บ้านสระไม้แดง มีผู้ใหญ่บ้านชื่อนายเชษฐา ภูสมที ครัวเรือนที่อาศัยอยู่จริง 206 ครัวเรือน ประชากร 824 คน เป็น ชาย 432 คน หญิง 392 คน อาชีพหลักคือทำนา ทำไร่ ทำสวน อาชีพรองคือรับจ้าง อาชีพเสริมคือเพาะเห็ดฟางและปลูกพืชผัก แต่ก่อนหลังจากทำนา ชาวบ้านต้องไปรับจ้างนอกหมู่บ้านได้ค่าแรงวันละ 20 – 30 บาท คนส่วนใหญ่จึงมีฐานะยากจน แต่ปัจจุบันนี้มีรายได้ดีขึ้นมากจากการทำอาชีพเสริมเพาะเห็ดฟาง ทุกครอบครัวมีรายได้ทุกวัน ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท รวมทั้งคนชราและเด็กที่รับจ้างตัดโคนเห็ดได้กิโลกรัมละ 3 บาท
การทำการเกษตรที่บ้าน ทำให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้ามีความอบอุ่น มีเวลาให้ความร่วมมือกับชุมชน การดำเนินชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคนในชุมชนให้ความสำคัญมาก กับโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชน มีการคัดเลือกครอบครัวพัฒนาต้นแบบ 30 ครัวเรือน เพื่อเป็นแกนนำวิถีชีวิตแบบพอเพียง ต่อมามีการขยายผลเกือบครบทุกครัวเรือน กิจกรรมที่ทำ เช่น การทำสวนครัว รั้วกินได้ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับในบริเวณบ้านและรั้วบ้าน มีการทำความสะอาดและจัดบริเวณบ้านให้น่าอยู่ น่ามอง ทำป้ายชื่อบ้านที่ดูดีและสวยงาม มีการออมเงินกับกลุ่มออมทรัพย์ฯ ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน มีการอนุรักษ์ป่าชุมชน 2 แห่ง คือ ป่าอนุรักษ์ และป่าเศรษฐกิจชุมชน ป่าอนุรักษ์ ชุมชนได้ดำเนินการจัดทำแนวเขต แนวกันไฟ มีการจัดเวรยามป้องกันไฟป่า รักษาป่าให้คงเดิมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มี การปลูกต้นไม้ในชุมชน ให้เกิดความร่มรื่น สร้างจิตสำนึกในการรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน สำหรับป่าเศรษฐกิจ ชุมชนได้เน้นการปลูกไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัส เพื่อตัดขายแล้วนำรายได้มาพัฒนาหมู่บ้าน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน
ด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน มี จุดเรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสาน และจุดเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ยาสมุนไพร การทำบายศรี การจักสาน การทอผ้าพื้นบ้าน ด้านความเอื้ออาทรต่อกัน ชุมชนมีความสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนเป็นญาติพี่น้อง แม้จะนับถือศาสนาที่ต่างกัน โดยมีวัดบ้านสระไม้แดง และวัดคาทอริกเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนา ซึ่งกิจกรรมต่างๆ จะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของบ้านสระไม้แดง คือ มีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม อันเกิดจากผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ มี ความเสมอภาค เป็นแบบอย่างที่ดี เชื่อถือ และไว้วางใจได้ นอกจากนี้สมาชิกในชุมชนยังมีความร่วมมือ ร่วมใจ มีความสามัคคี ต้องการเห็นชุมชนน่าอยู่ คนในชุมชนมีอาชีพมีรายได้สม่ำเสมอ สังคมเป็นสุข เอื้ออาทรต่อกัน สิ่งแวดล้อมดี มีความปลอดภัย ต้องการพึ่งพาตนเองให้มาก พึ่ง พาภายนอกให้น้อยลง กิจกรรมทุกเรื่องต้องมีการทำประชาคม รับฟังปัญหา ความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และบรรจุไว้ในแผนชุมชน โดยยึดแนวทางสายกลางแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นหลัก... ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239 หรือ ผู้ใหญ่เชษฐา ภูสมที โทร.087-0664652
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น