วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กลุ่มธารทิพย์ : ข้าวปลอดภัย 1 ไร่ 1 ล้าน



ในแวดวงเกษตรตอนนี้มีกระแสตื่นตัวกันมากในเรื่องเกษตรประณีต 1 ไร่ 1 แสน เข้าใจว่าเป็นเพราะผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างมากจากการทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ 1 ไร่ ในระยะเวลาเพียง 1 ปี คอลัมน์ OTOP แปดริ้ว วันนี้ได้ไปคุยกับกลุ่มธารทิพย์มาครับ เป็นกลุ่ม OTOP ที่ผลิตข้าวสารปลอดสารพิษ ข้อมูลที่ได้น่าตื่นตะลึงมากกว่า 1 ไร่ 1 แสนซะอีก เขาบอกว่าสามารถทำได้ถึง 1 ล้าน ต่อ 1 ไร่ ภายใน 1 ปี... มันจริงหรือโกหก... เรามาดูกันครับว่าเขาทำอย่างไร...
รู้จักกับกลุ่มธารทิพย์... วิสาหกิจชุมชนกลุ่มธารทิพย์ ที่ทำการตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่ม คือ การรวมตัวกันของชาวนาเพื่อผลิตข้าวที่ปลอดภัยในการบริโภคและแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือออกจำหน่าย โดยเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ปัจจุบันมี คุณสำรวย ศรีเกษม เป็นประธาน มีสมาชิกทั้งสิ้น จำนวน 33 คน เงินทุน จำนวน 2,500,000 บาท ผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่ม คือ ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือมะลิแดง...
กลยุทธ์ในการผลิตข้าว... กลุ่มธารทิพย์เป็นกลุ่ม OTOP ที่ผลิตข้าวหอมมะลิแดง เขาวางกลยุทธ์ในการผลิตข้าวไว้ 2 ข้อ คือ หนึ่ง การพัฒนาไปข้างหน้า โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการและยกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวในสูงขึ้น และ  สอง การพัฒนาไปข้างหลัง โดยการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง ไม่ใช้สารเคมี และบริหารจัดการแปลงปลูกให้ได้มาตรฐานของทางราชการ...
การพัฒนาไปข้างหลังเพื่อให้ได้ข้าวปลอดภัย... คำว่าพัฒนาไปข้างหลัง หมายถึง การพัฒนากระบวนการผลิตต่างๆ ก่อนที่จะมาเป็นข้าวสาร โดยมีเป้าหมาย คือ ทำให้ข้าวปลอดภัยจากสารพิษมากที่สุดและลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด
สิ่งที่กลุ่มธารทิพย์ได้ทำเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อให้ได้ข้าวที่ปลอดภัย... ได้แก่
1. การไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงต้นข้าว
2. การไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชและศัตรูข้าว
3. การไถกลบตอซังและหญ้า เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าวและบำรุงดิน
4. การใช้ปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอร์รี่ในการบำรุงต้นข้าวและไล่หอยเชอร์รี่ (เป็นภูมิปัญญาโบราณ : สัตว์ชนิดเดียวกันไม่กินเนื้อกัน)
5. การใช้ฮอร์โมนรกหมูและไข่ ในการบำรุงต้นข้าว
6. การใช้สมุนไพรเพื่อไล่แมลง สมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ สะเดา ข่า ตะไคร้ พริก มะกรูด ยอ เหล้าขาว และพริกแกง
7. การใช้หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีมาบริหารแปลงนา จนได้มาตรฐาน GAP จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผลจากการดำเนินกิจกรรมพัฒนาไปข้างหลัง ปรากฏว่า กลุ่มธารทิพย์สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้จำนวนมาก จากที่เคยผลิตโดยใช้ระบบสารเคมี มีต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 5,000 – 7,000 บาท เหลือเพียงไร่ละ 1,200 บาท เท่านั้น
การพัฒนาไปข้างหน้าเพื่อให้ได้ไร่ละ 1 ล้านบาท... คำว่าพัฒนาไปข้างหน้า หมายถึง การแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร (ข้าวกล้อง) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวสารให้ได้มาตรฐานและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น โดยมีเป้าหมาย คือ การขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวให้ได้มูลค่าสูงที่สุดต่อการผลิต 1 ไร่  ผลผลิตข้าวเปลือกของกลุ่มธารทิพย์เฉลี่ยไร่ละ 650 กิโลกรัม และถ้านำมาแปรรูปเป็นข้าวสาร (ข้าวกล้อง) จะได้ จำนวน 580 กิโลกรัม/ไร่ ในจำนวนดังกล่าว ถ้าเราขายเป็นข้าวเปลือก จะได้เป็นเงิน 9,750 บาท/ไร่ และถ้านำข้าวสารมาบรรจุถุงขาย ก็จะได้เป็นเงิน 29,000 บาท/ไร่ (กิโลกรัมละ 50 บาท)
สิ่งที่กลุ่มธารทิพย์ได้ทำเกี่ยวกับการพัฒนาไปข้างหน้า... ได้แก่
1. การผลิตข้าวกล้องสุญญากาศ (เก็บไว้ได้นาน) คิดเป็นเงิน 34,800 บาท/ไร่ (กิโลกรัมละ 60 บาท)
2. การผลิตข้าวกล้องงอก (ได้คุณค่าโภชนาการ) คิดเป็นเงิน 58,000 บาท/ไร่ (กิโลกรัมละ 100 บาท)
3. การผลิตน้ำนมข้าว (บรรจุขวด ทานได้สะดวก) คิดเป็นเงิน 580,000 บาท/ไร่ (ลิตรละ 50 บาท)
4. การผลิตข้าวชง (บรรจุซอง พกพาสะดวก) คิดเป็นเงิน 1,160,000 บาท/ไร่ (10 กรัม 20 บาท)
5. การขอมาตรฐาน อย.
ผลจากการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาไปข้างหน้า ทำให้กลุ่มธารทิพย์มีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวที่หลากหลาย และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นไร่ละ 1 ล้านบาทได้ ภายใน 1 ปี
ผลพลอยได้... จากการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาทั้งไปข้างหน้าและมาข้างหลังของกลุ่มธารทิพย์ นอกจากได้ผลิตภัณฑ์หลักแล้วยังได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้อีกหลายชนิด เช่น ทองม้วน ไอศกรีม ข้าวเกรียบ คุกกี้ ขนมเปี๊ยะ ข้าวคั่ว ที่ทำจากปลายข้าว ได้รำสำหรับเลี้ยงหมูและเลี้ยงจิ้งหรีด และได้แกลบสำหรับผลิตถ่านอัดแท่งและปุ๋ยหมักใส่พืชอีกด้วย ซึ่งทำให้มูลค่าของข้าวต่อหนึ่งไร่ยิ่งสูงขึ้นไปอีก...
คิดเป็น มีแต่ได้กับได้... จากกิจกรรมที่มีการพัฒนาทั้งไปข้างหน้าและมาข้างหลังของกลุ่มธารทิพย์ คงได้เห็นแล้วว่า มีแต่ได้กับได้ คือ พัฒนาไปข้างหลัง ก็จะลดต้นทุนลงไปเรื่อย ๆ จนต่ำสุด และการพัฒนาไปข้างหน้า ก็จะได้มูลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุด แต่ก็ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก ซึ่งทางกลุ่มคิดว่าน่าจะไปได้ถึงไร่ละ 2 ล้าน ด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งซึ่งทางกลุ่มไม่บอกว่าคืออะไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป...
การตลาด... เวลานี้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีจำหน่ายอยู่ประจำที่ที่ทำการกลุ่ม ร้านรินขายของฝาก และตลาดน้ำบางคล้าทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ นอกจากนี้ก็มีในมินิมาร์ทบางแห่งในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียง...
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม... หรือต้องการเข้าศึกษาดูงาน ติดต่อได้ที่ คุณสำรวย ศรีเกษม เลขที่ 1 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคา จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 086-5371667 หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น