วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บ้านหนองปรือ : หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข ปี 2555



บ้านหนองปรือ... หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวนครัวเรือน  119  ครัวเรือน จำนวนประชากร 497 คน เป็นชาย 251 คน หญิง 246 คน รายได้เฉลี่ย 42,727 บาท/คน/ปี (ข้อมูล จปฐ. ปี 2555) บ้านหนองปรือเป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากบ้านหนองแสง  หมู่ที่ 6 ตำบลเขาหินซ้อน คนดั้งเดิมอพยพมาจากบ้านหัวกระสังข์ ตำบลบ้านซ่อง แต่เดิมภายในหมู่บ้านมีหนองน้ำใหญ่ตั้งอยู่ และบริเวณหนองน้ำจะมีต้นปรือขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก  ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหนองปรือ และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน



ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา...ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจึงมีวัฒนธรรมเหมือนชาวไทยพุทธทั่วไป มีการทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา เช่น การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การทำบุญตักบาตรในวันพระ การเคารพผู้ใหญ่ การไหว้เพื่อแสดงความเคารพ เป็นต้น

สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน...

1. กลุ่มอาชีพชุดสำเร็จรูปปักเลื่อม  เป็นกลุ่มอาชีพที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี  2540  มีสมาชิกทั้งหมด  20  คน  เป็นนำเอาผ้าฝ้าย ผ้าไหม  มาตัดเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป  แล้วนำมาปักด้วยลูกปัดหลากสี  ทำให้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์  และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของบ้านหนองปรือด้วย ได้ 4 ดาวจาการคัดสรรปี 2553 

2. วัดหนองปรือ เป็นวัดหนึ่งในหมู่บ้านที่มีความสวยงาม  และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนภายในหมู่บ้าน  จะมารวมตัวกันเมื่อมีงานพิธีทางศาสนาต่างๆ  และเมื่อมีการประชาคม  การประชุม ในเรื่องการดำเนินงานของกลุ่ม องค์กรต่างๆภายในหมู่บ้าน และการประชุมประจำเดือนของ

3. พิพิธพันธ์พื้นบ้าน  ชาวบ้านหนองปรือได้นำของใช้ในชีวิตประจำวันในสมัยก่อน เช่นเกวียน  เครื่องสีข้าว  ครกกระเดื่อง  เครื่องมือจับสัตว์น้ำ  ฯลฯ  มาบริจาคให้วัด  เจ้าอาวาสเลยเก็บสะสม  และสร้างอาคารสำหรับเก็บสิ่งของเหล่านี้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็น  ได้ศึกษา


วิธีการหรือกระบวนการทำงาน... การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนชาวไทย  เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยแต่ดั้งเดินเป็นสังคมที่มีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว  มีการลดรายจ่าย เช่น การปลูกผักสวนครัว การเอื้ออารีต่อกัน เป็นต้น แต่ต่อมาเมื่อสังคมขยายเพิ่มขึ้นกลายเป็นสังคมเมือง มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ประชากรเพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรน้อยลง สังคมกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงค่อยๆหายไป จากสาเหตุนี้นี่เองทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาชี้แนะการดำรงชีวิตของพสกนิกรเพื่อจะได้ดำรงชีวิตในทางสายกลาง  มีความพอประมาณ


บ้านหนองปรือ หมู่ที่14 ตำบลเขาหินซ้อน... ก็เหมือนกับชุมชนอื่นๆ ซึ่งตอนนี้มีประชากรเพิ่มมากขึ้น สังคมเริ่มกลายเป็นสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การทำบัญชีครัวเรือน และส่วนราชการต่างๆมาให้ความรู้เรื่องการลดรายจ่าย การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านหันมาดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมร่วมกัน มีการลดรายจ่ายโดยการปลูกผักสวนครัว มีการแลกเปลี่ยนกันกิน ที่เหลือจากกินก็สามารถนำไปขายได้มีคนมารับซื้อถึงบ้าน จึงทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกผักขายกันมากขึ้น มีอาชีพเสริมหลังจากการปลูกมัน ทำนา แทนการไปทำงานรับจ้างนอกบ้าน ทำให้สังคมที่เริ่มจะกลายเป็นสังคมเมืองกลับกลายเป็นสังคมชนบทเหมือนดั้งเดิมมากขึ้น จะเปลี่ยนแปลงแต่เรื่องเทคโนโลยีต่างๆเท่านั้นที่ทันสมัยขึ้น 


เมื่อชาวบ้านมีรายได้เหลือ... ก็ทำให้เกิดการออมขึ้นภายในหมู่บ้าน เกิดกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  มีเงินทุนสำหรับให้ชาวบ้านกู้ไปประกอบอาชีพ ดอกเบี้ยต่ำ ดีกว่ากู้จากนายทุนและยังมีเงินทุนที่ทางราชการให้มาอีกเช่นกองทุนหมู่บ้าน กองทุนแม่ของแผ่นดิน ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการรวมกลุ่มกันแสดงถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ชาวบ้านมีสัจจะในการออมเงินและให้ความร่วมมือกับการพัฒนาหมู่บ้าน จนกลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ดี กินดีต้นแบบในปัจจุบัน


ผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาหมู่บ้าน...

1. การปลูกผักสวนครัว... ชาวบ้านได้มาทำเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลัก  จนทำให้มีรายได้ทุกวันแทนการทำไร่ซึ่งมีรายได้ปีละ 1 ครั้ง  มีความเป็นอยู่ดีขึ้น  และยังมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยการใช้ชีวภาพแทนเคมี  การดูแลรักษาดิน  เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้มากยิ่งขึ้น  และยังรักษาสภาพแวดล้อม  ไม่ทำลายระบบนิเวศไม่ทำลายธรรมชาติ  ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย

2. การส่งเสริมการออมเงิน... โดยจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ส่งเสริมให้ชาวบ้านออมเงินในกลุ่มต่างๆ  ทำให้ชาวบ้านมีแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ  โดยไม่ต้องยืมจากนายทุน  มีดอกเบี้ยถูก  ทำให้ต้นทุนในการผลิตน้อย  มีกำไรเพิ่มขึ้น  จนทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

3. เกิดการรวมกลุ่ม... มีการพบปะพูดคุยกัน  ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมหมู่บ้าน  ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านได้  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเอื้ออารีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

4. การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการทำการเกษตร... จนทำให้สามารถทำการเกษตรได้มากยิ่งขึ้น  ลดการจ้างแรงงาน  มีรายได้เพิ่มขึ้น  และใช้เวลาน้อยกว่าการทำการเกษตรโดยใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาหมู่บ้าน

1. ความร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน กับทุกๆฝ่าย

2. การให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของส่วนราชการต่างๆ

3. การประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง


ความโดดเด่นของหมู่บ้านที่เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดได้... เป็นหมู่บ้านที่มีศูนย์การเรียนรู้และมีจุดการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงหลายจุด เช่น บ้านผู้นำวิถีเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า สินค้า OTOP และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไปทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี เยาวชน และคนทั่วไป และยังแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของคนภายในหมู่บ้านด้วย

ความภาคภูมิใจที่ได้รับ...

ชนะเลิศหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2555

ชนะเลิศแผนชุมชนดีเด่น ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  1  ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  2  ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนชาย ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  1  ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนหญิง ปี 2555

รองชนะเลิศอันดับ  3  ผู้นำสตรี  ปี 2555



ข้อมูลการติดต่อหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่... ผู้ใหญ่บ้าน นางสุนันท์ ผาวันดี บ้านเลขที่  56/1 หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 080-0903452

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น