วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2562

ฮอลลีวูดบ้านนา@อำเภอราชสาส์น

ฮอลลีวูดบ้านนา เป็นเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนของอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของกรมการพัฒนาชุมชน เส้นทางเชื่อมโยงหมู่บ้านท่องเที่ยว 4 หมู่บ้าน ในระยะทางเพียง 16 กิโลเมตรเท่านั้น ถามว่าทำไมตั้งชื่อที่นี่ว่า "ฮอลลีวูดบ้านนา" ความเป็นมาก็คือผู้นำชุมชนในหมู่บ้านท่องเที่ยวทั้ง 4 หมู่บ้าน เห็นพ้องกันว่าควรจะตั้งชื่ออะไรสักอย่างให้เป็นคำสั้นๆ มีจุดขาย เพื่อเอาไว้ประชาสัมพันธ์ง่ายๆ คำถามคือแล้วจะใช้ชื่อว่าอะไร ก็มีคนเสนอว่า ถึงที่นี่เราจะเป็นบ้านนา ส่วนใหญ่มีวิถีเกษตรกร แต่เราก็มีโรงงานผลิตหุ่นเหล็กหน้าตาคล้ายดาราฮอลลีวูดส่งออกขายไปต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งไม่เหมือนกับหมู่บ้านอื่นๆ น่าจะเป็นจุดขายให้กับเราได้ รวมทั้งเรามีสถานที่ถ่ายทำหนังจริงๆ ด้วย ก็เลยตกลงกันว่าให้ใช้ชื่อที่นี่ว่า "ฮอลลีวูดบ้านนา" ครับ

วันนี้ ขอนำเสนอข้อมูลสถานที่ห้ามพลาดเมื่อมาเที่ยวที่ฮอลลีวูดบ้านนาครับ... ไปกันเลย...

1.โรงงานหุ่นเหล็กไดมอนด์โรบอทส์ ตั้งอยู่บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา เป็นทั้งโรงงานผลิตหุ่นเหล็กที่เป็นงานศิลปะร่วมสมัย และเป็นแกลเลอรี่แสดงศิลปะหุ่นเหล็กและฝาผนังกราฟฟิตี้ เหมาะแก่การถ่ายรูปเซลฟี่เป็นที่ระลึกอย่างยิ่ง
2.โรงเรียนวัดเตาอิฐ ตั้งอยู่บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา เป็นโรงเรียนเก่าแก่สร้างมาเกือบ 100 ปีแล้ว เป็นอาคารไม้สักทั้งหลัง ปัจจุบันเลิกการเรียนการสอนมานานหลายปีแล้ว แต่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นอาคารอนุรักษ์ โรงเรียนหลังนี้ได้รับความสนใจจากคณะถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร และรายการโทรทัศน์ ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังแนวสยองขวัญหลายครั้งแล้ว เช่น ภาพยนตร์เรื่อง แม่นาคพระโขนง ตุ๊กแกผี โรงแรมผี แสงกระสือ และรายการคนอวดผี เป็นต้น ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปถ่ายภาพเซลฟี่ได้ จะมีมุมสวยให้ถ่ายภาพมากมาย
3.วัดเตาอิฐ ตั้งอยู่บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาเกือบ 100 ปีแล้ว ภายในวัดมีต้นไม้จำนวนมาก ดูร่มครึ้ม มีรูปปั้นหลวงพ่อสะอาดซึ่งที่เคารพนับถือของชาวบ้านให้บูชากราบไหว้ขอพร มีเรือความน้ำที่เป็นเรือแข่งขุดจากไม้ตะเคียนทั้งต้น ใช้ในการแข่งขันในสมัยก่อน มีต้นโพธิ์ใบสีขาว อายุเกือบ 100 ปี ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีโบสถ์ เจดีย์ โบราณสถานเก่าแก่ให้ชมอีกมากมาย
4.สวนเกษตรอินทรีย์ "พอพัทธ" ตั้งอยู่บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี มีการปรุงดินเกรดพรีเมี่ยมระดับเดียวกับปุ๋ยขึ้นใช้เอง ซึ่งมีพลังงานการย่อยสลายสูงภายใน 7 วัน ทำให้พืชงอกงามและผลผลิตดี สวนแห่งนี้มีพื้นที่ 3 ไร่ พืชหลักได้แก่ ฝรั่งและมะพร้าวน้ำหอม เจ้าของเป็นพยาบาลแต่ลาออกมาทำงานเกษตรด้วยความสุข ที่นี่เป็นสถานที่เรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี
5.กลุ่มข้าวซ้อมมือ ตั้งอยู่บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา เป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการทำนาและแปรรูปข้าว นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมการทำนาได้ หรือหากสนใจการแปรรูปข้าว ตั้งการสีโดยโรงสีชุมชน ไปจนถึงการบรรจุภัณฑ์ และการจำหน่าย ก็สามารถเข้าศึกษาเรียนรู้และเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกขึ้นตอน
6.กลุ่มสตรีแปรรูปกล้วย ตั้งอยู่บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา เป็นสถานที่จำหน่ายและสาธิตการแปรรูปกล้วย โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และตู้อบจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผลิตภัณฑ์กล้วยแผ่นอบนี้ มีจำหน่ายทั้งในนามกลุ่มเองใช้ชื่อยี่ห้อ "จินตนา" และผลิตให้กับผู้อื่น เช่น คิงพาวเวอร์ เลมอนฟาร์ม โกลเด้นท์เพลส เป็นต้น



7.โฮมสเตย์ป้ามณี ตั้งอยู่บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา อยู่บริเวณเดียวกับกลุ่มข้าวซ้อมมือ ที่พักสะดวกสบาย ลมเย็น อยู่กลางทุ่งนาธรรมชาติ ตัวบ้านเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง พักอยู่ร่วมกับเจ้าของบ้าน ได้คุย ได้ทานอาหารพื้นถิ่น อย่างเต็มอิ่ม ไม่ผิดหวัง




8.สวนเมล่อน "เพชรรัตน์" ตั้งอยู่บ้านดอนทอง หมู่ที่ 5 ตำบลบางคา เป็นสวนเมล่อนที่ปลูกแบบโรงเรือน เป็นสวนเก่าแก่ของอำเภอราชสาส์น ผลผลิตในสวนรสชาติหวานอร่อยกว่าที่ใด การผลิตปลอดภัยจากสารเคมี เมล่อนในสวนนี้ส่วนใหญ่ส่งให้กับห้างแม็คโคร สาขาภาคตะวันออก นอกจากนี้บริเวณสวนยังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามน่าถ่ายภาพอย่างยิ่ง และยังมีกิจกรรมตกกุ้งให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองหาประสบการณ์อีกด้วย


ยังมีอีกหลายสถานที่ที่ห้ามพลาด คงจะต้องมาคุยต่อในโอกาสหน้าครับ... 

แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมอำเภอราชสาส์น 2

วัดเกาะราษฎร์ศรัทธาราม (วัดปกปาก)
วัดเกาะราษฎร์ศรัทธาราม ตั้งอยู่บ้านไผ่สอ หมู่ที่ ๙ ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างเป็นวัดขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๙ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๘ แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่าวัดปกปาก เพราะวัดตั้งอยู่ตรงปากคลองปกปาก ส่วนชื่อวัดวัดเกาะราษฎร์ศรัทธาราม  เนื่องจากพื้นที่ทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้ของวัดติดกับคลอง ต่อมาทางด้านทิศตะวันตกพื้นที่ถูกน้ำกัดเซาะเป็นลำคลองเชื่อมต่อกันกลายเป็นเกาะ จึงได้ชื่อว่าวัดวัดเกาะราษฎร์ศรัทธาราม

วัดไผ่ขวาง
วัดไผ่ขวาง ตั้งอยู่บ้านไผ่ขวาง หมู่ที่ ๓ ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างเป็นวัดขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๖ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๘ เหตุแห่งการสร้างวัดนี้เนื่องจากพระกำพุชภักดี(อุ่ม)ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา นำไพร่พลไปขัดตราทัพทางด้านเมืองเขมรและลาว เป็นเวลานานโดยไม่มีข่าวคราวมายังบ้านเลย ทำให้นางเอมผู้เป็นภรรยาเกิดความห่วงใย จึงรวบรวมกำลังทรัพย์ทำการก่อสร้างวัดเพื่อหวังผลบุญกุศลคุ้มครองสามีและไพร่พล เมื่อเหตุการณ์ดีขึ้นพระกำพุชภักดีเดินทางกลับจึงช่วยกันก่อสร้างวัดจนแล้วเสร็จ เหตุที่ชื่อวัดไผ่ขวางเพราะตั้งอยู่บ้านไผ่ขวาง

วัดเมืองใหม่ (วัดทุ่งรวงทอง)
วัดเมืองใหม่ ตั้งอยู่บ้านหนองขอน หมู่ที่ ๕ ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มแรกตั้งเป็นสำนักสงฆ์ดำเนินการจัดตั้งในปี  พุทธศักราช ๒๕๑๙ ใช้ชื่อเรียกว่าสำนักสงฆ์ทุ่งรวงทอง ตั้งเป็นวัดเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๐ ใช้ชื่อว่าวัดเมืองใหม่ เหตุที่ชื่อวัดเมืองใหม่เพราะตั้งอยู่ตำบลเมืองใหม่

วัดสะแกงาม
วัดสะแกงาม ตั้งอยู่บ้านสะแกงาม หมู่ที่ ๘ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๔ โดยเป็นสำนักสงฆ์ มีเพียงกุฏิ ที่หลังคามุงด้วยหญ้าคา ฝาขัดแตะ ต่อมาได้รับอนุญาตให้เป็นวัดเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๕   ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๘ ในบริเวณวัดสะแกงามมีพระปรางค์ซึ่งสร้างเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๓๗ เป็นวัดเดียวในอำเภอราชสาส์นที่ทีพระปรางค์

วัดแสนภุมราวาส (วัดกกสับนอก)
วัดแสนภุมราวาส ตั้งอยู่บ้านกกสับนอก หมู่ที่ ๔ ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างเมื่อ  พุทธศักราช ๒๔๖๕ โดยหลวงพ่อทองภุมมปญโญ ร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่น นายแสน ใหม่ผึ้ง บริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕ ชื่อวัดแสนภุมราวาส มาจากชื่อนายแสน ใหม่ผึ้ง ผู้บริจาคที่ดินสร้างวัด และฉายาหลวงพ่อทอง คือภุมมปญโญ

วัดหินดาษ
วัดหินดาษ ตั้งอยู่บ้านหินดาษ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๐ โดยมีนายแม้น นางบุญมี วงศ์กำภู ร่วมกับอาจารย์จีนได้ชักชวนชาวบ้านในละแวกนั้นสละทรัพย์และกำลังแรงงานร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๐ แต่เดิมชาวบ้านเรียก“วัดตะวันตก” เนื่องจากตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตำบลดงน้อย  เหตุที่ชื่อ
วัดหินดาษ เนื่องจากบริเวณแถบนั้นมีหินศิลาแลงกระจายอยู่ทั่วไป

วัดญานรังสี (วัดเตาอิฐ)
วัดเตาอิฐ ตั้งอยู่บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ ๔ ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๕ ซึ่งมีขุนรักษาผลาผล(ยิ้ม) กำนันตำบลบางคาเป็นผู้มอบที่ดินถวายเพื่อสร้างวัดและพระครูญาณรังสีมุนีวงศ์(แทน)เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นผู้ดำเนินการสร้างวัด  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๙ เหตุที่ชื่อวัดเตาอิฐเพราะตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเตาอิฐ ที่วัดนี้มีต้นโพธิ์ที่มีใบสีขาว ซึ่งเป็นหนึ่งในคำขวัญของอำเภอราชสาส์น คือ “ อำเภอราชสาส์น ตำนานเมืองเก่า ใบโพธ์สีขาว ข้าวหอมมะลิ”


ขอขอบคุณ
สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอราชสาส์น
เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมอำเภอราชสาส์น 1

ถ้ำนางสิบสอง
ถ้ำนางสิบสอง ตั้งอยู่ติดวัดหินดาษ บ้านหินดาษหมู่ที่ ๑๔ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ถ้ำนางสิบสองเป็นเรื่องเล่าในนิทานพื้นบ้านเรื่องพระรถเมรี ที่นางยักษ์สนธมารนำนางทั้งสิบสองมาขังไว้  ชาวดงน้อยเล่าว่า เมื่อก่อนปากถ้ำนี้กว้างกว่าที่เราเห็น สามารถเดินจากโพรงถ้ำนี้ไปทะลุที่ลานชนไก่พระรถได้ 

พระปรางค์วัดสะแกงาม
พระปรางค์วัดสะแกงาม ตั้งอยู่ บ้านสะแกงาม ในวัดสะแกงาม หมู่ที่ ๘ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๗ ฐานกว้าง ๑๑ ศอก สูง ๑๕ วานายเก๊า นางเฮียะ สามีภรรยาสกุลสมบูรณ์ทรัพย์ คหบดีชาวบางขาม สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลและบรรจุอัฐิบุตรีที่เสียชีวิต

ลานพระรถชนไก่
ลานพระรถชนไก่ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ลานพระรถชนไก่ เป็นเรื่องเล่าในนิทานพื้นบ้านเรื่องพระรถเมรี ที่พระรถเสนใช้ตีไก่พนันถ้าชนะก็จะขอข้าวสิบสองห่อไปให้แม่และป้า ในบริเวณนี้มีเจดีย์ฐานกว้าง ๒.๕ เมตร สูง ๖ เมตร สร้างในปีพุทธศักราช ๒๔๖๔ เรียกกันว่าเจดีย์ลานตีไก่พระรถ

วัดเกาะแก้วเวฬุวัน
วัดเกาะแก้วเวฬุวัน ตั้งอยู่บ้านหน้าวัดใต้ หมู่ที่ ๕ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๘ แต่เดิมชาวบ้านเรียก “วัดตะวันออก” เนื่องจากตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบลดงน้อย ในอดีตสภาพพื้นที่ของวัดเต็มไปด้วยป่าไผ่ จึงได้ชื่อว่าวัดเกาะแก้วเวฬุวัน  (เวฬุวันแปลว่าต้นไผ่)

วัดจรเข้ตาย
วัดจรเข้ตาย ตั้งอยู่บ้านจรเข้ตาย หมู่ที่ ๖ ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๔ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๒ โดยมีนายเปีย นางจิ๋ว สามีภรรยา ริเริ่มจัดตั้งวัดขึ้นด้วยทุนส่วนตัว รวมกับราษฎรในละแวกท้องถิ่น เหตุที่ชื่อวัดจรเข้ตายเพราะวัดตั้งอยู่ปากคลองจรเข้ตาย

วัดน้ำฉ่า
วัดน้ำฉ่า ตั้งอยู่บ้านน้ำฉ่า หมู่ที่ ๑๐ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๘ โดยตั้งเป็นสำนักสงฆ์ก่อน ต่อมาจึงได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นวัดและได้การรับรองเป็นวัดเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๐  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๙ เหตุที่ชื่อวัดน้ำฉ่าเพราะตั้งอยู่บ้านน้ำฉ่า

วัดบางคา
วัดบางคา ตั้งอยู่บ้านบางคา หมู่ที่ ๑ ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่เดิมบริเวณที่ตั้งวัดเป็นป่าหญ้าคา ขาวบ้านได้ช่วยกันถากถางและสร้างเป็นวัดขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๗ โดยตั้งชื่อว่า“วัดบางคา” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๐ พระครูพุทธิสาร อดีตเจ้าอาวาส วัดบางคา เคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอพนมสารคาม ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญ



ขอขอบคุณ
สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอราชสาส์น
เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

ร้านคุณป้อม : ซาลาเปาแป้งนิ่ม และบะหมี่สายรุ้ง

ซาลาเปา... เป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน โดยแรกเริ่มจะเป็นซาลาเปาไม่มีไส้ หรือที่เรียกว่าหมั่นโถว แล้วพัฒนามาจนมีไส้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันซาลาเปาเป็นได้ทั้งอาหารว่างและอาหารหลักที่คนรู้จักกันไปทั่วโลก ไม่จำกัดแต่คนตะวันออก คนตะวันตกส่วนใหญ่ก็รับประทานซาลาเปาเช่นกัน สำหรับวันนี้ ผมจะพาไปรู้จักซาลาเปาร้านคุณป้อมแห่งเมืองแปดริ้ว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นซาลาเปาแป้งนิ่ม คือ เปลือกซาลาเปาจะนิ่มนวล เนื้อนุ่มเหนียว หอมกรุ่น ถึงแม้จะเย็นแล้วก็ตาม คุณสถาพร สันติสงวนศักดิ์เจ้าของร้านคุณป้อม จะเล่าเรื่องราวให้เราฟังกันครับ... 

ความเป็นมาของร้านคุณป้อม...เริ่มแรกประมาณปี 2539 – 2540 คุณป้อม (คุณศิริลักษณ์ สันติสงวนศักดิ์) ภรรยาของผม เขาเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว หลังจากออกจากงานกลับมาอยู่บางคล้าพร้อมกับครอบครัว ก็คิดว่าจะต้องหาอะไรทำพร้อมดูแลครอบครัวได้ ก็ตั้งใจทำพวกขนม ตอนแรกๆเป็นพวกขนมปัง เบอร์เกอรี่ เค้ก และตอนหลังหันมาทำซาลาเปา สาเหตุที่เลือกทำซาลาเปา เพราะก่อนหน้านี้ซาลาเปาคืออาหารพื้นๆทั่วไปที่คนอยากจะกินแต่ไม่มีอะไรโดดเด่น เราก็เลยคิดทำรสชาติของซาลาเปาให้มันโดดเด่นขึ้นมา และเน้นทำแป้งให้นิ่ม นิ่มโดยที่ว่าไม่ต้องทานร้อนๆก็ได้ แล้วก็กระจายทั่วไป ให้ลูกค้าของเราซื้อเป็นของฝาก และขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนได้เครื่องหมายเชลล์ชวนชิม และปัจจุบันเป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว ของจังหวัดฉะเชิงเทราได้ไปออกงานใหญ่ๆ กับพัฒนาชุมชน ทำให้มีกลุ่มลูกค้ามากขึ้น 

ความโดดเด่นของซาลาเปาคุณป้อม...คุณป้อมเขาเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว มีความรอบรู้ ขวนขวาย ดัดแปลงอาหารเก่ง ตอนเริ่มทำลำบากพอสมควรในช่วงแรกๆ ต้องคิดค้น พัฒนา ทำตลาด ต้องทำหลายๆอย่าง สิ่งแรกที่เริ่มทำคือซาลาเปา เราเน้นให้มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นมีสีสัน และมีส่วนผสมต่างๆ จากธรรมชาติ ช่วยให้สินค้ามีรูปลักษณ์น่าทาน และทำแป้งให้นุ่ม โดยที่ไม่ต้องรอกินร้อนๆ ซึ่งปกติซาลาเปาถ้าไม่ทานร้อนๆ แป้งมันจะแข็งซึ่งเป็นปัญหาของซาลาเปาทั่วไป นอกจากนั้น ตัวไส้ต่างๆ ที่อยู่ในแป้งเราก็จะพิถีพิถันมาก ไม่ว่าจะเป็นไส้หมู ไส้ครีม ไส้ถั่วแดง ไส้เผือก ไส้ผัก คือเราจะเน้นวัตถุดิบตัวเดิมๆของมันเป็นหลัก เพราะฉะนั้น เมื่อทานของเราไปแล้วจะรู้สึกถึงความแตกต่างทันทีที่ได้ทาน เช่น ไส้หมู ถ้าทานทั่วไปจะรู้สึกว่าไส้ข้างในมันมันจังเลย เลี่ยนมาก แต่ของเราไม่เป็น เราจะเน้นหมู ซาลาเปามีกลิ่นหอม รสชาติดี ไม่เหม็นหืน ส่วนไส้อื่นๆ เราก็มีกระบวนการ ขั้นตอนของการผลิตที่เน้นความรู้สึกในตัววัตถุดิบของมันอยู่ เช่น ไส้เผือก เราก็กวนจนได้ที่ ได้กลิ่นของเผือก ไส้ครีมเด็กๆชอบทาน เราก็จะเน้นไข่และนมเป็นพิเศษในการผลิตไส้ 

การตลาดสำหรับร้านคุณป้อม... จริงๆแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงตอนนี้ เราไม่ได้ไปมองตลาดว่า จะต้องกระจายสินค้าให้ใหญ่โตมากมาย แต่เราต้องการให้สินค้าของเราไปยืนอยู่ในตลาดอย่างยั่งยืนและค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า เพราะเรื่องการทำตลาดบางครั้งมันซื้อไม่ได้ หรือผลีผลามไปทำให้มันเกิดขึ้นมาก็ไม่ได้ มันต้องอาศัยเวลา และการยอมรับของลูกค้า มันจะค่อยๆช่วยเรากระจายสินค้า และหวนกลับมาให้เรา อย่างนี้จึงจะยั่งยืนและถาวรจริงๆ พัฒนาการด้านการตลาด แรกๆมีเฉพาะในบางคล้า ต่อมาเราก็ไปทำในกรุงเทพฯ แต่การทำตลาดทุกวันนี้ต้นทุนสูง ไม่ใช่ว่าอยากทำก็ทำได้ อีกอย่างเราดูแลไม่ค่อยสะดวกด้วย เราก็เลยหันมาทำตลาดในพื้นที่ของเรา มุ่งมั่นให้เป็นสินค้าที่เป็นของฝาก และมีความโดดเด่น โดยเน้นที่บางคล้า และตอนนี้ขยายมาที่ตัวเมืองแปดริ้ว แล้วก็พยายามมีส่วนร่วมกับทางหน่วยงานพัฒนาชุมชน และทางจังหวัด เมื่อเขามีการจัดงานต่างๆ เราก็ไปร่วม เป็นการประชาสัมพันธ์ และนำเสนอสินค้าให้กับคนในท้องถิ่น เพื่อให้เป็นฐานก่อน แล้วค่อยๆ กระจายสินค้าออกไป นี่คือจุดที่ตั้งใจไว้ เราไม่ใช้วิธีลงทุนมากมาย เพราะเราเข้าใจสินค้าของเรา ถ้าลงทุนมากแล้วผลตอบรับไม่ดี มันก็จะเสียหายได้ 

เป้าหมายที่จะก้าวต่อไป... ช่วงหลังมานี้เราตั้งใจว่า เราจะขยายจากบางคล้ามาตั้งฐานในตัวเมืองแปดริ้ว เป็นตัวจังหวัด ซึ่งมีฐานลูกค้ากว้างกว่ากันเยอะ โอกาสที่คนจะมาถึงในตัวจังหวัดมีมากกว่า และเสริมด้วยร้านอาหารและสินค้าขายฝาก โดยทำเป็นร้านขึ้นมา ขายทั้งอาหารและสินค้าซาลาเปา เป็นร้านที่ให้ลูกค้ามาหาเรา เพราะถ้าเราออกไปแล้วไม่ใช่ตลาดของเรา เราก็เหนื่อย เพราะผู้ซื้อไม่ใช่กลุ่มคนที่ต้องการสินค้าของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าไปทำตลาดก็ต้องไปให้ถูกที่ด้วย ถ้าเราทำสินค้าของเราให้ดีอยู่แล้ว ทำแบบอดทนสักนิด แล้วค่อยๆ ก้าวไป เขาก็จะมาหาเราเอง นี่คือลูกค้าแท้ๆ ของเรา ลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะเป็นคนดั่งเดิม เป็นลูกค้าเก่าที่อุดหนุนกันมานาน คือ ชอบและเชื่อมั่นในสินค้าของเรา สำหรับลูกค้าใหม่ก็มีมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยอยากเพิ่มในส่วนลูกค้าร้านอาหาร ซึ่งเน้นไปที่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในตัวจังหวัดเป็นหลัก อาจไม่ใช่เฉพาะที่มาวัดโสธรฯ อย่างเดียว แต่เป็นใครก็ได้ที่แวะมา แล้วก็ทานอาหาร ที่มีความโดดเด่น ไม่แพงนัก อยู่ใจกลางเมือง มีความสะดวก ใกล้และพร้อมที่จะแวะเวียนได้ ซึ่งเราก็จะตอบสนองความต้องการตรงนั้น เราจะเน้นอาหารจานเดียว ไม่ใช่อาหารโต๊ะ อาหารที่สามารถหาทานได้ที่ร้าน เช่น ขาหมู หมูกรอบ ซี่โครง โดยมีข้าวกับบะหมี่ให้เลือก แล้วก็เลือกว่าจะเอาหน้าแบบไหนที่อยากจะทาน 

สินค้าที่มียอดขายมากที่สุด... สินค้าที่ยังโดดเด่นเป็นตัวที่มียอดขายมากที่สุด ยังคงเป็นซาลาเปา โดยเฉพาะซาลาเปาไส้หมู รองลงไปคือขนมจีบ ทุกครั้งที่ไปออกงานต่างๆ ขนมจีบจะขายดีมาก เพราะลูกค้าที่ทานของเราจะรู้แล้วว่าไม่ใช่แป้งแต่เป็นหมู เขาทานแล้วจะรู้สึกว่ามันมีอะไรที่แตกต่างจากเจ้าอื่น รองลงไปอีกก็จะเป็นเส้นบะหมี่สายรุ้ง เป็นแนวสินค้าอีกทางหนึ่งที่เราผลิตขึ้นมา เพราะเราคิดว่าซาลาเปามันเป็นของสด อายุในการเก็บรักษามันไม่นาน ผลิตได้จำกัด เราพอมีเวลาจะไปทำอะไรได้บ้าง ก็เลยมองไปที่ของแห้ง เก็บไว้ได้นาน ก็เลยมาผลิตบะหมี่สายรุ้ง ลูกค้าก็เริ่มชอบ หลายคนสั่งซื้อทางไปรษณีย์ก็มี 

รับจัดSnack Box…น่าเสียดายพื้นที่เขียนใกล้หมดแล้วครับ... เอาเป็นว่าใครสนใจจะสั่งซื้อเป็นของฝาก หรือจัด Snack Box (ขนมเบรค อาหารว่างสำหรับประชุม  สัมมนา งานบุญต่างๆ ราคา 25 – 35 บาท) หรืออยากจะสัมผัส ลองลิ้ม ชิมรสซาลาแป้งนิ่มของร้านคุณป้อม ซึ่งมีทั้งไส้หมูพิเศษ ไส้หมูสับ ไส้หมูแดง ไส้แปะก้วย ไส้ครีม ไส้ถั่วแดงงาดำ ไส้เผือก ไส้ผัก พร้อมทั้งหมั่นโถว และบะหมี่สายรุ้งที่มีสีสัน สวยงาม รสชาติอร่อย แล้วละก็ ขอเชิญได้ที่ร้านคุณป้อมนะครับ ซึ่งปัจจุบันมี 2 สาขา คือ สาขาบางคล้า อยู่ที่ถนนวรรณยิ่ง เขตเทศบาลบางคล้า และสาขาแปดริ้ว อยู่ที่ถนนเทพคุณากร ระหว่างซอย 5 – 7 (เส้นทางที่มุ่งหน้าไปวัดโสธรฯ) สำหรับร้านที่เปิดเป็นร้านอาหารมีอยู่ที่สาขาแปดริ้วแห่งเดียวนะครับ 

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ...
ร้านคุณป้อม
สาขาบางคล้า : เลขที่ 5 ถ.วรรณยิ่ง ต.บางคล้า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โทร.038-825728
สาขาแปดริ้ว : เลขที่ 533/3-4 ถ.เทพคุณากร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โทร.038-820728
โทรมือถือ : 089-7701056
เจ้าของกิจการ : คุณสถาพร สันติสงวนศักดิ์ และคุณศิริลักษณ์ สันติสงวนศักดิ์

หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ... 

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สุภาพ โนรีวงศ์ ผมผลิตข้าวอร่อย จากโรงงานธรรมชาติ

สุภาพ โนรีวงศ์... คือเกษตรกรดีเด่นระดับเขต ปี 2556 สาขาอาชีพทำนา เขาบอกว่าเขารู้จักข้าวดี เขาสร้างโรงงานธรรมชาติขึ้นมา เพื่อผลิตข้าวที่อร่อยที่สุดให้เรารับประทาน เราจะไปทำความรู้จักกับคุณสุภาพกัน โดยเขาเล่าให้ฟัง ดังนี้ครับ...

ประวัติ... ปัจจุบันผมอายุ 66 ปี มีภรรยา 1 คน ลูก 3 คน รับราชการ 1 คน เป็นเกษตรกร 2 คน จบ ป.4 แล้วเรียนต่อ กศน. จนจบ ม.ปลาย อาชีพทำนาตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำกับพ่อแม่ ปลูกข้าวมายาวนาน แรกๆ ไม่คิดอะไร ทำสนุก ทำตามพ่อแม่ เรียนไม่เก่งอยู่ท้ายเพื่อน ผมไม่ชอบทำนานัก แต่ยิ่งเรียนรู้การทำงานก็สนุกขึ้น เบาแรงขึ้น ยิ่งเรียนยิ่งแตกฉาน
พลิกชีวิต... ปี 48 ผมได้เรียนรู้เรื่องธาตุอาหาร ทำให้คิดหลายร้อยเรื่อง ทาง ธกส.ถามว่าใครอยากรู้เรื่องธาตุอาหารบ้าง เราไม่รู้ ก็ไปเรียน เรียนที่สุพรรณ 2 ปี เรียนกับ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ ชาวนาอย่างเราภูมิใจนะ เพราะถ้าเป็นนักศึกษาต้องเสียเงินเรียน แต่ชาวนาอาจารย์สอนให้ฟรี ผมก็ตั้งใจเรียน ไม่หลับเลย ต้องการรู้จริง แล้วกลับมาทดลองทำ อาจารย์ก็มาช่วย ปีที่ 2 ให้ทำเอง ต้องเก็บตัวอย่างดิน วิเคราะห์ดิน ว่ามีธาตุอาหารอะไรบ้าง มีความเป็นกรดด่างอย่างไร จะเติมปุ๋ยอะไรลงไป ปลูกข้าวเท่าไรจึงจะพอเหมาะกับพื้นที่ที่เราทำ ตรงนี้เองที่ทำให้ผมรักอาชีพของผมมากขึ้น
ประยุกต์ใช้... วิชาที่เรียนมามันช่วยประหยัด 1.ต้นทุน 2.แรงงาน ทำงานเบาขึ้น ทุนน้อย เบาแรง 3.ได้ผลผลิตเยอะ แล้วชาวนาจะเอาอะไรอีก ได้ 3 ตัวนี้ก็พอใช้ได้แล้ว แต่ผมยังไม่พอ คือตอนเรียนกับอาจารย์ เขาบอกว่า 1 ไร่ ใช้ปุ๋ย 27 โล (กิโลกรัม) ผมถามตัวเองว่าให้มันเหลือ 10 โลได้ไหม อาจารย์ใช้เนื้อปุ๋ย 15 โล คือ เอ็น6 พี4 เค5 รวมกับสิ่งเจือปนเป็น 27 โล (เอ็น (N) คือไนโตรเจน พี (P) คือฟอสฟอรัส เค (K) คือโปรตัสเซียม เป็นธาตุอาหารที่ใช้เป็นส่วนผสมของปุ๋ยเคมี : ผู้เขียน) แต่ผมขอว่าเฉพาะเนื้อปุ๋ย 10 โลได้ไหม เพราะฉะนั้นต้องหาอะไรมาแทนมัน ผมก็เลยหาฟางข้าว ถ้าข้าว 1 ตัน ได้ฟาง 900 โล ในนี้ได้เอ็น 5-6 โล พอกับที่ขาดเลย เพียงแค่เอากลับลงไปในนาเท่านั้นเอง ด้วยวิธีอะไรก็ได้ใส่ลงไปในนา อย่าเผาก็แล้วกัน คุณจะได้เอ็น 5-6 โลแล้ว คุณไม่ต้องซื้อแม้แต่เม็ดเดียว มาแล้วตัวที่ 1 ส่วนพีในฟางมีน้อย ไปหาถั่วมาได้ไหม ใส่ถั่วก็ได้เอ็นอีก พีได้มานิดเดียว ตรวจแล้วต้องเติม ก็ต้องไปซื้อมาเติม แต่เติม 1 โลพอ เพราะตรวจดินแล้วมีพอกลางๆแล้ว สำหรับเคยังไม่มา เคจะมากับน้ำ ผมเคยเอาดินมาตรวจ ดินน้ำท่วม ได้เคเพียบเลย แสดงว่าน้ำพาเอาเคมา เพราะฉะนั้นใครอยากได้เค ก็ไขน้ำเข้ามา สำหรับผม เคต้องเติม เพราะที่ผมโดนล้อมไว้หมด น้ำไม่เข้า สรุปแล้วเราได้เนื้อปุ๋ย 10 โล แล้วทำอย่างนี้ซ้ำๆ ทุกรอบ ผมยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลยแม้แต่เม็ดเดียว มันเหลือแล้ว พอแล้ว งามเกินแล้ว
สร้างโรงงานธรรมชาติ... มันเป็นเรื่องของการจัดการ 1.จัดการธาตุอาหาร 2.จัดการระบบน้ำ 3.จัดการพันธุ์ ดูที่ต้านทานโรคและแมลง ถ้าทำให้ข้าวแกร่ง โรคก็จะไม่มา แมลงก็ไม่เกิด ทำให้ข้าวอดน้ำ แมลงก็ไม่วางไข่ ฉะนั้นให้น้ำเป็นช่วงๆ ไม่ต้องหล่อ ข้าวอดน้ำ 15 วันยังไม่ตายเลย ข้าวแกร่งแมลงเจาะไม่เข้าและข้าวไม่ล้ม ตอนนี้ผมกำลังจัดการเอาน้ำออกให้มันแห้ง ถ้าเอาน้ำออกต้นข้าวจะไม่ปรุงอาหาร มันจะไม่กินเพิ่มเข้าไป เหมือนคนอดอาหาร ข้าวจะใช้อาหารในดินน้อยลง ข้าวจะกลับมาแกร่ง จะลดความงาม ลดโรคและแมลง ได้ข้าวเพิ่มขึ้น เมล็ดแกร่งขึ้นด้วยการอดน้ำ เคมีไม่ต้องคุย ไม่ต้องใช้ ที่สำคัญต้องมีการจัดการตัวเองด้วย คือ อย่าไปตามใจตัวเองมาก อย่างชาวนาทั้งหลาย เวลายังไม่มีแมลงก็ซื้อยามาฉีดแล้ว ถามว่าต้องจัดการตัวเองไหมอย่างนี้ ถามว่าฉีดทำไม ฉีดป้องกัน ป้องกันอะไร ยังไม่มีอะไรเลย ป้องกันทำไม ทำให้เปลื้อง ต้องจัดการความคิดของตัวเองเสียก่อน แล้วเรื่องทั้งหลายจะตามมา
ยิ่งศึกษา ยิ่งชอบ... ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวนา ยิ่งทำ ยิ่งศึกษา ยิ่งสนุก ใช้เครื่องมือเป็น รู้จักธาตุอาหาร รู้จักพืช แก้ดินกรด ดินเปรี้ยวได้ ผมเรียนกับอาจารย์ แล้วก็กลับมาทำกับแปลงนาตัวเอง ศึกษาเอง ทดลองเอง ตรวจเอง มันเปลี่ยนแปลงไหม ลองศึกษาตัวเลข ปีหนึ่งผมตรวจดิน 2 เที่ยว ตรวจทุกปี ตรวจก่อนปลูกข้าว และหลังเกี่ยวข้าวแล้ว คอมพิวเตอร์ก็เป็นเครื่องมือที่ดีช่วยเราได้ 1.ได้สื่อสาร 2.ได้ดูข้อมูล ผมมีอินเตอร์เน็ต มีเฟชบุ๊ค ลุกมาดูเมื่อไรก็ได้ สนุกกับเขา แรกๆผมไม่รู้เรื่อง ผมจบ ป.4 ภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง เดาไป ทำไป ผมคิดว่าเครื่องมือพวกนี้เขาทำมาให้คนใช้ คนอย่างผมต้องใช้มันได้ แล้วผมก็ใช้มันได้จริงๆ
ทำไมเราไม่ปลูกข้าวกินเอง... ผมทำนา 80 ไร่ ยิ่งมารู้จักการปลูกข้าวชุดใหม่ ราคาที่ตกต่ำ ทำให้ผมยิ่งเรียนรู้มากขึ้น มีการเรียนรู้เรื่องข้าวเพื่อกิน ใช้ข้าวปทุมธานี 1 นี่แหละ โดยปลูกกึ่งอินทรีย์มาก่อน วิเคราะห์แล้วเอาอินทรีย์มาช่วย ใส่กันคนละครึ่ง ปรากฏว่ามันได้พันธุกรรมเก่ากลับมา เช่น ความนุ่มนวล กลิ่นหอมกรุ่นๆ ไม่ต้องไปซื้อเขา และเราประหยัด ผมถามเกษตรกรว่า ทำไมเราไม่ปลูกกินเองบ้างล่ะ เราใส่อะไร ฉีดอะไร เรารู้ใช่ไหม แล้วเราจะฉีดของไม่ดีกินไหม ซื้อเขาแน่ใจเหรอว่าเขาใส่อะไรมาให้เรา ข้าวในตลาดต้องอบยากันมอดมากี่เที่ยวกว่าจะถึงเรา
ออกตลาด... ผมปลูกกินเองก่อน เอ...มันอร่อยนี่ ก็ลองมาปลูกในเชิงพาณิชย์บ้าง ให้เพื่อนๆได้ลองกินของเราบ้าง ปรากฏว่าตลาดตอบรับ ผมปลูกปทุมธานี1 เป็นพันธุ์ผสม กข. แต่ไม่ได้ออกตลาดจริงๆ เพราะว่าราคามันถูก แต่ที่ออกตลาดจริงๆ คือ ไรซ์เบอร์รี่ ที่เลือกเพราะราคามันน่าทำ แรกๆกิโลละ 100 ข้าว 1 ตัน ได้ข้าวกล้อง 600 โล ๆ ละ 100 ได้ 60,000 แล้วทำข้าวอะไรได้ 60,000 อย่างนี้ไม่ทำเหรอชาวนา ไปขายข้าวเปลือกได้ 6,000 ถ้าทำอย่างนี้ได้ตั้งกี่เท่า โรงสีถึงได้รวยไง ชาวนาทำไมไม่คิดใหม่ เราต้องเปลี่ยนกระบวนการคิด เราจะมาสู่วงจรอยู่ได้ อยู่ดี ถามว่าเราเอาเปรียบชาวบ้านไหม ไม่ใช่ เราให้ความเป็นธรรมด้วยซ้ำ ถ้ามันแพงก็ลดลง ปัจจุบันผมลดราคาลงแล้ว ราคาขายตอนนี้ ราคาส่งอยู่ที่ 60 บาท/โล ราคาปลีกอยู่ที่ 80 บาท/โล ความคิดผมคือ อยากให้กินของที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย และราคาถูก ให้ผมอยู่ได้พอแล้ว นี่คือการตลาดที่มีความสุขครับ ทีนี้ผมเห็นชาวบ้านเขาตอบรับข้าวมะลิ ผมก็เลยเอามาทำบ้าง เป็นปีแรก หลายคนว่าจะทำได้เหรอที่นี่ ผมว่าไม่เป็นไร เรียนรู้เอา  
วิธีทำข้าวให้อร่อย... ตลาดที่ผมขาย คือ 1.เพื่อนๆ คนรู้จัก เวลาเข้าประชุมก็นำเสนอ 2.ลูกๆหลานๆนำไปขายที่กรุงเทพและปราจีนบุรี 3.นำไปวางตามร้านขายข้าวสาร แรกๆขายยาก เพราะว่าใครก็มีไรซ์เบอร์รี่ มีเยอะมาก แต่ของผมมีจุดเด่นคือ เราปลูกไม่เหมือนใคร ทำไมพูดอย่างนั้น คือ 1.เรารู้จักธาตุอาหาร รู้จักดิน ดินขาดอะไร เอ็น (N) ทำให้ข้าวเติบโตแข็งแรง แต่เอ็นมากไป จะได้แต่ใบ ข้าวไม่ค่อยได้ ต้องใส่แค่พอดี พี (P) ทำให้เมล็ดข้าวแข็งแกร่ง และเค (K) ทำให้ข้าวมีรสหวานมันหอม ถ้าเรารู้จัก 3 ตัวแล้วใส่พอดี เท่าที่ข้าวต้องการ ใครก็สู้เราไม่ได้ แล้วธาตุอาหารพวกนี้ได้จากธรรมชาติ เช่น พืชตระกูลถั่ว ชาวนาทำได้หมด ใครก็ทำได้ เพื่อให้ข้าวมันอร่อย ปลูกถั่วลงไป ปลูกปอเทืองลงไป ตอนที่เราพักดิน  วิธีปลูกก็ปลูกตอนแล้ง แล้วก็ทิ้งไปเลย 60 วันกลับมาดู เขาไม่ต้องการน้ำ กินน้ำค้างก็อยู่ได้ 60 วันแล้วไถ่กลบ พร้อมกับฟางข้าว น้ำมาก็ทำเทือก ได้ธาตุอาหารเก็บไว้ในดินแล้ว ทำให้เรามีรายจ่ายแค่นิดเดียว คือ ต้องซื้อตัวเคมาเติมเท่านั้นเอง
ความโดดเด่น... คือ ข้าวของผมอร่อย หอม นุ่ม เราได้ธาตุอาหารจากธรรมชาติ บริสุทธิ์ มันตอบสนองตอนที่เราเอาข้าวมาหุงต้ม มันจะนุ่มนวล หอม หวาน พันธุกรรมเขากลับมา ชาวบ้านเอาข้าวไปกินกว่าจะรู้ใช้เวลานานเหมือนกัน พอเขาไปกินที่อื่น กับของเรา เขารู้ว่ามันต่างกัน อร่อยกว่า ก็กลับมาหาเรา ตลาดเริ่มติดแล้ว เป็นความโดดเด่นที่ใครก็ยังตามไม่ทัน ถ้าทำสูตรนี้ ข้าวเมืองไทยอร่อยทุกราย ผมชวนคนฉะเชิงเทรามาทำข้าวสูตรนี้ พัฒนาดินก่อน สร้างโรงงานธรรมชาติไว้ก่อน ใช้ไม่รู้จักหมด แสงอาทิตย์ ลม ฟ้า อากาศ มีอยู่ในเมืองไทยอยู่แล้ว พืชก็ฉลาดดูดธาตุอาหารเก็บไว้ที่ต้น เราไถ่กลบลงไปก็ได้แล้ว แต่เราต้องตรวจดูดินเราด้วยว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ตรงกับที่พระเจ้าอยู่หัวฯ สอนให้ห่มดิน คือ เอาพืชที่มีชีวิตมาห่มดิน ไม่ใช่เอาผ้ามาห่ม
อนาคต... ผมคงทำไรซ์เบอร์รี่ต่อไป เพิ่มมะลิ และสังข์หยดของพัทลุง ถามว่าปลูกได้เหรอ ตอบว่าข้าวก็คือข้าว เหมือนกันหมด ชอบอากาศ ฝน ที่เป็นธรรมชาติ เรารู้ใจข้าวเขาหรือเปล่า ถ้าเราเก่งจริง รู้จักเขา นิสัยเขาเป็นยังไง ชอบฤดูไหน เราก็ปลูกได้ ผมยังสนุกกับข้าวอยู่ อยากทำข้าว 1 กิโล ให้ได้ 1,000 บาท แต่ทำยังไงยังไม่รู้ต้องให้นักวิทยาศาสตร์ช่วย รู้แต่ว่าอยากทำ...
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ...
กลุ่มผู้ผลิต : วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลดอนเกาะกา
สถานที่ผลิต : เลขที่ 31/1 หมู่ที่ 4 ต.ดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร : 092-6548040 และ 086-1471868
ประธานกลุ่ม : คุณสุภาพ โนรีวงศ์

หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พรมเช็ดเท้าบ้านห้วยตะปอก กับบทเรียนที่ต้องคิดเอง ทำเอง

วันนี้ เราไปเยี่ยมกลุ่ม OTOP ไกลถึงบ้านห้วยตะปอก หมู่ที่ 9 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ ระยะทางห่างจากศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงที่ทำการกลุ่มพรมเช็ดเท้า ประมาณ 110 กิโลเมตร ไกลกว่าเดินทางไปกรุงเทพมหานครซะอีก คิดดูว่าเวลาเขาเอาผลิตภัณฑ์พรมเช็ดเท้ามาขายที่ตัวจังหวัดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร ท้ายบทความเราจะคุยกันเรื่องของลิขสิทธิ์สักนิด เป็นอุทาหรณ์สอนใจที่กลุ่มนี้เอามาฝาก เอาล่ะ...เราจะไปคุยกับคุณอัมพร กานต์วิศิษฎ์ ประธานกลุ่มพรมเช็ดเท้าบ้านห้วยตะปอก กันครับ... 

ประวัติความเป็นมา...กลุ่มของเราเป็นกลุ่มของชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยตะปอก หมู่ที่ 9 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกและชุมชน มีอาชีพ มีงานทำอย่างต่อเนื่อง สมาชิกเริ่มแรกมีเพียง 18 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 29 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 24 คน เริ่มแรกนั้นทำพรมเช็ดเท้าด้วยวิธีการทอ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2541 เปลี่ยนมาเป็นใช้วิธีการเย็บ เพื่อความแข็งแรง ทนทาน และสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ และออกแบบเป็นลวดลายต่างๆ ที่ไม่เหมือนใคร ปัจจุบันกลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้ว และกำลังมองหาช่องทางตลาดใหม่ๆ เพื่อขยายฐานการผลิตออกไปอีก รวมทั้งตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตพรมเช็ดเท้าให้กับสมาชิกในชุมชนและในหมู่บ้านอื่นๆ ที่สนใจ... 

กระบวนการ/ขั้นตอนการผลิต...กลุ่มของเรามีขั้นตอนการผลิต ดังนี้...
1.      ซื้อวัสดุ คือ เศษผ้า ด้ายจากโรงงานในกรุงเทพมหานคร
2.      ซื้อแผ่นยางจากภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง
3.      ตัดเศษผ้าให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 1 นิ้ว ยาว 2.5 นิ้ว
4.      ตัดแผ่นยางให้เป็นรูปแบบต่างๆ ต้องความต้องการ เช่น รูปสี่เหลี่ยม วงกลม แตงโม รูปการ์ตูน เป็นต้น
5.      นำปากกาเมจิกมาขีดเส้นบนแผ่นยางที่ตัดไว้เป็นแถวๆ ระยะห่าง 1 ซ.ม.
6.      นำเศษผ้าที่ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วมาวางบนเส้นที่ขีดไว้แล้วทำการเย็บตามรูปแบบที่ต้องการ… 

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์...ผลิตภัณฑ์ของเราใช้วิธีการเย็บ ไม่ใช้การทอเหมือนกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น จึงมีจุดเด่นแตกต่างออกไป ดังนี้...
1.      ใช้ได้ทนทาน มีระยะเวลาการใช้งานนานมากกว่า 3 ปี
2.      สีสันสดใส น่าใช้ มีแบบให้เลือกซื้อมากกว่า 30 แบบ
3.      สามารถซักล้าง ทำความสะอาด ด้วยมือหรือเครื่องซักผ้าได้ 

ปริมาณการผลิตและราคา...ผู้ผลิตของเราทั้งหมดเป็นชาวบ้านห้วยตะปอก ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน ฝ่ายผลิตก็ผลิตเกือบทุกวัน ฝ่ายขายก็ทำหน้าที่ขายเป็นประจำเช่นกัน...
  •       ปริมาณการผลิต ผลิตได้เดือนละ 6,000 – 10,000 ชิ้น
  •        ราคาจำหน่าย

          - ขายปลีก ชิ้นละ 39 บาท ,79 บาท และ 99 บาท ตามขนาด
          - ขายส่ง ชิ้นละ 20 บาท ,50 บาท และ 60 บาท ตามขนาด
มาตรฐานผลิตภัณฑ์และรางวัลที่ได้รับกลุ่มของเราได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และรางวัลต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้า ดังนี้
1.      ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
2.      ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับสามดาว ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จากโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2555 (OTOP Product Champion)
3.      ได้รับรางวัลที่ 3 จากการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2557 ของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จังหวัดฉะเชิงเทรา
4.      ได้รับประกาศเกียรติบัตรด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น จากกระทรวงพาณิชย์

สถานที่จำหน่าย...เรามีช่องทางการตลาด ดังนี้
1.      ที่ทำการกลุ่มพรมเช็ดเท้าบ้านห้วยตะปอก เลขที่ 553 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160 เปิดจำหน่ายเป็นประจำทุกวัน ทั้งขายปลีกและขายส่ง
2.      สถานที่จัดงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของอำเภอและจังหวัด รวมทั้งงาน OTOP ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดจำหน่ายตามโอกาสที่มีการจัดงาน
3.      วัดสมานรัตนาราม เปิดจำหน่ายทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด
4.      ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาพนมสารคาม เดือนละ 3,000 ชิ้น เปิดจำหน่ายทุกวัน
บทเรียนเรื่องลิขสิทธิ์...บทเรียนที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับกลุ่มอื่นๆ จากประสบการณ์ของกลุ่มพรมเช็ดเท้า คือ เรื่องของลิขสิทธิ์ ทางกลุ่มเคยผลิตสินค้าที่เป็นลายการ์ตูนดังๆ เช่น โดเรมอน ปลานีโม กบเคโระ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่านั่นคือการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กลุ่มจึงถูกดำเนินการและถูกปรับค่าเสียหายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนให้กลุ่มได้ดำเนินการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยความระมัดระวังในเวลาต่อมา โดยกลุ่มจะออกแบบผลิตภัณฑ์เองทั้งหมด ซึ่งมีคุณชลทรัพย์ กานต์วิศิษฎ์ (ลูกชายของคุณอัมพร) เป็นผู้รับผิดชอบ ก็ขออนุญาตบอกเตือนไปยังกลุ่มอื่นๆ ด้วยความหวังดีว่า อย่าไปละเมิดลิขสิทธิ์ของคนอื่นเขาเด็ดขาด ควรคิดออกแบบเองจะดีที่สุด...

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ...
กลุ่มผู้ผลิต : กลุ่มพรมเช็ดเท้าบ้านห้วยตะปอก
สถานที่ผลิต : เลขที่ 553 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160
โทร : 089-0717891 และ 093-5815091
ประธานกลุ่ม : คุณอัมพร  กานต์วิศิษฎ์

หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...