วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สุภาพ โนรีวงศ์ ผมผลิตข้าวอร่อย จากโรงงานธรรมชาติ

สุภาพ โนรีวงศ์... คือเกษตรกรดีเด่นระดับเขต ปี 2556 สาขาอาชีพทำนา เขาบอกว่าเขารู้จักข้าวดี เขาสร้างโรงงานธรรมชาติขึ้นมา เพื่อผลิตข้าวที่อร่อยที่สุดให้เรารับประทาน เราจะไปทำความรู้จักกับคุณสุภาพกัน โดยเขาเล่าให้ฟัง ดังนี้ครับ...

ประวัติ... ปัจจุบันผมอายุ 66 ปี มีภรรยา 1 คน ลูก 3 คน รับราชการ 1 คน เป็นเกษตรกร 2 คน จบ ป.4 แล้วเรียนต่อ กศน. จนจบ ม.ปลาย อาชีพทำนาตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำกับพ่อแม่ ปลูกข้าวมายาวนาน แรกๆ ไม่คิดอะไร ทำสนุก ทำตามพ่อแม่ เรียนไม่เก่งอยู่ท้ายเพื่อน ผมไม่ชอบทำนานัก แต่ยิ่งเรียนรู้การทำงานก็สนุกขึ้น เบาแรงขึ้น ยิ่งเรียนยิ่งแตกฉาน
พลิกชีวิต... ปี 48 ผมได้เรียนรู้เรื่องธาตุอาหาร ทำให้คิดหลายร้อยเรื่อง ทาง ธกส.ถามว่าใครอยากรู้เรื่องธาตุอาหารบ้าง เราไม่รู้ ก็ไปเรียน เรียนที่สุพรรณ 2 ปี เรียนกับ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ ชาวนาอย่างเราภูมิใจนะ เพราะถ้าเป็นนักศึกษาต้องเสียเงินเรียน แต่ชาวนาอาจารย์สอนให้ฟรี ผมก็ตั้งใจเรียน ไม่หลับเลย ต้องการรู้จริง แล้วกลับมาทดลองทำ อาจารย์ก็มาช่วย ปีที่ 2 ให้ทำเอง ต้องเก็บตัวอย่างดิน วิเคราะห์ดิน ว่ามีธาตุอาหารอะไรบ้าง มีความเป็นกรดด่างอย่างไร จะเติมปุ๋ยอะไรลงไป ปลูกข้าวเท่าไรจึงจะพอเหมาะกับพื้นที่ที่เราทำ ตรงนี้เองที่ทำให้ผมรักอาชีพของผมมากขึ้น
ประยุกต์ใช้... วิชาที่เรียนมามันช่วยประหยัด 1.ต้นทุน 2.แรงงาน ทำงานเบาขึ้น ทุนน้อย เบาแรง 3.ได้ผลผลิตเยอะ แล้วชาวนาจะเอาอะไรอีก ได้ 3 ตัวนี้ก็พอใช้ได้แล้ว แต่ผมยังไม่พอ คือตอนเรียนกับอาจารย์ เขาบอกว่า 1 ไร่ ใช้ปุ๋ย 27 โล (กิโลกรัม) ผมถามตัวเองว่าให้มันเหลือ 10 โลได้ไหม อาจารย์ใช้เนื้อปุ๋ย 15 โล คือ เอ็น6 พี4 เค5 รวมกับสิ่งเจือปนเป็น 27 โล (เอ็น (N) คือไนโตรเจน พี (P) คือฟอสฟอรัส เค (K) คือโปรตัสเซียม เป็นธาตุอาหารที่ใช้เป็นส่วนผสมของปุ๋ยเคมี : ผู้เขียน) แต่ผมขอว่าเฉพาะเนื้อปุ๋ย 10 โลได้ไหม เพราะฉะนั้นต้องหาอะไรมาแทนมัน ผมก็เลยหาฟางข้าว ถ้าข้าว 1 ตัน ได้ฟาง 900 โล ในนี้ได้เอ็น 5-6 โล พอกับที่ขาดเลย เพียงแค่เอากลับลงไปในนาเท่านั้นเอง ด้วยวิธีอะไรก็ได้ใส่ลงไปในนา อย่าเผาก็แล้วกัน คุณจะได้เอ็น 5-6 โลแล้ว คุณไม่ต้องซื้อแม้แต่เม็ดเดียว มาแล้วตัวที่ 1 ส่วนพีในฟางมีน้อย ไปหาถั่วมาได้ไหม ใส่ถั่วก็ได้เอ็นอีก พีได้มานิดเดียว ตรวจแล้วต้องเติม ก็ต้องไปซื้อมาเติม แต่เติม 1 โลพอ เพราะตรวจดินแล้วมีพอกลางๆแล้ว สำหรับเคยังไม่มา เคจะมากับน้ำ ผมเคยเอาดินมาตรวจ ดินน้ำท่วม ได้เคเพียบเลย แสดงว่าน้ำพาเอาเคมา เพราะฉะนั้นใครอยากได้เค ก็ไขน้ำเข้ามา สำหรับผม เคต้องเติม เพราะที่ผมโดนล้อมไว้หมด น้ำไม่เข้า สรุปแล้วเราได้เนื้อปุ๋ย 10 โล แล้วทำอย่างนี้ซ้ำๆ ทุกรอบ ผมยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลยแม้แต่เม็ดเดียว มันเหลือแล้ว พอแล้ว งามเกินแล้ว
สร้างโรงงานธรรมชาติ... มันเป็นเรื่องของการจัดการ 1.จัดการธาตุอาหาร 2.จัดการระบบน้ำ 3.จัดการพันธุ์ ดูที่ต้านทานโรคและแมลง ถ้าทำให้ข้าวแกร่ง โรคก็จะไม่มา แมลงก็ไม่เกิด ทำให้ข้าวอดน้ำ แมลงก็ไม่วางไข่ ฉะนั้นให้น้ำเป็นช่วงๆ ไม่ต้องหล่อ ข้าวอดน้ำ 15 วันยังไม่ตายเลย ข้าวแกร่งแมลงเจาะไม่เข้าและข้าวไม่ล้ม ตอนนี้ผมกำลังจัดการเอาน้ำออกให้มันแห้ง ถ้าเอาน้ำออกต้นข้าวจะไม่ปรุงอาหาร มันจะไม่กินเพิ่มเข้าไป เหมือนคนอดอาหาร ข้าวจะใช้อาหารในดินน้อยลง ข้าวจะกลับมาแกร่ง จะลดความงาม ลดโรคและแมลง ได้ข้าวเพิ่มขึ้น เมล็ดแกร่งขึ้นด้วยการอดน้ำ เคมีไม่ต้องคุย ไม่ต้องใช้ ที่สำคัญต้องมีการจัดการตัวเองด้วย คือ อย่าไปตามใจตัวเองมาก อย่างชาวนาทั้งหลาย เวลายังไม่มีแมลงก็ซื้อยามาฉีดแล้ว ถามว่าต้องจัดการตัวเองไหมอย่างนี้ ถามว่าฉีดทำไม ฉีดป้องกัน ป้องกันอะไร ยังไม่มีอะไรเลย ป้องกันทำไม ทำให้เปลื้อง ต้องจัดการความคิดของตัวเองเสียก่อน แล้วเรื่องทั้งหลายจะตามมา
ยิ่งศึกษา ยิ่งชอบ... ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวนา ยิ่งทำ ยิ่งศึกษา ยิ่งสนุก ใช้เครื่องมือเป็น รู้จักธาตุอาหาร รู้จักพืช แก้ดินกรด ดินเปรี้ยวได้ ผมเรียนกับอาจารย์ แล้วก็กลับมาทำกับแปลงนาตัวเอง ศึกษาเอง ทดลองเอง ตรวจเอง มันเปลี่ยนแปลงไหม ลองศึกษาตัวเลข ปีหนึ่งผมตรวจดิน 2 เที่ยว ตรวจทุกปี ตรวจก่อนปลูกข้าว และหลังเกี่ยวข้าวแล้ว คอมพิวเตอร์ก็เป็นเครื่องมือที่ดีช่วยเราได้ 1.ได้สื่อสาร 2.ได้ดูข้อมูล ผมมีอินเตอร์เน็ต มีเฟชบุ๊ค ลุกมาดูเมื่อไรก็ได้ สนุกกับเขา แรกๆผมไม่รู้เรื่อง ผมจบ ป.4 ภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง เดาไป ทำไป ผมคิดว่าเครื่องมือพวกนี้เขาทำมาให้คนใช้ คนอย่างผมต้องใช้มันได้ แล้วผมก็ใช้มันได้จริงๆ
ทำไมเราไม่ปลูกข้าวกินเอง... ผมทำนา 80 ไร่ ยิ่งมารู้จักการปลูกข้าวชุดใหม่ ราคาที่ตกต่ำ ทำให้ผมยิ่งเรียนรู้มากขึ้น มีการเรียนรู้เรื่องข้าวเพื่อกิน ใช้ข้าวปทุมธานี 1 นี่แหละ โดยปลูกกึ่งอินทรีย์มาก่อน วิเคราะห์แล้วเอาอินทรีย์มาช่วย ใส่กันคนละครึ่ง ปรากฏว่ามันได้พันธุกรรมเก่ากลับมา เช่น ความนุ่มนวล กลิ่นหอมกรุ่นๆ ไม่ต้องไปซื้อเขา และเราประหยัด ผมถามเกษตรกรว่า ทำไมเราไม่ปลูกกินเองบ้างล่ะ เราใส่อะไร ฉีดอะไร เรารู้ใช่ไหม แล้วเราจะฉีดของไม่ดีกินไหม ซื้อเขาแน่ใจเหรอว่าเขาใส่อะไรมาให้เรา ข้าวในตลาดต้องอบยากันมอดมากี่เที่ยวกว่าจะถึงเรา
ออกตลาด... ผมปลูกกินเองก่อน เอ...มันอร่อยนี่ ก็ลองมาปลูกในเชิงพาณิชย์บ้าง ให้เพื่อนๆได้ลองกินของเราบ้าง ปรากฏว่าตลาดตอบรับ ผมปลูกปทุมธานี1 เป็นพันธุ์ผสม กข. แต่ไม่ได้ออกตลาดจริงๆ เพราะว่าราคามันถูก แต่ที่ออกตลาดจริงๆ คือ ไรซ์เบอร์รี่ ที่เลือกเพราะราคามันน่าทำ แรกๆกิโลละ 100 ข้าว 1 ตัน ได้ข้าวกล้อง 600 โล ๆ ละ 100 ได้ 60,000 แล้วทำข้าวอะไรได้ 60,000 อย่างนี้ไม่ทำเหรอชาวนา ไปขายข้าวเปลือกได้ 6,000 ถ้าทำอย่างนี้ได้ตั้งกี่เท่า โรงสีถึงได้รวยไง ชาวนาทำไมไม่คิดใหม่ เราต้องเปลี่ยนกระบวนการคิด เราจะมาสู่วงจรอยู่ได้ อยู่ดี ถามว่าเราเอาเปรียบชาวบ้านไหม ไม่ใช่ เราให้ความเป็นธรรมด้วยซ้ำ ถ้ามันแพงก็ลดลง ปัจจุบันผมลดราคาลงแล้ว ราคาขายตอนนี้ ราคาส่งอยู่ที่ 60 บาท/โล ราคาปลีกอยู่ที่ 80 บาท/โล ความคิดผมคือ อยากให้กินของที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย และราคาถูก ให้ผมอยู่ได้พอแล้ว นี่คือการตลาดที่มีความสุขครับ ทีนี้ผมเห็นชาวบ้านเขาตอบรับข้าวมะลิ ผมก็เลยเอามาทำบ้าง เป็นปีแรก หลายคนว่าจะทำได้เหรอที่นี่ ผมว่าไม่เป็นไร เรียนรู้เอา  
วิธีทำข้าวให้อร่อย... ตลาดที่ผมขาย คือ 1.เพื่อนๆ คนรู้จัก เวลาเข้าประชุมก็นำเสนอ 2.ลูกๆหลานๆนำไปขายที่กรุงเทพและปราจีนบุรี 3.นำไปวางตามร้านขายข้าวสาร แรกๆขายยาก เพราะว่าใครก็มีไรซ์เบอร์รี่ มีเยอะมาก แต่ของผมมีจุดเด่นคือ เราปลูกไม่เหมือนใคร ทำไมพูดอย่างนั้น คือ 1.เรารู้จักธาตุอาหาร รู้จักดิน ดินขาดอะไร เอ็น (N) ทำให้ข้าวเติบโตแข็งแรง แต่เอ็นมากไป จะได้แต่ใบ ข้าวไม่ค่อยได้ ต้องใส่แค่พอดี พี (P) ทำให้เมล็ดข้าวแข็งแกร่ง และเค (K) ทำให้ข้าวมีรสหวานมันหอม ถ้าเรารู้จัก 3 ตัวแล้วใส่พอดี เท่าที่ข้าวต้องการ ใครก็สู้เราไม่ได้ แล้วธาตุอาหารพวกนี้ได้จากธรรมชาติ เช่น พืชตระกูลถั่ว ชาวนาทำได้หมด ใครก็ทำได้ เพื่อให้ข้าวมันอร่อย ปลูกถั่วลงไป ปลูกปอเทืองลงไป ตอนที่เราพักดิน  วิธีปลูกก็ปลูกตอนแล้ง แล้วก็ทิ้งไปเลย 60 วันกลับมาดู เขาไม่ต้องการน้ำ กินน้ำค้างก็อยู่ได้ 60 วันแล้วไถ่กลบ พร้อมกับฟางข้าว น้ำมาก็ทำเทือก ได้ธาตุอาหารเก็บไว้ในดินแล้ว ทำให้เรามีรายจ่ายแค่นิดเดียว คือ ต้องซื้อตัวเคมาเติมเท่านั้นเอง
ความโดดเด่น... คือ ข้าวของผมอร่อย หอม นุ่ม เราได้ธาตุอาหารจากธรรมชาติ บริสุทธิ์ มันตอบสนองตอนที่เราเอาข้าวมาหุงต้ม มันจะนุ่มนวล หอม หวาน พันธุกรรมเขากลับมา ชาวบ้านเอาข้าวไปกินกว่าจะรู้ใช้เวลานานเหมือนกัน พอเขาไปกินที่อื่น กับของเรา เขารู้ว่ามันต่างกัน อร่อยกว่า ก็กลับมาหาเรา ตลาดเริ่มติดแล้ว เป็นความโดดเด่นที่ใครก็ยังตามไม่ทัน ถ้าทำสูตรนี้ ข้าวเมืองไทยอร่อยทุกราย ผมชวนคนฉะเชิงเทรามาทำข้าวสูตรนี้ พัฒนาดินก่อน สร้างโรงงานธรรมชาติไว้ก่อน ใช้ไม่รู้จักหมด แสงอาทิตย์ ลม ฟ้า อากาศ มีอยู่ในเมืองไทยอยู่แล้ว พืชก็ฉลาดดูดธาตุอาหารเก็บไว้ที่ต้น เราไถ่กลบลงไปก็ได้แล้ว แต่เราต้องตรวจดูดินเราด้วยว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ตรงกับที่พระเจ้าอยู่หัวฯ สอนให้ห่มดิน คือ เอาพืชที่มีชีวิตมาห่มดิน ไม่ใช่เอาผ้ามาห่ม
อนาคต... ผมคงทำไรซ์เบอร์รี่ต่อไป เพิ่มมะลิ และสังข์หยดของพัทลุง ถามว่าปลูกได้เหรอ ตอบว่าข้าวก็คือข้าว เหมือนกันหมด ชอบอากาศ ฝน ที่เป็นธรรมชาติ เรารู้ใจข้าวเขาหรือเปล่า ถ้าเราเก่งจริง รู้จักเขา นิสัยเขาเป็นยังไง ชอบฤดูไหน เราก็ปลูกได้ ผมยังสนุกกับข้าวอยู่ อยากทำข้าว 1 กิโล ให้ได้ 1,000 บาท แต่ทำยังไงยังไม่รู้ต้องให้นักวิทยาศาสตร์ช่วย รู้แต่ว่าอยากทำ...
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ...
กลุ่มผู้ผลิต : วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลดอนเกาะกา
สถานที่ผลิต : เลขที่ 31/1 หมู่ที่ 4 ต.ดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร : 092-6548040 และ 086-1471868
ประธานกลุ่ม : คุณสุภาพ โนรีวงศ์

หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 038-511239 ยินดีรับใช้ครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น