด้านพืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน มะพร้าว มะม่วง และหมาก เป็นต้น ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ ไข่ไก่ และสุกร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมากที่สุดของประเทศ ไก่เนื้อ เป็ด และโคเนื้อ ด้านประมง มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิเช่น กุ้งกุลาดำ ปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อย และกิจการประมงทะเล สำหรับในด้านอุตสาหกรรมนับว่าศักยภาพค่อนข้างสูง มีนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนมาก มีการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงมาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 1,500 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทางการเกษตร อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์และประกอบรถยนต์ พลาสติก และผลิตภัณฑ์จากไม้ ฯลฯ โรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางปะกง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสาคาม อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว และอำเภอแปลงยาว ตามลำดับ มีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง
สภาพการท่องเที่ยว
สำหรับการท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความโดดเด่นเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรมในระดับประเทศและนานาชาติ ได้แก่ องค์หลวงพ่อพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน การท่องเที่ยวชมธรรมชาติริมแม่น้ำบางปะกง การล่องเรือชมปลาโลมา ชมค้างคาวแม่ไก่วัดโพธิ์บางคล้า และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรธรรมชาติ เป็นต้น
สภาพทางสังคม
ด้านการศึกษา ชาวฉะเชิงเทราได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความรู้และมีโอกาสทางการศึกษาอย่างดีมาเป็นเวลาช้านาน มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความนับถือในองค์พระพุทธรูป ซึ่งเป็นตัวแทนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงพ่อพุทธโสธร คือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา
ด้านการสาธารณสุข ในระหว่างปี 2548 – 2551 พบว่าอัตราการเกิดของประชากรจังหวัดฉะเชิงเทรา มีแนวโน้มลดลงสลับกับเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราเพิ่มธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง
สภาพการเมืองการปกครอง
จังหวัดฉะเชิงเทรา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บางคล้า บางน้ำเปรี้ยว บางปะกง บ้านโพธิ์ พนมสารคาม แปลงยาว ราชสาส์น สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ และอำเภอคลองเขื่อน
การปกครองในระดับท้องถิ่น เทศบาลเมือง 1 เทศบาล เทศบาลตำบล 25 เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 82 แห่ง ประชากร (เมื่อมี.ค.2550) มีจำนวนทั้งสิ้น 660,011 คน แยกเป็นชาย 323,701 คน หญิง 336,310 คน
ด้านการเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรามีจำนวนสมาชิกวุฒิสภา 1 คน และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 คน จำนวนเขตเลือกตั้ง 2 เขต