วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รู้จัก "แปดริ้ว"

รู้จัก "แปดริ้ว"
ประวัติจังหวัดฉะเชิงเทรา
จังหวัดฉะเชิงเทราหรือที่นิยมเรียกกันว่า "แปดริ้ว" เคยเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอำนาจการปกครองของขอมมาก่อน ในสมัยอิทธิพลของอาณาจักรลพบุรี (ขอม) เมืองฉะเชิงเทราตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เป็นไปได้ว่าชาวเมืองสมัยโบราณอาจจะเรียกชื่อแม่น้ำบางปะกงว่า คลองลึกหรือคลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็นแต่ด้วยอิทธิพลเขมรจึงได้เรียกชื่อแม่น้ำ เป็นภาษาเขมรว่า "สตึงเตรง หรือ ฉทรึงเทรา" ซึ่งแปลว่า คลองลึก นั่นเอง ครั้นเรียกกันไปนาน ๆ เสียงเลยเพี้ยนกลายเป็น "ฉะเชิงเทรา" แต่ก็มีความเห็นอื่นที่แตกต่างออกไปว่าชื่อ "ฉะเชิงเทรา" น่าจะเพี้ยนมาจาก "แสงเชรา" หรือ "แซงเซา" หรือ "แสงเซา" อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช เสด็จไปตีได้ตามที่พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้มากกว่า
ความเป็นมาของคำว่าแปดริ้ว
ส่วนความเป็นมาของชื่อ "แปดริ้ว" ก็มีเล่าขานกันมาหลายกระแส บ้างก็ว่าที่ได้ชื่อว่าเมืองแปดริ้ว ก็เพราะขนาดอันใหญ่โตของปลาช่อนที่ชุกชุมเมื่อนำมาแล่ จะต้องแล่ถึงแปดริ้ว หรือไม่ก็ว่ามาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง "พระรถเมรี" เล่าว่ายักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว ทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาดสำหรับข้อสันนิษฐานการตั้งเมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวา ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) แต่สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏชัดเจนในสมัยพระนเรศวรมหาราชที่ใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นที่รวบรวมไพร่พล เมื่อ พ.ศ.2136 ด้วยชัยภูมิของเมืองที่เหมาะแก่การทำสงครามกองโจร ทำให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้ป้องกันศัตรู ปกป้องเมืองหลวง จวบจนสู่การปกครองระบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 และในปี พ.ศ.2476 มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค คำว่าเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ครองเมือง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นปีที่มีการตั้งภาคครั้งสุดท้ายของไทย ฉะเชิงเทราได้รับเลือกเป็นสถานที่ภาคมีเขตความรับผิดชอบ 8 จังหวัด ซึ่งนับเป็นบทบาทที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การปกครองของจังหวัดฉะเชิงเทรา
อาณาเขต
จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ประมาณ 5,422 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,395,000 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ถึง 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ชลบุรี และสมุทรปราการ
การคมนาคม
จังหวัดฉะเชิงเทรา ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถไฟสายตะวันออก ประมาณ 61 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 (สุวินทวงศ์) ประมาณ 75 กิโลเมตร และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางนา-ตราด) แยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314 (ฉะเชิงเทรา-บางปะกง) ประมาณ 90 กิโลเมตร
สภาพภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัด ประกอบด้วย ที่ราบเชิงเขามีลักษณะเป็นที่ราบลูกฟูก และที่ราบลุ่มแม่น้ำจากด้านตะวันออกสุดไปจรดด้านตะวันตก ดังนั้น พื้นที่เกษตรกรรมจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นที่ราบลูกฟูก เหมาะแก่การทำไร่และปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ตั้งอยู่เฉพาะในเขตอำเภอพนมสารคามและอำเภอแปลงยาว ส่วนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัด บริเวณอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง พื้นที่ส่วนนี้อยู่ในเขตชลประทานเหมาะแก่การทำนาข้าว ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
สภาพภูมิอากาศ
จังหวัดฉะเชิงเทรามีลักษณะร้อนชื้นเขตศูนย์สูตร โดยมีลมมรสุมพัดปกคลุมเกือบตลอดปีแบ่งออกตามฤดูกาลได้ 3 ฤดู ดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม โดยมีลมตะวันออกและลมใต้พัดปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอ้าวและอากาศร้อนจัดเป็นบางวันบางครั้งอาจมีพายุฤดูร้อน ลักษณะเป็นฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงอุณหภูมิอากาศสูงสุดเฉลี่ย 35-38 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ย 200-300 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การปลูกพืชไร่
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม โดยมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ประกอบกับมีร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปและตกหนักบางพื้นที่ อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง โดยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,000 – 1,200 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การทำงานและปลูกผลไม้
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงพัดผ่าน ทำให้ท้องฟ้าโปร่งใสอากาศเย็นมีหมอกในตอนเช้า และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิอากาศต่ำสุดเฉลี่ย 18-21 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ย 50-100 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่เหมาะแก่การปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอกและไม้ประดับ
ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่
จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถแบ่งสภาพการพัฒนาตามกายภาพของพื้นที่ ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
พื้นที่ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของจังหวัด ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดชลบุรี มีสภาพเป็นที่ลุ่ม ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บางปะกง บ้านโพธิ์ และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ด้านทิศตะวันตก ได้รับการเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานคร และโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก พื้นที่ส่วนนี้มีแนวโน้มจะกลายเป็นย่านอุตสาหกรรม ชุมชนเมือง การบริการและที่อยู่อาศัย และอยู่ใกล้สนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 (สนามบินสุวรรณภูมิ) จะเป็นตัวเร่งขยายความเจริญเติบโตของบ้านเมืองฉะเชิงเทรา
พื้นที่ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ ฝั่งแม่น้ำบางปะกง (พื้นที่ตอนกลางของจังหวัด) อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บางส่วนของอำเภอบางคล้า อำเภอคลองเขื่อน อำเภอบ้านโพธิ์ซีกตะวันออก อำเภอบางน้ำเปรี้ยวซีกตะวันออก อำเภอพนมสารคาม อำเภอราชสาส์น อำเภอแปลงยาว อำเภอสนามชัยเขต (บางส่วน) ส่วนใหญ่ทำการเกษตรกรรม ปลูกข้าว ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ และพืชไร่ ขณะนี้มีเขื่อนทดน้ำบางปะกงในท้องที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งได้สร้างแล้วเสร็จในต้นปี 2543 ความจุต้นทุน 30 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับอำเภอแปลงยาวจะเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรม
พื้นที่ส่วนที่ 3 เป็นที่ราบสลับภูเขา มีป่าไม้ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ำ ลำธาร ในปัจจุบันคือป่าสงวนแห่งชาติ แควระบม – สียัด เนื้อที่ 746,625 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.3 ก่อสร้างพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลอง สียัด ความจุ 325 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งแล้วเสร็จต้นปี 2543 เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การบริการ และกิจการประปาของชุมชน
สภาพทางเศรษฐกิจ
จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นฐานด้านการเกษตร เป็นแหล่งผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรในภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร ประชาชนร้อยละ 70 ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัด ผลผลิตที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดในด้านพืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน มะพร้าว มะม่วง และหมาก เป็นต้น ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ ไข่ไก่ และสุกร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมากที่สุดของประเทศ ไก่เนื้อ เป็ด และโคเนื้อ ด้านประมง มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิเช่น กุ้งกุลาดำ ปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อย และกิจการประมงทะเล สำหรับในด้านอุตสาหกรรมนับว่าศักยภาพค่อนข้างสูง มีนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนมาก มีการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงมาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 1,500 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทางการเกษตร อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์และประกอบรถยนต์ พลาสติก และผลิตภัณฑ์จากไม้ ฯลฯ โรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางปะกง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสาคาม อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว และอำเภอแปลงยาว ตามลำดับ มีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง
สภาพการท่องเที่ยว
สำหรับการท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความโดดเด่นเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรมในระดับประเทศและนานาชาติ ได้แก่ องค์หลวงพ่อพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน การท่องเที่ยวชมธรรมชาติริมแม่น้ำบางปะกง การล่องเรือชมปลาโลมา ชมค้างคาวแม่ไก่วัดโพธิ์บางคล้า และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรธรรมชาติ เป็นต้น
สภาพทางสังคม
ด้านการศึกษา ชาวฉะเชิงเทราได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความรู้และมีโอกาสทางการศึกษาอย่างดีมาเป็นเวลาช้านาน มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความนับถือในองค์พระพุทธรูป ซึ่งเป็นตัวแทนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงพ่อพุทธโสธร คือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา
ด้านการสาธารณสุข ในระหว่างปี 2548 – 2551 พบว่าอัตราการเกิดของประชากรจังหวัดฉะเชิงเทรา มีแนวโน้มลดลงสลับกับเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราเพิ่มธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง
สภาพการเมืองการปกครอง
จังหวัดฉะเชิงเทรา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บางคล้า บางน้ำเปรี้ยว บางปะกง บ้านโพธิ์ พนมสารคาม แปลงยาว ราชสาส์น สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ และอำเภอคลองเขื่อน
การปกครองในระดับท้องถิ่น เทศบาลเมือง 1 เทศบาล เทศบาลตำบล 25 เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 82 แห่ง ประชากร (เมื่อมี.ค.2550) มีจำนวนทั้งสิ้น 660,011 คน แยกเป็นชาย 323,701 คน หญิง 336,310 คน
ด้านการเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรามีจำนวนสมาชิกวุฒิสภา 1 คน และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 คน จำนวนเขตเลือกตั้ง 2 เขต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น