วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา(1)

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวแปดริ้ว 1
1. วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวแปดริ้วและคนต่างบ้านต่างเมืองมาแต่ อดีตกาล ตั้งอยู่บนถนนสายมรุพงษ์ ห่างจากตลาดกลางเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้แต่เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ตามประวัตินั้น แต่แรกมีชื่อว่า “วัดหงส์” เพราะมี “เสาหงส์” อยู่ในวัด เป็นเสาสูงมียอดเป็นตัวหงส์อยู่บนปลายเสา ต่อมาหงส์บนยอดเสาหักตกลงมาเหลือแต่เสา และมีผู้เอาธงขึ้นไปแขวนแทน จึงได้ชื่อว่า “วัดเสาธง” ครั้นเมื่อเสาธงหักเป็นสองท่อน จึงเรียกชื่อใหม่ว่า “วัดเสาธงทอน” ส่วนชื่อ “วัดโสธร” อันมีความหมายว่า “บริสุทธิ์” และ “ศักดิ์สิทธิ์” นั้น เรียกตามพระนามของพระพุทธโสธรหรือหลวงพ่อโสธรซึ่งได้มาประดิษฐานในวัดนี้ ในภายหลังวัดโสธรได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดช ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีนามว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2501 พระพุทธโสธรหรือหลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง สันนิษฐานว่าได้มาประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ประมาณปี พ.ศ.2313 อันเป็นสมัยต้นกรุงธนบุรี ตามประวัติเล่าว่า แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างศอกเศษ แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักขโมยไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิม ไว้ จนมีลักษณะดังที่เห็นปัจจุบัน
2. กำแพงเมืองเก่า (ป้อมเมืองฉะเชิงเทรา) ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
กำแพงเมืองเก่าเป็นของคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งจารึกร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายยุคสมัย ทั้งร่องรอยแห่งชัยชนะในการศึกสงครามและเหตุการณ์นองเลือด อันเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของเมืองฉะเชิงเทรา ความเป็นมาของกำแพงเมืองย้อนกลับไปถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมกลางรักษ์รณเธศเป็นแม่กองก่อสร้าง เมื่อปี 2377 กำแพงเมืองมีลักษณะก่ออิฐ ขณะนั้นไทยกำลังขับเคี่ยวทำสงครามกับญวนเพื่อรักษาอำนาจในการปกครองเมือง เขมร ไทยและญวนได้สู้รบกันยืดเยื้อยาวนานถึง 14 ปี (พ.ศ.2376 - 2390) จนอาจกล่าวได้ว่า สงครามอานามสยามยุทธ” ในครั้งนั้นเป็นการศึกกับต่างชาติที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ชาติไทย
3. ศาลหลักเมือง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
ในกำแพงเมืองเก่า เป็นที่ประดิษฐานของศาลหลักเมืองและเสาหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองที่ช่วยคุ้มครองปกปักรักษาเมือง แปดริ้ว ให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวงมาแต่อดีตกาล ศาลหลักเมืองนั้นมีมาตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองแปดริ้ว ล่วงมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสาหลักเมืองชำรุดผุขาดไปมาก จึงได้สร้างเสาขึ้นใหม่ด้วยไม้มะค่า และจัดให้มีงานบำเพ็ญกุศลและสมโภชในการยกเสาในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2438 บริเวณศาลหลักเมืองเคยมีปืนใหญ่กองรวมกันอยู่ ภายหลังกรมศิลปากรได้นำมาวางบนกำแพงเมืองประมาณ 5 กระบอก ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
4. วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์หรือวัดเมือง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์หรือวัดเมืองเป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่สร้างขึ้นเมื่อเกิดการสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ของฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ.2377 เมื่อมีการสร้างกำแพงเมือง เพื่อกำหนดขอบเขตของแปดริ้ว และให้เมืองนี้เป็นปราการรักษาพระนครและชาวบ้านชาวเมือง ให้ปลอดภัยจากข้าศึกศัตรูนั้นศรัทธาในพุทธศาสนาได้ทำให้มีการสร้างวัดขึ้น ด้วย เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองและที่พึ่งทางใจในยามศึกสงคราม เนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่ในเมือง ชาวบ้านจึงเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดเมือง” ต่อมาภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาส ฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ.2451 จึงได้พระราชทานนามวัดว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งมีความหมายว่า “วัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง” วัดนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคนั้น เพราะนอกจากจะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 17 เมตร ยาว 29.50 เมตรแล้ว สังเกตจากศิลปะที่องค์พระปรางค์ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับพระปรางค์อัฐเคราะห์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามใน กรุงเทพมหานครมาก จึงน่าเชื่อว่าคงจะได้ช่างฝีมือจากเมืองหลวง
5. ศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีน(ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า) ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
ศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีน (ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า) ตั้งอยู่ที่เลขที่ 122/6 ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบันทึกของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ และเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชของไทยในยุคจักรวรรดินิยม จนมีผู้ขนานนามว่าเป็น “อนุสาวรีย์แห่งเสรีภาพ” ของฉะเชิงเทรา สงครามเย็นจากยุคล่าอาณานิคมซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ระอุถึงขีดสุดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยจึงเร่งปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย เป็นวิเทโศบายหลักในการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับคนไทยที่กำลังหวาดหวั่นต่อการคุกคามของมหาอำนาจ “มณฑลปราจีน” จึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2435 ตามระบบเทศาภิบาล ซึ่งเป็นการปกครองแบบใหม่ เมื่อมณฑลปราจีนขยายเขตการปกครองออกไป และเมืองฉะเชิงเทราได้เป็นศูนย์อำนาจรัฐและเป็นที่ตั้งของที่ว่าการมณฑล จึงได้ก่อสร้างศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีนขึ้นโดยสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2446 ถึงปี พ.ศ. 2449 ใช้เป็นศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีน (ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก พนมสารคาม พนัสนิคม ชลบุรี และบางละมุง รวมจันทบุรี ระยอง และตราด ในภายหลัง) เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2450 ศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีนเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. 2475 และใช้เป็นศาลาเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. 2506 ถึงปี พ.ศ. 2518 จากนั้นเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ย้ายที่ทำการ อาคารถูกใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 อาคารถูกเพลิงไหม้ กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะอาคาร และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ปรับปรุงอาคารอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2548 เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จังหวัดฉะเชิงเทรา กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีน เป็นโบราณสถานและประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในปี พ.ศ. 2520
6. ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ อำเภอเมือง
ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ซึ่งปัจจุบันคือจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่แพ้ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าหรือศาลากลางรัฐบาลมณฑลปราจีน เมื่อไทยใช้นโยบายการเมืองนำหน้าการทหาร และเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากจตุสดมภ์มาเป็นระบบเทศาภิบาล ฉะเชิงเทราได้เป็นที่ตั้งของที่ว่าการมณฑลปราจีนและกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริ พัฒน์ สมุหเทศาภิบาลผู้ทรงพระปรีชาชาญในวิชาการปกครอง ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองในช่วง เวลานั้น การวางแผนก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ ในมณฑลปราจีนนั้น แท้จริงก็คือการเริ่มต้นวางผังเมืองฉะเชิงเทรานั่นเอง ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ซึ่งเป็นเรือนไม้สองชั้น สร้างขึ้นเป็นที่พำนักของสมุหเทศาภิบาลในยุคนั้น จึงอาจถือได้ว่าเป็นก้าวแรกๆ ของการก่อสร้าง “บ้านพักข้าราชการ” ของแปดริ้ว ความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งของ ชาวเมืองคือตำหนักแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับพักแรมของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่เสด็จประพาสฉะเชิงเทราถึง 2 ครั้ง พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านซึ่งได้พระราชทานไว ้ตั้งแต่เสด็จประทับครั้งแรก พร้อมลายพระหัตถ์มีความว่า “ให้ไว้สำหรับเรือนเทศาภิบาลมณฑลปราจีณ (เมืองฉะเชิงเทรา) เป็นที่ระลึกในการที่ได้มาอยู่ในที่นี้ ได้ความสุขสบายมาก ตั้งแต่วันที่ 24 ถึงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2450” ยังอยู่เป็นของคู่ตำหนักมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบัน ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ยังใช้เป็นที่ประทับและทรงงานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยามที่เสด็จเยือนฉะเชิงเทรา
7. อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ถนนศรีโสธร ตรงข้ามค่ายทหารศรีโสธร พระยาศรีสุนทรโวหารเป็นชาวฉะเชิงเทราโดยกำเนิด เป็นนักปราชญ์คู่พระบารมีแห่งองค์สมเด็จพระปิยมหาราช เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ท่านคิดแบบสอนอ่านหนังสือไทยรวม 6 เล่ม คือ 1. มูลบทบรรพกิจ 2. วาหนิติ์นิกร 3. อักษรประโยค 4. สังโยคพิธาน 5. พิศาลการันต์ และ 6. ไวพจน์พิจารณ์ พระยาศรีสุนทรโวหารมีความรู้เชี่ยวชาญภาษาไทยและภาษาอื่น หาผู้ใดเสมอเหมือน ได้ใช้ความรู้ความสามารถรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระมหากษัตริย์ถึง 3 พระองค์คือ รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434 รวมสิริอายุได้ 69 ปี
8. สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฉะเชิงเทรา อำเภอเมือง
ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด มีเนื้อที่ประมาณ 90 ไร่ เป็นสวนสาธารณะ มีสระน้ำขนาดใหญ่ กลางสวนมีทางเดินรอบสระ มีต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับร่มรื่น มีสนามเด็กเล่นเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
9. ศาลเจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ อำเภอเมือง
ประดิษฐานอยู่ที่สมาคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา ถนนศุภกิจ (มูลนิธิสว่างศรัทธาธรรม) เป็นรูปยืนองค์ลอย สูงประมาณ 1 เมตรเศษ หนัก 40 กิโลกรัม ทำจากเซรามิก เมื่อปี 2540 มีคนพบลอยน้ำมาติดฝั่งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ชาวแปดริ้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสเดินทางไปสักการะเป็นประจำ
10. วัดอุภัยภาติการาม (วัดซำปอกง) อำเภอเมือง
ตั้งอยู่บนถนนศุภกิจ ใกล้กับบริเวณตลาดบ้านใหม่ ภายในวัดมีวิหารลักษณะเหมือนศาลเจ้า เดิมเป็นวัดจีนแต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในลัทธิมหายานไปแล้ว เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต (พระไตรรัตนนายก) หรือที่ชาวจีนเรียกว่าเจ้าพ่อซำปอกง ในประเทศไทยมีเพียง 3 องค์เท่านั้น ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์จะมีนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวันมานมัสการเป็นประจำ
11. วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่) อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ เดิมชื่อว่าวัดเล่งฮกยี่ ห่างจากศาลากลางจังหวัด 4 กิโลเมตร เป็นวัดพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ผู้สร้างคือหลวงจีนชกเฮง ซึ่งเป็นศิษย์ของวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ในกรุงเทพมหานคร ชื่อวัดเล่งฮกยี่ได้เปลี่ยนเป็นวัดจีนประชาสโมสร เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนเมืองแปดริ้ว แผ่นป้ายชื่อพระราชทานยังคงประทับเป็นสง่าในวัดจนกระทั่งทุกวันนี้ ที่ทางเข้าพระอุโบสถของวัดคือท้าวจตุโลกบาล ทำเป็นรูปนายทหารและเทวรูปจีนขนาดใหญ่ยืนรักษาปากประตูอย่างสง่างาม ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปแบบจีน 3 องค์ คือพระยู่ไล้ พระโอนิโทฮุด และพระเอี้ย ซือฮุด ซึ่งเชื่อว่าสามารถบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ที่น่าสนใจคือ ทั้ง 3 องค์ล้วนสร้างขึ้นจากกระดาษซึ่งนำมาจากเมืองเซี่ยงไฮ้พร้อม ๆกับรูป 18 อรหันต์ ที่ประดิษฐานอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ อันเป็นประจักษ์พยานของความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวไทยและชาวจีนมาตั้งแต่ ครั้งประวัติศาสตร์
12. ตลาดบ้านใหม่ ตลาดริมน้ำร้อยปี อำเภอเมือง
ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ริมแม่น้ำบางปะกง อำเภอเมือง เป็นตลาดที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดที่มีวิถีชีวิตเดิมที่โดดเด่นที่แตก ต่างจากชุมชนอื่น ๆ นั่นคือ ความมีเสน่ห์ของอายุสถานที่ที่ยาวนาน บ้านเรือนมีเอกลักษณ์เก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และละครย้อนยุคของชุมชนชาวจีน เช่น อยู่กับก๋ง นางนาค เจ้าสัวสยาม ร้านขายของและร้านอาหารที่มีความหลายหลาย มีร้านกาแฟโบราณรสชาติเข้มข้นหอมหวาน เป็นที่รวบรวมของฝากที่ต้องแวะซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-3881-7336

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น