วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์: งานทำเงินจากเศษวัสดุและสิ่งเหลือใช้


เศษวัสดุที่เหลือทิ้งแล้วอย่างเศษเขาควาย เศษไม้ อาจจะไร้ค่าสำหรับคนทั่วๆไป แต่กับลุงเงิน บุญสร้าง ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา กลับมีค่ายิ่ง เพราะสิ่งนี้นำมาซึ่งอาชีพและรายได้ของครอบครัวลุงเงิน และครอบครัวของสมาชิกอีกหลายคน ต่อไปนี้เป็นคำบอกเล่าของลุงเงิน บุญสร้าง เชิญติดตามครับ...
ก่อร่างสร้างอาชีพ...การทำเครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์ เริ่มจากที่บ้านเป็นช่างทำงานประดิษฐ์ต่าง ๆ ทำของใช้และของประดับบ้านโดยเอาเขาควายที่วางทิ้ง นำมาทำด้ามมีดบ้าง นำมาประดิษฐ์ติดข้างฝาบ้านสำหรับแขวนหมวกและเสื้อผ้าบ้าง ทำเป็นแจกันบ้าง เมื่อปี พ.ศ.2512 ได้เข้าไปเป็นลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์จากเขาควายในกรุงเทพฯ เช่น เรือหงส์ เรือใบ เขาควายแกะสลักเป็นรูปมังกร รูปหงส์ และรูปเสือ  ต่อมาถึงปี พ.ศ.2518 นายจ้างได้เลิกกิจการ จึงได้ขอเครื่องมือมาทำเองที่บ้านหมู่ที่3 ตำบลคลองนครเนื่องเขต โดยครั้งแรกเริ่มจากนำเขาควายมาทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ แล้วนำไปเดินขายในกรุงเทพฯ หลังจากทำได้ประมาณ  1 ปีเศษ เห็นเศษเขาควายเหลือเป็นจำนวนมาก จึงมีความคิดว่าน่าจะนำมาทำอะไรได้อีก  อีกทั้งได้เคยเห็นชาวบ้านที่นำเอาไม้ชิ้นเล็ก ๆ มาต่อกันเพื่อปูพื้นบ้านที่เรียกกันว่า ปาเก้   และได้เห็นต่างหู กำไลข้อมือสีต่างๆ ซึ่งทำจากพลาสติก  จึงเริ่มลองนำเศษเขาควายและเศษไม้มาติดกาวทำเป็นกำไลข้อมือก่อน  ต่อมาได้พัฒนาเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นกิ๊บติดผม ปิ่นปักผม  ต่างหู สร้อยคอ และจากเครื่องประดับมาเป็นเครื่องใช้ เช่น ช้อนกาแฟ ซ้อมจิ้มผลไม้ จานรองแก้ว กล่องใส่นามบัตร หวี กัวซา โดยได้พัฒนารูปแบบให้ทันสมัย ตรงตามความต้องการของตลาดโดยทั่วไป

ถูกใจคนทั้งโลก...ลักษณะที่โดดเด่นของเครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์ของกลุ่มเรา คือ เป็นงานฝีมือ Hand made ทำจากเศษวัสดุธรรมชาติ หาได้ง่ายทั่ว ๆ ไป มีสีเป็นธรรมชาติของไม้และเขาสัตว์ ชิ้นงานมีความประณีต รูปแบบสวยงาม คงทน ตรงตามความต้องการของลูกค้าซึ่งมีทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ
1.ได้รับรางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้า ปี 2533
2.เป็นหมู่บ้านหัตกรรมสร้างสรรค์ของมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บูรฉัตร ปี 2539
3.เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปี 2542
4.ได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช.27937 – 16 – 68จากกระทรวงอุตสาหกรรม
5.ได้รับเครื่องหมายการค้า ค.215371 – ค.215367
6.เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ4 ดาว ของจังหวัดฉะเชิงเทรา

ฝีมือและภูมิปัญญาของคนในชุมชน...
ฝีมือ แรงงานที่ใช้ในกลุ่ม มาจากคนในชุมชนเดียวกัน ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้งานต่อ ๆ กันไปและมีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ซึ่งกันและกันโดยอาศัยภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า  มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1.เขาควาย
2.เศษไม้สีต่าง ๆ ตามความต้องการ
3.กาวติดไม้
4.กระดาษทราย
5.อุปกรณ์ในการเจียร ตัด ขัด และตบแต่ง



ขั้นตอนในการผลิต...เมื่อได้วัสดุที่ต้องการมาพร้อมแล้ว นำเขาสัตว์และเศษไม้มาเลื่อยเป็นชิ้นส่วนตามรูปแบบที่ต้องการแล้วนำมาขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวหน้าเลียบ นำไปติดกาวต่อให้เป็นชิ้นเดียวกัน แล้วนำไปขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวหน้าเลียบอีกครั้ง  นำแบบที่เตรียมไว้วาดลงในชิ้นงานนั้น และนำมาเจียรตามรูปที่วาด นำมาลงกระดาษทรายให้ผิวของชิ้นงานเลียบ ขัดเงาด้วยลูกผ้าและยาขัดเงา จากนั้นมาเช็ดทำความสะอาดคัดเลือกชิ้นที่มีตำหนิออก สำหรับต่างหู และกิ๊บ นำมาประกอบกับห่วงและขากิ๊บซึ่งเป็นชิ้นส่วนโลหะ ระยะเวลาในการผลิตขึ้นอยู่กับรูปแบบ และปริมาณของชิ้นงานที่ลูกค้าสั่งผลิตสำหรับเคล็ดลับในการผลิตที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพนั้น คือ เขาควายและเศษไม้ที่ใช้ ต้องแห้ง ไม่มีรอยแตกหรือผุ ไม่เก่าหรือใหม่เกินไป มีสีสวยงามเมื่อนำมาขัดเงาแล้วต้องได้สีตามที่ต้องการ

แหล่งจำหน่าย... หากต้องการชมผลิตภัณฑ์หรือรับไปจำหน่าย หรือต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ ขอเชิญได้ที่
1.ที่ทำการกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์ 37/1 ม.3 ต.คลองนครเนื่องเขต
2.ย่านการค้าตลาดโบราณคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
3.ตลาดนัดจตุจักรกรุงเทพมหานคร
4.งาน OTOP ที่จังหวัดจัดขึ้น หรือมอบหมายให้ไปร่วมกิจกรรม

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่...
นายเงิน  บุญสร้างประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับจากไม้และเขาสัตว์บ้านเลขที่ 37/1  หมู่ที่ 3  ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000  โทร. 081-757-9939  โทรสาร038-847-307หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239

งานนี้นอกจากได้ของดี มีคุณภาพแล้ว ยังได้ช่วยลดโลกร้อน ด้วยการนำเศษสิ่งที่เหลือใช้ กลับมาทำประโยชน์ และช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านด้วยนะครับ หลายต่อจริงๆ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น