วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ที่นี่ 5 ดาว...


ประเด็น ก็คือ คนทั่วไปจะรู้ไหม ทำไมผลิตภัณฑ์ OTOP ต้องให้ดาว…
5 ดาว กับ 4 ดาว หรือ 2 ดาว มันต่างกันอย่างไร...
เราควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีระดับดาวมาก ๆ หรือไม่...
แล้วพวกดาวน้อย ๆ จะทำอย่างไร...
วันนี้ ผมจะขอคุยเรื่องนี้สักหน่อย...
และตอนท้ายจะบอกว่า ที่แปดริ้วนี้ อะไรบ้างที่ได้ 5 ดาว...

ทำไมต้องให้ดาว...
เรื่องนี้มาจากโครงการที่ชื่อว่า การคัดสรรสุดยอด OTOP ไทย...
มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า OTOP Product Champion ชื่อย่อคือ OPC ...
เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ...
สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ...
เพื่อเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนในระดับฐานราก ...
ได้มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสามารถส่งออกได้...

มากน้อยต่างกัน...
ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการส่งเข้าคัดสรร จะได้ระดับดาวที่ต่างกัน...
ระดับ 5 ดาว เป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานสูง ส่งออกได้ทันที ...
ระดับ 4 ดาว เป็นสินค้ามีศักยภาพสูง สามารถพัฒนาเพื่อส่งออกได้ ...
ระดับ 3 ดาว เป็นสินค้าระดับกลาง ที่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 4 ดาวได้ ...
ระดับ 2 ดาว เป็นสินค้าที่มีศักยภาพต่ำ แต่สามารถพัฒนาไปสู่ 3 ดาวได้ ...
ระดับ 1 ดาว เป็นสินค้าที่มีจุดอ่อนมาก และยากต่อการพัฒนา ...

พิจารณาจากอะไร...
คณะกรรมการตัดสินมาจากหลายกระทรวง เช่น...
พาณิชย์ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ ศึกษา มหาดไทย เกษตร ฯลฯ...
เกณฑ์การพิจารณา ดูจาก ...
ด้านการผลิตและความเข้มแข็งของชุมชน...
ด้านตัวผลิตภัณฑ์และการตลาด สุดท้ายดูที่ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์...
ทำดี มีมาตรฐานสูงก็ได้คะแนนมาก...
ทำไม่ดี มาตรฐานไม่มี คะแนนก็น้อย...


ประโยชน์ของดาว…
แต่ละระดับดาว จะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนแตกต่างกัน...
พวก 5 ดาว สนับสนุนการส่งออก ...
พวก 3-4 ดาว สนับสนุนการขายในประเทศ...
พวก 1-2 ดาว จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ได้มาตรฐาน...
ใบเกียรติบัตร ผู้ผลิตใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้...
ผู้บริโภคก็ง่าย ต่อการตัดสินใจ...

5 ดาว ของแปดริ้ว…
จากการคัดสรรเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 ...
มีทั้งหมด 13 ราย ดังนี้ครับ...
1.มะม่วงดองน้ำตาลทราย บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด
20/5 หมู่ 6 ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา 038-813444
2.ศิริพรครองแครงกรอบ นางภาพร วรรณแจ่ม
7/27 ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 038-514663
3.ข้าวตังหน้างา วิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนา (ร้านริน)
15/2 หมู่ 3 ต.โสธร อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 038-515996
4.ขนมเปี๊ยะชุดคลาสสิก นายอรุพงษ์ อนิวรรตพงษ์ (อึ๊งมุ่ยเส็ง)
59 ต.ปากน้ำ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 038-541165
5.มะม่วง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก อ.บางคล้า
121 หมู่ 3 ต.สาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 038-583734
6.กะปิ กลุ่มประมงชายฝั่งบ้านคลองเจริญวัย
16/3 หมู่ 2 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 089-9387792
7.ปลากุเลาเค็ม กลุ่มแปรรูปปลากุเลา
174/29 หมู่ 2 ต.บางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 089-9387523
8.ฝอยเงิน กลุ่มสตรีขนมหวานบางปะกง (บ้านคลองผีขุด)
38 หมู่ 14 ต.บางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 038-832054
9.ไข่ไก่สด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด
136/2 หมู่ 2 ต.เทพราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 038-595627
10.มะม่วงน้ำดอกไม้ นายวิเชียร มงคล
93/1 หมู่ 3 ต.คลองเขื่อน อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา 089-9968294
11.กระเป๋าหนังสะพาย นางทิพวัลย์ แสงอภัย
148 หมู่ 5 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา 087-9404237
12.ยาอมบรรเทาอาการไอมะขามป้อม ห้างธงทองโอสถ
17/3 หมู่ 2 ต.วังตะเคียน อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 038-816685
13.มะม่วง วิสาหกิจชุมชนชมรมชาวสวนอำเภอแปลงยาว (เพชรสำโรง)
54 หมู่ 9 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา 038-589321

อาจแปลกใจนะครับ บางรายการเราไม่เคยรู้จักมาก่อน...
แต่นี่แหละของดีของบ้านเรา...
ส่วนระดับดาวอื่น ๆ ดูได้จากเว็บไซต์สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา…
หรือจะขอหนังสือ OTOP แปดริ้ว ก็ได้ ติดต่อที่ 038-511239...

ชีวิตผม…รู้เรื่องเดียว ขนมเปี๊ยะ “ตั้ง-เซ่ง-จั้ว”


ผมประทับใจสโลแกนนี้...
ชีวิตผม…รู้เรื่องเดียว ขนมเปี๊ยะ “ตั้ง-เซ่ง-จั้ว”
บนเสื้อคุณชัยรัตน์ ตันคงคารัตน์ เจ้าของร้านตั้งเซ่งจั้ว…
หนึ่งในร้านขนมเปี๊ยะชื่อดังของจังหวัดฉะเชิงเทรา…
เขาคุยว่าเขารู้เรื่องเดียว คือ ขนมเปี๊ยะ...
ต่อไปนี้ คุณชัยรัตน์ จะเล่าเรื่องขนมเปี๊ยะตั้งเซ่งจั้ว ให้เราฟังครับ...

มองข้ามความรวย...
เตี่ยผมนั่งเรือสำเภามาจากเมืองจีน มาอยู่แปดริ้วตั้งแต่ปี 2475...
มาทำขนมเปี๊ยะ ความรู้ที่ได้... รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ...
วางขายที่หน้าบ้าน ขายไม่ดี มีขนม 3-4 อย่าง ชิ้นใหญ่ กลาง เล็ก...
อายุ 13 หน้าที่หลักของผม ติดเตา เฝ้าเตาอบ ไม่หนักแต่ร้อนมาก...
อายุ 18 เตี่ยบอกว่างานขนมเปี๊ยะมันเหนื่อย ไม่อดทนอยู่ไม่ได้...
ถ้ามีงานไหนดีกว่า ชอบกว่า ไปเลย...
เตี่ยบอก ผมก็ไป...
เป็นลูกจ้างส่งใบชาที่กรุงเทพฯ 2 ปี ส่งยา 1 ปี ทำโรงสี 8 ปี...
โรงสีรายได้ดี แต่อยู่ไม่ได้เพราะแพ้ละอองข้าว...

ชีวิตต้องสู้...
กลับมารับขนมเปี๊ยะของพี่ชายมากระจายขาย...
หักลบกลบหนี้แล้ว ไม่คุ้มค่าเหนื่อย คิดว่าจะอยู่รอดต้องทำเอง...
ปี 2526 ผมทุ่มเงินเก็บทั้งหมดที่มี 14,500 บาท ทำขนมเปี๊ยะเอง...
ซื้อเตา ซื้อวัตถุดิบ วันแรกขายได้ร้อยเดียว แทบร้องไห้...
คิดมุมกลับ ขี่หลังเสือลงมาก็ตาย ผมสู้ทน ทำต่อไป...
ผมส่งของมาขายบ้านแม่ยายเพราะทำเลดีกว่า...
ได้วันละพัน สองพัน ไม่พอ แค่นี้อยู่ไม่ได้...

จุดเปลี่ยน...
กรมการค้าภายในมาช่วยชีวิต สมัยก่อนมีโครงการธงฟ้า สินค้าราคาถูก...
จัดงานจังหวัดต่าง ๆ ที่ละ 2 วัน แถวภาคตะวันออกขายดีมาก...
ได้ครั้งละ 3,000-5,000 บาท จึงขายแบบนี้เรื่อยมา...
ประทับใจเมื่อไปขายที่อยุธยา ไปถึง 5 โมงเย็น ฝนมา ฟ้ามืด...
ตกจนถึงหนึ่งทุ่ม น้ำท่วม ของเต็มรถทำไง ต้องขายไม่ขนกลับแน่...
ไม่น่าเชื่อ ผมเอาของมาขายกลางน้ำ คนซื้อลุยน้ำมาซื้อใฃ...
สามทุ่มขายหมดเกลี้ยง...
เมื่อไปหลายที่ คนเริ่มรู้จัก เริ่มขายง่าย ขายดี มีคนโทรมาสั่ง...

ค้าขายต้องปรับตัว...
ทำขนม ถ้าไม่หลากหลาย ก็ขายได้น้อย...
ผมคิดทำขนมเปี๊ยะขึ้นมาเรื่อยๆ ปีละ 1-2 อย่าง...
ตอนนี้ที่ขายดี คือ บัวหิมะ ไส้ทุเรียน ถั่วเขียว ถั่วดำ งาดำ มะตูม...
กว่าจะคิดได้ ทำเสีย ทำทิ้งไปเยอะ...
ส่วนขนมเปี๊ยะมีหลายไส้...
ถั่วไข่เค็ม ถั่วงาดำ สัปปะรด พุทราจีน ฟัก ทุเรียน ฯลฯ...
ขนมที่นี่ทำสดทุกวัน ไม่ใส่สารกันบูด เก็บปกติได้ 1 สัปดาห์...
เก็บในตู้เย็นได้ 2 สัปดาห์ อยู่ได้เพราะเราใส่ซองดูดความชื้น...

พัฒนาไม่สิ้นสุด...
ขนมดีต้องมีกล่องสวย ซื้อฝากใครไม่อายกัน...
ที่นี่กล่องสวย ฝีมือลูกๆ หลาน ๆ ผมมีวิธีลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์...
จะรวมกับพี่ชาย สั่งครั้งละมากๆ ราคาก็ถูกลง...
ขนมที่นี่ 90 % ขายหน้าร้าน ขายหมดทุกวัน...
เมื่อก่อนใช้แรงงานคนปั้น ไม่ทันขาย ทุกวันนี้ต้องใช้เครื่องมาช่วย...
มีห้างใหญ่ๆ ติดต่อให้ไปขาย สนใจนะ แต่ติดปัญหาเรื่องกำลังการผลิต...

เรียนรู้จุดเด่น แก้ไขจุดด้อย...
ขนมเปี๊ยะจะอร่อยอยู่ที่ทุกอย่าง แป้งดี ไส้มีคุณภาพ มีความสด ใหม่...
ผมเน้นว่าต้องทำให้พอดี ขายหมดวันต่อวัน ต้องเตรียมของให้พอขาย...
ขายของกินต้องรู้จักสังเกต ต้องเตรียมตัว ช่วงไหนขายดี ช่วงไหนเงียบ...
ช่วงเงียบ อย่าตุน เงินจะได้ไม่จม...
ช่วงขายดี ปีใหม่ ตรุษจีน ไหว้พระจันทร์ ต้องเตรียมให้พอ...
ปีใหม่ขายดีมาก เพราะขนมเปี๊ยะดีกว่า ทนกว่า...
หยิบกระแทก หน้าไม่เละเหมือนเค้ก...

ชีวิตผม รู้เรื่องเดียว ขนมเปี๊ยะ...
สโลแกนนี้ ลูกสาวคิด สั้นๆ แต่ได้ใจความ...
มนุษย์เรานั้นขอให้มีความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง...
ก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำมาหาเลี้ยงชีพ...
ดังบทกลอนส่วนหนึ่งของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่ว่า…
อย่าเกียจคร้านการเรียนเร่งอุตส่าห์ มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน...
จะตกถิ่นฐานใดคงไม่แคลน ถึงคับแค้นก็พอยังประทังตน…
อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล…
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์ ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี...

ภูมิใจสร้างตัวได้...
คุณชัยรัตน์ แห่งร้านตั้งเซ่งจั้ว ก็เข้าตำรานี้ครับ...
เขาบอกภูมิใจเรื่องความรู้เรื่องขนมเปี๊ยะ จนกลายมาเป็นสโลแกนประจำตัว...
อีกอย่างที่เขาภูมิใจมาก...
คือ การสร้างเนื้อสร้างตัวจากเงินเพียง 14,500 บาท เท่านั้น...
ปัจจุบันร้านนี้มีอยู่ 2 แห่ง...
ตั้งอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟฉะเชิงเทราและที่ปากทางเข้าวัดผาณิตาราม...
หรือจะซื้อที่ร้านโกลเด้น เพลส กรุงเทพฯ เขาก็มีขายเช่นกัน...
ส่วนร้านเก๋งจีนที่บางคล้า และร้านที่ถนนมอเตอร์เวย์บางปะกง เป็นของพี่ชาย...
ใครสะดวกจุดไหนก็แวะมาเลือกซื้อได้ครับ...
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม 275/1 ถ.มหาจักรพรรดิ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา…
โทร.0-3851-5395 , 0-3851-1139
หรือ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.0-3851-1239...

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

จากงูเขียวในท้องถิ่น เป็นมังกรบินได้อย่างไร…


คุณรู้ไหมว่า การพัฒนา OTOP แปดริ้ว เขาทำกันอย่างไร...
ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็ดีขึ้นมาได้...แต่มันมีกระบวนการปั้นดินสู่ดาว...
หรือที่ผมเรียกว่า “จากงูเขียวในท้องถิ่น เป็นมังกรบิน” นั่นแหละครับ...

องค์กรลับ ขับเคลื่อน...
จริง ๆ ไม่ใช่องค์กรลับอะไร แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้...
หนึ่ง เขามีคณะอนุกรรมการ OTOP จังหวัด ท่านผู้ว่าฯ เป็นประธาน...
มีหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์...
สอง คณะกรรมการพัฒนาองค์ความรู้ รองผู้ว่าฯ เป็นประธาน...
มีหน้าที่วางแผนการพัฒนาทุกๆ ด้าน...
สาม คณะอนุกรรมการด้านการตลาด การบริหารจัดการ
คณะอนุฯ ด้านอาหาร คณะอนุฯ ด้านของใช้...
มีหน้าที่วางแผนปฏิบัติการและขับเคลื่อน...
สี่ เครือข่าย OTOP แปดริ้ว...

มีหน้าที่ช่วยเหลือกันทุกด้านในกลุ่ม OTOP ด้วยกัน...

คิดจะรบ ต้องมีกลยุทธ์…
องค์กรเหล่านี้ เขาไม่ทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า...
เขามีการประชุมวางแผนกันก่อน...
มองอนาคตอย่างไร มีวิสัยทัศน์อย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร...
เขาวิเคราะห์ มองรอบด้าน จะแก้ปัญหาอย่างไร พัฒนาอย่างไร...
สรุปออกมา เขาเรียกว่า “ยุทธศาสตร์” ครับ...
ในนั้นจะบอกเป้าหมาย กลยุทธ์ ยุทธวิธี ที่จะรบทั้งหมด...

จับงูเขียว มาฝึก...
กลุ่มเป้าหมายของเขา คือ กลุ่ม OTOP แปดริ้วทั้งหมด...
ส่วนใหญ่เป็นงูเขียวท้องถิ่น คือ หากินเล็กๆ น้อยๆ แถวบ้าน...
มีบ้างที่เป็นงูใหญ่ หากินไกลหน่อย มีกำลังมาก...
องค์กรจะจับพวกนี้มาอบรม ฝึกซ้อม ประชุม สัมมนา...
เรียกว่าให้ความรู้ และฝึกทักษะของการเป็นผู้ประกอบการทุกอย่าง...
บางหลักสูตร ลงทุนเป็นหลายๆ แสนบาท ก็มี...

กบนอกกะลา…
ยังไม่พอ เกรงจะไม่เข้าใจ ยังพาไปดูงานอีก...
ว่ากันว่า การทัศนศึกษา ดูงาน เป็นการเรียนรู้ที่ดีมากอย่างหนึ่ง...
เขาพางูเขียวท้องถิ่นไปดูกระบวนการผลิต การบรรจุภัณฑ์...
ดูการบริหารจัดการ การตลาด การหาแหล่งทุน และอีกหลายอย่าง...
พวกนี้กลับมาก็กลายเป็นกบนอกกะลา โลกทัศน์กว้างไกลขึ้น...

กระบวนการ กลายร่าง...
กลับจากการฝึกวิทยายุทธ์ และดูงานแล้ว...
พวกงูเขียวทั้งหลาย ก็ต้องมาพัฒนาตัวเอง...
ผลิตภัณฑ์ต้องดีขึ้น ทั้งสี กลิ่น รส รูปทรง คุณภาพ มาตรฐาน...
บรรจุภัณฑ์ต้องตา ต้องใจ แข็งแรง ปลอดภัย...
ราคาขาย ราคาทุน ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ไม่ใช่ทุนหาย กำไรหด...
สถานที่ขายต้องดี เหมาะสม ทำอย่างไร ให้ลูกค้าเห็นง่าย เห็นแล้วซื้อ...
การส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม ก็ต้องมี...
ภาษานักการตลาด เขาเรียกว่า หลัก 4P นั่นเอง...
คือ การพัฒนา Product Price Place และ Promotion …

งูเขียว ที่แคระแกรน…
กระบวนการพัฒนานี้ ไม่ใช่ว่าทุกผู้ประกอบการจะทำได้...
บ้างคนก็ท้อแท้ หมดกำลังใจไปก่อน...
แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปแล้ว...
โดยหลักที่ผิดพลาดก็คือ 1 ใน 4P หรือหลายตัวใน 4P ...
อีกประการหนึ่ง คือ การไม่คิดที่จะพัฒนาของตัวผู้ประกอบการเอง...
แต่สำหรับผู้ที่ไม่ย่อท้อแล้ว มักจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ...

ถึงเวลา มังกรบิน…
เมื่อมีการพัฒนาแล้ว งูเขียวก็กลายเป็นมังกร...
พร้อมที่จะค้าขายกับโลกภายนอก ต่างถิ่น...
บ้างก็มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง บ้างก็ตลาดนัด...
บ้างก็ค้าขายทางอินเตอร์เน็ต หรือ Event ต่างๆ ...
บ้างก็ค้าขายทั้งในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ...

สุดท้าย พบกันที่เมืองทอง...
นี่คือแหล่งใฝ่ฝันของบรรดาเหล่ามังกรบินทั้งหลาย...
เพราะมันคือโอกาสทางธุรกิจที่ดีที่สุดของ OTOP…
การค้าปลีก ค้าส่ง และพบปะลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศจะเกิดขึ้นที่นี่...
จากที่เล่ามาทั้งหมด คือ กระบวนการพัฒนา OTOP แปดริ้ว...
ซึ่งจะหมุนวนไม่หยุดนิ่ง ปีแล้วปีเล่า ตราบเท่าที่ ยังมี OTOP อยู่...
และขณะนี้องค์กรขับเคลื่อน OTOP แปดริ้ว...

ได้จัดทำหนังสือชื่อ “OTOP แปดริ้ว” เพื่อเผยแพร่แล้ว...
สนใจขอรับได้ที่ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.0-3851-1239...

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“ริน” หนึ่งในตำนานขนมหวานแปดริ้ว

“รินขนมไทย”...ลงทะเบียน OTOP ...
ในนามวิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนา...
ตั้งอยู่เลขที่ 15/2 ม.3 ต.โสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000...
บริหารงานโดย คุณวิทยา คุณวรพรรณี น้อยใจบุญ สองสามีภรรยาและลูกๆ…
เป็นผู้นำธุรกิจขนมหวานไทยของแปดริ้ว...
จากสูตรขนมคุณยายทำให้ลูกหลานและญาติมิตรรับประทาน....
พัฒนามาเป็นร้านขนมหวานของดีประจำจังหวัด...

ที่รู้จักกันมานานกว่า 30 ปี...
คุณวรพรรณี หรือพี่เล็ก ผู้ประกอบการรุ่นลายคราม...

จะเล่าเรื่องราวของ “รินขนมไทย” ให้เราฟัง...

ก่อนจะมาเป็น “ริน”…
เดิมพี่เป็นครู แฟนเลี้ยงไก่ ไม่มีประสบการณ์ ขาดทุนมาก... เจ๊ง...
คิดใหม่ ทำใหม่ น่าจะทำขนม เพราะปู่ย่าตายายทำขนมเก่ง...
คิดถึงกระยาสารท หนึ่งเก็บได้เป็นปี...
สองกรอบมันเพราะไม่ใช้น้ำตาล เราใช้น้ำอ้อย...


ปัญหาน่าปวดหัว…
เริ่มค้นหาวัตถุดิบ...ข้าวเม่า งา ถั่วลิสง น้ำอ้อย จะซื้อจากที่ไหน....
รู้ว่าพ่อค้าไปเอาที่แพท้องน้ำ (วัดแหลม)...
แต่ที่นั่นเขาไปเอามาจากไหนไม่รู้...
อย่างอ้อยไม่ใช่ที่ไหนก็ใช้ได้...อ้อยชลบุรี ดินทราย ร่วนใช้ไม่ได้...
อ้อยวัดผาฯ (วัดผาณิตาราม อ.บ้านโพธิ์) ดินน้ำเค็ม ก็ใช้ไม่ได้...
อ้อยดี ต้องปลูกดินเหนียว แถวนนทบุรี,ปทุมธานี...
และต้องเป็นอ้อยพันธุ์ที่ปลูกกวนขนมเท่านั้น...
ค้นหามานาน หลายที่กว่าจะลงตัว...ใช้งาที่เพชรบูรณ์ ถั่วลิสงที่พนัสนิคม...
ข้าวเม่าต้องเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงู...
กวนเดือนแปด ใช้เดือนสิบ (ประมาณตุลาคม)...
แม่ค้าที่ตลาดถาม...ทำไมไม่ขายทั้งปี...
เดี๋ยวขายเดี๋ยวหยุด...เลยลองกวนทั้งปี...

เหตุที่ดัง...
มีลูกค้าซื้อไปฝาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ท่านทิ้งไว้นาน...
วันหนึ่งทานข้าวเสร็จ หยิบกระยาสารทมาทาน...
แผ่นกลาง 4 ชิ้น ทานหมดเลย...
ท่านเขียนลงวารสารฟ้าเมืองไทย...
และทางวารสารขอเครื่องหมาย “เชลล์ชวนชิม” ให้...
หลังจากนั้นมา ก็ขายดีขึ้นเรื่อยๆ...

ทำไมยี่ห้อ “ริน”
สินค้าต้องมียี่ห้อ...เล็ก ชื่อโบราณ...ชื่อจริงก็ยาวไม่เหมาะสม...
ลูกสาวชื่อภาวริน “ริน” แปลว่า ทอง...ฟังดูเย็นๆ ดี เหมือนน้ำไหลรินๆ...
จึงตกลงใช้ชื่อนี้ น้องของพี่วิทยาออกแบบตัวหนังสือให้...

มากกว่ากระยาสารท...
จากกระยาสารทหนึ่งอย่าง ลูกค้าบอกมีตัวเลือกน้อย...
จึงทำขนมอื่น ๆ ด้วย ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหัวผักกาด ฯลฯ...
จากที่เราเป็นเด็ก แม่มีลูก 7 คน ทำขนมกินเอง ทำให้เรารู้จักขนมต่างๆ...
ค่อยพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ลองผิดลองถูก...ปรับบางสูตรที่ไม่อร่อย...
สูตรต่างๆ จากวิธีตวง เปลี่ยนเป็นวิธีชั่ง เพราะตวงไม่แน่นอน...

ตลาดของ “ริน”…
แรกๆ หิ้วขนมไปฝากขายตามร้านต่างๆ แถวบางกะปิ 10 ร้าน ได้ 2 ร้าน...
เขาบอกติดเทศกาลไหว้พระจันทร์ ที่ได้ก็เป็นฝากขาย ไม่ซื้อขาด...
ต่อมาออกงานบ่อย ขายที่งานในกรุงเทพฯ งานที่สวนอัมพร งาน ททท....
ต้องปรุงตรงนั้น เอารถสิบล้อขนไป...เจอคู่แข่งเราไม่กลัว เพราะเราอร่อยกว่า...
ปัจจุบันเราขายประจำที่ร้านริน มี 2 แห่ง... คือ ที่นี่ เปิดทุกวัน 07.00-19.00 น.
กับที่ ถ.เทพคุณากร ขาออกจากไปไหว้หลวงพ่อโสธร เปิด 08.00-18.00 น....
ต่างจังหวัด ส่งร้านโกลเด้นเพลส ,บางจาก ,เรมอนฟาร์ม...
และร้านขายของฝาก กรุงเทพฯ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ไม่ไปไกล...

อยู่อย่างพอเพียง...
เคยคิดพัฒนาเพื่อส่งออก เริ่มติดต่อที่เมืองจีน ลองตลาด ขายไม่ดี...
เมืองจีนมีขนมถั่วตัด คนไม่สนใจกระยาสารท...
เคยมีพ่อค้าคนกลาง สั่งของเราไปขายที่นิวซีแลนด์...
หยุดไปพักหนึ่ง นึกว่า OK ปรากฏว่าร้านเขา ทางการตรวจแล้วไม่ผ่าน...
ล๊อตเดียวหายเลย...และช่วงนั้นมีข่าวพ่อค้าคนกลางหลอกลวง OTOP บ่อยๆ...
กลับมาพิจารณา เราเข้าวัด ปฏิบัติธรรม ในหลวงก็บอกเศรษฐกิจพอเพียง...
จึงเลิกคิดส่งออก...ลูกค้าเก่าอย่าให้หาย ลูกค้าใหม่หาเพิ่มเติม...
คงไว้ซึ่งความยุติธรรม ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อลูกค้า...

ไม่เอาเปรียบลูกค้า เท่านี้พอ...

รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ...
ร้านริน มีเอกลักษณ์ คือ ทำขนมไทยไม่ทำขนมต่างประเทศ...
และมีการสืบกิจการให้กับทายาท รางวัลแห่งความภาคภูมิใจล่าสุด...
ได้รับรางวัลคุณแม่ผู้อนุรักษ์ขนมไทยดีเด่น...
จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เมื่อ 29 ก.ค.49...
รายละเอียดเพิ่มเติมขอได้ที่ ร้านริน โทร 0-3851-3777, 0-3851-2534...
หรือ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.0-3851-1239...

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แปดริ้วแชมป์…ชัยชนะท่ามกลางความโกลาหล...


ผมขอคุยเรื่องนี้หน่อยเถอะ...นานๆ จะได้แชมป์ระดับประเทศสักที...
เป็นรางวัลชนะเลิศการประกวดขบวนพาเหรดวัฒนธรรม...
งาน OTOP Festival in the City 2009...
ณ สนามศุภชลาสัย ถนนสุขุมวิท...
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2552...
รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารฯ...
กับเงินสดอีก 500,000 บาท...
ผู้ว่าฯ วีรวิทย์ วิวัฒนวานิช รับถ้วยพระราชทาน...
พัฒนาการจังหวัด กฤษณา สุพรรณพงษ์ รับเงินสดห้าแสนบาท...
จากนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ...
ผมขอเล่าเรื่องเบื้องหลัง ด้วยความภาคภูมิใจ...
เราสามารถแก้ไขปัญหามาได้ด้วยดี จนคว้าชัยชนะครั้งนี้ครับ...

วิกฤตคือโอกาส...
คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ...
มีมติให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดงานใหญ่...
OTOP Festival in the City 2009 ณ บริเวณใจกลางเมืองกรุงเทพฯ...
ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 5 เมษายน 2552...
พูดง่ายๆ คือ ขาย OTOP ในศูนย์การค้าชั้นนำ 7 แห่ง ได้แก่...
เอ็มโพเรียม อัมรินทร์พลาซ่า สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์...
สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และมาบุญครอง...
กับสนามศุภชลาสัย สนามกีฬาแห่งชาติ รวม 3,200 ร้านค้า...
อยากให้งานดี งานดัง ก็เลยให้มีการประกวดขบวนพาเหรดวัฒนธรรมด้วย...
แบ่งเป็น 18 กลุ่มจังหวัด ๆ ละ 1 ขบวน...แข่งขันวันเปิดงาน 29 มีนาคม...
เรารู้ตัวก่อนแข่งขันประมาณ 10 วัน เท่านั้นเอง...

ปัญหามา ปัญญามี...
เวลากระชั้นชิด คิดอะไรได้ต้องรีบทำ...
ผู้ใหญ่ในจังหวัด ตั้งแต่ผู้ว่าฯ พัฒนาการจังหวัด...เคลียร์ปัญหาก่อน ทำไงดี...
กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง มี 5 จังหวัด...
ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว...
ตอนนี้แปดริ้วรับบทเป็นหัวหน้ากลุ่ม...
ท่านผู้ว่าฯ เคลียร์ทุกจังหวัด ขอรับอาสาดำเนินการเอง...
ไม่งั้นไม่ทัน ไม่เรียบร้อย บริหารจัดการยาก...
ทุกจังหวัดโอเค แปดริ้วดำเนินการ...

ขุนศึกอยู่ที่ไหน...
ยิ่งใกล้วัน เวลาเหลือน้อย ยิ่งต้องรีบ...
เงื่อนไขประกวด ต้องมีรถขบวน 1 คัน ยาว 9 เมตร สูง 4 เมตร...
ประดับด้วย OTOP...
ผู้แสดง 150-200 คน แสดงวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทุกจังหวัด...
เวลาน้อย โจทก์ยาก ใครจะทำได้...
โชคยังดี หลายปีผ่านมา เวลาเปิดงาน OTOP แปดริ้ว...
เราใช้นักแสดงของอาจารย์อุษา วงศ์กลม โรงเรียนวัดดอนทอง...
ได้อาจารย์อุษามาช่วยเรื่องรูปขบวนและนักแสดง...
อาจารย์นิวัฒน์ช่วยเรื่องตกแต่งรถ...
อาจารย์ไปช่วยกันคิดอยู่เป็นวัน จึงได้แบบออกมาเป็นรูปร่าง...

คิดดี มีความหมาย...
พัฒนาการจังหวัดช่วยเพิ่มเติม เข้ารูปเข้ารอย...
รถแห่ นำหน้าด้วยหลวงพ่อโสธร เสด็จจากสวรรค์...
แห่แหนด้วยสัตว์ป่าหิมพานต์...
คชสีห์ หมายถึงความน่าเกรงขาม...
นกสัมพาที หมายถึงความมีพลัง ความเสียสละ...
นาคราช หมายถึง ความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์...
นำผลิตภัณฑ์ OTOP จากภูมิปัญญาอารยชนสู่มวลมนุษย์...
เสริมด้านข้างด้วยรูปแกะสลัก ปลาช่อน ตำนานของชาวแปดริ้ว...
และด้านหลังด้วยซุ้มประตูปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว...
รวมแล้วหมายถึง ความเลื่อมใสหลวงพ่อโสธร...
และอวยพรให้ทุกคนเจริญก้าวหน้า...

เบญจบูรพาสุวรรณภูมิ...
ขบวนนักแสดง ประกอบด้วย 5 ขบวน ๆ ละ 30 คน...รวม 150 คน...
ฉะเชิงเทรา ชื่อขบวน “พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร”
เป็นแม่ลูกคู่ขวัญไปรำแก้บนหลวงพ่อ...
สมุทรปราการ ชื่อขบวน “อรชรรามัญบรรเจิดเชิดหุ่นคน” ...
แสดงหุ่นคนเชิด...
นครนายก ชื่อขบวน “สวยเลิศล้นชนไทยพวน” ...
แต่งกาย ร่ายรำแบบชนพื้นเมือง...
ปราจีนบุรี ชื่อขบวน “งามสง่าล้วนทวาราวดี” ...
แสดงระบำทวาราวดี...
สระแก้ว ชื่อขบวน “สำอางค์ศรีนางอัปสรา” ...
แสดงระบำอัปสราสำอางค์ แบบเขมร...
และสุดท้าย เราให้ชื่อกลุ่มจังหวัดนี้ว่า “กลุ่มเบญจบูรพาสุวรรณภูมิ”...
ทั้งหมดนี้ กรรมการชอบ คนดูชอบ...เราชนะที่หนึ่งของประเทศ...
ขอบคุณในความร่วมมือของทุกคน...
และลืมไม่ได้ อบจ.ฉะเชิงเทรา สนับสนุนงบประมาณครับ...
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สนง.พัฒนาชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา โทร.0-3851-1239...

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

จากสุดยอดสมุนไพรไทย…มาเป็นเครื่องสำอาง...วรรณพฤกษา...


เคยบ้างไหม...ที่รู้สึกว่า...มีอะไรบางอย่าง ที่เรารู้จักดีที่สุด...
รักที่สุด ชอบที่สุด ดีจนอยากบอกต่อ...
อยากให้คนอื่นใช้...ของดีๆ อย่างเราบ้าง...
วันนี้ ผมมีเรื่องของคนแบบนี้ มาเล่าให้ฟัง...
คุณวรรณี นิ่มเจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนวรรณพฤกษาสมุนไพรไทย...
คนที่รู้จักคุณค่าของสมุนไพรไทยดีที่สุดคนหนึ่ง...
คนที่แบ่งปันความรู้ ภูมิปัญญา ออกมาในรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย...
เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ สิ่งดีๆ อย่างที่เธอใช้...
ต่อไปนี้ คุณวรรณีเล่า...ผมเขียน....เช่นเคยครับ...

เปิดประตูกิจการ...
วิสาหกิจชุมชนวรรณพฤกษาสมุนไพรไทย จดทะเบียนแล้ว...
อยู่เลขที่ 193/12 ซ.มหาจักรพรรดิ 9 ถ.มหาจักรพรรดิ
ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา...
ก่อตั้งเมื่อปี 2547 มีสมาชิก 7 คน ส่วนใหญ่เป็นญาติกัน...
ลงทุนครั้งแรก 300,000 บาท ด้วยทุนส่วนตัว...
เป็นค่าแบบพิมพ์ สติกเกอร์ ขวด อุปกรณ์ สมุนไพร...
สมุนไพร...บางอย่างปลูกเอง ที่บ้านแม่ที่คลองเขื่อน...
เช่น มะกรูด ทองพันชั่ง ว่านหางจระเข้ ใบบัวบก ใบตำลึง ฯลฯ...
หัวเชื้อเคมีซื้อแถวเยาวราช...วัดตึก...ขวดซื้อที่หลานหลวง...สะพานขาว...
กำลังการผลิต 100-200 ขวด/เดือน...
มีหลายขนาด ต่ำสุด 30 ม.ล. สูงสุด 340 ม.ล....
หลายราคา...ต่ำสุดพิมเสนน้ำ 30 ...สูงสุดน้ำมะพร้าว 120 ...

ให้ในสิ่งที่เราชอบ...
เพราะเคยอยู่วัดทำสมาธิ จำศีล ภาวนา...
อยู่มาหลายจังหวัด...เลย สระบุรี เชียงราย...
อยู่วัดไม่ค่อยใช้เงิน...เพราะห่างไกลตลาด...แม่ชีแนะนำให้ใช้สมุนไพร...
ส้มป่อยสระผม...ขมิ้นไพรพอกหน้า...ตำลึงหมักผม...
นานเข้า...สะสมเป็นความชอบ...จึงศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือ...
รู้ว่าสมุนไพรไทยคือสุดยอดของดี ของมีค่า ของคนไทย...
ตอนแรกทำใช้เอง...แต่อยากแบ่งปันของดีให้คนอื่นใช้บ้าง...
เลยทำออกขาย...ไปฝากที่สถานีรถไฟแปดริ้ว...
เขาบอกไม่ได้...ต้องเป็น OTOP เลยมาลงทะเบียนเมื่อปี 2547...

ล้มแล้วลุก...สู้แล้วรวย...
ช่วงแรกที่ทำออกขาย ไม่ใช่ง่าย ไม่ใช่ทำแล้วได้เลย...
ต้องลองผิด ลองถูก อยู่นาน กว่าจะเข้าที่...บางครั้งส่วนผสมผิด ต้องเททิ้ง...
แชมพูกวนเข้าที่แล้ว...ดันเหลวเป็นน้ำ...ทำไง...เอาไปถูห้องน้ำ ซักผ้า...
ทำตามตำรา ใช่ว่าจะได้เสมอไป...แชมพูเหลว จับเป็นก้อนก็มี...
อยากได้แบบนี้ กลับได้แบบนั้น...ที่สำคัญมันใช้ไม่ได้...
แต่ไม่ท้อ ท้อไม่ได้ เพราะอยากทำของดีให้คนอื่นใช้...

ของดี มีไว้แบ่งปัน...
ประเภทบำรุงผิวพรรณ ทำให้ผุดผ่อง เป็นยองใย นวลเนียน ใสสะอาด...
ต้องโลชั่นว่านนางคำ โลชั่นว่านหางจระเข้ผสมใบบัวบก...
หรือโลชั่นน้ำนมข้าวผสมว่านหางจระเข้...
ประเภทบำรุงเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื่น มีน้ำหนัก นุ่มสลวย เงางาม จัดทรงง่าย...
ต้องแชมพูสมุนไพร มะรุม อัญชัน หางจระเข้ ทองพันชั่ง มะกรูด...
ครีมนวดผมผสมใบตำลึง...สเปรย์บำรุงเส้นผม ป้องกันผมแห้ง แตกปลาย...
ประเภททำความสะอาดร่างกาย ทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง นวลเนียน...
ต้องสบู่เหลวผสมสมุนไพรชาเขียวและใบพลู...
ครีมอาบน้ำสมุนไพรขมิ้น ว่านนางคำ น้ำผึ้งป่า...
ยังมีอีกหลายอย่าง...
แป้งสมุนไพร...สมุนไพรไล่ยุง...ครีมสมุนไพรไพลสดแก้ปวดเมื่อย...
สบู่ขัดผิวทานาคาขมิ้น...น้ำมันงา...น้ำมันมะพร้าว...
และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนแต่ใช้สุดยอดสมุนไพรไทยทั้งนั้น...

ต้องสู้...จึงจะชนะ...
ผลิตภัณฑ์ทุกตัว ทุกขวดออกแบบฉลากเอง...
มีมาตรฐาน อย. หรือ มผช....จดทะเบียนพาณิชย์ ตราดอกกุหลาบ เพราะชอบ...
จำหน่ายประจำที่ตลาด 100 ปี บ้านใหม่ ทุกวันเสาร์ อาทิตย์...
ตลาดนัดเทศบาลเมืองทุกวันอังคาร/ศุกร์...งานเทศกาล...จังหวัดเคลื่อนที่...
สั่งมาก ยินดีส่งทางไปรษณีย์...
และสิ่งที่หวังมากที่สุด คือ การผลิตสินค้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ...
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมหรือเป็นตัวแทนจำหน่าย ติดต่อคุณวรรณี...
โทร.08-9883-5889 หรือ สนง.พัฒนาชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา 0-3851-1239...